รูปร่างกลมแบน ตาโปน ปากขนาดเล็ก ว่ายน้ำและควบคุมทิศทางด้วยครีบหลังขนาดใหญ่บนกับล่างอย่างทุลักทุเล ทำให้หลายคนแซวว่า ‘ปลาแสงอาทิตย์’ (Sun Fish) หรือ ‘โมลาโมลา’ (Mola Mola) เป็นผู้อยู่อาศัยในท้องทะเลที่อาภัพอย่างยิ่ง ซ้ำยังถูกครหาว่าปลาวงศ์ตระกูลนี้แทบจะไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ ต่อระบบนิเวศ

อย่างไรก็ดี ปลาแสงอาทิตย์อาจเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) และอุณหภูมิน้ำทะเลผกผัน หลังนักวิจัยเปิดเผยว่าพวกมันถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นตายถึง 4 ครั้ง ในปี 2022 และอีก 1 ครั้ง ในวันขึ้นปีใหม่ของปี 2023 ณ บริเวณริมชายหาดนอร์ฟอล์ก (Norfolk) เมืองนอริช (Norwich) ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ

คำถามสำคัญคือเหตุการณ์นี้เชื่อมโยงถึงวิกฤตดังกล่าวได้อย่างไร?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของปลาแสงอาทิตย์ ที่มีถิ่นอาศัยตามน่านน้ำเขตอุณหภูมิร้อนหรืออบอุ่นทั่วโลก เช่น มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลบาหลี ฯลฯ โดยสามารถพบเจอได้ตั้งแต่ระดับความลึก 50-400 เมตร (นานๆ ครั้งจึงจะโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ) เติบโตจนมีขนาดใหญ่สุดได้ถึง 3.2 เมตร และมีน้ำหนักได้มากสุดถึง 2,300 กิโลกรัม (ประมาณ 2 ตัน)

ขณะที่ชายหาดนอร์ฟอล์กถือเป็นเขตที่อยู่ในทะเลตอนเหนือ ทางชายขอบของมหาสมุทรแอตแลนติก มีอุณหภูมิเฉลี่ยราว 6 องศาเซลเซียส และจะสูงสุดราว 17 องศาเซลเซียส ในช่วงหน้าร้อน 

ดังนั้น การปรากฏตัวตลอดทั้งปีที่บริเวณชายหาดแห่งนี้ของปลาที่ขึ้นชื่อว่ากระดูกแข็งที่สุดในโลก อาจสันนิษฐานได้ชัดว่าทะเลทางตอนเหนือมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติ แม้อยู่ในเดือนมกราคมที่เป็นช่วงหน้าหนาว เสมือนเปิดประตูเชื้อเชิญให้พวกมันเข้ามาอยู่อาศัย ก่อนจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสอุณหภูมิน้ำทะเลที่ผกผันเฉียบพลัน ทำให้ปรับตัวตามไม่ทันและช็อกตาย ก่อนจะถูกซัดขึ้นมาเกยตื้น

การเปลี่ยนแปลงของกระแสอุณหภูมิน้ำทะเลจะลดต่ำหรือสูงขึ้น ล้วนขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ ฉะนั้น การตายของปลาแสงอาทิตย์จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นเป็นลูกโซ่ และพร้อมขยายวงกว้างขึ้นได้อีก หากยังไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน

“จากสถิติในรอบ 10 ปี ปลาแสงอาทิตย์ถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นตายที่ชายหาดนอร์ฟอล์กแค่ครั้งเดียว แต่จากปี 2022 เราพบเห็นพวกมันขึ้นมาเกยตื้นถึง 4 ครั้ง และแวะเวียนมาเป็นกลุ่มบริเวณชายฝั่ง ทั้งที่น้ำทะเลบริเวณนี้ไม่เหมาะกับการหากินและเจริญเติบโต โดยขนาดของปลาแสงอาทิตย์ที่ยังไม่เจริญวัยเต็มที่ตัวใหญ่สุดที่เราพบคือขนาด 1.5 เมตร 

“แม้พูดไม่ได้เต็มปากว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปลาชนิดเดียวมีส่วนมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราเห็นสัตว์ทะเลหลายสายพันธุ์กระจายแหล่งที่อยู่อาศัยผิดแปลกไปจากเดิม เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าสภาพภูมิอากาศกำลังขับเคลื่อนสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของพวกมัน” ศาสตราจารย์ฮีเธอร์ โคลด์เวย์ (Heather Koldewey) ที่ปรึกษาด้านเทคนิคทางทะเลอาวุโสขององค์กรอนุรักษ์สัตว์น้ำแห่งกรุงลอนดอน (Zoological Society of London) และผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์ซีฮอร์ส (Project Seahorse) แสดงทัศนะถึงปัญหาดังกล่าว

นี่ไม่ใชครั้งแรกที่ปลาแสงอาทิตย์ตกเป็นเหยื่อจากปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิน้ำทะเลผกผันท่ามกลางสภาวะจำนวนประชากรใกล้สูญพันธุ์ เพราะหากย้อนไปในปี 2019 มีการพบปลาแสงอาทิตย์พันธุ์หายาก ‘ฮูดวิงเกอร์’ (Hoodwinker) ขนาด 2.5 เมตร ขึ้นมาเกยตื้นตายบนชายหาดแคลิฟอร์เนีย ใกล้เขตสงวนน้ำมันถ่านหินครั้งแรกในรอบ 130 ปี และเป็นครั้งแรกที่พบในบริเวณซีกโลกเหนือ ในอาณาเขตทะเลอาร์กติก ที่ไม่ใช่แหล่งอยู่อาศัยของพวกมันเช่นกัน 

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-england-norfolk-64186766

https://www.telegraph.co.uk/news/2023/01/08/gigantic-sunfish-washes-norfolk-beach/

https://www.nps.gov/articles/ocean-sunfish-gentle-giants-now-found-in-acadia-s-waters.htm

https://themomentum.co/hoodwinker-sunfish-on-california-beach/

 

ภาพ: Phys.org

 

 

Tags: , , , , , ,