บทความนี้จะเป็นการเปิดมุมมองการคิดวิเคราะห์พิจารณาถึงความเป็นไปในสังคมเรื่องต่างๆ ผ่านกรอบคิดที่จะสมมติให้สังคมเป็นละครเวทีฉากหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน ตลอดจนการเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนที่สะท้อนออกมาผ่านสถาบันและกลไกทางกฎหมาย
เออร์วิง กอฟมัน (Erving Goffman) นักสังคมวิทยาชาวแคนาดา ผู้ประสบความสำเร็จทางวิชาการในอเมริกา กับผลงานของเขาที่ชื่อว่า The Presentation of Self in Everyday Life นำเสนอแนวคิดการวิเคราะห์เชิงนาฏกรรมหรือละคร (Dramaturgy) ซึ่งอธิบายว่า โดยพื้นฐานมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์และการกระทำโต้ตอบกับผู้อื่นโดยการนำเสนอตัวตนให้ผู้อื่นได้เห็นหรือได้รู้จัก การนำเสนออาจเป็นได้ทั้งการกระทำผ่านภาษา กริยาท่าทาง การแต่งกาย ฯลฯ ในการนำเสนอตัวตนนี้ มนุษย์ใช้วิธีการแบบเดียวกับการเล่นละคร มนุษย์ทุกคนมีการกระทำทางสังคมต่อผู้อื่นด้วยการเล่นละครให้ผู้อื่นดู
ในสายตายของกอฟมัน ระบบปฏิสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ เป็นกรณีที่มนุษย์กำลังแสดงละครอยู่บนเวทีต่อหน้าผู้อื่น อันมีสถานะเหมือนผู้ชมการแสดง ซึ่งระบบการมีปฏิสัมพันธ์ประกอบด้วยหน้าฉากที่เป็นตัวตนที่มนุษย์ต้องการนำเสนอออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ และหลังฉากที่เป็นความรู้สึกนึกคิดหรือตัวตนที่มนุษย์ต้องการปิดซ่อนเอาไว้ไม่ต้องการเปิดเผย หรือ ‘Hidden Self’
ในการแสดงละครนี้ มนุษย์ต้องมีตัวละครที่ต้องแสดง (Character) มีบทบาท (Role) และมีตัวตน ตัวละครที่ต้องแสดง คือตัวตนของบุคคลที่มุ่งเปิดเผยลักษณะของตนให้ปรากฏ ตัวตนในมุมมองการวิเคราะห์เชิงละคร เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้ ไม่มีลักษณะตายตัว มุ่งให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจ (Impression) ด้วยการแสดงที่เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ ทำให้เป็นตัวตนที่มีภาพลักษณ์ (Self-Image)
ส่วนบทบาท คือการเลือกกระทำในกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์ บทบาทเป็นความคาดหมายชุดนึงที่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ และถูกผลักดันจากคู่ปฏิสัมพันธ์ หรือจากความคาดหวังทางสังคมได้เช่นกัน มนุษย์ไม่ได้ครอบครองหรือสวมใส่บทบาทตามใจชอบ แต่จะเลือกบทบาทตามแต่ละสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงจัดประเภทบทบาทเพื่อจัดระเบียบปฏิสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลา บทบาทหนึ่งอาจปรากฏขึ้นมาให้เห็นช่วงเวลาหนึ่งแล้วหายไป หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และอาจจะมีบทบาทใหม่ขึ้นมาแทนที่ บทบาทจึงเป็นกระบวนการตอบสนองความคาดหมายของผู้ปฏิสัมพันธ์ภายในโครงสร้างของความสัมพันธ์ชุดใดชุดหนึ่ง เช่น นายจ้าง-ลูกจ้าง ครู-นักเรียน ลูกค้า-พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ ในสังคมที่เปรียบเหมือนเวทีการแสดงละคร มนุษย์ต่างต้องสร้างภาพในอุดมคติที่จะให้ผู้อื่นเกิดความประทับใจและบีบให้มนุษย์ต้องเล่นละครมากขึ้น
บทบาทของบุคคลเกี่ยวข้องอย่างมากกับการนิยามหรือให้ความหมายกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ สถานการณ์ทั้งหลายมีความแปรผันแตกต่างกันไปตามมุมมองของผู้นิยาม การนิยามขึ้นอยู่กับพื้นฐานจากประสบการณ์ในอดีตและแบบแผนของบุคคลว่ามองอนาคตอย่างไร ผู้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันย่อมมีส่วนร่วมกำหนดความหมายของสถานการณ์นั้น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดความหมายเหมือนกัน เช่น ในสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจมักให้ความหมายสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อย จึงต้องแสดงบทบาทเป็นผู้พิทักษ์สันติ เข้าสลายการชุมนุมทวงคืนพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมอาจมองว่าสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่เป็นสิทธิเสรีภาพโดยชอบธรรมของประชาชนเองในการแสดงออกเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ระบบกฎหมายและกฎเกณฑ์ในสังคม จะเป็นสิ่งที่เข้ามาจำกัดอิสรภาพของคนในการเลือกนิยาม การให้นิยามจึงถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ดังกล่าว ไม่สามารถนิยามตามอำเภอใจได้ ดังนั้น มุมมองของการวิเคราะห์เชิงละคร สามารถขยับขยายจากการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปัจเจกบุคคล มาเป็นการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประชาชนได้เช่นกัน โดยที่ระบบกฎหมายเปรียบเสมือนบทประพันธ์ของละครเวทีที่มนุษย์ต้องขึ้นทำการแสดงบนเวทีที่ชื่อว่าสังคม ผู้แสดงย่อมไม่สามารถแสดงตัวตนหรือเลือกบทบาทอื่นๆ แตกต่างไปจากบทประพันธ์ได้ โดยเฉพาะบทประพันธ์ที่มีวัตถุประสงค์ให้ละครทั้งหมดดำเนินไปอย่างราบรื่นที่เปรียบเหมือนกฎหมายที่ต้องการรักษาระเบียบทางสังคม หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีร่วมกันหรือบทประพันธ์ในระบบความสัมพันธ์ในสังคมวางเอาไว้ สังคมอาจเสื่อมถอยเช่นเดียวกับละครเวทีที่ล่มลงกลางคัน
