นิทรรศการศิลปะ P.T.S.D (Parliament/ Treacherous/ Sedition/ Dictators) ที่ Cartel Artspace N22 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 คือนิทรรศการศิลปะที่รวบรวมผลงานของ นิ้น-เพชรนิล สุขจันทร์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหา ม.112 และผู้สร้างสรรค์งาน ธนธรณ์ ก้งเส้ง และพิชญ์สินี ชัยทวีธรรม ผลงานส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนสังคม โดยเฉพาะประเด็นการเมือง ซึ่งหยิบยกเหตุการณ์ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 จนถึงการต่อสู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มักจบลงด้วย ‘กระสุนยาง’ และ ‘แก๊สน้ำตา’ ไม่ว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แต่การกระทำดังกล่าวของรัฐยังเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดและอยู่ในใจของใครอีกหลายคน
“ตราบใดที่ยังไม่ตาย ความทรงจำนี้ยังคงกัดกินเราอยู่เสมอ ความรุนแรงที่รัฐมอบให้ต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เราเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ได้สภาที่มาจากการเลือกของทหารและมารับใช้ชนชั้นนำ เราเรียกร้องการปฏิรูป แต่ได้รับกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการคุกคาม เราจึงรวมตัวกัน ใช้อำนาจบริสุทธิ์ของประชาชน เรียกร้องชนชั้นนำปฏิรูป เรากลายเป็นผู้ก่อความไม่สงบ” นี่คือคำอธิบายบริเวณทางเข้างานนิทรรศการศิลปะ P.T.S.D
เพชรนิล ผู้จัดนิทรรศการ กล่าวว่า นิทรรศการศิลปะ P.T.S.D คือการแสดงให้เห็นว่า ‘ศิลปะ’ และ ‘การเมือง’ คือเรื่องเดียวกัน และการจัดนิทรรศการครั้งนี้ยังเป็นการลดช่องว่างดังกล่าวลงอีกด้วย อีกเหตุผลหนึ่งของการจัดงาน คือการย้อนรอยความทรงจำที่เธอเรียกว่า ‘ยิ่งเด็ดดอกไม้จะยิ่งบาน’ ในค่ำคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่บรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สิ่งที่รัฐตอบแทนคือ ‘ความรุนแรง’ ทำให้เธอเลือกที่จะเปลี่ยนความทรงจำดังกล่าวให้กลายเป็นผลงานที่เสียดสีและสะท้อนสังคมตามแบบที่เธอถนัด นอกจากนี้ เธอยังกล่าวอีกว่า ไม่มีใครควรโดนปิดปากเพียงเพราะมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐ
“เราถนัดแบบไหน เราก็สู้แบบนั้น การพูดความจริงไม่ควรถูกปิดบังในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ศิลปะก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ความเป็นอยู่ของประชาชนจะสะท้อนถึงความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาผ่านผู้ที่ถูกลิดรอน หากศิลปะไม่ได้ทำเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่าง เราก็ไม่รู้ว่าจะทำมันไปเพื่ออะไร หากผู้ใดเชื่อว่าผลงานของเขาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เลวร้ายที่สุดคือเขาเหล่านั้นล้วนไร้เดียงสา”
ทั้งนี้ ในงานเปิดตัวนิทรรศการ P.T.S.D ได้มีศิลปะการแสดง (Performance Art) โดย จั้ม-ทัศกร สีปวน ในชื่อ P.T.S.D ได้นำอุปกรณ์ปืนเลเซอร์และปืนฉีดน้ำมาพันไว้รอบตัว พร้อมกับการแสดงที่ร้องรำและเต้นไปพร้อมกับผู้ชม
ทัศกรกล่าวว่า การแสดงดังกล่าวของตน เป็นตัวแทนของการจัดการกับความรู้สึกตกค้างของ ‘นักสู้’ ที่เส้นทางล้วนต้องเจ็บปวดและทนทุกข์กับปัญหามากมาย เมื่อเขาเลือกที่จะ ‘เรียกร้อง’ แต่รัฐกลับไม่ฟังและตอบแทนเขาด้วยความรุนแรง ดังนั้น การแสดงนี้จึงเป็นการจัดการกับความรู้สึก ‘ด้านลบ’ ไม่ต่างจากความรู้สึกแบบ P.T.S.D ที่้เป็นชื่องาน จนต้องแสดงออกมา นอกจากนี้ การที่เขาแสดงโดยการร้องและเต้นไปกับผู้ชม เป็นการตั้งใจลดช่องว่างระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ศิลปะ’ ลง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่า ศิลปะเป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องสูงส่งและสวยงามเท่านั้น และยังเชื่ออีกว่า ศิลปะคือหนึ่งในทางออกที่สำคัญของความแตกแยกในสังคม
