อย่าคาดหวังการปฏิวัติจากการ ‘เลือกตั้ง’
บทความนี้อาจเริ่มต้นง่ายๆด้วยคำถามเช่นนี้ว่า การทำเครื่องหมายกากบาท ลงในช่องสี่เหลี่ยมโดยไม่ถูกระบุตัวตนปีละครั้งหรือทุกๆ สี่ปีครั้งนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะรู้สึกว่าเราได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองแล้ว?
“ยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทั่วไทย จองคิวได้เร็ว วัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรี ซึมเศร้ารักษาใกล้บ้าน” – พรรคเพื่อไทย
“ปิดสวิตช์ 3 ป. เอาทหารออกจากการเมือง” – พรรคก้าวไกล
“พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” – ภูมิใจไทย
“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง สร้างสังคมเท่าเทียม” – พรรคประชารัฐ
“พร้อม !! สานต่อบัตรประชารัฐ เพิ่มเงินเพิ่มสวัสดิการผู้มีบัตรสวัสดีการแห่งรัฐ 700 บาท/เดือน”
“สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” – พรรคประชาธิปัตย์
ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองเริ่มถูกนำมาติดตระหง่าเต็มสองข้างทางท้องถนน ภายในป้ายเต็มไปด้วยข้อความสั้นกระชับ เน้นการสื่อสารต่อผู้ที่ผ่านไปมาให้เข้าใจง่ายและน่าดึงดูด ทำให้สัมผัสได้ว่าเราเริ่มเข้าสู่บรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีประกาศ พ.ร.ฎยุบสภา ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในช่วง พฤษภาคม 2566 นี้ ทำให้เรามักหวนคิดถึงคำขวัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากมายที่เคยได้เห็นได้ยินผ่านมา
“อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเราต้องไปเลือกตั้งรักษาสิทธิของตัวเองกัน” “ไม่นอนหลับทับสิทธิ ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง” “…พร้อมใจไปเลือกตั้ง” “รักชาติ รักประชาธิปไตย จงพร้อมใจออกไปใช้สิทธิ”
ตั้งแต่จำความได้ วัฒนธรรมการเลือกตั้งก็อยู่ในความรับรู้ ความเข้าใจมาตลอด การเรียนการสอน รายการทีวี ประชาสัมพันธ์ช่องทางต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนด้วยกันเอง แม้แต่ผู้ใหญ่ใกล้ตัวเองก็มักพร่ำบอกอยู่ว่าการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นคือสิ่งพึงปฏิบัติเพื่อพาสังคมไปสู่ประชาธิปไตย ผู้เขียนเองไม่ได้บอกว่าสิ่งที่กล่าวมานี้มันผิดหรือถูก แต่วิสัยเช่นนี้มันทำให้จินตนาการอย่างอื่นไม่ออกเลยต่างหากคือสิ่งที่ผู้เขียนเพิ่งจะรู้ตัว
วันหนึ่ง ในสวนสาธารณะ
ขณะที่กำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ ผู้คนมากหน้าหลายต่างพากันพูดคุยสัพเพเหระตามประสาคนเลิกงานแล้วอยากมาผ่อนคลาย แต่ผู้เขียนเองกลับชอบบรรยากาศที่ผู้คนนั่งคุยถามไถ่กันเพราะมันต่างจากการนั่งไถ Facebook ขลุกอยู่บนโลก Social จึงเลือกถอดหูฟังออกและเดินฟังคนคุยกันไปเรื่อย
เวลานั้นมีประโยคหนึ่งผ่านเข้าหูมาดึงดูดความสนใจ และทำให้ประหลาดใจในเวลาเดียวกัน “เลือกตั้งไม่ใช่ทางเดียวสู่ประชาธิปไตย” เมื่อได้ยินประโยคนั้น อย่าว่าแต่ใครเลย ผู้เขียนเองก็แทบช็อก ไม่ได้ช็อกเพราะคำพูดนั้นมันผิดหรือถูก แต่ช็อกเพราะได้ยินอะไรที่เราไม่เคยได้จินตนาการถึง
ประชาธิปไตยแบบตัวแทน
คือคำที่พอจะนึกขึ้นได้ เมื่อเราพูดถึงการใช้อำนาจทางการเมืองนอกจากการลงคะแนนเสียง (หรือวิธีการเลือกตั้งผู้แทน) เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสิทธิในการเลือกตั้งถูกมองเป็นสิทธิเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการสร้างและดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพทั่วโลก ในอดีตประชาชนต่อสู่กระทั่งยอมเสียชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเลือกตั้ง ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงออกมาต่อสู้ด้วยความขมขื่นเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
