ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ ‘ฤดูฝุ่น’ ซึ่งมีผลจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ และกระแสลมสงบ จนทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น อีกทั้ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เร่งรัด กำชับ และเน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง[1] โมเดลนี้กลายเป็นต้นแบบการทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นเหนือในปัจจุบัน

ในวันเดียวกันคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ส.3/2566 เวลา 10.25 น. ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เพราะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ​2535 หรือตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง[2]

หากเจาะจงสถานการณ์ฝุ่นในภาคเหนือ คำสั่งไม่รับฟ้องคดีครั้งนี้เสมือนการปิดประตูการริเริ่มประเด็นความรับผิดชอบตามหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เข้าสู่สนามกฎหมาย เพราะฝุ่นภาคเหนือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับฝุ่นข้ามพรมแดนที่เกิดจากการเผาซากวัสดุทางการเกษตร และผลกระทบโดยตรงจากธุรกิจที่เกี่ยวกับเกษตรเชิงเดี่ยว   

การฟ้องคดีครั้งนี้จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจ เข้ามาทำหน้าที่กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดทำรายงานในลักษณะอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทลูก บริษัทย่อย บริษัทร่วมค้าหรือการลงทุนในรูปแบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในกิจกรรมหลัก ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ 

คำสั่งไม่รับฟ้องจึงทำให้ประเทศไทยยังคงขาดกลไกทางกฎหมายสำคัญที่จะควบคุมหรือเอาผิดกับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทไทย และส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับมายังประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มกราคม 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาว่า นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยล่าช้าต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ และพิพากษาให้ทั้งสองร่วมกันใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายจาก PM2.5 ตามหลักป้องกันล่วงหน้า (Prevention Principle) ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด[3] 

แม้จะมีคำพิพากษาเป็นหลังพิงในทางกฎหมาย แต่แผนฉุกเฉินแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเหนือ กลับส่อที่จะล่าช้าออกไป เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าฝั่งนายกรัฐมนตรีจะไม่มีการอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็มิได้ใช้อำนาจสั่งการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ หรือประกาศมาตรการฉุกเฉินแต่อย่างใด ทำให้ความหวังการได้มาซึ่งแผนฉุกเฉินของคนเหนือจึงริบหรี่ ได้แต่รอคอยให้ฝนตกมาในเร็ววัน 

เศรษฐกิจมาก่อน ชีวิตคนไว้ทีหลัง และทำไมถึงไม่ใช้อำนาจตามกฎหมาย?

“ผมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น คือจะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติหรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนว่าจังหวัดเชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้” เศรษฐากล่าว[4]

ในทางกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีฝุ่นภาคเหนือ หมายความว่า นายกรัฐมนตรียอมรับและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาดังกล่าวทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ค่าฝุ่น PM2.5 ภาคเหนืออยู่ในระดับวิกฤต ก็สามารถใช้อำนาจสั่งการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ มาตรา 9 ที่ให้อำนาจสั่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นในสภาวการณ์ฉุกเฉิน จากฐานกฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรียังสามารถทุ่มเททรัพยากร งบประมาณ กำลังพล หรือสั่งการใดๆ ก็ตามเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเหนืออย่างทันท่วงที แต่เมื่อดูเหตุผลข้างต้นที่เศรษฐากล่าวไว้ คงจะเห็นเหตุผลอันแท้จริงของการไม่ใช้อำนาจทางกฎหมาย

