สำหรับเหล่าลูกๆ หลายบ้าน อาจเคยเจอปัญหาขออนุญาตพ่อแม่เลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระต่าย หรือสัตว์สายพันธุ์ใดก็ตาม แล้วถูกปฏิเสธด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งแพ้ขนสัตว์และปัญหาเรื่องความสะอาด 

รวมถึงเหตุผลคลาสสิกที่สุดคือ ‘สัตว์เลี้ยงเป็นภาระ’ เพราะสัตว์เลี้ยงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ทุกวัน ไม่สามารถละเลยได้แม้แต่วันเดียว รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู หรือค่ารักษาพยาบาลหากสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย ต้องมีเงินสำรองจำนวนไม่น้อยเลย

กรณีที่พ่อแม่เล็งเห็นว่า ลูกยังมีความรับผิดชอบไม่มากพอ เว็บไซต์วิกิฮาว (wikiHow) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ ถึงกับมีบทความ วิธีโน้มน้าวพ่อแม่ให้ยอมเลี้ยงสัตว์ โดยมีวิธีการตลกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เปิดรูปสัตว์น่ารักๆ ให้พ่อแม่ดูเป็นประจำ หยอดกระปุกออมเงินสำหรับสัตว์เลี้ยงในอนาคต หรือพยายามทำตัวสุขุมให้พ่อแม่เห็นว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้จะเป็นบทความขำขันและคำแนะนำเหล่านั้นดูเหมาะสำหรับเด็กมากกว่า แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เรื่องพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกเลี้ยงสัตว์ถือเป็นปัญหาสากลในวันนี้

กลับมาที่ประเทศไทย แม้ลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่ มีรายได้ มีเวลา และมีความรับผิดชอบมากพอแล้วสำหรับดูแลสัตว์เลี้ยงสักตัว แต่ตราบใดที่ยังอาศัยอยู่กับครอบครัว หลายคนยังโดนพ่อแม่ห้ามเลี้ยงสัตว์อยู่ดี

อันที่จริง บางครอบครัวไม่ได้รังเกียจสัตว์ หรือปฏิเสธการมีสัตว์เลี้ยงในบ้านเสียทีเดียว แต่ปฏิเสธเพราะพ่อแม่ไม่อยากช่วยเลี้ยง หรือไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ตัวเอง และอยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในความรับผิดชอบของลูกแต่เพียงผู้เดียว จากคลิปไวรัลหลายคลิปใน TikTok หากค้นหาว่า ‘ตอนแรกบอกไม่เลี้ยง’ จะพบว่า มีหลายบ้านที่ตอนแรกพ่อแม่บอกว่า ‘ไม่เลี้ยง’ เป็นประกาศิต แต่พอเอาเข้าจริง เมื่อลูกพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ที่บ้าน กลับเป็นพ่อแม่เองที่คอยกอดหอมสัตว์เลี้ยงเช้าเย็น เลี้ยงดูประคบประหงม แถมยังดูเหมือนรักมากกว่าลูกเสียอีก ซึ่งสัตว์เลี้ยงในคลิปมักเป็นสุนัขกับแมว

แล้วเหตุผลที่พ่อแม่ปฏิเสธสัตว์เลี้ยงไม่ได้คืออะไร

ในปี 1943 คอนราด ลอเรนซ์ (Konrad Lorenz) นักสัตววิทยาชาวออสเตรีย นิยามทฤษฎี ‘Baby Schema’ หรือการเอ็นดูทารก เช่น ดวงตากลมโต ศีรษะใหญ่ ร่างกายนุ่มนิ่ม ในแง่วิวัฒนาการ ลักษณะทางกายภาพเหล่านี้ดึงดูดมนุษย์ให้ต้องการปกป้อง ดูแลหล่อเลี้ยงเลือดเนื้อเชื้อไขอันบอบบางตามสัญชาตญาณ เพื่อดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ ซึ่งลักษณะของสัตว์ดันคล้ายคลึงกับเด็กทารก มนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธการดูแลสัตว์ได้ เพราะนั่นเป็นผลพวงมาจากวิวัฒนาการที่ฝังรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอ

อีกหนึ่งเหตุผลคือ สัตว์เลี้ยงส่งผลดีต่อจิตใจมนุษย์ โดย แพทริเซีย เพนดรี (Patricia Pendry) นักจิตวิทยาพัฒนาการจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต (Washington State University) ประเทศสหรัฐฯ ทำการวิจัยปริมาณการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด โดยวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจากตัวอย่างน้ำลายของนักศึกษา ก่อนและหลังการเล่นกับสัตว์ ผลการทดลองพบว่า นักศึกษากลุ่มที่ได้ลูบสัตว์เลี้ยงมีระดับคอร์ติซอลลดลง และยังมีระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความรักเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จึงไม่แปลกเลยที่มนุษย์อยากคลุกคลีอยู่กับสัตว์เลี้ยง เพราะเพียงลูบหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง ก็ช่วยลดความเครียดได้แล้ว

นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ อย่างน้อยที่สุดพวกมันคือ สิ่งมีชีวิตที่ช่วยคลายความเหงา ในวันที่หลายครอบครัวมีลูกหลานเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว พ่อแม่ห่างหายจากการมีเด็กวิ่งเล่นในบ้าน การมีสัตว์เลี้ยงยังช่วยเพิ่มความสุข ความสนุกสนาน ช่วยให้คนในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันคือ การช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงที่กลายมาเป็นลูกรักอีกหนึ่งคนในท้ายที่สุด

ที่มา:

https://www.akc.org/expert-advice/lifestyle/how-to-convince-your-parents-to-get-a-dog/ 

https://www.wikihow.com/Convince-Your-Parents-to-Let-You-Have-a-Pet

https://www.bbc.com/future/article/20230622-why-do-we-love-ugly-animals 

https://www.snexplores.org/article/pets-animals-boost-health-wellbeing-psychology 

Tags: , , ,