“ภายใต้ความขัดแย้งที่รัฐบาลทำให้ประชาชนแตกแยก และกีดกันให้พวกเขาคุยกันยากขึ้น เราเชื่อว่ามนุษย์สามารถคุยกันสื่อสารกันได้ แค่วิธีอาจจะต้องหลากหลายรูปแบบ และศิลปะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราใช้เพื่อเชื่อมโยงให้คนที่แตกต่างกันมากๆ ค่อยๆ คุยกันได้ ทำความเข้าใจกันได้ มาหาทางออกด้วยกัน ศิลปะมันเชื่อมร้อยคนให้เข้าใจกันและกันมากขึ้นได้ มองเห็นปัญหากันได้ลึกขึ้นว่าใครกันที่ขวางไม่ให้คนในสังคมคุยกันได้”
ด้านศิลปินผู้ต้องหาคดี ม.112 ให้รายละเอียดผ่านผลงานว่า อย่าบอกว่าประเทศนี้มีเสรีภาพ มันไม่มีจริง หากแค่การวาดภาพทำให้ถูกจับกุมก็ไม่เหลืออะไรให้เรียกว่า ‘เสรีภาพ’ ได้แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีเรื่องราวและเหตุการณ์เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน และมักจะเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์แปลกประหลาด ผิดเพี้ยน เป็นเรื่องราวที่ท้าทายความเป็นมนุษย์ จิตสำนึก หรือสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานอยู่เสมอ
รวมถึงศิลปะที่หลายคนอาจมองว่าเป็นการสร้างสรรค์ แต่การสร้างสรรค์นั้นแท้จริงแล้วสร้างอะไร ในขณะที่ความรุนแรงของรัฐยังคงดังในความเงียบของสังคม โดยรวมมันจึงควรเป็นหน้าที่ของศิลปินหรือไม่ ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้น ส่งเสียง สร้างงานเพื่อปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้เกิดความตระหนักถึงชีวิต ลมหายใจ และความเป็นจริง
“เพราะการสร้างแต่ความสวยงาม ท่ามกลางสภาพความเป็นจริงที่ตรงกันข้าม อาจเป็นการทำลายความจริงมากกว่าการสร้างสรรค์” ศิลปินผู้ต้องหาคดี ม.112 กล่าว
ด้าน ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ร่วมชมงานศิลปะ กล่าวว่า เธอรู้สึกดีใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงาน และดีใจที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปะสำหรับประชาชนทุกคน แต่ขณะเดียวกัน เธอรู้สึกเศร้าที่ประเทศไทยยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอในการแสดงผลงานศิลปะ
สำหรับเธอ การทำงานศิลปะคือหนึ่งในวิธีการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่ต่างจากวิธีการอื่นๆ ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐหันมาสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานศิลปะหรือสื่อสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เนื่องจากบ้านเรามีศิลปินและนักสร้างสรรค์ที่มีความสามารถอยู่มาก แต่หลายคนยังไม่มีโอกาส และไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งที่ในความเป็นจริงศิลปะคือหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ดี สามารถขับเคลื่อนสังคมและประเทศได้
