ในรายงานข่าวการเสียชีวิตของเคท สเปด (Kate Spade) แฟชั่นดีไซเนอร์เมื่อคืนวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา สื่ออเมริกันส่วนใหญ่ รวมทั้ง นิวยอร์กไทมส์ รายงานวิธีที่สเปดฆ่าตัวตัวตาย สื่อบางสำนักบรรยายอย่างละเอียด ขณะที่สื่อจากเกาะอังกฤษอย่าง เดอะ การ์เดียน ไม่มีข้อมูลนี้ แต่ที่ท้ายข่าวและบทความเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่ออังกฤษทุกสำนักจะมีข้อความสั้นๆ บอกข้อมูลสำหรับติดต่อองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย โดยในสหราชอาณาจักรจะให้ข้อมูลขององค์กรสะมาริตันส์

ที่มาของแนวทางการรายงานข่าวนี้มาจากการตัดสินเมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อปี 2006 หลังจากที่สื่อมวลชนพากันเผยแพร่ภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังกระโดดตึกเพื่อฆ่าตัวตาย องค์กรสะมาริตันส์บอกกับ PCC ว่า การลงภาพหรือเขียนถึงรายละเอียดของการฆ่าตัวตายอาจนำไปสู่การเลียนแบบได้ ทำให้คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนสื่อ (Press Complaints Commission- PCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกันเองของสื่อสิ่งพิมพ์ออกระเบียบว่า “ในการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย ควรจะหลีกเลี่ยงการบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีฆ่าตัวตาย”

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญนัก จนกระทั่งในปี 2008 เมืองบริดเจนด์ เมืองเล็กๆ ในเวลส์กลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นที่ซึ่งคนหนุ่มสาวมักเลือกมาฆ่าตัวตาย มีการฉายภาพว่าเป็นเมืองทึมเทาและหดหู่ สื่อมวลชนพากันรายงานปรากฏการณ์นี้ไม่ขาดสาย จนกระทั่งมีบทความในเดอะการ์เดียนรายงานว่า แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 2009 มีการฆ่าตัวตาย 25 ครั้ง และทั้งหมดเป็นการแขวนคอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ จำนวนการฆ่าตัวตายอยู่ที่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อปี

นอกจากการสัมภาษณ์เพื่อนและครอบครัวของผู้ชีวิตแล้ว ในบทความยังมีความเห็นของ ลารส์ โจแฮนส์สัน (Lars Johansson) มหาวิทยาลัยอูมี (Umeå University) ประเทศสวีเดน ซึ่งวิจัยเรื่องการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่ให้สัมภาษณ์ว่า “มันเป็นการฆ่าตัวตายตามเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยใหม่ และไม่เคยมีการรายงานข่าวที่เร้าอารมณ์ แพร่หลาย และนานขนาดนี้มาก่อน

บทความนี้ทำให้สังคมตื่นตัว เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย  รวมทั้งคำเตือนจากนักวิชาการว่า การรายงานข่าวที่กล่าวถึงผู้ตายอย่างมีอารมณ์ร่วมและให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีฆ่าตัวตายสามารถนำไปสู่การฆ่าตัวตายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ตอนที่ มาริลีน มอนโร เสียชีวิตเมื่อปี 1962 ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการจงใจฆ่าตัวตาย สื่อต่างๆ ลงข่าวเรื่องนี้ติดต่อกันนานหลายเดือน มีการศึกษาพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า

หรืออีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า ที่เวียนนา ออสเตรีย ตัวเลขของการฆ่าตัวตายลดลง หลังจากที่สื่อเริ่มทำแนวปฏิบัติสำหรับการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย ส่วนการฆ่าตัวตายของ เคิร์ท โคเบน ซึ่งมีการเสนอว่า มีปัญหาทางสุขภาพจิต มีการโทรศัพท์ปรึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายสูงขึ้นที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เมืองที่โคเบนเสียชีวิต

องค์กรต่างๆ เช่น สะมาริตันส์ จัดทำแนวปฏิบัติว่าด้วยวิธีพูดถึงการฆ่าตัวตาย และติดตามการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ สื่อหลายสำนักออกแนวปฏิบัติ เช่น บีบีซีมีข้อกำหนดว่า การนำเสนอประเด็นการฆ่าตัวตายหรือความพยายามฆ่าตัวตาย มีความระมัดระวังและมีความอ่อนไหว ไม่ว่าจะอยู่ในละครหรือรายงานข่าว ต้องหลีกเลี่ยงการบรรยายหรือแสดงให้เห็นวิธีฆ่าตัวตายอย่างละเอียด รวมทั้งระมัดระวังการใช้ภาษา

 

ที่มา:

Tags: ,