ว่ากันว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ การอ่านเป็นเครื่องมือที่สามในการเข้าใจโลก แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าใจโลกแห่งการอ่านผ่านกรอบสายตาได้
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุสถานการณ์คนพิการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ว่า มีผู้พิการทางการเห็นในประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 184,622 คน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่สามารถอ่านหรือเข้าถึงหนังสือเบรลล์และหนังสือเสียงได้
“เราต้องผลิตหนังสือเรียนรวมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ประมาณ 3-4 ร้อยเล่มต่อปี แต่เราไม่เคยทำทันเลย เนื่องจากมีบุคลากรอยู่จำนวนแค่นี้” ชนิดาภา เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด กล่าว
46 ปี คือช่วงเวลาที่ ‘ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด’ หน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พัฒนาการผลิตสื่อโดยใช้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อรองรับความต้องการสื่อของผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สื่อภาพนูน เช่น หนังสือนิทาน เพื่อให้เด็กผู้พิการทางการเห็นได้รู้จักรูปร่างของสัตว์ หรือรูปร่างของตัวละครในเทพนิยาย และหนังสือเสียง
“เครื่องที่ใช้ผลิตหนังสืออักษรเบรลล์มีอายุประมาณ 15-46 ปี ตอนนี้ไม่มีช่างที่ไหนรับซ่อมแล้ว ต้องซ่อมกันเอง บางครั้งเครื่องพิมพ์พังต้องใช้ของมาไหว้เพื่อให้สามารถใช้งานได้ก็มี เรียกว่าทำทุกวิถีทาง” พนักงานประจำศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดเล่า
The Momentum ชวนไปรู้จักเครื่องมือและขั้นตอนการผลิตสื่อเพื่อคนตาบอด ตั้งแต่การเตรียมต้นฉบับ สั่งพิมพ์ คัดเลือกหนังสือ และระหว่างทางของการผลิตสื่อว่าแต่ละประเภทมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ผัสสะผ่านปลายนิ้วมือ คือประตูสู่โลกการอ่าน
ที่แห่งนี้คือห้องผลิตต้นฉบับหนังสือ และการจัดการไฟล์ มีพนักงานทั้งหมด 4 คน ผู้มีหน้าที่คัดลอกเนื้อหาหนังสือทั้งหมดก่อนนำไปจัดพิมพ์เป็นหนังสืออักษรเบรลล์ หรือหนังสือเสียง
หนังสือที่จัดทำมีตั้งแต่หนังสือเรียน หนังสือสารคดี ได้แก่ ศาสนา การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ การเมือง จิตวิทยา และประวัติศาสตร์ หนังสือนิยายวรรณกรรม เช่น นวนิยายไทย นวนิยายแปล การเมือง และประวัติศาสตร์
“ขั้นตอนการทำหนังสือของเด็กนักเรียนรวมชั้น ม.4-6 ค่อนข้างทำให้เราต้องทำงานเยอะพอสมควร เพราะมีทั้งหมด 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนโพธินิมิต โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนสันติราษฎร์ โรงเรียนโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ และโรงเรียนศรีอยุธยา ซึ่งแต่ละโรงเรียนใช้หนังสือเรียนต่างสำนักพิมพ์กัน
“หนังสือเรียน 1 เล่มจึงมี 5 สำนักพิมพ์ หมายถึงเราต้องผลิตหนังสือเรียนออกมา 5 เล่ม ทำให้ต้องทำงานเพิ่มขณะที่มีพนักงานเพียง 4 คนเท่านั้น สมัยก่อนต้องพิมพ์หนังสือทีละตัวด้วยมือ ตอนหลังเริ่มใช้เครื่องสแกนเข้ามาช่วย เพราะง่าย ลดความผิด มีความมั่นคงมากขึ้น” ชนิดาภากล่าว
ส่วนขั้นตอนการเลือกต้นฉบับหนังสือนอกห้องเรียน มาจากการคัดเลือกหนังสือตามความต้องการของสมาชิก หรือหนังสือขายดี เพราะต้องการให้หนังสืออักษรเบรลล์ และหนังสือเสียงมีความหลากหลายเหมือนหนังสือทั่วไปที่มีหลายหมวดหมู่
ห้องบันทึกเสียงเพื่อจัดทำหนังสือเสียงมีจำนวนทั้งหมด 6 ห้อง โดยเฉลี่ยแล้ว 1 เดือน จะมีหนังสือเสียงออกมาหลายเรื่อง เพราะมีอาสาสมัครมาช่วยอ่าน โดยพนักงานศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด จะคัดเลือกน้ำเสียงและลีลาการอ่านของแต่ละคน ว่าเหมาะกับการอ่านหนังสือประเภทไหน เช่น หนังสือธรรมะ ปรัชญา หนังสือภาษาอังกฤษ หรือหนังสือภาษาจีน เพราะหนังสืออักษรเบรลล์ไม่มีภาษาจีน จึงต้องจัดทำเป็นไฟล์เสียงเพื่อให้เด็กตาบอดสามารถฝึกอ่าน ฝึกเรียนภาษาจีนได้
หากใครสนใจเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียง สามารถเลือกหนังสือที่ชอบและนำมาสอบถามบรรณารักษ์ หากยังไม่มีการบันทึกเสียงก็มาอัดบันทึกหนังสือเสียงได้ เพราะคนตาบอดบางคนไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ หรือบางคนอ่านออกแต่ชื่นชอบการฟังมากกว่า
