เรามักจะคุ้นชินกับการได้ยินเพลงแรปที่พูดถึงการก่ออาชญากรรมหรือความรุนแรง โดยอาจทึกทักไปว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการแสดงถึงบุคลิก หรือการมองโลกในแบบที่ศิลปินนั้นต้องการบรรยายให้เราฟัง แต่อีกแง่หนึ่ง หากจะมองว่าเนื้อหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนในการก่อความรุนแรงและอาชญากรรม ก็อาจจะเป็นการตีความที่เกินจริงไปบ้าง
การพูดถึงปืน เงิน เนื้อหาทางเพศ และความรุนแรง ล้วนถูกใช้ในบริบทของการเขียนไรห์มในเพลงแรป เพื่อบอกเล่าถึงค่านิยมของความสำเร็จจากความยากลำบากและการดิ้นรนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในแบบชีวิตข้างถนนหรือ Street Life ซึ่งอาจส่งต่อความรุนแรงในฐานะอิทธิพลทางความคิดไปยังผู้ฟัง แม้ว่าศิลปินจะแสดงตัวอย่างเปิดเผยผ่านดนตรีว่าตนนั้นเป็น ‘คนชั่ว’ หรือกระทั่งแสดงความคิดที่จะ ‘ก่ออาชญากรรม’ แต่อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกนั้นได้เปิดช่องให้ศิลปินสามารถ ‘สร้างสรรค์’ ผลงานของตนเองในแบบที่ตนคิดว่าควรจะเป็น และเป็นสิทธิของพวกเขาในการที่จะเผยแพร่ไปยังสาธารณะ ดังนั้น ปัญหาในการวิเคราะห์ถึงเนื้อหาจากเพลงแรปจึงอาจอยู่ที่การประเมินคุณค่าทางวัฒนธรรมหรืออาจจำเป็นต้องคำนึงถึงการแสดงออกในฐานะศิลปิน (Artistic Expression) ด้วย
นับแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ยังเติร์ก Young thug และ กันนา Gunna สองแรปเปอร์จากค่าย YSL Records ที่ตั้งอยู่ที่รัฐแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหามีส่วนร่วมกับแก๊งอาชญากร โดยมีพยานหลักฐานเป็นเนื้อเพลงของพวกเขาเอง ประเด็นนี้ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างทั้งแก่แฟนเพลงและผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ขอชี้แจงในเบื้องต้น บทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงเพียงการใช้เนื้อเพลงของศิลปินมาใช้ในฐานะของพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงไปยังอาชญากรรมเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเบื้องหลังของการกระทำผิดอื่นๆ ของศิลปินแต่อย่างใด
ในนาทีที่ @1:04:27 “ผู้พิพากษา Ural D. Glanville อ่านเนื้อเพลงของ Young thug ระหว่างการพิจารณาคดี ”
อาจเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีนั้นตั้งอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก ภายใต้เงื่อนไขของรสนิยมที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคล แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่เพลงแรปนั้นอาจจะถูกบีบทับและนำไปสู่มุมมองที่ไม่เท่าเทียมกับดนตรีประเภทอื่นๆ จากการศึกษา พบว่าเพลงแรปนั้นมักจะถูกมองเป็นภัยคุกคามต่อสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากเพลงร็อค ซึ่งแสดงออกถึงความรุนแรงเช่นกัน[1] โดยมีการสำรวจคดีความที่อัยการรัฐได้ใช้เพลงแรปเป็นหลักฐานในการกล่าวหาจำเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามากกว่า 500 คดี[2] โดยทั่วไปนั้นได้แก่เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการเข้าร่วมแก๊ง การก่ออาชญากรรม และการข่มขู่ว่าจะก่อให้เกิดภยันตรายในการตั้งข้อหา
เพลงแรปในฐานะงานสร้างสรรค์ หรือภาพแทนของความรุนแรง?
ปัญหาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เนื้อเพลงของพวกเขานั้นมีบทบาทและส่งผลอย่างไรในเบื้องหน้าของกฎหมาย ในแง่หนึ่ง เนื้อเพลงนั้นอาจถูกสร้างขึ้นมาโดยถูกเติมแต่งเนื้อหาขึ้นมาโดยไม่ต้องมีความจริงปรากฏก็ได้ เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเร้าอารมณ์ให้แก่ผู้ฟัง แต่ในอีกแง่ อัยการในคดีนี้โต้แย้งด้วยมุมมองว่า เนื้อเพลงเหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องราวอัตชีวประวัติของศิลปิน และมีท่าทีที่จะปฏิเสธเนื้อเพลงเหล่านี้ในฐานะของงานศิลปะ[3]
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ในบริบทของสังคมอเมริกัน ก็ย่อมต้องอธิบายถึงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่มีการรับรองเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ซึ่งการนำเนื้อหาจากเพลงแรปมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลนั้นอาจนำไปสู่กการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในระดับปัจเจกบุคคล และการปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะ ในขณะที่เนื้อเพลงอาจถูกมองว่าเป็นการเล่าเรื่องที่อาศัยประสบการณ์ของศิลปินมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่สิ่งนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกในกระบวนการงานสร้างสรรค์และการพิจารณาหลักฐานในบริบทของคดีอาญา นอกจากนี้ ยังต้องกล่าวถึงบริบททางวัฒนธรรม ที่ซึ่งศิลปินแรปส่วนใหญ่นั้นมาจากชุมชนที่ถูกเลือกปฏิบัติและมีความอ่อนไหวทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ย่านฮาร์เลมในนครนิวยอร์ก, เมืองคอมป์ตันในลอสแอนเจลิส, หรือกระทั่งรัฐแอตแลนตาที่ซึ่งเกิดข้อพิพาทในคดีตัวอย่างข้างต้น
สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือคำถามเกี่ยวกับความอคติต่อเชื้อชาติและการเหมารวมอย่างไม่เป็นธรรมแก่ศิลปินผู้ทำการสร้างสรรค์ ซึ่งทำได้ผ่านการตีความเนื้อเพลง อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าเนื้อเพลงนั้นเพียงแค่นเสนอสิ่งเร้าอารมณ์จากการพรรณนาเพื่อถ่ายทอดการมองโลกของศิลปิน แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจมองเนื้อเพลงดังกล่าวว่าเป็นคำสารภาพจากอาชญากรรมที่ศิลปินเคยก่อ กระทั่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการเอาผิดในทางกฎหมายได้
เอริค นีลสัน (Erik Nielson) ศาสตราจารย์ภาควิชาศิลปศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยบริชมอนต์ เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบิดเบือนอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติที่ปรากฎในเพลงแรปนั้นสามารถอธิบายถึงการเลือกปฎิบัติในกระบวนการยุติธรรมอเมริกันไว้ในปี 2012 โดยชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมอเมริกันนั้นขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมแรป ที่มักปรากฏในรูปแบบของกลุ่มแก๊ง หรือ ‘Gangsta rap’ ที่เป็นที่นิยมและเป็นแรงบันดาลใจให้แรปเปอร์มักเลือกแสดงออกในสไตล์นี้ ด้วยการพูดถึงการดิ้นรนหาผลประโยชน์ในชีวิตลงในเพลงโดยไม่จำเป็นต้องก่ออาชญากรรมในชีวิตจริง และการพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเองด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อว่าศิลปินนั้นใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาแรป แต่นั้นก็เป็นเพียง ‘ท่าทางทางการตลาด’ เท่านั้น ตรงกันข้ามกับอัยการของรัฐที่มักจะยืนยันที่จะใช้เนื้อเพลงเหล่านี้ในฐานะของคำสารภาพในการก่ออาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพในชั้นศาล โดยไม่มีประเภทดนตรีอื่นที่ถูกใช้ในลักษณะดังกล่าว เขาตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีใครเชื่อว่า Johnny Cash นั้นเคยฆ่าชายคนหนึ่งในเมืองเรโนตามที่เขาบอกเล่าในเพลง I shot a man in Reno[4]
ความท้าทายและภาพจำของเพลงแรป อคติหรือต้นเหตุของความรุนแรง?
