1.
หากผู้อ่านท่านใดติดตามวรรณกรรมไทยยุคใหม่อยู่บ้าง น่าจะคุ้นชื่อ ‘ลาดิด’ ไม่มากก็น้อย เธอแจ้งเกิดด้วยนวนิยายสั้นอย่าง Beau (Is Non-Binary of Everything) ในปี 2564 และหลังจากนั้นก็ผลิตผลงานคุณภาพมาตลอด โดยเน้นถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ของชาวเควียร์
ตัวเราเองเคยเป็นแฟนคลับที่ซื้อทุกเล่มของลาดิด จนกระทั่งช่วงปีหลังๆ มาเริ่มยุ่งขึ้น จึงตามอ่านตามซื้อไม่ทัน แต่อันกามการุณย์ นิยายใหม่ของเธอที่เพิ่งออกเมื่อต้นปีนี้ สามารถ ‘ตก’ เราได้ด้วยคำโปรยไม่กี่บรรทัด ทำเอาต้องยอมเสียเงินทันทีแม้ไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาอ่านหรือเปล่า
“ลูกรัก
หากพ่อของลูกทิ้งรอยคอดไว้ที่นิ้วนางข้างซ้ายของแม่
ส่วนลูกทิ้งรอยแตกไว้บนหน้าท้องแม่
เขาคนนั้นก็ทิ้งรอยสลักอันถาวรไว้เช่นกัน”
ข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากคำโปรยปกหลังของอันกามการุณย์ และหลังจากใช้เวลา 2 ชั่วโมงอ่านนิยายเล่มเล็กๆ นี้รวดเดียวจบ สิ่งแรกที่เรารู้สึกก็คือ คิดไม่ผิดเลยที่ซื้อมา
2.
อันกามการุณย์ เป็นเรื่องราวของลัล บุคคลผู้ถูกแปะป้ายเป็นหญิงตั้งแต่เกิด เขาใช้ชีวิตแบบผู้หญิงมาตลอด แต่งงานกับผู้ชายที่พอใช้ได้ ให้กำเนิดลูกที่น่ารัก แต่แล้ววันหนึ่งก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อลัลไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับร่างกายของตัวเองอีกต่อไป กล่าวคือ ลัลเพิ่งจะมาตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย
ลัลอยากผ่าตัดแปลงเพศ แต่ณัฐผู้เป็นสามีรับไม่ได้ ชีวิตคู่จึงมีปัญหา ณัฐรู้สึกเหมือนเขากำลังใช้ชีวิตกับคนแปลกหน้า และหวังลึกๆ ให้ภรรยาคนเดิมกลับคืนมา ส่วนลัลก็สูญเสียทุกหลักยึดเกาะในชีวิต นอกจากจะไม่สามารถห่มเนื้อหนังของตัวเองได้อย่างสบายใจแล้ว ยังไม่สามารถอยู่บ้านได้อย่างสบายใจด้วย
“ลูกรัก แม่เป็นคนแปลกหน้า เป็นคนนอกในบ้านของตัวเอง”
(หน้า 172)
ในตอนที่มืดแปดด้านนั้นเอง ลัลบังเอิญพบกับชายคนหนึ่งที่ถนนทรงวาด
ชายปริศนาเปิดบ้านให้ลัลกับลูกหลบฝนโดยไม่พูดอะไรมาก ไม่ถาม ไม่ตัดสิน ไม่มีคำปลอบโยนหรือดูถูก เพียงแค่โอบรับอย่างการุณย์ ลัลไม่เคยเจอใครโอบรับเขาในฐานะ ‘ผู้ชาย’ มาก่อน จึงเริ่มสนใจชายคนนี้
แล้วความสนใจก็พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง
หากอ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจตงิดใจว่า นี่เป็นนิยายฟอกขาวให้พวกคบชู้หรือเปล่า ขอกำชับไว้ก่อนเลยว่าไม่ใช่ ตลอดทั้งเรื่องลาดิดแสดงให้เราเห็นชัดว่าลัลไม่ใช่คนดี แต่บางทีการจะถ่ายทอดความเจ็บปวดของเควียร์ให้ผู้อ่านเข้าใจ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเอกที่เป็นคนดีก็ได้
เพราะคนข้ามเพศก็คือมนุษย์ที่มีดีมีเลว ผิดได้พลาดเป็น เหมือนกับคนตรงเพศ นิยายไม่ได้พยายามโน้มน้าวให้เราชอบหรือเชียร์ลัล แค่ต้องการให้เข้าใจว่า ‘ภาวะเป็นอื่น’ นั้นเปล่าเปลี่ยวเพียงใด และการไม่ถูกยอมรับในตัวตนสามารถทำร้ายคนข้ามเพศได้มากขนาดไหน
3.