เมื่อกลับมามองเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ในการจัดการฝุ่น ผ่านการฟ้องคดีเกี่ยวเนื่องกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปี 2562-2566 จำนวนทั้งสิ้น 6 คดี[5] พบว่า กฎหมายที่เป็นหลักใจความในการจัดการเรื่องฝุ่น มักหนีไม่พ้นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป กฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นฐานฟ้องคดีให้รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจสั่งการเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณะชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษ[6] การประกาศเขตควบคุมลพิษ[7] การประกาศเขตภัยพิบัติ[8] หรือการฟ้องเพื่อยกระดับให้หน่วยงานรัฐต้องมีการประกาศกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เข้มงวดและปลอดภัย ที่ควรจำเป็นต้องมีการกำหนดเกณฑ์ในส่วนการปล่อยทิ้งอากาศเสีย และค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานเช่นกัน[9] เพื่อให้รัฐต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ยังคงมีข้อจำกัดที่ ไม่สามารถใช้เป็น ‘ยาครอบจักรวาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5’ เพราะกฎหมายแต่ละฉบับมีเงื่อนไขการใช้ ตามดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหาคือกฎหมายไม่ได้กำหนดองค์ประกอบ หรือเงื่อนไขการใช้อำนาจไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นกรณีที่ตัวบทกฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี[10] ปัญหาการใช้อำนาจตามดุลพินิจจึงทำให้เกิด ‘ธรรมเนียม(ไม่)ปฏิบัติ’ ที่แตกต่างกัน ดังที่ปรากฏในรายละเอียดคำพิพากษาคดีฝุ่น เช่น 

คำพิพากษาคดีหมายเลขดำและแดงที่ ส.1/2564 กรณีการฟ้องให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ภาคเหนือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.สว.) อธิบายว่า 

“การประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีในการใช้อำนาจไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ การประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ใช่ปัจจัยหลักในการควบคุม ลด และขจัดมลพิษให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความพร้อมของหน่วยงาน และงบประมาณ ฯลฯ”[11]

คำพิพากษาคดีหมายเลขดำและแดงที่ ส.1/2566 กรณีการฟ้องให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ​2550 ถูกให้เหตุผลการไม่ประกาศเขตภัยพิบัติว่า 

“แม้จะเป็นภัยธรรมชาติที่ครอบคลุมภาคเหนือ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก แต่ยังถูกจัดให้เป็นสาธารณภัยระดับที่สองอันเป็นกรณีที่จังหวัดสามารถดำเนินการได้เอง โดยจังหวัดจะรายงานขึ้นไปกระทรวงตามระดับการจัดการที่แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนดไว้ ทำให้นายกรัฐมนตรีจึงยังไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 31 ของกฎหมายนี้ในการประกาศภัยพิบัติระดับ 4 สาธารณะภัยระดับร้ายแรงอย่างยิ่ง โดยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นภัยที่สามารถป้องกันและบรรเทาได้ โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น กรณีแผ่นดินไหวประเทศตุรกีหรือสึนามิ ส่วนที่ยังไม่กระทบขวัญกำลังใจของคนทั้งประเทศ เนื่องจากเหตุดังกล่าวกระทบต่อประชาชนส่วนหนึ่งและยังใช้ชีวิตต่อไปได้ อีกครั้งกรณีดังกล่าวเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เสนอขึ้นไปตามลำดับชั้น”[12]

ขณะที่คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีล่าสุด คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2567 กรณีการฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ร่วมกันใช้อำนาจตามมาตรา 9, 10 และ 13 พ.ร.บ.รักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ถูกให้เหตุผลการไม่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ว่า 

“อำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.​ 2535 ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกฯ–ผู้เขียน) มีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐเป็นอันมา ถือได้ว่าเป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการพิจารณาสั่งการดังกล่าว…”[13]

ดังนั้นมาตรการทางกฎหมายหรือเครื่องมือทางกฎหมายใดๆ ที่บัญญัติมาให้ใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 กลับเป็นหมัน เพราะว่า ‘ดุลพินิจสั่งการ’ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กฎหมายกำกับและให้อำนาจกับผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการตามดุลพินิจที่เห็นสมควร ทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะเวลาที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้สั่งการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ว่าจะตระหนักถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่ประสบภัยมากหรือน้อยเพียงใด 

คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ตลอดระยะเวลาทศวรรษที่ประชาชนต้องประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 จนถึงวันที่กรมควบคุมมลพิษประกาศเข้าสู่ ‘ฤดูฝุ่น’ ลำพังกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม และการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหานี้ล้มเหลวมากน้อยเพียงใด แม้แต่ความจริงใจในการแก้ไขปัญหายังไม่มี

