“ทุกเสียงของแรงงานจึงล้วนมีความหมายเพราะทุกคนคือแรงงาน”

เวลาพูดถึงแรงงาน เรามักจะนึกถึงภาพของกรรมกร คนทำงานแบกหาม แต่จริงๆ แล้วแรงงานมีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะมันหมายถึงทุกคนที่ใช้แรงของตัวเองแลกเปลี่ยนออกมาเป็นมูลค่าในรูปแบบต่างๆ ทำให้ไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหนก็ล้วนแต่เป็นแรงงานเหมือนกันทั้งสิ้น

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี จึงเป็นวันที่สำคัญต่อแรงงานทุกคน เพราะนี่คือวันแรงงานสากล ที่แรงงานทั่วโลกจะได้รำลึกถึงวีรกรรมของคนรุ่นก่อน ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ที่ได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องแบบต่างกรรมต่างวาระเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีเวลาการทำงานที่แน่ชัดคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน มีสวัสดิการที่ควรได้เพิ่มเติมจากการทำงานที่หนักขึ้น แต่กว่าจะได้ตามที่เรียกร้องมาสักอย่าง ต้องเสียทั้งเหงื่อ น้ำตา ไปจนถึงเลือดเนื้อมากมายกว่าที่ใครคาดคิด

สำหรับการต่อสู้ของแรงงานไทยก็ดุเดือดเลือดพล่านไม่แพ้กัน และเราสามารถย้อนรอยกลับไปได้ไม่ต่ำกว่า 200-300 ปี ซึ่งหากถามว่าเราจะสามารถเข้าถึงหลักฐานและเรื่องราวต่างๆ ของวันนี้ได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ทาส/ ไพร่/ ไทย/ จีน

สำหรับห้องแรกที่ได้เข้าชมชื่อว่าห้อง ‘แรงงานบังคับในสังคมโบราณและการเปิดประเทศ’ ว่าด้วยเรื่องราวของแรงงานไพร่-ทาสในยุคแรกแผ่นดินสยาม ภายในห้องเก็บรวบรวมสิ่งของ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร อุปกรณ์ล่าสัตว์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของแรงงานในระบบศักดินา

ใจความสำคัญของห้องนี้อยู่ที่การบอกเล่าว่า แรงงานในยุคนั้นไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินแต่อย่างใด เพราะแรงงานมีศักดิ์เป็นเพียงแค่ไพร่และทาส ของบรรดาเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น

หากถามว่ายุคแรกที่แรงงานได้รับค่าจ้างเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบอยู่ในห้องที่ 2 ที่มีชื่อว่า ‘กุลีจีน ในฐานะแรงงานรับจ้างรุ่นแรก’

ใช่แล้ว คนจีนที่อพยพด้วยเรือสำเภามาตั้งรกรากอยู่ในสยาม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมณฑลฟูเกี้ยน กวางตุ้ง และไหหลัม คือแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากพวกเขาไม่เพียงแค่ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองไป แต่ยังรวมกลุ่มกันอย่างแข็งแกร่งต่อรองและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากนายจ้าง จนเกิดเป็นคำว่า อั้งยี่ ที่หมายถึงสมาคม(ลับ)ของคนจีน ที่มาอาศัยในประเทศไทยขึ้นมา

และความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มอั้งยี่เอง เป็นเหตุให้ต้องมีการบัญญัติกฎหมายอาญา มาตรา 209 หรือ ‘อั้งยี่ซ่องโจร’ ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ทำลายการรวมกลุ่มคนจีนที่บังอาจรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ จนดูจะเกินหน้าเกินตา

แม้จะดูเป็นกฎหมายในยุคเก่าเพื่อเล่นงานคนจีน แต่กฎหมายอั้งยี่ซ่องโจรก็บังคับใช้กับคนไทยด้วยเช่นกัน เช่นในช่วงปี 2564 ที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง เป็นช่วงที่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประชาชนและภาครัฐกำลังคุกรุ่น

จากไพร่ขุนนาง สู่ไพร่ของประเทศ

ในห้องต่อมา ‘แรงงานกับการปฏิรูปประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5’ ใจความสำคัญของห้องนี้ว่าด้วยการเลิกทาส ในสมัยการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานไทย

คุณชลิตอธิบายว่า การเลิกทาสส่งอิทธิพลต่อการต่อสู้ของแรงงาน เพราะมันคือการสลายความเป็นไพร่ ทำให้จากเดิมที่เหล่าขุนนางเคยมีกองทัพไพร่อยู่ในมือ คราวนี้ไพร่ทุกคนได้สถานะกลายเป็นประชาชนของแผ่นดิน เปลี่ยนจากแรงงานของขุนนางกลายเป็นแรงงานของประเทศ หรือหากจะมองว่าคือการเปลี่ยนให้ประชาชนกลายเป็นไพร่ของประเทศแทนก็ได้เช่นกัน