เพชรพระอุมา, เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอนกษัตริย์คืนบัลลังก์ หรืออ่านโลกกว้าง เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของหนังสือเสียงที่บันทึกในรูปเทปคาสเซ็ตต์ในห้องเก็บหนังสือเสียง
ปัจจุบัน ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดให้บริการบันทึกหนังสือเสียง 3 ประเภท ได้แก่ 1. CDMP3 2. CD-Daisy และเทปคาสเซตต์
กระบวนการผลิตหนังสือเสียงเริ่มจากการโทรสอบถามรายชื่อหนังสือกับศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอด หรือตรวจสอบผ่านประวัติการยืมหนังสือครั้งที่ผ่านมา ว่าหนังสือประเภทไหนได้รับความนิยมสูงสุด หลังจากนั้นเข้าสู่การคัดแยกประเภทหนังสือตามที่สมาชิกต้องการ เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น หรือประวัติศาสตร์
อาสาสมัครทุกคนสามารถเข้ามาใช้ห้องบันทึกเสียงที่ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดได้ หรือใครอยากบันทึกเสียงมาจากที่บ้านก็สามารถทำได้ เช่น บันทึกผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ
กระบวนการทำหนังสือเบรลล์มี 2 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบคอมพิวเตอร์ พิมพ์บนกระดาษความหนา 150-180 แกรม วิธีการผลิตคือสามารถสแกนต้นฉบับตำราเรียนและหนังสือเพื่อความบันเทิงผ่านเครื่อง Scan Snap ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดมีเพียง 3 เครื่องเท่านั้น
เมื่อจัดไฟล์อักษรเบรลล์สำหรับสั่งพิมพ์เสร็จแล้ว ก็นำไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (IMPACTO TEXTO 800) ที่มีทั้งหมด 2 เครื่อง อัตราความเร็วในการพิมพ์อยู่ที่ 800 หน้าต่อชั่วโมง ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด บอกกับเราว่า ศักยภาพการพิมพ์ตอนนี้ก็ลดลงตามอายุขัย
ต่อมาคือระบบโรงพิมพ์ มีเครื่องเฉพาะสำหรับพิมพ์แม่แบบใช้กระดาษคัตชีต (Cut Sheet) ความหนา 150-300 แกรม ผลิตงานได้หลายขนาดและหลากรูปแบบ เช่น นามบัตร หนังสือขนาด A5 และ A4 หรือปฏิทินสำหรับคนตาบอด โดยระบบโรงพิมพ์แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. ระบบเพลต พิมพ์ด้วยเครื่อง PUMA ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดมีทั้งหมด 1 เครื่อง เป็นการพิมพ์อักษรเบรลล์บนแผ่นอลูมิเนียม จากนั้นสำเนาด้วยเครื่องพิมพ์อัตโนมัติไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) ซึ่งมีทั้งหมด 2 เครื่อง โดยมีอัตราความเร็วในการพิมพ์คือ 2,500 หน้าต่อชั่วโมง
และ 2. การพิมพ์สื่อภาพนูน ใช้เครื่อง Themoform
“เราต้องดูว่างานประเภทไหนเหมาะกับระบบการพิมพ์แบบใด เช่น หากหนังสือเล่มนั้นมีความหนาเพียง 10 หน้า หากสั่งพิมพ์ในระบบคอมพิวเตอร์จะทำให้เข้าเล่มไม่สวยเพราะมีขนาดบาง แต่หากพิมพ์ด้วยระบบเพลตรูปเล่มก็จะสวย”
สื่อภาพนูนนิยมพิมพ์หนังสือเบรลล์ที่ต้องการให้เห็นรูปร่างต่างๆ เช่น หนังสือรูปทรงเลขาคณิต เพื่อให้เด็กตาบอดได้รู้จักทรงกลม ทรงเหลี่ยม หรือสามหลี่ยม รวมไปถึงรูปร่างหน้าตาของตัวละครในนิทาน ไม่ว่าจะเป็นปีศาจ มังกร หรือเจ้าหญิง
กระบวนการผลิตใช้วัสดุที่ทนความร้อนและมีความหนาแตกต่างกัน เพื่อให้ง่ายต่อการสัมผัสของผู้พิการทางสายตา
ปฏิทินตั้งโต๊ะคือหนึ่งในกระดาษที่สามารถนำมาผลิตหนังสืออักษรเบรลล์ได้ เนื่องจากมีความหนา ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดจึงเปิดรับบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะเก่าอยู่เสมอ เพื่อนำมาสร้างหนังสือแห่งสัมผัสเล่มต่อไป
หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตสื่ออักษรเบรลล์ คือการพิสูจน์อักษร โดยศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดจะมีพนักงานผู้พิการทางสายตา เป็นผู้มาตรวจพิูจน์อักษร ดูความเรียบร้อย และความถูกต้องของเนื้อหาในหนังสือทุกครั้งก่อนตีพิมพ์
สิ่งที่ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด มีความต้องการตอนนี้ คือเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสื่อเทคโนโลยีเพื่อคนตาบอด จึงอยากได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอดได้ดำเนินเป้าหมายที่มุ่งเน้นการผลิตสื่อสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณให้ทันต่อความต้องการของผู้พิการทางสายตาที่มีอยู่ทั่วประเทศได้
Tags: อักษรเบรลล์, คนตาบอด, หนังสือเสียง, ศูนย์เทคโนโลยีคนตาบอด