ถ้ากฎหมายเป็นบทประพันธ์ ก็อาจมองได้ว่า รัฐและผู้มีอำนาจอยู่ในสถานะผู้กำกับละคร ที่พยายามจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคม ซึ่งใครจะอยู่ตรงไหน มีสถานะอย่างไร มีบทบาทอย่างไร ขึ้นอยู่กับบทประพันธ์กับผู้กำกับที่จะกำหนด เช่น ในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญจะจัดตำแหน่งให้ที่ให้ฝ่ายประชาชน มีสิทธิเสรีภาพตามที่รับรองในบทบัญญัติต่างๆ มีสถานะเป็นเจ้าของประเทศ และรัฐก็มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ตรงกันข้าม หากเป็นสังคมเผด็จการทหาร ระบบและกลไกของกฎหมายจะทำหน้าที่กำหนดสถานะของฝ่ายรัฐให้มีอำนาจอย่างล้นเกิน และให้คนไม่กี่กลุ่มมีสิทธิผูกขาดผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ ขณะที่ประชาชนต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และมีบทบาทเป็นเพียงวัตถุแห่งอำนาจของรัฐที่สามารถถูกกระทำความรุนแรงหรือลงโทษใดๆ ก็ได้ หากฝ่าฝืนไม่เชื่อฟังคำสั่งและบทประพันธ์ที่กำกับไว้
การวิเคราะห์เชิงละคร อาจนำมาใช้เป็นกรอบคิดเพื่อทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้เช่นกัน เช่น ในบริบททางการเมืองไทย การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของรัฐไทย อาจถือเป็นกระบวนการกฎหมายอย่างหนึ่งที่คอยกำกับควบคุมบทบาทของประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกัน กฎหมายมาตราดังกล่าวก็มีผลเป็นการกำหนดสถานะมิให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ไม่อาจแตะต้องได้
นอกจากนี้ กรอบคิดดังกล่าว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางกฎหมายให้เป็นละครเรื่องหนึ่งได้เหมือนกัน กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผ่านกลไกของระบบกฎหมายหรือสถาบันกฎหมายอาจไม่ใช่ความเป็นจริงทั้งหมด ทว่าหากลองพิจารณาลึกเข้าในหลังฉากของระบบและสถาบันกฎหมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพบว่า ผู้มีอำนาจหรือกลไกการทำงานที่ต้องการซุกซ่อนผลประโยชน์แอบแฝงบางอย่างเอาไว้
ตัวอย่างของปรากฏการณ์ทางกฎหมายกับละคร เช่น รัฐไทยต้องการแสดงตัวตนออกมาให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นรัฐที่คุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน จึงจัดวางกลไกกฎหมายหรือการจัดตั้งองค์กรอิสระ สร้างระบบตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนตามอำเภอใจ แต่ในความเป็นจริง กลับมีประชาชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงดังกล่าวอยู่ไม่น้อยและไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ รัฐไทยยังเป็นรัฐที่สังหารประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะบทบาทที่จะต้องแสดงออกมาขัดกับตัวตนที่แท้จริงของรัฐไทยที่เป็นรัฐที่เสพติดความรุนแรง มีความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ ไร้ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาโดยสันติ และเป็นรัฐที่ไม่ได้ต้องการปกป้องคุ้มครองประชาชนแต่อย่างใด นอกเสียจากผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองและเครือข่าย
การมองสังคมผ่านกรอบคิดวิเคราะห์เชิงละคร ส่วนหนึ่งจะเป็นการท้าทายระบบกฎหมายที่ทำงานอยู่ในสังคม ไม่ให้มีความศักดิ์สิทธิมากจนเกินไป ชวนให้ตั้งคำถามต่อตรรกะทางกฎหมายที่ถูกยกให้เป็นเหตุผลและความยุติธรรมสูงสุด ทุกครั้งที่รัฐตรากฎหมายหรือมีปฏิบัติการทางกฎหมายต่างๆ ควรต้องมีการตรวจสอบ สืบสวนหาสิ่งไม่ชอบมาพากลที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลังผ้าคลุมของกฎหมาย เพื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของรัฐและผู้มีอำนาจ
เอกสารอ้างอิง
สุภางค์ จันทวานิช, ทฤษฎีสังคมวิทยา, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551).
ณัฐจรี สุวรรณภัฏ, สังคมวิทยาชีวิตประจำวัน: “รอยต่อ-รอยตัด” แนวทัศน์ทางสังคมวิทยาในงานศึกษาสังคมไทยร่วมสมัย”, วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 34(2): กรกฎาคม-ธันวาคม 2558, 69–100.
Tags: กฎหมาย, Erving Goffman, Rule of Law, Dramaturgy