การเลิกทาส อาจเป็นสิ่งที่ดีแต่มันก็นำมาซึ่งปัญหาและความสับสนในช่วงแรก เพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไม่มีทาสแล้ว ควรต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างไร หน่วยงานใดที่มีอำนาจในการดูแลความเรียบร้อย สิทธิและหน้าที่ของคนเป็นแรงงานควรจะเป็นอย่างไรด้วย เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของแรงงานและอำนาจทางการเมืองเริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่ก้าวเข้ามาในห้องต่อไปคือ ‘แรงงานกับการเปลี่ยนแปลง 2475’ โดยสิ่งแรกที่จะพบก็คือ แบบจำลองของหมุดคณะราษฎรฝังอยู่บนพื้นประหนึ่งของจริง แต่ปัจจุบันหมุดต้นฉบับหายสาปสูญไปจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปอยู่ที่ใด

แล้วหมุดคณะราษฎรนั้นเกี่ยวข้องกันกับการต่อสู้เพื่อแรงงานอย่างไร คำตอบก็คือเพราะคณะราษฎรนั้นเป็นผู้ดำเนินการปฏิวัติสยามเมื่อปี 2475 และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย หมุดจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงว่าประชาชนเองก็มีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้อง แสดงออก เพื่อคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้นเช่นกัน

ทำให้ประชาชนชาวแรงงานรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการเพื่อต่อรอง และเรียกร้องสิทธิจากนายจ้างหลายประการ ดังจะเห็นได้จากภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่จัดแสดงอยู่โดยรอบนั่นเอง

แรงงาน ชาตินิยม และความขัดแย้งทางการเมือง

ยิ่งเดินสำรวจพิพิธภัณฑ์มากเท่าไหร่ หลักฐานที่ว่าการต่อสู้ของแรงงานคือการต่อสู้ทางการเมืองก็จะยิ่งเข้มข้นกว่าเดิม คราวนี้แรงงานต้องเผชิญหน้ากับเผด็จการเบ็ดเสร็จในห้องที่ 5 ‘จากสงครามโลกสู่สงครามเย็น’

อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำเสนอว่านี่คือช่วงเวลาอันเฟื่องฟูของลัทธิชาตินิยม ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของ จอมพลป.พิบูลย์สงคราม โดยช่วงนั้นสยามประเทศกำลังเผชิญกับสงครามจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามโลก และสงครามเย็น นำมาสู่การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างวาทกรรมความรักชาติ เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นเดียวกันเพื่อต่อกรกับต่างประเทศ

สิ่งที่จะเห็นได้ชัดในห้องนี้คือการจัดแสดงเรื่องราวของเชลยสงครามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลายเป็นแรงงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว และอีกมุมหนึ่งของห้องยังมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาชีพช่างตัดผม อาชีพปั่นสามล้อรับจ้าง ซึ่งเป็นอาชีพที่ถูกสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้นจัดแสดงไว้ด้วย

หลักฐานที่ปรากฎในห้องยังกล่าวถึงการเข้าสู่ยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นย่างก้าวที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้เจริญเติบโต และมีกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ปิดกั้นสิทธิ์และเสรีภาพของแรงงานไทย ที่ทำให้ต้องดิ้นรนอยู่อีกนานพอสมควร ถึงจะสามรถเรียกร้องสิทธิ์ที่พวกเขาพึงมีโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ

บทเพลงการต่อสู้ แม้นพูดไม่ได้ แต่ก็ไม่อาจหยุดเสียงเพลงได้

เวลาเราพูดถึงชนชั้นแรงงานผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ชื่อของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์ นักกิจกรรม และนักปฏิวัติเพื่อสังคมคอมมิวนิสต์ น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ และรู้หรือไม่ว่า เขาเองก็มีอิทธิพลต่อการต่อสู้ของเหล่าแรงงานชั้นกัน ถึงชั้นที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเขาอยู่ในห้องที่ชื่อ ‘ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์’ โดยเฉพาะ