แม้การเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมการปกครอง การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองหรือผู้แทนเพื่อเข้าสู้การใช้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ ตามแนวทางของประชาธิปไตย เป็นการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ดังที่ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) นิยามการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” หมายความว่าอำนาจบริหารของรัฐย่อมต้องเป็นอำนาจที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ความเข้าใจการเลือกตั้งในสังคมไทยยังเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน จึงทำให้เสียงส่วนน้อยถูกลืมหรือกระทั่งถูกทำให้หายไป
พวกเราถูกทำให้เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า การลงคะแนนเสียง หรือการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้ เมื่อเราวาง ‘การลงคะแนนเสียง’ ไว้ในตำแหน่งที่มีความสำคัญเช่นนี้ โดยตัวของมันเองจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลายๆ คนที่เชื่อระบบการเมืองที่ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นเครื่องมือ ท่ามกลางความเชื่อและความเข้าใจเช่นนี้ เพียงแต่คำกล่าวที่ว่า ‘การไม่ลงคะแนนเสียง’ หรือเข้าใจกันง่ายๆ ว่าไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดความขุ่นเคือง กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกไม่แยแส ไร้วุฒิภาวะ หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนขาวจัด ในขณะที่การลงคะแนนเสียงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นอย่างเป็นประจักษ์และทันเวลา
Direct action เมื่อการเมืองเวทีรัฐสภาไม่ตอบโจทย์
ในขณะที่การเมืองกำลังเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่เข้าร่วมการเลือกตั้งที่จะถึง ในเดือน พฤษภาคม 2566 นี้ ผู้คนกำลังกระตือรือร้นอยู่กับการออกไปลงคะแนนเสียง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า ‘ทุกคน’ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะออกไปลงคะแนนเสียงหรืออาจไม่ได้คิดเช่นเดียวกับผู้เชื่อในระบบตัวแทน ว่าการลงคะแนนเสียงนั้นจะเป็นผลและคุ้มค่า
การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลงไม่ใช่ปัญหาที่ประสบเฉพาะในประเทศไทย จากหนังสือของดอน แทปสคอทท์ (Don Tapscott) เรื่อง The Digital economy ได้มีตอนหนึ่งให้กล่าวถึงเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการเลือกตั้งในช่วง 20 ให้หลัง (จากปี พ.ศ.2538) ว่าจะมีจำนวนของคนที่ออกไปใช้สิทธิน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และจากการเลือกตั้งทั้งนี้ผู้เขียนมองว่าคงไม่ใช่เป็นเพราะประชากรมนุษย์ที่น้อยลงทุกวัน
ด้าน อูร์คูชิลเลย์ (Urcuchillay) ได้เขียนบทความในฐานะผู้นิยมอนาธิปไตยไว้ในบทความว่า เขามองว่าการลงคะแนนเป็นในการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่ลักษณะวิสัยของเผด็จการโดยแท้ และไม่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นเสรีนิยมได้ เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่พยายามจะสร้างภาพลวงตาราวกับว่ามีการเปลี่ยนแปลงให้กับประชาชน โดยสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบาย แต่ที่จริงแล้ การเลือกตั้งนี่เองตอกย้ำให้เห็นความจริงที่ว่าระบบปัจจุบันเป็นระบบที่ชนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวยปกครองคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกว่า
หากแต่เป็นเพราะเมื่อมองในประเด็นเรื่องการเมืองแล้วอาจเป็นเพราะผู้คนเลิกเชื่อมั่นจากระบบการเลือกตั้งหรือไม่? การออกไปลงคะแนนเสียงแต่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงกลับทำให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจเองกลับรู้สึกไร้อำนาจ และการเลือกตั้งกลายเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จน้อยที่สุดในการใช้อำนาจทางการเมืองของประชาชน การกระทำโดยตรงเป็นทางเลือกหรือกิจกรรมทางการเมืองหนึ่งที่อาจทำได้และเป็นการใช้อำนาจของปัจเจกในการแสดงเจตจำนงของตนเอง หรือเราอาจรู้จักกับมันในชื่อว่า ‘Direct action’ ซึ่งผู้เขียนจะแสดงต่อจากนี้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลงคะแนนเสียงหรือนับเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางการเมือง
เราอาจเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เมื่อเราเห็นประชาชนเริ่มสร้างกลุ่มของตนเอง มีการสร้างเครือข่ายคนไร้บ้าน เพื่อช่วยเหลือกันเอง ‘บ้านเตื่อมฝัน’ กลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ‘Food not Bom’ กลุ่มอิสระที่รวมตัวกันนเพื่อแบ่งปันอาหารให้กับผู้อื่น แทนที่จะรอให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งที่สัญญาว่าจะแก้ปัญหาคนไร้บ้าน แก้ปัญหาความยากจน ด้วยเงินภาษีและระบบราชการ ผู้เขียนนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาโดยวิธี Direct action
ดังนั้น จะเห็นว่าบางครั้งการ Direct action เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเนื่องจากการลงคะแนนเพื่อใช้อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อถึงวาระของการเลือกตั้งเท่านั้น และจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อความต้องการของเรานั้นเกี่ยวข้องโดยตรองต่อนโยบายหรือวาระของผู้สมัครเท่านั้นและต่อให้เราสามารถเลือกพรรคที่เสนอนโยบายที่เราต้องการเข้าสู่สภาได้แล้วกฎหมายยังสร้างกระบวนการหลังจากนั้นต่อมาอีกมากมายกว่าที่ผู้แทนที่เราเลือกไปจะสามารถทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับเราได้ ตรงข้ามกับ Direct action สหภาพแรงงานสามารถรวมกลุ่มและสร้างข้อต่อรองเพื่อการปฏิรูปกับนายจ้างได้โดยตรง โดยไม่ต้องหวังพึ่งอำนาจของรัฐสภาในการเขียนข้อความลงบนกระดาษเพียงเพื่อให้ผู้คนเรียกมันว่า พ.ร.บ. เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน การรวมกลุ่มของแรงงานสามารถทำได้สำเร็จก่อน
ลงคะแนนเสียง หรือ Direct Action?
อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เขียนเองจะตัดสินว่าวิธีการใช้อำนาจทางการเมืองแบบลงคะแนนเสียงและการ Direct action ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่วิธีการลงคะแนนเสียงจะสามารถยกเลิกการ Direct Action และขณะเดียวกัน การ Direct Action ไม่อาจยกเลิกการใช้อำนาจทางการเมืองแบบลงคะแนนเสียงได้ และแน่นอนวิธีทางการเมืองแบบ Direct Action ไม่จำเป็นต้องถูกมองว่าเป็นวิธีการที่ขัดแย้งกับการอำนาจทางการเมืองโดยวิธีการลงคะแนนเสียง
ปัญหาคือสิ่งที่ผู้เขียนเองพยายามอธิบายมาแล้วข้างต้น คือคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเข้าใจว่าเป็นวิธีหลักและสำคัญที่สุดในการใช้อำนาจทางการเมือง ทำให้ผู้คนใช้พลังงานและเวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไปกับการโต้เถียงและแข่งขันภายในระบบการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนการใช้ทรัพยากรเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้สัดส่วนเอาเสียเลย
เรามักได้ยินเรื่องราวที่กล่าวถึงเราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีเพียงไม่กี่ครั้งหรือสำหรับผู้เขียนเองแทบจะไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นจินตนาการอื่นๆ เลย ในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในการชี้ขาดสังคมและอนาคตของเรา ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนพยายามอธิบายและแสดงให้ผู้อ่านเห็นที่ผ่านมาทั้งสิ้น หวังเพียงแต่ว่านับแต่นี้ไปเราจะต้องร่วมการสร้างความตระหนักเพื่อเน้นย้ำความเป็นไปได้ของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองผ่านวิธี Direct Action และการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนจากฐานราก และการ Direct Action เป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดที่ทำให้นาจกลับมาอยู่ในมือของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ
Tags: เลือกตั้ง, ประชาธิปไตย, Rule of Law, เลือกตั้ง2566