แนวโน้มในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าประชากรไทยกำลังจะหดตัวลง
เทรนด์ดังกล่าวเริ่มปรากฏมายาวนานนับทศวรรษ แต่เด่นชัดช่วงปี 2564 ที่มีจำนวนประชากรเสียชีวิตมากกว่าประชากรเกิดใหม่ราว 2 หมื่นคน ก่อนที่ส่วนต่างจะขยับเพิ่มขึ้นเป็นราว 1 แสนคนในปี 2565 โดยคาดว่าจะทะลุ 1 แสนในปีที่ผ่านมา แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือการเปลี่ยนแปลงที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือนี้เกิดขึ้นเร็วมาก หากย้อนกลับไปปี 2555 จำนวนเด็กเกิดใหม่ยังมากกว่าจำนวนประชากรที่เสียชีวิตร่วม 4 แสนคน
แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งในแง่เศรษฐกิจเพราะเมื่อคนเกิดน้อย จำนวนแรงงานที่น้อยลงย่อมผลิตสินค้าและบริการน้อยลง ย่อมส่งผลให้จีดีพีหดตัวหรือในแง่ภาครัฐที่อาจจัดเก็บภาษีได้น้อยลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้น ทั้งค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่ต้องอุดหนุนผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าเบี้ยยังชีพ ค่าบำนาญข้าราชการเกษียณ และอีกสารพัด
หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองจินตนาการถึงครอบครัวขยายที่พ่อแม่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ เหลือเพียงลูกคนเดียวที่ต้องทำงานหาเงิน แบกรับค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ยังไม่นับว่าต้องคอยตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ที่เริ่มแก่ชราและอาจทำอะไรเองไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน
แค่คิดก็ชวนปาดเหงื่อแล้วใช่ไหมครับ?
รัฐบาลไทยก็เห็นแนวโน้มที่น่ากังวลนี้และพยายามแก้ปัญหา เช่นนโยบายที่ชื่อแสนจะหลุดยุคหลุดสมัยว่า ‘สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ’ โดยกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 และจากสถิติพบว่า โครงการดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มาจนถึงปลายปีที่แล้วซึ่งนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมากล่าวเชิญชวนให้คนไทยปั๊มลูกเพื่อชาติก่อนจะเผชิญกระแสตีกลับรุนแรงเช่นกัน
ผมเองแม้จะเป็นคุณพ่อของลูกชายวัยกำลังซน แต่ก็ไม่อยากไปยุ่มย่าม ‘สิทธิในการเจริญพันธุ์’ ของใคร เพราะรู้ดีว่าการมีลูกในปัจจุบันนั้นไม่ง่าย ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและปัญหาการจัดสรรเวลาของพ่อแม่ที่ส่วนใหญ่ต้องไปทำงานทั้งคู่ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อสักเท่าไร ผมก็ไม่แปลกใจนักที่คนจำนวนมากจะเลือกไม่มีลูก
แล้วเราจะแก้ปัญหาประชากรที่ลดลงอย่างไร ผู้เขียนขอสวมหมวกนักเศรษฐศาสตร์แล้วเสนอ 3 ทางเลือกรับมือประชากรไทยลดแบบไม่ต้องให้ใครปั๊มลูก นั่นคือการเพิ่มศักยภาพประชากร การเปิดรับผู้อพยพต่างชาติ และการลงทุนในหุ่นยนต์
1.เพิ่มศักยภาพประชากร
ก่อนที่จะสนับสนุนให้เพิ่ม ‘ประชากรใหม่’ รัฐควรหันกลับมามองว่า กลุ่มประชากรที่มีอยู่เดิมใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง โดยตัวชี้วัดแรกที่ควรพิจารณา คืออัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน หรือหากจะตีความง่ายๆ คือในหมู่ประชากร 100 คน มีคนที่มีงานทำและกำลังหางานอยู่กี่คน
จากสถิติระหว่างต้นปี 2556 ถึงปลายปี 2563 ตัวเลขอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานนับว่าน่าประหลาดใจ เพราะมีสัดส่วนปรับตัวลดลงทั้งชายและหญิง โดยประชากรชายปรับลดลงจาก 80.2% เป็น 76.6% ส่วนประชากรหญิงปรับลดลงจาก 63% เป็น 60.2% เท่ากับว่ามีประชากรชายหญิงออกจากตลาดแรงงานไปราว 3 คนต่อประชากร 100 คนในรอบ 7 ปี
แนวโน้มดังกล่าวเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ครัวเรือนไทยมีลูกน้อยลงยิ่งนับว่าน่าประหลาดใจ เนื่องจากเหตุผลหลักใหญ่ที่ประชากรโดยเฉพาะผู้หญิงจะออกจากตลาดแรงงานคือการไปเลี้ยงดูลูกๆ การที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงจึงชวนฉงนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงานไทย พวกเขาหรือเธอหางานไม่ได้จนถอดใจ ไม่มีทักษะหรือความสามารถเพียงพอ ต้องดูแลคนที่บ้านหรือเกษียณอายุก่อนกำหนด
