เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามาสู่โลก หลายคนคิดถึงความ ‘ก้าวหน้า’ ในหลายด้าน แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า ความก้าวหน้าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสมอไป เพราะหลายครั้ง เราก็เอาความก้าวหน้าในมิติทางด้านเทคโนโลยีมา ‘เปิดโปง’ ความล้าหลังทางความคิดของเราเอง
ตัวอย่างที่หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวมาก่อน ก็คืองานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว ที่บอกว่า การใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ สามารถบอกได้ว่าใครเป็นเกย์เลสเบี้ยนหรือไม่เป็น
งานวิจัยนี้มาจากสแตนฟอร์ด ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์อัลกอริธึมมา ‘แยกแยะ’ ระหว่างคนที่เป็นเกย์กับคนที่ไม่เป็นเกย์ และอ้างว่าการแยกแยะนี้ทำได้ถูกต้องถึง 81 เปอร์เซ็นต์ในเกย์ชาย และ 74 เปอร์เซ็นต์ในเกย์หญิง (หรือเลสเบี้ยน)
งานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology แล้วมีรายงานใน The Economist ก่อน
ถามว่าเขาทำยังไง
คำตอบก็คือ เขาเอาใบหน้าของคนราว 35,000 คน (ซึ่งดูเหมือนเยอะนะครับ) ให้คอมพิวเตอร์ดู เป็นใบหน้าที่โพสต์อยู่ในเว็บหาคู่ (Dating Website) แห่งหนึ่ง ซึ่งในเว็บนี้ คนที่เข้ามาก็จะบอกอยู่แล้วว่าตัวเองต้องการคู่ที่เป็นต่างเพศหรือเพศเดียวกัน แล้วคอมพิวเตอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ก็จะประมวลผลแล้ว ‘เรียนรู้’ เอาจากก้อนข้อมูล 35,000 คนนี้ จนออกมาเป็นอัลกอริธึม
โดยผู้วิจัยคือ มิคาล โคซินสกี้ (Michal Kosinski) และยีลุน หวัง (Yilun Wang) ได้ ‘สกัด’ ลักษณะต่างๆ ออกมาจากภาพเหล่านั้น โดยใช้ระบบคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน เรียกว่า Deep Neural Networks ซึ่งมันจะเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ภาพที่เห็นโดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใส่เข้าไป
ผลวิจัยนี้บอกว่า คนที่เป็นเกย์ชายและเกย์หญิง (คือเลสเบี้ยน) จะมีลักษณะที่ ‘ไม่ตรงกับเพศ’ (เขาใช้คำว่า Gender-Atypical ซึ่งแปลว่ามีลักษณะไม่ตรงกับ ‘แบบและเบ้า’ ทางเพศของตัวเอง) นั่นแปลว่า เกย์ชายจะมีลักษณะที่เป็นหญิงมากกว่า ส่วนเลสเบี้ยนก็จะมีลักษณะที่เป็นชายมากกว่า อะไรทำนองนี้
ผลวิจัยนี้บอกว่า คนที่เป็นเกย์ชายและเกย์หญิง (คือเลสเบี้ยน) จะมีลักษณะที่ ‘ไม่ตรงกับเพศ’ หรือมีลักษณะไม่ตรงกับ ‘แบบและเบ้า’ ทางเพศของตัวเอง
ที่สำคัญ ปัญญาประดิษฐ์ยัง ‘ทำนาย’ ด้วยว่า ถ้าเป็นเกย์แล้ว รูปลักษณ์ของใบหน้ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเป็นเกย์ชาย มักจะมีกรามแคบกว่า จมูกยาวกว่า และมีหน้าผากใหญ่กว่าผู้ชายรักต่างเพศ ในขณะที่เลสเบี้ยนจะมีกรามใหญ่กว่าและหน้าผากเล็กกว่าผู้หญิงรักต่างเพศ เป็นต้น
