หากพูดถึงชื่อ ‘วิษณุ เครืองาม’ เชื่อว่าผู้ที่ติดตามการเมืองไทยต้องคุ้นเคยกับนามนี้ เขาเป็นนักกฎหมายที่ถูกตั้งฉายาว่า ‘เนติบริกร’ หรือ ‘กฎหมายเดินได้’ และเป็นที่รู้กันว่าเขาทำหน้าที่เป็นช่างเทคนิคทางกฎหมายให้กับหลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนไปถึงรัฐบาลทหาร วิษณุ จึงกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทโลดโผนและมีอิทธิพลต่อหลายๆ รัฐบาลที่ต่างเรียกใช้บริการทางกฎหมายของเขา
น่าแปลกตรงที่ว่า การให้เหตุผลทางกฎหมายของเนติบริกร หลายๆ ครั้งกลับไม่สอดคล้องกับสำนึกความเข้าใจของคนในสังคม จนสร้างความงุนงง สับสน และ ‘อิหยังวะ’ บทความชิ้นนี้จึงสนใจศึกษาถึงเนติบริกร ว่ามีความหมายอย่างไร เป็นอาชีพหนึ่งของนักกฎหมายเช่นใด พร้อมกับสำรวจบุคคลที่เป็นต้นแบบของเนติบริกรในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร จนกลายมาเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลและจำเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาลทหาร ที่ทำหน้าที่ซักล้างถอดคราบเผด็จการให้เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ไปจนถึงการตั้งคำถามว่าทำไมนักกฎหมายจึงกลายเป็น ‘ช่างประปา’ ไปเสียได้
‘เนติบริกร’ อาชีพของ ‘นักกฎหมายไฮเตอร์เซอร์วิส’?
ในช่วงการแนะนำอาชีพนักกฎหมายให้แก่บรรดานักเรียน หรือนักศึกษากฎหมายชั้นปีที่หนึ่ง อาชีพที่มักจะหนีไม่พ้นการถูกแนะนำคือ ทนายความ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา อาจารย์สอนกฎหมาย นิติกรในหน่วยงานราชการ นายทหารพระธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นอาชีพที่คาดหมายได้
แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่มักถูกมองข้าม แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาลคือ เนติบริกร อันเป็นฉายาของวิษณุ เครืองาม ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 ช่วงรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร โดยสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ด้วยเหตุผลว่าเป็น ‘มือกฎหมาย’ ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการ ‘พลิกแพลง’ ใช้กฎหมายให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม1 และนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 บทบาทของเนติบริกรนามว่า วิษณุ เครืองาม ก็โดดเด่น และมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย จนได้ทำงานเป็นนักกฎหมายประจำรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคอยเป็นเครื่องซักล้างโดยใช้เทคนิคทางกฎหมาย รวมไปถึงการให้เหตุผลทางกฎหมาย จนได้รับอีกสามฉายาตามมาว่า ‘ศรีธนญชัยลอดช่อง’ ในปี 2562 ‘ไฮเตอร์ เซอร์วิส’ ในปี 2563 และ ‘เครื่องจักรซักล้าง’ ในปี 25652
ซึ่งเขาเองมีส่วนต่อการสร้างคำอธิบายทางกฎหมายที่สวนทางกับมติมหาชนหลายเรื่อง ไม่ว่าเป็นการให้เหตุผลเรื่องการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีการถือหุ้นของดอน ปรมัตถ์ รวมไปถึงการตีความว่า ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่?3 ซึ่งตัววิษณุ เองได้ให้เหตุผลว่า ‘ลงเรือแป๊ะ’ ที่มาจากสำนวน ‘ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ’ ความหมายคล้ายลงเรือเดียวกัน ว่าไงต้องว่าตามกัน4
ทั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายาม หาความหมายของเนติบริกร ก็พบการนิยามในทางภาษาบาลี ที่กล่าวว่า เนติบริกร อ่านว่า เน-ติ-บอ-ริ-กอน เนติ มีรากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย : นี + ตี = นีติ แปลตามศัพท์ว่า ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ และเครื่องนำไปให้บรรลุหมายถึง กฎหมาย กฎ และแบบแผน
ในทางพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสภาพ พ.ศ. 2554 อธิบายว่า เนติ: (คำนาม) (คำแบบ) นิติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, กฎหมาย, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนำ, อุบายอันดี ส่วนบริ: บาลีอ่านว่า ปริ เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด และกร บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย ดังนั้น กรฺ + อ = การทำ หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบกระทำ หรือ ผู้ทำ หมายถึง ผู้กระทำ ดังนั้น เนติ+บริกร = เนติบริกร แปลตามศัพท์คล้อยตามความประสงค์ว่า ‘ผู้ทำหน้าที่บริการทางกฎหมาย’5
