เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) แถลงรับการยอมจำนนของกลุ่มกองทัพทหารเมียนมา ในเมืองติงกะหยิงหย่อง (Thingannyinaung) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองเมียวดี 10 กิโลเมตร หลังต่อสู้กันมาอย่างหนักหลายสัปดาห์ และโพสต์คลิปวิดีโอเข้ายึดยุทโธปกรณ์ในค่ายทหาร
การบุกโจมตีของกลุ่ม KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (People’s Defence Forces: PDF) ในเมืองเมียวดี ทำให้รัฐบาลทหารพม่าสูญเสียเมืองสำคัญอีกแห่ง เพราะเมียวดีคือเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญระหว่างไทยและเมียนมา อีกทั้งยังส่งผลให้เหล่า ‘ทหารพม่า’ กว่า 600 นายถูกจับกุม และทำให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการบางส่วนต้องอพยพออกจากพื้นที่
ต่อมาทางการของเมียนมาติดต่อมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขออนุญาตใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2567 เพื่อส่งตัวเหล่าทหารและข้าราชการกลับไปยังส่วนกลาง ล่าสุดวันนี้ (8 เมษายน 2567) กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาเปิดเผยว่า ทางการเมียนมาแจ้งขอยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือในวันที่ 8-9 เมษายน เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ที่เครื่องบินทหารเมียนมา ATR72-600 เดินทางมายังประเทศไทย โดยใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเศษก่อนบินกลับเมียนมาในเวลาสี่ทุ่มตรง ได้สร้างข้อถกเถียงถึงท่าทีที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่าประเทศไทยสนับสนุนให้การช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมาหรือไม่ และการอนุญาตให้ใช้ท่าอากาศยานนั้นส่งผลกระทบอะไรหรือไม่?
The Momentum พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช รองศาสตรจารย์ประจำหลักสูตรอาณาบริเวณศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขข้อเท็จจริงและชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากประเด็นที่เกิดขึ้น
ดุลยภาคกล่าวว่า การขอใช้ท่าอากาศยานเพื่อส่งตัวผู้ลี้ภัยนั้นสามารถ ‘ทำได้’ โดยให้ทางการทำเรื่องมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย หากอนุมัติก็ให้กองทัพอากาศเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัย
“เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นเมื่อปี 2563 ที่เครื่องบินทหารอียิปต์มาจอดในไทยก็มีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน เพราะมีเหตุผลเฉพาะและเป็นเรื่องฉุกเฉินก็ทำเรื่องประสานมา โดยพิจารณาเป็นกรณีไป และหากดูในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศทางด้านมนุษยธรรมว่าด้วยการส่งเชลยศึก ประเทศที่เป็นกลางหรือประเทศที่อยู่ติดกับเส้นทางการขนส่งเชลยศึก มีสิทธิในการตัดสินใจที่ใจที่ใช้สนามบินได้”
รองศาสตราจารย์ด้านอาณาบริเวณศึกษาเล่าถึงการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงของไทยต่อว่า ยังมีความจำเป็นต้องติดต่อกับรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ เพราะพวกเขายังควบคุมพื้นที่ใจกลางของประเทศได้ ดังนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และเนปิดอว์จะต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นมาก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกตั้งคำถามจากสังคมจากการช่วยเหลือในครั้งนี้ได้ เพราะมีหลายกลุ่มที่ไม่ชอบกลุ่มทหารเมียนมา อีกทั้งหากอำนวยความสะดวกให้กองทัพหรือข้าราชการพม่ามากเกินไป ก็จะถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือองค์ประกอบของเผด็จการ
“มาวันนี้ ภูมิทัศน์ชายแดนโดยเฉพาะที่ติดกับบ้านเราอย่างลุ่มแม่น้ำเมย จังหวัดตาก เปลี่ยนไปแล้ว เพราะอำนาจทหารพม่าลดน้อยลง ถูกกวาดไล่ในหลายพื้นที่โดยมีกลุ่ม KNU, PDF หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) เป็นผู้ควบคุมพื้นที่ที่สำคัญ
