“ขู่แบล็กเมลเอาเงินแล้วไม่ได้ผลหรือเปล่า ถึงได้เพิ่งมาแฉ” คือข้อกล่าวหายอดฮิตที่เหยื่อผู้เป็นรองด้านชื่อเสียงหรือเงินทองมักได้รับอยู่เสมอ หากฝ่ายผู้กระทำได้ชื่อว่า เป็นฝ่ายที่ ‘มีอะไรให้เสีย’ มากกว่า

อย่างในกรณีของ แคสซี เวนทูรา (Cassie Ventura) นักร้องอาร์แอนด์บี นักเต้น และนักแสดงที่นับว่า อยู่ในช่วงขาลงจากจุดสูงสุดของอาชีพมาสักพัก หากเทียบกับ พี. ดิดดี้ (P. Diddy) วัย 54 ปี หรือชื่อจริง ฌอน โคมบ์ส (Sean Combs) แรปเปอร์ชื่อดังเจ้าของค่ายเพลง Bad Boy Records ผู้มีอิทธิพลท่วมท้นในฮอลลีวูดมากว่า 20 ปี ก็อาจกล่าวอย่างตื้นเขินได้ว่า ดิดดี้มีเงินทองและชื่อเสียงให้แคสซีตักตวงผลประโยชน์จากการออกมาแฉ 

ตั้งแต่ก่อนที่สถานการณ์จะเป็นที่ประจักษ์ จากคลิปวิดีโอที่เห็นใบหน้าของดิดดี้ชัดเจน ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า เขาทำร้ายร่างกายเธออย่างรุนแรงจริง และก่อนที่ข้อหาบังคับค้าประเวณีของดิดดี้จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย คำวิพากษ์วิจารณ์ที่แคสซีได้รับนั้นมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน หรือความคาดหวังผลประโยชน์กล่าวอยู่เสมอ 

แต่ในความเป็นจริงนั้น มีเหตุผลมากมายนอกเหนือจากเรื่องผลประโยชน์ทางการเงิน ที่ทำให้เหยื่อความรุนแรงไม่กล้าออกมาบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตนต้องเผชิญ

คณะกรรมาธิการเพื่อความเสมอภาคในการจ้างงาน (Equal Employment Opportunity Commission: EEOC) เผยผลการสำรวจจากการรายงานเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 1.2 หมื่นเคส ที่รายงานเข้ามาทุกปี โดยเฉลี่ยกว่า 83% มีเหยื่อเป็นผู้หญิง แต่พวกเขาเชื่อว่า ตัวเลขที่กล่าวมาเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา หากเทียบกับเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมดที่เกิดขึ้นและไม่มีการรายงานเข้ามา

เบเวอร์ลี เองเกิล (Beverly Engel) นักบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตแต่งงานและการเยียวยาเหยื่อความรุนแรง กล่าวในบทความของเธอว่า การที่เหยื่อประวิงเวลาออกไป หรือปฏิเสธที่จะออกมาพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ จนเวลาผ่านไปสักพักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยสาเหตุอาจเป็นเพราะความรู้สึกหรือสภาวการณ์ดังต่อไปนี้

1. ความอับอาย

นี่คือเหตุผลอันดับหนึ่งที่รับรองโดยหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น Psychological Today หรือเว็บไซต์แผนกจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลต่างๆ ความรู้สึกอับอายถือเป็นความรู้สึกที่อยู่ ณ ใจกลางความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจที่เหยื่อได้รับ แม้แต่เหยื่อไม่ได้กระทำความรุนแรงกับอีกฝ่ายก่อน ก็จะรู้สึกผิดและโทษตนเองอยู่ดีว่า มีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้ตนสมควรได้รับประสบการณ์ความรุนแรงนี้ 

“เป็นความผิดของฉันที่ทำหน้าที่แฟน/ ภรรยาได้ไม่ดี”

“เป็นความผิดของฉันที่ไปยอมทำตามใจเขา”

“เป็นความผิดของฉันที่แสดงท่าทียั่วยุเขา”