พูดถึงความเป็นอื่นไปแล้ว จะไม่พูดถึง ‘ความเป็นแม่’ เลยคงไม่ได้ ในอันกามการุณย์ สองประเด็นนี้เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่ก็หักล้างกันได้อย่างน่าทึ่ง กล่าวคือ การได้เป็นแม่คนทำให้ลัลรู้สึกเป็นอื่นน้อยลง
ตลอดชีวิตของลัล เขาต้องสวมใส่สารพัดบทบาทที่ไม่พอดีกับตัวเองเท่าไร เหมือนใส่เสื้อผ้าหลวมหรือคับเกินไป ไม่ใช่แค่บทบาทของผู้หญิง แต่ลัลยังเป็น ‘ลูก’ ที่ไม่ถูกกับพ่อ เป็น ‘นักศึกษาแพทย์’ ที่เลือกเรียนคณะนี้ตามความคาดหวังของครอบครัว แล้วสุดท้ายก็ลาออก เป็น ‘ภรรยา’ ที่เลือกแต่งงานกับณัฐเพราะต้องการหลักยึดเกาะหลังจากแม่ตาย
มีเพียงบทบาท ‘แม่’ ของลูกสาวชื่อลดาเท่านั้น ที่ลัลดูจะใส่ได้อย่างพอดี
“ลูกเอ๋ย แม่รู้แก่ใจว่าสายใยของเราแน่นแฟ้น… มันแผ่และครอบคลุมแม่ แทรกซึมผ่านเนื้อหนัง กำซาบเข้าไปถึงจิตวิญญาณของแม่”
(หน้า 23)
ลัลชิงชังร่างกายของตัวเองที่เป็นผู้หญิง แต่กลับหวงแหนช่วงเวลาที่มีลดาอยู่ในมดลูก ช่วงที่สายรกเชื่อมต่อเขากับลดาเข้าด้วยกัน ช่วงที่ร่างกายเขากับลดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้กระทั่งพอตัดสินใจว่าไม่อยากเป็นผู้หญิงแล้ว ลัลก็ยังอยากเป็นแม่อยู่เสมอ
สิ่งที่ลาดิดทำในอันกามการุณย์ ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวซาบซึ้งระหว่างแม่-ลูก แต่เป็นการโยนคำถามให้ผู้อ่านกลับไปคิดต่อว่า ความเป็นแม่จำเป็นต้องยึดโยงกับความเป็นหญิงหรือไม่ นิยามของความเป็นแม่คืออะไรกันแน่
หากไม่ได้มีมดลูกแล้ว จะยังเป็นแม่อยู่ไหม
หากไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก จะยังเป็นแม่อยู่ไหม
หากไม่ได้รักพ่อของลูกแล้ว จะยังเป็นแม่อยู่ไหม
หากไม่ใช่ผู้หญิง จะยังเป็นแม่อยู่ไหม
คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่คำตอบของลัลชัดเจนมาตั้งแต่แรก และยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังจากเขาสูญเสียบ้านทุกหลัง หลักยึดเกาะทุกแห่งในชีวิต
“เวลานี้ที่แม่เปลี่ยวเหงา แม่โดดเดี่ยว แม่ไม่ใช่ลูกของใคร ไม่ได้ให้กำเนิดใคร ไม่อาจแต่งงานหรือร่วมรักกับใคร ด้วยเหตุนี้ แม่ถึงได้เฝ้าแต่นึกถึงลูก สายใยจากลูกทำให้แม่มีตัวตน”
(หน้า 29)
4.
ในฐานะที่เคยอ่านผลงานลาดิดมาหลายเรื่อง เรามองว่า อันกามการุณย์เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของเจ้าตัวแบบไร้ข้อกังขา สมกับที่ติดเข้ารอบคัดเลือก (Shortlist) เวทีซีไรต์ประจำปี 2567
นิยายเรื่องนี้มีพร้อมทุกองค์ประกอบ ทั้งสำนวนภาษาเรียบง่ายแต่สละสลวย ตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็มีเรื่องราวให้เราเข้าใจ วิธีการดำเนินเรื่องที่ค่อยๆ ไต่อารมณ์จนปะทุ ตลอดจนการผูกประเด็นเกี่ยวกับเพศ ตัวตน และความเป็นแม่ได้อย่างกลมกลืน
หากผู้อ่านท่านใดกำลังมองหาวรรณกรรมไทยที่สดใหม่ ฉีกไปจากกระแสหลัก เราขอฝากอันกามการุณย์ รวมถึงผลงานอื่นๆ ของลาดิดเอาไว้ให้พิจารณา นี่คือนักเขียนเควียร์สัญชาติไทยที่มีศักยภาพมากๆ อีกคนหนึ่ง
Fact Box
- อันกามการุณย์ Non fa niente, ลาดิด (LADYS), สำนักพิมพ์ Ladys and Moonscape, จำนวน 259 หน้า, ราคา 300 บาท