แม้ว่าศักราชทางการเมืองจะเปลี่ยนจาก ‘รัฐบาลเผด็จการ’ ‘รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ’ มาสู่ ‘รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง’ แล้ว ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘ปฏิบัติการไอโอ’ ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในการเมืองไทย สามารถพบเห็นได้ตามคอมเมนต์ของสำนักข่าวต่างๆ โซเชียลมีเดียทางการของพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งแอ็กเคานต์ส่วนตัวของนักการเมืองเองก็ตาม
ข้อสังเกตที่เห็นชัดในยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือทุกครั้งที่มีข่าวพลเอกประยุทธ์มักจะมีคอมเมนต์ ‘ค’ อย่างต่อเนื่อง ทว่ายังคงไม่มีบรรดา ‘ไอโอ’ เข้ามาเชียร์อย่างผิดสังเกต กระทั่งช่วงใกล้เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จึงจะเริ่มทยอยแสดงตัว
ปฏิบัติการไอโอที่เราพบเห็นกันในทุกวันนี้มีรูปแบบการดำเนินการด้วยกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ ปฏิบัติการเชิงรุกและปฏิบัติการเชิงรับ โดยปฏิบัติการเชิงรุกจะเน้นไปที่การด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ปฏิบัติการเชิงรับจะเป็นการทำให้ฝ่ายเดียวกันตนรู้สึกมีคนเชียร์และสร้างขวัญกำลังใจ
The Momentum ชวนตั้งข้อสังเกตจับผิดปฏิบัติการไอโอ โดยในช่วงที่ผ่านมา หากสำนักข่าวนำเสนอข่าวสารที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล หรือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะมีแอ็กเคานต์นิรนาม (Anonymous) เข้ามาสแปมข้อความเพื่อโจมตีและด้อยค่าเป็นจำนวนมาก
โดยแอ็กเคานต์เหล่านั้นมีลักษณะร่วมกันคือ เป็นแอ็กเคานต์ที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมาเป็นระยะ ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ไม่มีการแสดงความเห็นหรือโพสต์ข้อความใดๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว อีกทั้งการแสดงออกความคิดเห็นในโพสต์ข่าวยังเป็นการแสดงข้อความการมุ่งเน้นแสดงข้อความโจมตี เสียดสี ด่าทอฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้เสียหายอีกด้วย
ครั้งหนึ่งในเพจ The Momentum เมื่อครั้งลง ‘ภาพชุด’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ยังจับสังเกตได้ว่าเฟซบุ๊กที่มาคอมเมนต์โดยพร้อมเพรียงกันกว่า 100 คอมเมนต์ จำนวนหนึ่งเริ่มโพสต์แรกในวันที่ 6 มกราคม 2567 หรือราว 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่ข่าวนี้จะถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก และคอมเมนต์ยังไปในทางตำหนิ เป็นต้นว่า ‘ตัวขัดความเจริญเข้าสภาแล้ว’ ‘หิวแสง’ ‘จะอ้วก’
ขณะเดียวกัน ยังเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเพจข่าว The Standard เมื่อบรรดาไอโอต่างก็รีบไปคอมเมนต์ผิดข่าว โดยคอมเมนต์ในข่าว กกต.ฟันซ้ำ เกศกานดา อินช่วย ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พื้นที่คลองสามวา ต่างก็เข้าไปสนับสนุนรัฐบาล สนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จนถูกจับได้ในเวลาต่อมา และต้องทยอยลบคอมเมนต์ต่อไป
หรือในกรณีของเฟซบุ๊กแฟนเพจ Nation Story ก็พบปรากฏการณ์ที่ไอโอต่างเข้าไปคอมเมนต์โจมตี ศิริกัญญา ตันสกุล รวมถึงโพสต์สนับสนุนเศรษฐาและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย น่าสนใจก็ตรงที่ข่าวดังกล่าว กลับเป็นข่าวที่เกี่ยวกับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.อีกคนของพรรคก้าวไกล กลายเป็นอีกหนึ่งครั้งที่บรรดาไอโอทำงาน ‘พลาดเป้า’