เขาบอกว่า ถ้าให้คนมาทายว่า ใครเป็นเกย์ไม่เป็นเกย์ ผลการทาย (ซึ่งก็คือการประมวลผลหรือใช้อัลกอริธึมในสมองของเรา) จะได้ผลลัพธ์ออกมาถูกต้องแม่นยำน้อยกว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ นั่นคือคนจะทายเกย์ชายถูกแค่ 61 เปอร์เซ็นต์ และทายเลสเบี้ยนถูกแค่ 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้าให้ A.I. ทาย โดยให้ดูภาพของคนแต่ละคนมากกว่าหนึ่งภาพ เช่น ให้ดูมากถึงห้าภาพ ปรากฏว่า A.I. จะทายถูกถึง 91 เปอร์เซ็นต์สำหรับเกย์ชาย และ 83 เปอร์เซ็นต์สำหรับเลสเบี้ยน เป็นต้น
ข้อสรุปที่ผู้วิจัยบอกก็คือ ใบหน้าของเรานั้น ‘บรรจุข้อมูล’ ที่บอกได้ถึง Sexual Orientation ของเรา ซึ่งเจ้าอัลกอริธึมนี้ก็สามารถรับรู้และตีความออกมาได้ถูกต้อง
แน่นอน นี่ย่อมเป็นการวิจัยที่ถูกโต้แย้งมากที่สุดงานหนึ่งเลยทีเดียว
ที่จริงแล้ว งานวิจัยทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในปี 2016 เคยมีนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากจีน ที่ใช้อัลกอริธึมลักษณะเดียวกันเพื่อดูใบหน้าของคน แล้วอ้างว่าสามารถทายถูกว่าใครเป็นอาชญากรถูก 90 เปอร์เซ็นต์ (แต่เป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนะครับ ความเชื่อถือจึงต่ำ ไม่เหมือนงานวิจัยเรื่องเกย์ที่ว่ามานี้)
แน่นอน ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ย่อมมากมายมหาศาล อาทิ กลุ่มตัวอย่าง 35,000 คนที่ว่านี้ เป็นคนอเมริกันเสียส่วนใหญ่ วัฒนธรรมอเมริกันนั้นช่างแสดงออกอยู่แล้ว แล้วเนื่องจากมาจากเว็บหาคู่ แต่ละคนก็ต้องพยายามแสดงออกให้มาก จึงไม่ได้แปลว่านี่จะเป็นงานวิจัยที่นำมาใช้ได้กับคนอื่นๆ ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนงานวิจัยอ้างว่า นี่เป็น Sexual Orientation Detector หรือเครื่องมือตรวจจับรสนิยมทางเพศ ก็เลยยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันไปใหญ่ ว่ามันคือความ ‘ก้าวหน้า’ หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีไม่ใช่อะไรอื่น นอกเหนือจากการเปิดโปงให้เราเห็นความ ‘ล้าหลัง’ ทางความคิดของตัวเราเอง
เครื่องมือตรวจจับรสนิยมทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันไปใหญ่ ว่ามันคือความ ‘ก้าวหน้า’ หรือว่าเป็นการเปิดโปงความ ‘ล้าหลัง’ ทางความคิดของตัวเราเอง
ใครสนใจจะดูข้อโต้แย้ง สามารถเข้าไปดูได้ในรายละเอียดที่นี่นะครับ เขาโต้แย้งลึกลงไปในเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องการไว้หนวดเครา การแต่งหน้าทาตา ฯลฯ ซึ่งไปหักล้างงานวิจัยนี้ในหลายด้าน
หลายคนบอกว่า นี่ไง ผลของเทคโนโลยี ไม่เห็นจะมีอะไรดีเลย เพราะเทคโนโลยีไม่อาจเข้าใจมนุษย์ได้จริงหรอก แต่ก็อยากชวนคุณมาดูอีกด้านของเทคโนโลยีกันบ้าง
แม้จะมีงานวิจัยอย่างที่บอกไปข้างต้นในโลก แต่ความหลากหลายของโลกก็ทำให้เกิดการคิดค้นแบบอื่นๆ ตามมาอีก ตัวอย่างเช่นโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า Queer A.I.