อีกหนึ่งคำนิยาม เนติบริกร จาก เว็บไซต์ Sanook มีผู้ให้นิยามว่า บุคคลองค์กรหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ โดยมีหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายแก่บุคคลผู้มีอำนาจ อาชีพเนติบริกรเป็นอาชีพเปิดสำหรับนักกฎหมาย ที่ไม่สนใจเรื่องผิดชอบ ชั่วดี หรือจริยธรรมใดๆ ขอเพียงได้ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ของตน6
แต่เมื่อพิจารณาถึงนิยามของการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่รัฐบาล โดยเนื้อหาและบทบาทหน้าที่ของเนติบริกร กลับไม่ได้มีความหมายในเชิงลบต่อตัวบุคคลที่ทำหน้าที่แต่อย่างใด เพราะการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายก็ถือเป็นเรื่องปกติสามัญสำหรับคนที่ทำงานด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรของรัฐ หรือเอกชนก็ล้วนแต่มีมือกฎหมายของตนเองทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เนติบริกรตามบริบทสังคมการเมืองของไทยกลับแตกต่างออกไป เพราะประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีการัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง และเนติบริกรกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญภายใต้ ‘วงจรอุบาทว์’ ทางการเมืองไทย คือเมื่อเกิดความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยและเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร เนติบริกรก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ร่างคำประกาศของคณะรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร จนกลายเป็น ‘มือกฎหมาย’ ที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับรัฐบาลทหาร เพราะพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งนักกฎหมายที่มีทักษะ มีความรู้และเชี่ยวชาญเทคนิคทางกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดของพวกตน เพื่อไม่ให้คณะทหารผู้ทำการรัฐประหารมีความผิดในข้อหากบฏล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ก่อเกิดมือกฎหมายของรัฐบาลอำนาจนิยม
ย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2490 ที่เป็นจุดกำเนิด ‘รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มแดง’ ผู้ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางกฎหมายคนแรกให้กับรัฐบาลทหาร คือพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) อดีตอธิบดีกรมอัยการ ที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 40 คน โดยทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นสมาชิกวุฒิสภาภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 จากนั้นก็ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ อาจารย์กฎหมาย รวมไปถึงกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายต่างๆ
ในช่วงเวลาต่อมา7 ยังเป็นนักกฎหมายคนสำคัญ เมื่อครั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะปฏิบัติให้เป็นประธานกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะปฏิวัติกรรมการร่างกฎหมายที่คณะปฏิวัติ ภายหลังได้มีการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2501 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาวางแผนของคณะปฏิวัติ ทำผลงานจนได้เป็นประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายของหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยมีผลงานชิ้นโบว์แดง คือ ประกาศคณะปฏิวัติ8 และให้กำเนิดมาตรา 17 ธรรมนูญการปกครอง ที่ให้อำนาจพิเศษและเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะปฏิวัติ9 ซึ่งกลายเป็นแบบอย่างให้กับคณะปฏิวัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
มือกฎหมายลำดับต่อมาถูกส่งต่อให้ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยภายหลังการทำรัฐประหาร วันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะปฏิวัติที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งคณะกรรมการเพื่อร่างธรรมนูญการปกครองอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 ซึ่งหากสืบย้อนไปตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อครั้ง พ.ศ. 2501 จะพบว่า สมภพ โหตระกิตย์ เป็นหนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และทำงานในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐฒมนตรี งานสมาชิกสภานิติบัญญัติ10 จนเข้าสู่วังวนการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงบทบาทสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2511 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2523 และกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและหน้าที่นิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ 2534 เรียกได้ว่า สมภพ โหตระกิตย์ เป็นผู้ทำหน้าที่มือกฎหมาย และมือร่างรัฐธรรมนูญให้แก่คณะปฏิวัติและรัฐบาลมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี11