ปัญหาการจัดการฝุ่น PM2.5 ชี้ให้เห็นช่องว่างทางกฎหมายขนาดใหญ่ของไทยว่า กฎหมายที่มีอยู่เดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกันก็การทำหน้าที่ของรัฐไทยก็ยังล่าช้าและ ‘ขาด’ สิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to a Healthy Environment) ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.​ 2560 หรือตัวร่างกฎหมายที่จะเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่น เช่น ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่คงไม่สามารถออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในฤดูฝุ่นนี้ เช่นเดียวกับแผนฉุกเฉินภาคเหนือที่ยังไร้วี่แวว เงียบหายไปกับฝุ่นควัน ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือจึงยังต้องทนเป็นคนปอดเหล็ก, เลือดกำเดาไหล, เยื่อบุตาอักเสบ และเตรียมเป็นมะเร็งปอดในอนาคตอันใกล้ คงต้องทนใช้ชีวิตกันต่อไปเหมือน 10 กว่าปีที่ผ่านมา แล้วเผชิญฤดูฝุ่นที่เกิดซ้ำในทุกปี และรอคอยให้พระพิรุณช่วยอวยพรให้มีฝนห่าใหญ่ตกลงมา คงจะทันการกว่ามาตรการของรัฐในการปกป้องชีวิตประชาชน  

 

ข้อมูลอ้างอิง

1 กรมควบคุมมลพิษ, ประกาศเข้าฤดูฝุ่น คุมเข้มทุกหน่วยงาน ควบคุมต้นตอ, ระบบออนไลน์ : https://www.pcd.go.th/pcd_news/31032.

2 ประชาไท, คดีฝุ่นภาคเหนือ ไปไม่ถึง ‘ผลกระทบข้ามพรมแดน’ ศาลปกครองไม่รับฟ้อง ‘ก.ล.ต.’, ระบบออนไลน์ : https://prachatai.com/journal/2024/01/107508

3 ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ต่อการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (คำพิพากษาศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขแดงที่ ส.2/2566) รายละเอียดคำพิพากษา โปรดดู https://enlawfoundation.org/decision/

4 กรุงเทพธุรกิจ, นายกฯ หวั่นกระทบท่องเที่ยว ‘เชียงใหม่’ ไม่ประกาศพื้นที่ฉุกเฉินฝุ่นพิษ, เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1118092 

5 ปี 2562 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชน ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศให้พื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเขตควบคุมมลพิษ และไม่ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 (คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขแดงที่ ส.28/2562)

ปี 2564 ประชาชนฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศให้พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเขตควบคุมมลพิษ (คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2564)

ปี 2566 – เครือข่ายภาคประชาชนฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐ ละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ในการปรับปรุงและประกาศใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปและจากแหล่งกำเนิด และไม่จัดทำระบบ PRTR (คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ส.36/2566)

– ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรี ละเลยต่อหน้าที่ไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ (คำพิพากษาศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขแดงที่ ส.1/2566)

– ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ต่อการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (คำพิพากษาศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขแดงที่ ส.2/2566) รายละเอียดคำพิพากษา โปรดดู https://enlawfoundation.org/decision/

– ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ตาม มาตรา 9 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.​2535 – คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่

6 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ 2535 มาตรา 9 

7 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 59

8 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 31

9 EnLAW, 22 มี.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคม-ประชาชน ยื่นฟ้องศาลปกครองให้หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ “แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน, https://enlawfoundation.org/pm-2-5-lawsuit/ 

10 อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจดุลพินิจตามกฎหมายไม่สามารถใช้ตามอำเภอใจได้ เพราะจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติรัฐและมีผลให้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดโปรดดู, กัมปนาท สถิตพร, หลักการทางกฎหมายในการใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ, สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร, https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000121/File2020/No.12-11-6-63.pdf

11 คำพิพากษาคดีหมายเลขดำและแดงที่ ส.1/2564 หน้า 14-15, https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2023/03/Decision-PM25ControlZone2564-CMAdmincourt.pdf

12 คำพิพากษา คดีหมายเลขดำและแดงที่ ส.1/2566 หน้า 56, https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2023/03/Decision-PM25CrisisZone2566-CMAdminCourt.pdf 

13 คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2566 และแดงที่ ส.1/2567 หน้า 19, https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2024/01/Decision-NorthernPM25Crisis1-2567-CMAdminCourt.pdf

Tags: , , , ,