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังพบเห็นปฏิบัติการไอโอเชิงรับ ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลที่มีแอ็กเคานต์นิรนามเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ในโพสต์อวยพรวันเกิด สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ว่า ‘สุขสันต์วันเกิด’ และ ‘Happy Birthday’ โดยข้อความที่ปรากฏเป็นข้อความจากแอ็กเคานต์เดียวกันที่แสดงความเห็นเหมือนเดิมอยู่หลายครั้ง ทำให้โพสต์เฟซบุ๊กของนักการเมืองดังกล่าวมียอดการกดไลก์ กดแชร์ที่สูงกว่าโพสต์อื่นๆ ที่ไม่ได้มีการใช้ปฏิบัติการไอโอนั่นเอง
และปฏิบัติการดังกล่าวยังพบเห็นในโพสต์ของ ส.ส.ท่านเดิมอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่เป็นการประชุมกรรมาธิการ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีคอมเมนต์จากแอ็กเคานต์นิรนามอีกครั้งว่า ‘สนับสนุนค่ะ’ หรือ ‘เป็นกำลังใจให้ค่ะ’ เป็นข้อความที่เน้นการชื่นชมการทำงานของ ส.ส.
หากย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ หลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่กองทัพมีการใช้ปฏิบัติการไอโอเพื่อโจมตี ด้อยค่า ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงระหว่างประชาชน ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมหรือไม่ และเรียกร้องให้กองทัพยุติพฤติการณ์ดังกล่าว
และหากถามถึงความมีประสิทธิผลของปฏิบัติดังกล่าวว่าวัดผลความสำเร็จอย่างไร ซึ่งอาจมีได้หลายตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของฝ่ายตรงข้าม การสร้างข้อมูลที่บิดเบือนความจริงเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือการทำให้โพสต์สื่อออนไลน์ฝ่ายตนเองมียอดปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ มีหลายครั้งที่แอ็กเคานต์นิรนามถูกจับผิดโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตจากชื่อหรือพฤติกรรมการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ยกตัวอย่าง กรณีการตั้งชื่อแอ็กเคานต์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘สุ’ เช่น ‘สุน้อยหน่า’ ทำให้เป็นที่รับรู้ของผู้ใช้งานด้วยกันเองว่าเป็นแอ็กเคานต์เพื่อปฏิบัติการไอโอ
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ‘ศูนย์กลาง’ ของปฏิบัติการไอโออยู่ตรงไหน… มีการบริหารจัดการ ชี้เป้าแต่ละโพสต์อย่างไร และการจัดการแต่ละข้อความใช้รูปแบบไหน ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่ต้องตามหากันต่อไป
อย่างไรก็ดี ตัวผู้รับสารเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมีประสิทธิผลของปฏิบัติการด้วยเช่นเดียวกัน หากผู้รับสารเห็นหรือทราบแล้วว่าข้อความเหล่านั้นเป็นข้อความที่มาจากปฏิบัติการไอโอ น้ำหนักของความน่าเชื่อถือของสารก็จะลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น จึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าปฏิบัติการไอโอในปัจจุบัน ‘ยังเวิร์กอยู่หรือไม่’ หากผู้รับสารตระหนักรู้ถึงกระบวนการเหล่านั้นแล้ว ผู้สั่งการหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากปฏิบัติการดังกล่าวอาจสูญเสียความชอบธรรมและส่งผลกระทบในแง่ลบต่อตนเองหรือไม่
อ้างอิง
– https://theactive.net/news/sarinee-quote-io/
– https://accesstrade.in.th/io-information-operations-คืออะไร
– http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ไอโอ_(ปฏิบัติการข่าวสาร)
– https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/134693
Tags: Feature, พรรคการเมือง, กองทัพ, IO, ปฏิบัติการไอโอ, สื่อสังคมออนไลน์