มือกฎหมายคนต่อมา คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ มีประวัติการทำงานร่วมกับ สมภพ โหตระกิตย์ เมื่อครั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีชัย ฤชุพันธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยกองการยกร่างกฎหมายคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์แบบ ‘หัวหน้างานและลูกน้อง’
ทั้งตามหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของสมภพ ยังปรากฏคำเขียนไว้อาลัยของมีชัย ฤชุพันธ์ (และ วิษณุ เครืองาม) เมื่อพิจารณาบทบาทของ มีชัย เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทำให้เขาได้ทำงานร่วมกับชนชั้นนำไทยและคณะปฏิวัติหลายชุด ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มมีบทบาทในทางการเมืองและการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จนกระทั่งเข้าสู่รัฐบาลของเสนีย์ ปราโมช (1) รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช และรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช (2) ‘มีชัย’ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และเป็นมือร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2519, 2520, 2521 ธรรมนูญการปกครอง 2534 รัฐธรรมนูญ 253412 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขาได้ปล่อยไม้เด็ดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไว้ในหลายรูปแบบผ่านกลไกรัฐธรรมนูญเช่นที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
มือกฎหมายคนปัจจุบันคือ วิษณุ เครืองาม เริ่มรับอาชีพราชการด้วยตำแหน่งอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก่อนที่ต่อมาจะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายหลังได้เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายหลังรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 เขากลับเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐบาลของคณะรัฐประหารเสมอ ผ่านรูปแบบการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หัวหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมไปถึงการเป็นเครื่องซักล้างให้กับรัฐบาล
หากย้อนกลับไปสำรวจอดีตจะพบว่า ในปีพ.ศ. 2534 ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ‘วิษณุ’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ เป็นประธาน ต่อมาในปีพ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เขาเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2557 จะได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของคสช. ให้ดูแลงานด้านกฎหมายยุติธรรม ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 255713 ที่มีการแปลงมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 มาสู่มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. เป็นอย่างมาก ทั้งบทบาทการเป็นเครื่องซักล้างให้กับรัฐบาลในยุค 3 ป.14 ที่ได้ฝากผลงานชิ้นโบว์แดงไว้มากมาย
หากพิจารณาที่มาของ ‘มือกฎหมาย’ เหล่านี้ จะพบว่าพวกเขาล้วนมาจากฐานนักกฎหมายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ สำนักคณะกรรมการคณะกฤษฎีกา รวมไปถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลุ่มมือกฎหมายเหล่านี้ยังเป็นหัวกะทิที่มีความเชี่ยวชาญคุ้นเคยกับการยกร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เข้าใจเทคนิคทางภาษาและเทคนิคทางกฎหมายเป็นอย่างดี พวกเขายังเป็นเครือข่ายมือกฎหมายที่มีโอกาสเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับการรัฐบาลและคณะรัฐประหารหลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการส่งต่อวิธีการ พัฒนาเทคนิควิธีการเขียนและการให้เหตุผลทางกฎหมายไปสู่จุดที่สร้างกฎหมายหนุนเสริมอำนาจของคณะรัฐประหาร และขจัดช่องว่างในการเอาผิดกับบุคคลที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ จนขัดต่อหลักการให้เหตุผลทางกฎหมายและสามัญสำนึกของบุคคลในหลายครั้ง แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ผิดกฎหมาย
ทำไมนักกฎหมายถึงกลายเป็น ‘ช่างประปา’ ประจำรัฐบาล ?
