ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) ผู้กำกับฯ ชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2018 จากภาพยนตร์เรื่อง Shoplifters และภาพยนตร์ดังอย่าง Broker, Our Little Sister รวมถึงซีรีส์อบอุ่นหัวใจที่กำลังฉายทางเน็ตฟลิกซ์ The Makanai: Cooking for the Maiko House ออกมาแสดงความกังวลว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ขาดเงินทุนและนิ่งนอนใจของญี่ปุ่น กำลังกีดกันผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ๆ ที่มีพรสวรรค์
สนใจแต่ตนเอง
ในขณะที่อนิเมะญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟูบนเน็ตฟลิกซ์และบริการสตรีมมิงเจ้าอื่นๆ อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ของญี่ปุ่นกลับถูกบดบังด้วยความนิยมจากภาพยนตร์และซีรีส์ฝั่งเกาหลีใต้ เช่น Squid Game หรือภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง Parasite
โคเรเอดะกล่าวถึงเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ว่า รัฐบาลเกาหลีถือเป็นหัวหอกสำคัญในการส่งออกคลื่นความนิยมของกระแสเกาหลี หรือฮัลรยู (Hallyu) ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อพาเกาหลีใต้ผงาดเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมระดับโลก ขณะที่ญี่ปุ่นเอาแต่สนใจตัวเอง
“ญี่ปุ่นสนใจแค่ตัวเอง และมีแรงจูงใจเพียงเล็กน้อยในการทำตลาดภาพยนตร์หรือรายการทีวีในต่างประเทศ แม้จะทำให้ตลาดในประเทศเฟื่องฟู แต่นั่นเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นช่องว่างระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้”
เงื่อนไขการทำงานที่ย่ำแย่ฉุดอุตสาหกรรมล้าหลัง
นอกจากทัศนคติที่พึงพอใจกับจุดที่เป็นอยู่ โคเรเอดะมองว่าเงื่อนไขการทำงานที่ย่ำแย่ ก็กำลังฉุดรั้งวงการภาพยนตร์และทีวีของญี่ปุ่นให้ถอยหลัง ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้กลับมีอำนาจนำหน้าในระดับสากล
สภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์คือสิ่งที่โคเรเอดะมองว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ขณะที่ค่าแรงต่ำ ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ที่กำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต้องเผชิญ
โคเรเอดะกล่าวว่า “ตลอดอาชีพการงานของผม ผมสามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาการสร้างภาพยนตร์ของตัวเองได้เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้ เมื่อมองไปรอบๆ ผมเห็นว่าคนหนุ่มสาวเลือกที่จะไม่ทำงานในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์อีกต่อไป”
ขณะที่ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2019 พบว่า กว่า 60% ของพนักงาน และ 70% ของฟรีแลนซ์ที่เกี่ยวกับกับการสร้างภาพยนตร์ในญี่ปุ่น ไม่พอใจกับค่าจ้างที่ต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และอนาคตที่ไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมนี้
เรื่องสภาพการทำงานและค่าแรงต่ำ โดยเฉพาะกับคนทำงานที่อายุน้อย ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ฮิโรยูกิ โมริยามะ (Hiroyuki Moriyama) สมาชิกพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นในการประชุมคณะกรรมการคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวว่าค่าจ้างสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ในวัย 20 ต้นๆ อาจต่ำเพียง 1.1 ล้านเยน (ประมาณ 9,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อปีเท่านั้น ทำให้นักสร้างสรรค์หลายคนถูกดึงตัวไปทำงานต่างประเทศที่มีค่าจ้างสูงกว่า โดยเฉพาะประเทศจีน
รายงานประจำปี 2019 ของ Janica พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของคนทำงานอนิเมะอยู่ที่ 4.41 ล้านเยน (ประมาณ 38,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ลดลงเหลือ 1.55 ล้านเยนเท่านั้น สำหรับคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ สำหรับคนกลุ่มอายุดังกล่าวมาก
ศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติ และการปฏิรูปสหภาพแรงงาน
หลังจากประสบความสำเร็จจากเรื่อง Shoplifters ภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวหัวขโมยที่รับเด็กข้างถนนมาเลี้ยงดู โคเรเอดะพยายามขยับการสร้างภาพยนตร์ของตนเองไปสู่ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น อาทิ ภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง The Truth ในปี 2019 หรือภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่อง Broker ที่เขาเป็นผู้เขียนบทและกำกับการแดง ซึ่งโคเรเอดะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าประสบการณ์นั้นทำให้มุมมองของเขาต่อสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดไปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ชัดเจนขึ้น
