งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารบริติช เมดิคัล เจอร์นัล (British Medical Journal) พบว่า ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคสมองเสื่อม

นักวิจัยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ของสหราชอาณาจักรเพื่อวิเคราะห์ผู้ป่วย 40,770 คนที่อายุระหว่าง 65-99 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมระหว่างเดือนเมษายน 2006 – กรกฎาคม 2015 นักวิจัยเปรียบเทียบว่า คนไข้เหล่านี้ถูกสั่งให้กินยาแอนตีโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน ระหว่าง 4 ปี และ 20 ปีก่อนหน้านี้กับกลุ่มควบคุม 300,000 คน

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่กินยากลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิกที่ใช้ยาติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า พาร์กินสัน และโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 30% ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ยาในกลุ่มนี้จะไปปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ไปสู่ปมประสาท แต่คนที่ใช้ยากลุ่มนี้เพื่อรักษาโรคหอบหืดหรือกระเพาะอาหารไม่มีความเสี่ยง

จอร์จ ซาฟวา นักชีววิทยาศาสตร์หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของการพัฒนาไปสู่โรคสมองเสื่อมภายในอีก 15 ปีของผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 10% การใช้ยานี้ในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 13%

ยาที่ถูกตั้งคำถามนี้ส่วนมากเป็นยาแบบเก่าที่ใช้กันในท้องตลาดมาหลายทศวรรษ ยาที่แพร่หลายที่สุดคือ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ซึ่งเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่ใช้รักษาอาการปวดประสาทและทำให้นอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้าอื่นๆ ที่มีแอนตีคลอลิเนอร์จิกด้วยคือ พาร็อกซีทีน (Paroxetine) และ  โดซูเลพิน (Dosulepin) รวมทั้งยาที่รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะด้วย เช่น โทลเทโรดีน (Tolterodine) ออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) และ โซลิเฟนาซิน (Solifenacin)

ยังไม่ชัดเจนว่ากลไกที่ทำให้ยากลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิกเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร แต่ดูเหมือนว่าการอักเสบจะมีบทบาทสำคัญ

ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ยากลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิก อาจทำให้เกิดภาวะสับสนและทำให้ความทรงจำของผู้ป่วยที่อายุมากหายไปในระยะสั้นๆ และมีงานศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแอนตีโคลีนเนอร์จิกและโรคสมองเสื่อม แต่งานวิจัยล่าสุดวิเคราะห์จากข้อมูลที่ใหญ่และละเอียดที่สุด

งานวิจัยนี้ใช้การสังเกตมากกว่าการทดลองทางการแพทย์ มันไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแอนตีโคลิเนอร์จิกก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อมโดยตรง เพราะปัจจัยอื่นๆ ยังไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วย

นักวิจัยยังเตือนให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเปลี่ยนยา

“สิ่งสำคัญจากการศึกษาของเราคือ มันอาจเปลี่ยนสมดุลระหว่างการมองไปที่ความเสี่ยงกับประโยชน์ของการใช้ยา” เอียน เมดเมนต์ อาจารย์ด้านเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอสตัน หนึ่งในคณะวิจัยกล่าว และแนะนำว่าผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาทันที ใช้ต่อไปตามปกติ และถ้าหากกังวล ควรคุยกับหมอหรือเภสัชกร

งานวิจัยนี้จัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีสด์อิงเกลีย มหาวิทยาลัยแอสตัน ร่วมกับอีกหลายสถาบัน และได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมอัลไซเมอร์

 

ที่มา:

Tags: , ,