นี่คือคำถามที่รัฐบาลต้องใช้ข้อมูลในมือเพื่อวิเคราะห์หาคำตอบ เพราะแต่ละโจทย์ต้องมาพร้อมกับนโยบายแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน หากแรงงานมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รัฐก็ต้องสนับสนุนเรื่องการเพิ่มและปรับทักษะให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ หากต้องดูแลเด็กหรือผู้ใหญ่ที่บ้าน ก็อาจต้องมีงบประมาณอุดหนุนสถานรับเลี้ยงเด็กและคนชราในราคาที่เอื้อมถึงเพื่อแก้ปัญหา หรือในกรณีที่ประชากรเริ่มสูงวัยก็ต้องสนับสนุนให้มีการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อกับผู้สูงอายุ รวมถึงเปลี่ยนคำนิยามผู้สูงอายุของไทยให้สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติซึ่งกำหนดไว้ที่ 65 ปี
อีกหนึ่งปัญหาระดับ ‘ช้างในห้อง’ ของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน คือการกระจุกตัวของแรงงานในภาคการเกษตร ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานในภาคการเกษตรสูงถึง 31% อย่างไรก็ตาม มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ภาคการเกษตรผลิตได้คิดเป็นราว 9% ของจีดีพีเท่านั้น หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยให้แรงงานไทยมีจำนวน 100 คน โครงสร้างแรงงานในปัจจุบันก็เหมือนกับใช้คน 31 คนเพื่อผลิตของ 9 บาท ขณะที่อีกแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 69 คนสามารถผลิตของได้ 91 บาท
รัฐบาลไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 2 วิธี คือจูงใจและช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพ เพื่อให้เหล่าแรงงานย้ายจากภาคการเกษตรไปยังภาคที่สร้างผลิตภาพได้สูงกว่า หรือหาหนทางเพิ่มผลิตภาพในภาคการเกษตร เช่น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือการปรับปรุงพันธุ์พืช
2.เปิดรับผู้อพยพต่างชาติ
การเปิดรับแรงงานต่างชาติอาจเป็นเรื่องที่แปลกแปร่งสำหรับสังคมไทย แต่ในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย การเปิดรับผู้อพยพต่างชาติพร้อมกับมอบสถานะทางกฎหมายให้สามารถพำนักได้ระยะยาวถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ผู้อพยพที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเปรียบเสมือนการเพิ่มขนาดกำลังงานภายในประเทศ โดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์พบว่า แรงงานอพยพช่วยให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาพร้อมจะย้ายถิ่นฐาน จึงสามารถตอบสนองความต้องการแรงงานในระดับท้องถิ่นได้ดีกว่าพลเมืองในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาว่าผู้อพยพทักษะสูงช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอีกด้วย
การเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากต้องการให้แรงงานอพยพสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้เหล่าแรงงานต่างชาติเลือกงานที่ตนเองถนัด โดยไม่ถูกจำกัดให้ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร ก่อสร้าง และบริการ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าสถานะที่ถูกต้องทางกฎหมายจะกระตุ้นให้เหล่าแรงงานต่างชาติฝึกฝนภาษา เพิ่มพูนทักษะ และดูแลสุขภาพอนามัยในระดับที่ดีกว่าแรงงานผิดกฎหมาย จึงไม่ต่างจากการเติมแรงงานผลิตภาพสูงเข้ามาในกำลังแรงงานนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์พบว่า แรงงานต่างด้าวทักษะต่ำคิดเป็นสัดส่วนราว 9 ใน 10 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในระบบประกันสังคม ในทางกลับกัน ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานทักษะสูงทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษาซึ่งศักยภาพการผลิตแรงงานภายในประเทศยังไม่มากเพียงพอ