โคเรเอดะรวมถึงผู้กำกับฯ คนอื่นๆ เสนอว่าญี่ปุ่นต้องการ ‘ศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติ’ ที่ดำเนินการโดยรัฐเหมือนที่ฝรั่งเศสมี The National Centre for Cinema and the Moving Image (CNC) หรือหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิตและส่งเสริมศิลปะภาพยนตร์และโสตทัศน์ในฝรั่งเศส เพื่อให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โคเรเอดะเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ cinema daily ตอบคำถามที่ว่ามีสิ่งใดจากการทำงานในฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ที่เขาคิดว่าควรนำมาปรับใช้ในญี่ปุ่นบ้าง โคเรเอดะกล่าวว่า ญี่ปุ่นล้าหลังในเรื่องการปฏิรูปสหภาพแรงงานอย่างมาก
“เราต้องเริ่มดำเนินการกับเรื่องนี้ จะทำอย่างไรกับการละเมิดสิทธิพนักงาน จะทำอย่างไรกับชั่วโมงการทำงานที่แสนยาวนาน จะจัดระเบียบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของที่ทำงานให้เหมาะสมอย่างไร ฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ก้าวหน้ามากในด้านเหล่านี้ ดังนั้น ผมคิดว่าญี่ปุ่นก็ควรทำให้เหมาะสมเช่นกัน”
ส่งเสริมผู้กำกับฯ รุ่นใหม่
ในปีนี้ โคเรเอดะร่วมมือกับผู้กำกับฯ รุ่นใหม่สามคนเพื่อสร้างซีรีส์ใหม่ของเน็ตฟลิกซ์อย่าง The Makanai: Cooking for the Maiko House ซึ่งมีฉากหลังเป็นเมืองเกียวโตที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี
The Makanai: Cooking for the Maiko House ดัดแปลงมาจากมังงะ มีความยาว 9 ตอน บอกเล่าเรื่องราวชุมชนที่แน่นแฟ้นของ ‘ไมโกะ’ หรือเกอิชาฝึกหัด ผู้ให้ความบันเทิงในชุดกิโมโน ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยโคเรเอดะกล่าวว่าเขาได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากผู้ช่วย ‘รุ่นน้อง’ ทั้งสามคนของเขา ในขณะที่กำลังถ่ายทำซีรีส์
“มันเหมือนกับว่า ผมต้องพยายามขโมยทักษะบางอย่างจากสามคนนี้ โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องอุปกรณ์ของพวกเขาที่ล้ำลึกกว่าผมมาก”
อย่างไรก็ดี โคเรเอดะมองว่า ญี่ปุ่นมีผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์มากมาย แต่กลับไม่มีเงินทุนที่จำเป็นเพียงพอหรือโปรดิวเซอร์ที่มีมุมมองระดับนานาชาติเพื่อก้าวสู่ระดับต่อไป ซึ่งเขามองว่าเป็นการบ้านใหญ่ของญี่ปุ่นในอนาคตเพื่อสนับสนุนคนเหล่านี้และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่น
ฮิโรชิ โอคุยามะ (Hiroshi Okuyama) วัย 26 ปี หนึ่งในสามผู้กำกับฯ ที่ร่วมงานกับโคเรเอดะในซีรีส์ The Makanai กล่าวว่า เขาและเพื่อนร่วมงานไม่มองว่าอาชีพของพวกเขาเป็นแหล่งรายได้หลักอีกต่อไป
“คนทำหนังรุ่นราวคราวเดียวกับผม ยอมจำนนต่อความเป็นจริงที่ว่า เราไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการสร้างภาพยนตร์อีกต่อไปแล้ว” ฮิโรชิกล่าว
ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในโลกภาพยนตร์
โคเรเอดะไม่ได้เป็นเพียงผู้กำกับฯ ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องความล้าหลังของอุตสหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่เขายังเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในโลกภาพยนตร์อีกด้วย โดยในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โคเรเอดะเคยออกมาสนับสนุนนักแสดงหญิงที่ออกมาเปิดโปงเรื่องราวการถูกทำร้ายโดยผู้กำกับฯ ชายในญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กิโกะ มิซุฮาระ (Kiko Mizuhara) นักแสดงและนางแบบชื่อดัง ที่ออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของผู้กำกับฯ ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนที่เดือนกรกฎาคม สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศญี่ปุ่นจะออกแถลงการณ์ระบุว่าจะ ‘ขจัด’ การล่วงละเมิดทั้งหลายในอุตสาหกรรมนี้
โคเรเอดะมองว่า การขยับตัวดังกล่าวถือเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ แต่ก็เรียกร้องให้มีระบบคุ้มครองเหยื่อที่ออกมาพูด เนื่องจากปัญหาการล่วงละเมิดยังมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ ของบุคคล มากกว่าการตระหนักว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่มา
https://www.japantimes.co.jp/culture/2022/12/30/tv/hirokazu-kore-eda-young-directors/
https://cinemadailyus.com/interviews/broker-exclusive-interview-with-director-hirokazu-koreeda/
Tags: อุตสาหกรรมภาพยนตร์, Entertainment, อุตสาหกรรมหนัง, ญี่ปุ่น, ภาพยนตร์ญี่ปุ่น