“คำถามที่สำคัญคือ ไทยควรเปิดแพลตฟอร์ม หรือมีการติดต่อกับผู้ชนะที่ควบคุมระเบียบชายแดน ณ วันนี้มากขึ้นหรือไม่ แทนที่จะให้น้ำหนักกับทหารพม่ามากเป็นพิเศษ ในชายแดน น้ำหนักของทหารพม่าจะต้องลดลงไปบ้างแล้ว เพราะ KNU เรืองอำนาจมาก”
ดุลยภาคยังระบุอีกว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะยิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะไทยเพิ่งเริ่มระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาในเมียวดีมาร่วมงาน แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านั้นถูกจับกุมหรือหลบหนีไปแล้ว กลายเป็นกลุ่ม KNU และ PDF ที่มีอำนาจ
“เพราะฉะนั้นการส่งออกสิ่งของของไทยต่อไป Stakeholder ที่สำคัญจะเป็นกลุ่ม KNU ที่เราจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะลดน้ำหนักของทหารเมียนมา และเพิ่มน้ำหนักให้กับ KNU และ PDF แต่ทั้งนี้ก็ต้องเตรียมแผนในกรณีที่ทหารเมียนมาจะเอาคืน เราก็ต้องเตรียมเป็นเฟสๆ ไป”
เมื่อถามย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือกลุ่มทหารเมียนมาในครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ดุลยภาคตอบว่า ‘ถูกต้องแล้ว’ แต่ต้องช่วยเหลืออย่างเป็นกลาง หากวันใดที่กลุ่ม KNU หรือ PDF เพลี่ยงพล้ำ ไทยก็ต้องให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
ดุลยภาคกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งหลายฝ่ายมองว่าการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นเรื่องของ ‘บุญคุณ’ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องจริง เพราะการที่ประเทศไทยได้ความสำเร็จในขั้นแรกของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้ความร่วมมือ
กอปรกับการลำเลียงคนไทยจำนวน 266 รายออกจากเมืองเล่าก์กาย ได้อย่างปลอดภัยจากเหตุความขัดแย้งในรัฐฉาน เมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการดีลกับเจ้าหน้าที่ ทหาร ข้าราชการของรัฐบาลทหารพม่าด้วย ดังนั้นแล้วการช่วยเหลือครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการตอบแทนกัน
“แต่ว่าตอนนี้กระแสของฝ่ายที่เกลียดชังทหารพม่ามีสูง พอเห็นว่ามีการติดต่ออะไรกันระหว่างไทยกับพม่า เราก็จะโดนก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้”
เมื่อถามว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ประเทศไทยได้ผลประโยชน์อย่างไรบ้าง ดุลยภาคอธิบายว่า สิ่งที่ไทยจะได้คือ
“หนึ่ง รัฐบาลเพื่อไทยจะมีผลงานว่าใช้นโยบายการต่างประเทศที่ Active มากขึ้น เน้นเรื่องการทูตมนุษยธรรม
“สอง ความช่วยเหลือนี้อยู่ในฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนอยู่แล้ว นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารของมิน อ่อง หลาย อาเซียนตกลงกันใน 5 ข้อ ในการแก้ไขความขัดแย้งในเมียนมา มีข้อหนึ่งระบุว่า ‘ให้มีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม’ เพราะฉะนั้นการขยับของประเทศไทยก็มีความหมายต่อสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียนที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนในประเทศเมียนมา
“สาม เป็นการบรรเทาภัยทางมนุษธรรมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะไทยประกาศว่าจะช่วยเหลือโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด หากได้รับผลกระทบทางสงคราม ไทยก็พร้อมจะช่วยเหลือ ในสายตาของสหประชาชาติ หรือ NGOs การขยับของไทยตรงนี้ อาจจะโอเคขึ้น ดีกว่ารัฐบาลก่อนที่เงียบมากไม่ทำอะไรเลย”
สุดท้ายดุลยภาคอธิบายถึงสาเหตุว่า เหตุใดท่าทีของทางการไทยถึงตอบสนองต่อข้อครหาล่าช้า โดยระบุว่า เป็นลักษณะการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้วในการจัดการเรื่องนี้ โดยสงวนท่าทีไว้ก่อน หากออกมาพูดว่าช่วยเหลือทหารพม่าอย่างกระโตกกระตาก อาจทำให้กลุ่ม KNU, รัฐบาล NUG หรือนานาชาติออกมาแถลงประณามรัฐบาลไทยได้อย่างรวดเร็ว
Tags: กองทัพ, เมียนมา, ความมั่นคง, รัฐประหารเมียนมา, แม่สอด