เพลงแรปนั้นมักแสดงภาพของความรุนแรงและอาชญากรรม และมันกลายมาเป็นจุดที่น่าสนใจในประเด็นของการนำมาใช้ในกระบวนการพิจารณาคดี อยากจะชวนให้คิดว่า เราอาจจะมองเห็นอะไรจากเพลงแรปบ้างนอกจากอุปนิสัยที่ก้าวร้าวรุนแรงและความทะเยอทะยานจากศิลปินที่ปรากฏออกมาในเนื้อหาของงานสร้างสรรค์
ประการแรก ดนตรีแรปนั้นประกอบไปด้วยภาษาที่เป็นคำอุปมาอุปมัยและมีการใช้ภาษาเชิงสัญลักษณ์ที่มีความไหลลื่นและไม่หยุดนิ่ง รวมไปถึงการพูดเกินจริงเพื่อสร้างบรรยากาศให้แก่ผู้ฟัง แม้จะเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง แต่สื่อบันเทิงประเภทอื่นนั้นก็มีการนำเสนอในรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม ภาพยนตร์ วรรณกรรม หรือแม้กระทั่งละครโทรทัศน์ ซึ่งเราสามารถตีความประเมินคุณค่าด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ประการต่อมา เพลงแรปนั้นเป็นวัฒนธรรมย่อย ที่จำเป็นต้องมีการประเมินคุณค่าที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ในขณะที่กระบวนการพิจารณาคดีนั้นต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรต้องปราศจากซึ่งอคติ ดังนั้น หากเป็นการตีความเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์หรือเนื้อหาที่พึ่งพาบริบทของวัฒนธรรมร่วมสมัย ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากเมื่อมันอยู่เบื้องหน้ากฎหมาย
ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าเพลงแรปนั้นประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เป็นอย่างมาก อย่างที่สามารถสำรวจได้จากชาร์ตความนิยมในแพลตฟอร์มสตรีมมิง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีเส้นแบ่งที่ซับซ้อนเกี่ยวกับขอบเขตในการนำเสนอเกี่ยวกับภาพความรุนแรงและเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงในการที่จะปล่อยให้ปรากฏไปยังสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากแก่สาธารณชน โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ฟังที่เป็นเด็กและเยาวชน
ส่งท้าย
ในช่วงเวลาปัจจุบัน เพลงแรปได้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งในสังคมไทยและวัฒนธรรมร่วมสมัยทั่วโลก และมีการกล่าวถึงเนื้อหาสารพัดรูปแบบ ทั้งที่ได้รับการเผยแพร่และปิดกั้นจากภาครัฐ ทั้งจากเหตุผลเกี่ยวกับความรุนแรง ความหยาบคาย และความมั่งคงของชาติ โดยตัวอย่างที่ปรากฏในสังคมไทยนั้นได้แก่เพลงของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมือง ที่ถูกระงับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบ[5] แต่อย่างไรก็ตามการแสดงออกภายใต้วัฒนธรรมย่อยนี้ก็ยังคงมีการพัฒนาตัวมันเองและปรับเปลี่ยนไปตามค่านิยมของยุคสมัย ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่าจะมีอนาคตเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การแสดงออกจากปัจเจกบุคคลนั้นถูกจับตาและตีความ
ที่มา
Adam Dunbar, “Rap Lyrics as Evidence: An Examination of Rap Music, Perceptions of Threat, and Juror Decision Making”, https://escholarship.org/uc/item/2c6478vr#main, 2017, P.30
Ella Feldman, “Should Rap Lyrics Be Admissible in Court?”, August 30, 2022, https://www.smithsonianmag.com/smart-news/rap-lyrics-court-california-180980664/
Erik Nielson and Charis E. Kubrin, “Rap Lyrics on Trial”, The New York Times, Jan. 13, 2014, https://www.nytimes.com/2014/01/14/opinion/rap-lyrics-on-trial.html
https://www.youtube.com/@johnnycashofficial
https://www.youtube.com/@LawAndCrime
TCR STAFF, “Rap on Trial: How an Art Form Became a Courtroom Weapon”, SEPTEMBER 11, 2019, https://thecrimereport.org/2019/09/11/rap-on-trial-how-an-art-form-became-a-courtroom-weapon/
ภานุพงศ์ จือเหลียง, “ศิลปะและการด้อยค่า: การปฏิเสธงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม”, https://themomentum.co/ruleoflaw-subculture/
[1] Adam Dunbar, “Rap Lyrics as Evidence: An Examination of Rap Music, Perceptions of Threat, and Juror Decision Making”, https://escholarship.org/uc/item/2c6478vr#main, 2017, P.30
[2] TCR STAFF, “Rap on Trial: How an Art Form Became a Courtroom Weapon”, SEPTEMBER 11, 2019, https://thecrimereport.org/2019/09/11/rap-on-trial-how-an-art-form-became-a-courtroom-weapon/
[3] Ella Feldman, “Should Rap Lyrics Be Admissible in Court?”, August 30, 2022, https://www.smithsonianmag.com/smart-news/rap-lyrics-court-california-180980664/
[4] Erik Nielson and Charis E. Kubrin, “Rap Lyrics on Trial”, The New York Times, Jan. 13, 2014, https://www.nytimes.com/2014/01/14/opinion/rap-lyrics-on-trial.html
[5] ภานุพงศ์ จือเหลียง, “ศิลปะและการด้อยค่า: การปฏิเสธงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม”, https://themomentum.co/ruleoflaw-subculture/
Tags: เพลงแร็ป, ศาล, Rule of Law