วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ เดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหอบเอกสาร 5,000 หน้า ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้กระทำการที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49
สำหรับเนื้อหาในคำร้อง 65 หน้า สรุปได้ว่า ‘ทักษิณ’ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยโทษ และเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี แต่ทักษิณกลับใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีกรมราชทัณฑ์เอื้อประโยชน์ผ่านชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ จึงถือเป็นการระคายเบื้องพระยุคลบาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
คำร้องยังระบุด้วยว่า ทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา มีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และทักษิณได้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้กัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชา อ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับช้อนทางทะเล (MOU2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา
ขณะเดียวกัน ทักษิณยังสั่งการให้พรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งยังมีพฤติการณ์ครอบครอง ครอบงำ สั่งการ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมครอบงำในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือบุคคลสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทันทีที่ เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
คำร้อง ยังระบุถึงการที่ทักษิณสั่งการให้ขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และสั่งการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยให้สั่งการตามรัฐธรรมนูญให้หยุดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ทักษิณเลิกใช้พรรคเพื่อไทยเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกันยังให้ทักษิณเลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งให้ทักษิณขอให้พรรคเพื่อไทยเลิกควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการ
สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นกรณีใกล้เคียงกับที่ธีรยุทธเคยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พรรคก้าวไกลยุติการกระทำดังกล่าว จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง และได้ใช้คำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นฐานในการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567
Tags: เพื่อไทย, ศาลรัฐธรรมนูญ, เซาะกร่อน, ธีรยุทธ สุวรรณเกษร