หลังวง The 1975 จากประเทศอังกฤษได้มาแสดงคอนเสิร์ตที่ไทย มอบความสุขให้กับแฟนคลับของวง ภายในงาน ‘The 1975 live in Bangkok’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ทว่าภายหลังคอนเสิร์ตจบลงก็มีกระแสดราม่าเกิดขึ้น เมื่อ แมทธิว ฮีลีย์ (Matthew Healy) หรือแมตตี้ ฟรอนต์แมนของวง สูบบุหรี่ขณะทำการแสดงบนเวที ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์บนทวิตเตอร์ และนำมาสู่การตั้งคำถามว่า การกระทำนี้ผิดหรือไม่ เพราะมีทั้งแฟนคลับรู้สึกถูกใจ กลุ่มที่ไม่ชอบใจ และหลายคนผิดหวังในตัวศิลปิน
แต่หากใครติดตามหรือได้ดูคลิปทัวร์คอนเสิร์ตในเมืองอื่นของ The 1975 ก่อนถึงคิวของประเทศไทย ก็คงเห็นภาพฟรอนต์แมนของวง กระดกเหล้า สูบบุหรี่ บนเวทีตอนร้องเพลงผ่านตามาโดยตลอด จนหลายคนเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง ด้วยคอนเซปต์ที่เหมือนกับคอนเสิร์ตประเทศก่อนหน้า และพร้อมยินดีจ่ายเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตเพื่อมาชมสิ่งนี้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มากกว่าการฟังเพลง
ปกติแล้วศิลปินสูบบุหรี่ในคอนเสิร์ตได้หรือไม่ อันดับแรกเราคงต้องมาดูถึงกฎระเบียบของสถานที่สำหรับการจัดงาน โดย อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี สถานที่ในครั้งนี้ เป็นฮอลล์จัดคอนเสิร์ตซึ่งเป็น ‘สถานที่ปลอดบุหรี่’ ก่อนเข้าฮอลล์ผู้ชมต้องโดนตรวจกระเป๋าเพื่อคัดกรองสิ่งของต้องห้าม อาวุธ ของมีคม วัตถุไวไฟ และบุหรี่คือหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าผู้ชมคอนเสิร์ตไม่สามารถนำบุหรี่เข้าไปได้ แต่กลับกัน หากมองไปบนเวที ระยะห่างออกไปไม่กี่เมตร ศิลปินที่กำลังแสดงอยู่กลับสามารถจุดมวนบุหรี่ สูดลงปอด แล้วพ่นควันออกมา แม้จะเป็นภาพประทับใจ ปลุกเร้าให้มีอารมณ์ร่วมไปกับศิลปิน เสียงดนตรี และบรรยากาศในคอนเสิร์ต ของแฟนคลับบางส่วน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับแมตตี้เช่นกัน
เรื่องนี้ถูกนำมาพูดถึงบนทวิตเตอร์และเกิดการถกเถียงทั้งในเชิงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝั่งที่เห็นด้วยระบุว่า คนที่ไปดูคอนเสิร์ตให้ความยินยอมกับการสูบบุหรี่ของแมตตี้ เพราะรู้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว และได้ยกตัวอย่างศิลปินที่สูบบุหรี่ระหว่างโชว์ อย่าง ลาน่า เดล เรย์ (Lana Del Rey) และไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) ซึ่งสถานที่สูบบุหรี่ก็เป็นคอนเสิร์ตในฮอลล์ที่ต่างประเทศไม่ต่างกับอิมแพ็ค อารีน่า
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบางส่วน ก็กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย กลัวอุบัติเหตุไฟไหม้อาจเกิดขึ้นในฮอลล์ ซึ่งเรื่องนี้ควรถูกสอบถามต่อไปยัง Mangosteenfest ทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ตต่อไปว่า การยินยอมให้ศิลปินสูบบุหรี่ในงาน หมายถึงเขามั่นใจและสามารถรับผิดชอบความปลอดภัยของทุกชีวิตภายในฮอลล์ได้จริงๆ ใช่ไหม
แล้วก็ยังมีอีกเหตุผลที่แฟนเพลงชาวไทยไม่พอใจ คือเรื่องสูบบุหรี่ในที่ที่ไม่ควรสูบ เพราะหากอ้างอิงตาม พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สรุปใจความของ มาตรา 44 ได้ว่า ในกรณีที่เขตปลอดบุหรี่ได้จัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ ต้องมีพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน โดยคำนึงถึงการระบายอากาศที่เหมาะสม และไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
สำหรับวง 1975 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงแค่สูบบุหรี่ในคอนเสิร์ต เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเผยคลิป แมตตี้ และจอร์จ แดเนียล (George Daniel) มือกลองของวง ยืนสูบบุหรี่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้โดนวิจารณ์แล้วระลอกหนึ่งว่า ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อมีเหตุการณ์สูบบุหรี่ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตอีก กระแสดราม่าจึงโหมกระหน่ำและรุนแรงยิ่งกว่าเดิม จนทำให้แฟนเพลงชาวไทยรู้สึกผิดหวัง ถึงกับประกาศกร้าวบนทวิตเตอร์ว่าจะเลิกฟังเพลงของวง The 1975 ไปเลยก็มี