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจูงใจแรงงานต่างด้าวทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น การอำนวยความสะดวกเรื่องการต่อวีซ่า สิทธิรักษาพยาบาล และที่สำคัญคือการทลายกฎระเบียบที่เข้มข้นเกินไป เช่น นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาท และต้องมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อคนไทย 1 ใน 4 ซึ่งเปรียบเสมือนการปิดประตูเหล่าสตาร์ทอัพหรือองค์กรขนาดเล็กในการว่าจ้างพนักงานชาวต่างชาติ
การเปิดรับแรงงานต่างชาตินับเป็นตัวเลือกที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยแบบสองต่อ เพราะนอกจากจะเพิ่มกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศสู่องค์กรในไทยอีกด้วย
3.ลงทุนในหุ่นยนต์
แม้คนทำงานจำนวนไม่น้อยจะเกรงกลัวและกังวลว่าเหล่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน แต่สำหรับประเทศที่ประชากรวัยแรงงานกำลังหดตัว การลงทุนในหุ่นยนต์นับว่าเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับทดแทนแรงงานที่กำลังจะหายากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือผลกระทบจากการแทนที่ (Displacement Effect) คือการที่เทคโนโลยีจะมาแทนที่ตำแหน่งงาน นำไปสู่ภาวะตกงานหรือค่าแรงที่ลดลง อีกด้านหนึ่งคือผลลัพธ์ด้านผลิตภาพ (Productivity Effect) ที่เทคโนโลยีจะทำให้พนักงานทำงานง่ายยิ่งขึ้น หรือช่วยสร้างตำแหน่งงานและการทำงานใหม่ๆ ให้กับเหล่าแรงงาน ส่วนการใช้หุ่นยนต์ก็สร้างผลกระทบสองด้านนี้เช่นกัน
ดารอน อาเซโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีและคณะวิจัยพบว่า ‘สังคมสูงวัย’ นับเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการลงทุนในหุ่นยนต์ โดยประเทศที่นับเป็นแนวหน้าด้านการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ต่างเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่รวดเร็วอย่างยิ่ง โดยในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะพบผลกระทบด้านลบต่อเหล่าแรงงานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่ลงทุนในหุ่นยนต์โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน
รายงานโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เปิดเผยว่า แม้จำนวนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาความหนาแน่นของหุ่นยนต์ (Robot Density) ยังนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยความหนาแน่นของหุ่นยนต์ในไทยอยู่ที่ 45 ตัวต่อพนักงาน 1 หมื่นคน ส่วนค่าเฉลี่ยโลกล่าสุดอยู่ที่ 151 ตัวต่อพนักงาน 1 หมื่นคน และอันดับหนึ่งคือเกาหลีใต้ที่มีจำนวนหุ่นยนต์ 1,012 ตัวต่อพนักงาน 1 หมื่นคน
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า การลงทุนในหุ่นยนต์สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและการขาดแคลนกำลังแรงงาน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือสามารถยกระดับค่าแรงของพนักงานไปพร้อมกับแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้อีกด้วย แต่ปัญหาสำคัญคือทางเลือกนี้ต้องใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาล
จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้ประชากรมีลูกเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา ประเทศไทยก็นับเป็นหนึ่งในนั้นที่พยายามผลักดันให้คน ‘ปั๊มลูก’ แต่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ดังนั้น รัฐบาลควรมองหา ‘ทางเลือกอื่น’ เพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุและประชากรวัยแรงงานที่หดตัว
เอกสารประกอบการเขียน
Is migration good for the economy?
The Economic Benefits of Extending Permanent Legal Status to Unauthorized Immigrants
As a population gets older, automation accelerates
How Automation Helps Small Businesses Offset Labor Shortage Challenges
Tags: เศรษฐกิจ, Economic Crunch, ประชากรลด, ไม่ต้องปั๊มลูก