เมื่อมีความรู้สึกผิดเหล่านี้อยู่ในใจ เหยื่อจึงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆ หรือกระทั่งปิดบังสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนรอบตัว

2. ความกลัว

ความกลัวถึงผลกระทบที่ตามมาคือ เหตุผลรองลงมาที่เหยื่อมักต้องคิดถึง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขารับรู้ว่าเหยื่อคนก่อนๆ ที่เคยออกมาพูดต้องพบเจอกับผลกระทบด้านลบอย่างไรบ้าง บางคนอาจกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ บางคนกลัวว่าต้องสูญเสียหน้าที่การงาน บางคนกลัวว่าจะต้องถูกฟ้องหมิ่นเพื่อปิดปาก หรือบางคนก็กลัวว่าจะถึงขั้นต้องสูญเสียความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไปโดยปริยาย เพราะถูกคุกคามจากฝ่ายตรงข้าม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีแนวโน้มว่า เหยื่ออาจตกเป็นเป้าสายตาของสาธารณะ พวกเขามักกลัวว่า จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หรือต้องสูญเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือไป

3. การปฏิเสธความจริง หรือความไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น

จากสถิติของกระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ กว่า 2 ใน 3 ของเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น ผู้กระทำและเหยื่อเป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน ในหลายครั้งเหยื่อจึงเผลอคิดเข้าข้างผู้กระทำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่การล่วงละเมิด หรือเผลอไปลดทอนความรุนแรงว่า อีกฝ่ายไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การล่วงละเมิดเกิดขึ้นระหว่างคู่รัก

นอกจากนี้เหยื่อส่วนหนึ่งยังไม่มีสติมากพอ ที่จะปะติดปะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ หรือสารเสพติด ในกรณีเช่นนี้ เหยื่อมักขาดความเชื่อใจตนเอง ทำให้ไม่กล้าแจ้งความหรือเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง

4. ความรู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางออก

หลายครั้งต่อให้เหยื่อจะรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งยังรู้เท่าทันผู้กระทำและเอาชนะความรู้สึกโทษตัวเองมาได้ แต่หากสถานการณ์ไม่เป็นไปในทางที่เจ้าตัวคาดหวัง พวกเขาอาจช่างน้ำหนักความน่าจะเป็นออกมา แล้วรู้สึกว่า มองไม่เห็นประโยชน์ของการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองอีกต่อไป บ้างก็คิดว่า ความเป็นธรรมที่ได้มานั้น ไม่คุ้มค่ากับสุขภาพจิต เงินทอง และเวลาที่ต้องเสียไปกับกระบวนการเรียกร้อง

5. เคยมีประวัติโดนล่วงละเมิดมาก่อน

สุดท้ายคือการมีประวัติการโดนล่วงละเมิดมาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะยิ่งทำให้ความรู้สึกทั้งหมดที่กล่าวมาก่อนหน้ายิ่งทวีความรุนแรง โดยสถิติเผยว่า เด็กสาววัยมหาวิทยาลัยกว่า 38% ที่โดนล่วงละเมิด เป็นเหยื่อที่เคยเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมาก่อนที่จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย 

ยิ่งเหยื่อเคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศมามากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ ทั้งยังรู้สึกอับอายในอดีตของตน บางคนอาจถึงขั้นรู้สึกเคยชินกับการถูกล่วงละเมิด หรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนเป็นเรื่องปกติ เหยื่อกลุ่มนี้จึงใช้เวลานานกว่ามากในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ขั้นตอนการตัดสินใจออกมาเปิดเผยความจริงจึงยิ่งเกิดล่าช้าขึ้นตาม

อ้างอิง

https://www.thecut.com/article/diddy-allegations-sexual-abuse-cassie.html 

https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-compassion-chronicles/201711/why-dont-victims-of-sexual-harassment-come-forward-sooner

https://jacksonhealth.org/blog/2018-01-25-five-reasons-sexual-assault/ 

https://www.new-hope.org/perpetrators-of-sexual-violence/

Tags: , , , , , ,