ชาวตุรกีลงคะแนนเสียงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) เลือก ‘เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน’ เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย เป็นการสืบทอดอำนาจยาวนานติดต่อกัน 15 ปีของเขา และทำให้เขามีอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติและตุลาการ

นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับแต่ชาวตุรกีลงประชามติเมื่อปีที่แล้ว เห็นชอบให้ประธานาธิบดีที่เดิมเคยมีบทบาทเฉพาะพิธีการ ให้เข้ามามีอำนาจบริหารด้วย ซึ่งระบบใหม่เปิดทางให้เกิดการแทรกแซงอำนาจบริหารของนายกรัฐมนตรี และเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีให้สามารถควบคุมการบริหารและจัดตั้งรัฐบาลได้ และยังทำให้แอร์โดอันสามารถเป็นประธานาธิบดีได้สองสมัย และอาจขยายได้ถึงสามสมัยหากเขาจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนหมดวาระ รวมแล้วเปิดทางให้เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานจนถึงปี 2032

แอร์โดอันมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อ 2 ปีก่อน เขาถือโอกาสจากครั้งนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปราบปรามทนายความ นักกฎหมาย ผู้พิพากษา ข้าราชการ และนักข่าว มีประชาชน 50,000 คนถูกจับกุมและข้าราชการ 110,000 คนถูกไล่ออก นักวิเคราะห์บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่คนกลุ่มนี้จะปกป้องตุรกีจากการเป็นรัฐเผด็จการ

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เขาได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า 53% เอาชนะมูฮาร์เร็ม อินซ์ (Muharrem Ince) คู่แข่งของเขาซึ่งได้รับคะแนนเสียงเกือบ 31% ชัยชนะของแอร์โดอันรอบนี้ ปิดทางความร่วมมือของนานาชาติ ที่จะแก้สถานการณ์ความรุนแรงในอิรัก ซีเรีย และการควบคุมผู้อพยพที่ไหลเข้าสู่ยุโรป แม้ตุรกียังคงร่วมมือกับประเทศพันธมิตรในยุโรปในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย แต่แอร์โดอันแสดงท่าทีใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูตินด้วยการซื้อขีปนาวุธจากรัสเซียและรัสเซียมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตุรกี

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แอร์โดอันได้รับคะแนนเสียงจากชาวตุรกีจำนวนมากเป็นเพราะชาวตุรกีเห็นว่า การรวมศูนย์อำนาจทำให้รัฐเข้มแข็งและป้องกันภัยก่อการร้ายได้

แอร์โดอันวัย 64 ปี กล่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ หลังจากรู้ผลการเลือกตั้งว่า “ดูเหมือนว่าประเทศนี้ไว้ใจให้ผมรับตำแหน่งประธานาธิบดี และมอบความรับผิดชอบให้กับพวกเราในสภานิติบัญญัติ ตุรกีได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วยจำนวนผู้ออกมาเลือกตั้งเกือบ 90% ผมหวังว่าจะไม่มีใครออกมายั่วยุเพื่อซ่อนความล้มเหลวของตัวเอง”

ชัยชนะของแอร์โดอันทำให้ความปรารถนาของเขาเป็นจริง นั่นคือการเป็นผู้นำประเทศที่ครองอำนาจนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศตุรกี มากกว่ามุสตาฟา อตาเติร์ก ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งตุรกีสมัยใหม่ หลังจากอาณาจักรออตโตมันล่มสลาย

ในรัฐสภา พรรคของเขาได้คะแนนเสียงมากที่สุด ด้วยคะแนน 42% รวมกับพรรคพันธมิตร Nationalist Movement Party ซึ่งได้ 11% ซึ่งมากพอที่จะถือครองเสียงข้างมากในสภา

โซเนอร์ คากัปเทย์ นักวิชาการและนักเขียนที่เรียกแอร์โดอันว่า “สุลต่านคนใหม่” ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองอาณาจักรออตโตมันกล่าวว่า รัฐสภาใหม่มีความหลากหลายทางการเมืองมากที่สุดในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกือบทุกกลุ่มการเมืองมีตัวแทนในสภา

การเลือกตั้งสามารถวัดความนิยมในการครองอำนาจของแอร์โดอันได้เช่นกัน หลายคนแสดงความกังวลต่ออำนาจเผด็จการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ซึ่งพวกเขาตำหนิการทุจริตและการจัดการที่ผิดพลาด

เศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดแข็งของแอร์โดอัน ตกต่ำลงเมื่อปีที่แล้ว ค่าเงินลดลง 20% และการลงทุนจากต่างชาติน้อยลง เนื่องจากหวาดกลัวอำนาจที่เพิ่มขึ้นของประธานาธิบดีและท่าทีที่ต่อต้านชาวตะวันตกของเขา

ก่อนหน้านี้ พรรคคู่แข่งต่างๆ เห็นว่า การหาเสียงเลือกตั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ “เรากำลังข้ามสะพานสุดท้าย ก่อนที่มันจะพัง จากนั้นเราจะออกจากประเทศนี้ไป” เบอรคู อัคคารู ผู้ก่อตั้งพรรค Good Party กล่าว

15 ปีก่อน แอร์โดอันคว้าชัยชนะด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายโปรยุโรป และกลุ่มอิสลามซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่หลายปีต่อมา จุดยืนของเขาถูกแทนที่ด้วยอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016

เดเมียร์ทัส ผู้นำชาวเคิร์ดที่ถูกกุมขังและหัวหน้าพรรคที่สนับสนุนสิทธิของคนกลุ่มน้อย ซึ่งได้คะแนนเสียง 11% เรียกร้องให้ชาวเติร์กลงคะแนนต่อต้านแอร์โดอัน โดยบอกว่าให้คว้าโอกาสก่อนที่จะเข้าสู่อุโมงค์ที่มืดมิด

“สิ่งที่คุณเจอทุกวันนี้เป็นเพียงหนังตัวอย่างของระบอบที่ปกครองโดยบุคคลเดียว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของหนังเรื่องนี้ยังไม่เริ่ม ทุกอย่างจะถูกดำเนินการตามความต้องการ ความพอใจและผลประโยชน์ของคนคนเดียว คุณจะหายใจไม่ออกในระบบแห่งความกลัวและความสิ้นหวัง คุณจะรู้สึกเหมือนกับว่าคุณถูกบีบคออยู่”

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Alkis Konstantinidis

ที่มา:

Tags: , , , ,