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายถึง การเรียนการสอนของไทยภายหลังปีพ.ศ. 2492 ว่าหดแคบลง เพราะไม่ได้เชื่อมโยงวิชากกฎหมายเข้ากับวิชาอื่นๆ หลักสูตรกฎหมายในทุกวันนี้เป็นลักษณะ ‘กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ’ ที่นักกฎหมายเองไม่สามารถผูกโยงเข้ารู้เข้าความใจทางกฎหมายกับหลักวิชาอื่นๆ และ ‘ผู้สอนกฎหมาย’ เป็นนักปฏิบัติกฎหมายที่ครอบงำการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา อัยการ ทนาย จนต่อมาภายหลังอีก 20 ปี จึงได้มีการสร้างนักวิชาการกฎหมายขึ้นมา
แม้จะมี ‘อาจารย์กฎหมาย’ ขึ้นมาแต่การสอนนิติศาสตร์กลับยังคงการสอนในเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย ที่จะสร้างทักษะความชำนาญในทางกฎหมายเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จนกลายไปเป็น ‘ช่างเทคนิค’ ที่ใช้ความรู้กฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงพลิกแพลง หรือหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้มาใช้บริการ มากเสียกว่าการสร้างนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจบริบททางสังคม รวมไปถึงหลักการของกฎหมายนั้นๆ อย่างแท้จริง
ผลจากการเรียนการสอนเช่นนี้ จึงทำให้ “กฎหมายกลายเป็นเพียงเรื่องของเทคนิค เมื่อนั้นก็ต้องแคบ เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ และจะผูกพันกับเนติบริกรเป็นธรรมดา ถ้าผมเป็นช่างเก่งในเรื่องเทคนิคเครื่องสูบน้ำ แล้วนายกสั่งให้แก้เครื่องสูบน้ำเป็นเครื่องพ่นน้ำแทน ผมก็ทำได้ เพราะว่าเป็นเรื่องเทคนิคอย่างเดียว แล้วเรื่องเนติบริกรที่เราพบกันดาษดื่นในสังคมไทย มาจากการที่คุณเป็นนักกฎหมายเป็นเพียงแต่เทคนิค เมื่อเป็นเทคนิคคุณจะสูบน้ำก็ได้ พ่นน้ำก็ได้ ได้ทั้งนั้น”
เพราะหากคุณไปบอกอธิการว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะมันขัดต่อหลักการ เขาก็เพียงแต่ไล่คุณออกและหาคนอื่นทำแทนก็เท่านั้น15
อ้างอิง
1 Supachat Lebnak, เนติบริกร “วิษณุรัฐ” และประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่, เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562, https://thematter.co/thinkers/state-in-definition-of-lawyer/81653.
2 Thestandardteam, วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ยุค 3 ป., เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/.
3 ThaiPublica, “วิษณุ เครืองาม” จาก “เนติบิกร” สู่ “กฎหมายเดินได้” ของ คสช., เผยแพร่เมื่อ 22 กรกฎาคม 2562, https://thaipublica.org/2019/07/wissanu-krea-ngam-22-7-2562/.
4 Thestandardteam, “วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ยุค 3 ป.”, เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/.
5 ชมรมธรรมธารา, บาลีวันละคำ “เนติบริกร”, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2023, https://dhamtara.com/?p=7576
6 Sanook, “เนติบริกร”, https://www.sanook.com/dictionary/dict/dict-user/search/เนติบริกร/
7 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์), ม.ป.พ.:-, พ.ศ. 2521, หน้า 51- 64.
10 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง : กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2540, หน้า 110.
11 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง : กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2540, หน้า 110-111.
12 ศุภาพิชญ์ ศิริพร ณ ราชสีมา และคณะ, บทบาทและความคิดทางการเมืองของนายมีชัย ฤชุพันธุ์, วารสารรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2565, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/SSRUJPD/article/view/261630/177623. สืบค้นเมื่อ วันที่28 มิถุนายน 2566.
13 เนชั่นออนไลน์, วิษณุ เครืองาม เนติบริกรมือฉมัง, เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557, https://www.nationtv.tv/news/378416841. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566.
14 The Standard Team, วิษณุ เครืองาม จาก ‘เนติบริกร’ ถึง ‘เครื่องจักรซักล้าง’ ยุค 3 ป., เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566, https://thestandard.co/people-in-politics-wissanu-krea-ngam/. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566.
15 นิธิ เอียวศรีวงศ์, “งานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 11 ‘บุคคลหลายหลากวิพากษ์นักกฎหมาย’”, วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2549 ณ ห้องแอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 11-15.
Tags: วิษณุ, ฟอกขาว, กฎหมาย, รัฐประหาร, เนติบริกร