[1]
ข้าพเจ้าจำได้ว่าเคยอ่านข้อความทำนองนี้ในหนังสือเล่มไหนก็จำไม่ได้แล้วว่า เราทุกคนล้วนถูกตัดสินประหารชีวิตโดยแขวนโทษเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด …
ฉันหยิบหนังสือเรื่อง วันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour D’Un Condamné) เขียนโดย วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักประพันธ์แถวหน้าแห่งศตวรรษที่ 19 หลังมีเหตุให้เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ไปจนถึงประหารชีวิต
อูโกแสดงเจตจำนงต่อต้านโทษประหารผ่านตัวละครที่ไร้ชื่อนามสกุล ไร้หน้าตา และไม่ทราบเลยว่าเขาผู้นี่กระทำผิดอันใดถึงได้รับโทษประหาร พร้อมกับโยนคำถามถึงคนอ่านและชาวฝรั่งเศสในยุคสมัยนั้นว่า กฎหมายที่อนุญาตให้รัฐปลิดชีพคนใดคนหนึ่ง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
จะว่าไปเรื่องราวที่ฉันได้ประสบ ก็คลับคล้ายคลับคลากับวรรณกรรมที่อูโกเขียนอยู่ไม่น้อย ฉันไม่ทราบชื่อ ไม่รู้ประวัติ ไม่รู้ว่านักโทษที่มานั่งพูดคุย ถูกพิพากษาด้วยการกระทำอันใด แต่จะผิดเพี้ยนไปสักนิดก็ตรงที่ว่า ฉันมีโอกาสสัมผัสพวกเขาตัวเป็นๆ มีการถามตอบพูดคุย ไม่ใช่เป็นเพียงการอ่านบันทึกของชายคนหนึ่งที่รอวันขึ้นตะแลงแกง
[2]
โดยสัตย์จริงต้องยอมรับว่า ขณะอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ฉันกระหายใคร่รู้ว่าตัวละครนักโทษได้กระทำความผิดอันใดกันแน่ แต่อูโกได้แสดงวิสัยทัศน์ของเขาต่อเรื่องนี้อย่างแจ่มชัดภายหลังว่า
“เพื่อให้การเรียกร้องเป็นไปอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับเหตุแห่งข้อเรียกร้อง จึงจำเป็นที่หนังสือวันสุดท้ายของนักโทษประหาร ต้องตัดทิ้งประเด็นที่ไม่จำเป็น เรื่องความบังเอิญ เรื่องเฉพาะ เรื่อง ความพิเศษ ความเชื่อมโยง…เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ และชื่อเฉพาะออกจากตัวเรื่องและตั้งหน้าตั้งตา (ถ้าไม่เรียกว่าดื้อดึง) ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิต ไม่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง ไม่เฉพาะวันใดวันหนึ่ง ไม่ว่าด้วยอาชญากรรมประเภทใด”
โทษประหาร ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันตลอดในสังคม หรือเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุร้าย เกิดคดีอาชญากรรม เช่น การกราดยิงเด็ก การฆ่าคนโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ การฆ่าแล้วข่มขืน หรือข่มขืนแล้วฆ่า ที่กระตุ้นให้หลายคนกลับมารณรงค์เรื่องโทษการประหารชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า
หากมองในมุมมองเหยื่อ หรือมองในมุมมองของผู้หญิงที่เกรงกลัวต่อการถูกข่มขืน ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมสังคมถึงต้องการให้มีโทษประหารชีวิตอยู่ เราจะทำใจให้อภัยคนที่กระทำกับเราได้อย่างไร?
แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็เชื่อว่าทุกคนสามารถกระทำผิดกันได้ แต่อะไรต่างหากที่นำเขาไปสู่จุดนี้
หากถามว่าเราไม่มีสิทธิ์ไปพรากชีวิตผู้อื่น แล้วฆาตกรทั้งหลายมีสิทธิ์งั้นหรือ แน่นอนว่า ‘ไม่มี’ เขาต้องได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ปลิดชีวิตผู้อื่นได้ตามอำเภอใจ แต่อยากให้ลองใคร่ครวญกันว่า การที่ฆาตกรกระทำความผิดโดยการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เราต้องไปฆ่าเขาทั้งที่เราต่างรู้ว่าการฆ่าคนมันผิด และไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ถ้าอย่างนี้แล้วเรื่องราวเหล่านี้จะไปจบแห่งหนใดกัน?
การเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารของอูโกสัมฤทธิผลในปี 1981 ฝรั่งเศสมีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ใน 55 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่
[3]
‘ถูกตัดสินประหารชีวิต!’