ทางด้านเว็บไซต์ Tobocco Control ซึ่งรณรงค์เกี่ยวกับบุหรี่ ดร.อเล็กซานเดอร์ บาร์เกอร์ (Alexander Barger) อาจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยดาร์บี ประเทศอังกฤษ (University of Derby) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคอนเสิร์ต The 1975 ที่จัดขึ้นในอังกฤษ ว่า การสูบบุหรี่ในฮอลล์ที่นั่นก็ไม่ได้รับการอนุญาตเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความเห็นของแฟนเพลงต่างประเทศระบุว่า การสูบบุหรี่ในสถานที่ปิด ทำให้รู้สึกแปลกกับการแสดงเล็กน้อย แม้จะมีบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีดราม่าเป็นพิเศษ ส่วนคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา คลิปที่แฟนเพลงอัปโหลดลงยูทูบ ใต้คลิปนั้นมีความเห็นไปในทิศทางบวก และน้อยคนที่จะพูดถึงการสูบบุหรี่ในฮอลล์
สูบในคอนเสิร์ตทุกประเทศไม่เห็นเป็นไร แต่ทำไมคนไทยดราม่า เชื่อว่ามีหลายคนต้องรู้สึกเช่นนี้ แต่หากย้อนกลับไปในอดีต การสูบยาเส้น มวนใบจากถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นวัฒนธรรมของบางกลุ่ม และบางสังคมเพียงเท่านั้น ตีวงแคบลงมาหน่อยก็คือสังคมล้านนา แม้แต่ผู้หญิงก็สูบบุหรี่เป็นนิจ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน นอกจากภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน กระซิบรักบันลือโลก ยังมีภาพสาวล้านนาดูดบุหรี่ขี้โยปรากฏอยู่บนผนังอีกฝั่งหนึ่งด้วย เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สะท้อนว่าวัฒนธรรมการสูบยาอยู่ในวิถีชีวิตคนแถบบ้านเรามาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี
อีกทั้งหากนั่งไทม์แมชชีนกลับไปปี 2549 หากใครยังจำได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกโฆษณารณรงค์งดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งประโยคในโฆษณา “ขอโทษนะคะ เราเคยรู้จักกันมาก่อนปะคะ… แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม” ที่กลายเป็นก็อปปี้โด่งดังที่คนพูดตามกันทั้งประเทศ และสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม คนไทยมีจิตสำนึกไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพราะควันบุหรี่มือสองยังหลงเหลือความร้ายกาจสามารถทำร้ายคนรอบข้าง แทรกซึมตามเล็บ เส้นผม เส้นใยเสื้อผ้า ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียงในผู้รับควันมือสองมานักต่อนัก
ดังนั้นเรื่องนี้เราจึงควรตั้งคำถามและร่วมหาคำตอบกันให้ชัดเจนว่าสรุปแล้ว เราจะให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ปกติและเป็นอิสระในสังคมได้มากขนาดไหนกัน
ที่สำคัญอย่าลืมว่า ปอดคนไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ คนไทยรังเกียจรังงอนบุหรี่อย่างสุดใจ ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า กลิ่นเหม็น โรคร้าย คงไม่มีใครอยากสูดควันมือสองทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่เอง ประเทศไทยทุกวันนี้ลำพังแค่ฝุ่น PM2.5 ลอยคว้างในอากาศที่ต้องสูดเข้าไปทุกวินาที ก็ทำร้ายปอดจนหายใจไม่ออกแทบกระอักเลือด มะเร็งปอดอยู่ใกล้แค่ปลายจมูก ยังไม่รวมโควิด-19 ตัวร้ายจ้องจะพรากปอดดีๆ ไปจากเราได้ทุกเมื่อ ไม่แปลกที่จะโกรธเกลียดคนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะไปด้วย ในความเป็นจริงหากมีคนมาสูบบุหรี่ใกล้ๆ เราคงไม่สามารถเอาน้ำไปสาดเพื่อดับบุหรี่ได้ หรือจะขอร้องเหมือนในโฆษณาของ สสส. ก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะเชื่อฟัง เมื่อทำอะไรไม่ได้มาก จึงระบายความอัดอั้นด้วยการวิจารณ์และเลิกสนับสนุนศิลปินคนดัง ผู้ไม่สมาทานค่านิยมที่เรายึดถือ
คนที่วิพากษ์วิจารณ์อาจไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากแมตตี้โดยตรง แต่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรทำในประเทศไทย ศิลปินไม่ควรมีภาพสูบบุหรี่ที่ไหนก็ได้เผยแพร่ออกไปให้คนไม่มีจิตสำนึกอยู่แล้วเห็นและทำตาม ในสภาวะที่อากาศบริสุทธิ์เป็นของราคาแพง
การสูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันใครหลายคน ศิลปินก็เช่นกัน การเป็นศิลปินที่ดี มีแฟนคลับจำนวนมากอุดหนุนก็เรื่องหนึ่ง มารยาททางสังคม และการสูบบุหรี่บนเวทีการแสดงนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตามตลอดเวลา แค่หรี่ตาลงมาบ้างก็น่ารักแล้ว
Tags: สูบบุหรี่, การสูบบุหรี่, the 1975