เนื้อหาจากในห้องนี้แน่นอนว่าพูดถึงแนวคิดของ จิตร พูดถึงตำนานการถูกลอบทำร้ายภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยการจับโยนบก โดยฝีมือของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้สมาคมนิสิตเก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษนักสู้ในตำนานรายนี้ และแถลงการณ์ดังกล่าวก็นำมาจัดแสดงอยู่ในห้องนี้ด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงแค่นั้นในห้องยังจัดแสดงผลงานศิลปะเพื่อชนชั้นกรรมาชีพเอาไว้ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือของ จิตร ภูมิศักดิ์ เองที่แต่งเพลงที่เกี่ยวกับชีวิตของแรงงานด้วย เช่น เพลงศักดิ์ศรีแรงงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่ใครกล่าวเอาไว้ บทเพลงและงานศิลปะหลายชิ้นก็คือเครื่องมืออีกชิ้นในการต่อสู้เรียกร้องด้วยความละมุนละม่อมนั่นเอง

ทั้งนี้ในห้องยังไม่ได้มีแต่เพลงของจิตรเพียงคนเดียว แต่ยังมีเรื่องราวของวงดนตรีที่แต่งเพลงเพื่อเรียกร้องหรือรำลึกความสูญเสียของเหล่าแรงงานไว้อีกหลายวง เช่น วงภราดร วงดนตรีหญิงล้วนที่แต่งเพลง ‘คิดถึงตุ๊กตา’ ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ อินดัสเทรียล เมื่อปี 2536 ส่งผลให้แรงงาน 188 ศพถูกเผาทั้งเป็น แล้วทำให้เมืองไทยต้องปฏิวัติการทำงานให้เกิดความปลอดภัยเสียใหม่ เกิดเป็นกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 เพื่อไม่ให้ต้องมีใครล้มหายตายจากด้วยปัญหานี้อีกต่อไป (สิ่งของจากโรงงานดังกล่าวยังถูกจัดแสดงเพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมครั้งนั้นด้วยในห้องถัดไป

ชัยชนะของแรงงานในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน?

สำหรับห้องสุดท้ายนั้นใช้ชื่อว่า ‘จาก 14 ตุลาฯ ถึงวิกฤตเศรษฐกิจ’ ห้องนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์ และเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ตั้งแต่ยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่เรียกได้ว่า ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ อย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก จากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2514 เมื่อประชาชนและนักศึกษาชุมนุมประท้วง และขับไล่เผด็จการในรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร นำมาสู่ชัยส่งผลอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ของแรงงาน

แต่ชัยชนะและความเบ่งบานครั้งนี้ก็มีอายุสั้นเหลือเกิน เมื่อ 3 ปีให้หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาต้องเข้าไปอยู่ในป่า หันหน้าเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ ยังเกิดการเรียกร้องสิทธิ์ของการต่อสู้ของคนหลายกลุ่ม อาทิ กรรมกรหญิงโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อฮาร่า (HARA) ที่ประท้วงการจ่ายค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของนายจ้าง ซึ่งยังถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า (2518) ที่ในเวลาต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แรงงานไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้อย่างดี

ผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานไว้หลายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้เรียกร้องให้ได้หยุดวันลาคลอด ซึ่งสิทธิ์ในปัจจุบันอยู่ที่การลาได้ 98 วัน และปัจจุบันพรรคก้าวไกลกำลังต่อสู้เพื่อขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น 180 วัน ให้สอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการนำเสนอเรื่องราวปัญหาของแรงงานอีกหลายกรณี เช่น การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเด็ก ไม่ให้นำมาใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย, การต่อสู้ของของแรงงานนอกระบบ 4.0 ที่ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน, ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานหลายแห่งที่พยายามกีดกันไม่ให้พนักงานในองค์กรรวมกลุ่มตามสิทธิอันชอบธรรมได้ รวมถึงการต่อสู้เรื่องของสิทธิประกันสังคม ที่นำมาสู่การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรกช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา และลงเอยด้วยชัยชนะของทีมประกันสังคมก้าวหน้า เป็นต้น

เรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนได้นำมาถ่ายทอดในครั้งนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับจากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตลอด 1 ชั่วโมง แม้จะไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดออกมาได้ครบถ้วน แต่คุณงามความดีของพิพิธพัณฑ์นี้ก็คือการแสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ของแรงงานไทยสำคัญเช่นไรต่อมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย

ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกครั้งที่เหล่าแรงงานจะชนะ และถึงแม้ยังมีการต่อสู้ของแรงงานอีกหลายส่วนที่ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ แต่ตราบใดที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังอยู่ นี่คือสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่า แรงงานไทยไม่เคยหยุดสู้ และทุกการเสียสละหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเลือดเนื้อของพวกเขาห่างไกลจากคำว่าสูญเปล่า

Fact Box

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : Thai Labour Museum ตั้งอยู่ ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เปิดบริการทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.30 น​. สนใจสอบถามรายละเอียเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์: 02-251-3173

Tags: , , ,