“อยากให้คนตระหนักได้มากขึ้น ศิลปะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ และไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์ชิ้นงานในเชิงสุนทรีเท่านั้น แต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ขับเคลื่อนในประเด็นสังคมและการเมืองได้ตามความจริง โดยไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะมาตราใดก็ตาม อยากให้สังคมส่วนมากระลึกได้ว่า ประเทศนี้มีความบิดเบี้ยวเป็นอย่างมาก และพวกเขากลัวแม้แต่การแสดงผลงานศิลปะ หรือการแสดงศิลปะซึ่งสอดแทรกไปด้วยประเด็นเชิงสังคมหรือการเมือง และไปกลั่นแกล้งรวมถึงปิดปากบรรดาศิลปินนักสร้างสรรค์ด้วยวิธีการต่างๆ”
ตะวันกล่าวเพิ่มเติมว่า ‘การต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่จบ’ การที่เธอและแบม-อรวรรณหันกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลและหยุดการอดอาหารประท้วง เป็นการตัดสินใจของทั้งคู่ เพราะรู้ว่าถึงแม้เสียชีวิต รัฐก็ไม่ได้สนใจในความเป็น ‘มนุษย์’ อีกทั้งในวันนั้น ร่างกายของพวกเธอเข้าสู่จุดวิกฤตแล้วจริงๆ เมื่อได้รับการรักษาอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังฟื้นฟูกลับมาไม่เต็มที่ ยังคงมีอาการเจ็บปวดในอวัยวะภายใน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประท้วงอดอาหารและน้ำที่ผ่านมา
สำหรับ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ กล่าวว่า การทำงานศิลปะไม่ควรที่จะถูกปิดปาก โดยเฉพาะในสภาพที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวเช่นนี้ ทำให้ศิลปะควรจะรับใช้ประชาชนมากกว่าแสดงออกแต่ด้านที่สวยงาม ขณะเดียวกันก็ควรมีพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะศิลปินที่เห็นต่างจากรัฐควรได้แสดงผลงานอย่างปลอดภัย และศิลปินรวมถึงนักสร้างสรรค์ในประเทศควรได้รับการส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งตะวันและแบมให้คำมั่นว่า ไม่ว่าสิ่งที่เธอเจอมาจะเป็นเช่นไร ยังสัญญาว่าจะเดินหน้าสู้ต่อ ทว่าในแนวทางไหนคงเป็นเรื่องที่ทางกลุ่มหรือหลายภาคส่วนต้องมาพูดคุยกัน แต่สิ่งที่ยังเน้นย้ำอยู่เสมอ คือไม่สนับสนุนความรุนแรงในทุกภาคส่วน
“ไม่ว่าแนวทางการต่อสู้จะเป็นแบบไหนก็ตามย่อมก่อให้เกิดการตั้งคำถามและแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมไว้ในประเทศ ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ดีและทำต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกล้าที่จะลุกขึ้นมาลงมือทำ หรืออาจจะแค่แชร์หรือกระจายข่าวสารที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ก็นับเป็นการ ‘ต่อสู้’ ที่ทุกคนทำได้ ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการสู้เพื่อเพื่อนอีกหลายคน”
ทั้งสองยังให้ความเห็นอีกว่า การเลือกตั้งในปีนี้ยังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของ ‘ประชาธิปไตย’ เพราะทั้งหมดยังมีกลไกที่อำนาจเก่าคอยควบคุมค้ำชูอยู่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ม.112 ที่หลายคนกังวลว่า การที่ประชาชนเข้าไปกดดันพรรคการเมืองที่ตนชอบให้หันมายกเลิก ม.112 เท่ากับเป็นการทำให้เขาโดนยุบพรรค แต่แท้จริงแล้วการยกเลิกกฎหมายใดๆ ต้องกระทำผ่านสภาฯ เพราะฉะนั้นการที่เราเสนอให้ยกเลิก ม.112 ก็ยังอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กระทำได้ ซึ่งการหารือว่ายกเลิกหรือลด-ถอน ต่างอยู่ในอำนาจของสภาฯ หากพรรคการเมืองใดก็ตามโดนยุบพรรคจากเรื่องดังกล่าว ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนี้มีระบบที่ครอบงำและบิดเบี้ยวขนาดไหน สิ่งที่ทุกคนควรทำคือการออกมาพูดและเรียกร้องเพื่อไม่ยินยอมให้ใครละเมิดอำนาจ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘เสรีภาพ’ ไปจากพวกเราได้
แด่ทุกรอยร้าวในใจประชาชน ผู้ไม่สมยอมต่ออำนาจเผด็จการ