งานนี้เป็นผลงานของ เอมิลี มาร์ติเนซ (Emily Martinez) และ เบน เลอร์ชิน (Ben Lerchin) ซึ่งพยายามทำสิ่งที่เรียกว่า Queer Bots ที่จะตอบสนองต่อความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ ด้วยวิธีที่ระมัดระวัง และใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสร้างการตอบสนองที่ปลอดอคติทางเพศหรือการเหยียดต่างๆ
ถามว่าทำไมต้องทำ Queer A.I. ขึ้นมาด้วย คำตอบก็คือ เขาเห็นว่าในโลกทุกวันนี้ คนที่สร้างปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ชายผิวขาว ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีอคติทางเพศบางอย่างแฝงฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น Queer A.I. จึงพยายามจะไม่สร้างข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมาอีก
ผู้สร้าง Queer A.I. เห็นว่าในโลกทุกวันนี้ คนที่สร้างปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ชายผิวขาว ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีอคติทางเพศบางอย่างแฝงฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว
ผู้สร้างทั้งคู่ประกาศว่า นี่เป็นปัญญาประดิษฐ์ประเภทที่ไม่เป็นไปตาม Heteronormativity หรือบรรทัดฐานหรือมาตรฐานแบบรักต่างเพศที่ครองโลกมายาวนาน (โดยเฉพาะอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย) ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้แคร์ว่าจะต้องมีแต่เรื่อง ‘ดีๆ’ แบบ ‘กุลเกย์’ ด้วยนะครับ แต่เป็น bot ที่สรรหาเรื่องต่างๆ มาให้ โดยเน้นไปที่เรื่องอีโรติกอีกต่างหาก
เอาเข้าจริง แนวคิดแบบ Queer A.I. ก็อาจมีปัญหาบางอย่างในตัวได้เหมือนกันนะครับ ซึ่งเราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดข้อถกเถียงแบบไหนขึ้นมาได้บ้าง
สำหรับผม เรื่องที่ไปไกลที่สุดในด้าน A.I. กับเพศ น่าจะเป็นแนวคิดแบบเดียวกับดอน ฮิล (Don Hill) (ซึ่งก็เป็นผู้ชายผิวขาว – อีกนั่นแหละ) ที่เขาเขียนเอาไว้ในบทความชื่อ ‘Artificial Intelligence is Queer’ โดยเขาอ้างงานเขียนของเจมส์ มาร์ติน (James Martin) ผู้ชายผิวขาวอีกคนหนึ่ง เรื่อง After the Internet: Alien Intelligence เอาไว้ โดยข้อสรุปของดอนก็คือ ในโลกแห่ง A.I. นั้น พวกมันพูดคุยกันด้วยภาษาอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนภาษาของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะเกิด ‘สิ่งมีชีวิต’ แบบใหม่ขึ้นมาในแบบที่ปลอดปราศอคติทางเพศ ดอนเรียก ‘สิ่งมีชีวิต’ ชนิดนี้ว่า Sentient Digital Being หรือเป็น ‘สิ่งมีชีวิตทางดิจิทัลที่มีมโนธรรมสำนึก’
ดังนั้น จากการพยายามดูว่าใครเป็นเกย์ไม่เป็นเกย์ ถึงขั้นไปเอา A.I. มาใช้ จนถึงการสร้าง Queer A.I. ขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดแบบ Heteronormativity เรายังมีเรื่องที่ไปไกลถึงระดับ Digital Being ที่มีเหตุมีผลและรู้ว่าอะไรคืออคติทางเพศด้วย และเนื่องจากเป็น A.I. มันจึงสามารถพัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งกว่าสมองของมนุษย์
เมื่อจับปัญญาประดิษฐ์มาเข้าคู่กับเรื่องเพศ จึงมีประเด็นน่าสนใจได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
Tags: เควียร์, A.I., ปัญญาประดิษฐ์, อคติและมายาคติทางเพศ, อคติทางเพศ, Queer, งานวิจัย, LGBTQ