‘ถ้าเช่นนั้นสถานะของข้าพเจ้าเองก็ไม่ผิดแผกไปแต่อย่างใด […] ทั้งหมดทั้งมวลที่เพชฌฆาตรผู้ลงทัณฑ์จะสามารถฉกฉวยไปจากตัวเราได้ ก็เพียงแค่ที่ว่ามานี้ แต่ก็เถอะมันช่างน่าขนพองสยองเกล้าเสียนี่กระไร!’
ชีวิต แม้เป็นของอาชญากรก็คือชีวิต มีความเป็นมนุษย์ มีความโกรธ ความเศร้า มีความรักตัวกลัวตาย มีครอบครัว มีสิ่งที่รักและหวงแหนไม่ต่างกับเรา
อูโกได้ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสืออย่างเห็นภาพ ในหน้าคำปรารภจากผู้แปล ในบันทึกจากคนใกล้ชิดระบุว่า อูโกเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ในวันรุ่งขึ้นหลังจากเขาผ่านไปทางลาน ปลาซ เดอ แกรฟ ลานประหารในอดีต เขาเห็นเพชฌฆาตกำลังซ้อมกับเครื่องกิโยตีน เตรียมการสำหรับพิธีตอนเย็น
เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งเขาเดินตามรอยเส้นทางของนักโทษประหารไปจนถึงเวลาสังหาร เห็นฝูงชนต่างเดินทางมาดูการประหารราวกับมาชมมหรสพแห่งความตาย มีการจับจองที่นั่ง เช่าโต๊ะเก้าอี้ และอีกครั้งที่เขาบังเอิญเห็นเกวียนนักโทษประหารเคลื่อนผ่านหน้า ได้เห็นสีหน้าท่าทางของคนที่รู้แน่ชัดว่าตัวเองกำลังจะตาย และถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้มาผ่านงานเขียนที่ผสมความเสียดสีเย้ยหยันผ่านตัวละครเอกว่า
“มีใครอยากได้ที่นั่งตรงนี้ไหมเล่า” …ตรงที่ที่นักโทษนั่งก่อนจะถูกนำตัวไปลานประหาร
ไม่เพียงแค่ชั่วโมงท้ายๆ ของชีวิตนักโทษประหาร เราได้เห็นความกังวล ความเครียด อาการกลัวตาย ที่ไม่สามารถควบคุมกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ ไปจนถึงการอ้อนวอนขอชีวิตคืน สลับกับอาการลิงโลดของฝูงชนที่เฝ้ารอการประหารชีวิต แต่แท้จริงแล้วมันเริ่มตั้งแต่วันแรก วันที่ตัวละครในเรื่องรับรู้ว่าตัวเองถูกพิพากษาต้องโทษด้วยชีวิต
นับแต่วันนั้นชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นของเขา และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อูโกได้แสดงความรู้สึกนี้ผ่านตัวละครว่า
“มาบัดนี้ ข้าพเจ้าถูกจองจำ ตัวถูกตีตรวนอยู่ในห้องขัง ใจเล่าติดอยู่ในหนึ่งความคิด เจ้าความคิดที่โหดร้าย ชุ่มเลือด และไม่เลิกรา! เหลืออยู่ก็แต่เจ้าความคิด ความเชื่อมั่นที่รู้แน่แก่ใจเพียงเรื่องเดียว คือเราต้องโทษประหาร! ไม่ว่าจะทำอะไรเจ้าความคิดร้ายกาจนั่นก็ยังคงอยู่ข้างๆ ไม่หนีไปไหน…ขับไล่ทุกความรื่นเริงบันเทิง”
ไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดเกี่ยวกับการต้องโทษประหารอย่างไร แต่เมื่อคุณพลิกมาถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือ เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่ในการตั้งคำถาม กระตุกความคิดอย่างดีเยี่ยม บางคนอาจได้แนวคิดใหม่เกี่ยวกับโทษประหาร บางคนอาจมองต่างออกไป หรือท้ายที่สุดหนังสือวันสุดท้ายของนักโทษประหารจะกลายเป็นคำถามปลายเปิดที่ไร้คำตอบต่อไป
“ความตายที่มาถึงตามกาลธรรมชาตินั้นเป็นกระบวนการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมบังคับของเราที่จะหยุดยั้ง แต่ความตายที่ถูกมอบให้อย่างจงใจต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเรื่องที่เลวร้าย รับได้ยากอย่างยิ่ง” – วิกตอร์ อูโก
Fact Box
- วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักประพันธ์แถวหน้าแห่งศตวรรษที่ 19 ผู้ใช้ปากกาเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อสันติภาพ เป็นผู้เขียนวรรณกรรมอมตะอย่าง เหยื่ออธรรม (Les Misérables) คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม (Notre-Dame de Paris) และ โทษประหาร โคล้ด เกอ (Claude Gueux)
- หนังสือวันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour D’Un Condamné) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1829 แปลไทยโดย กรรณิกา จรรย์แสง ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน ปี 2560, ราคา 160 บาท