สิงคโปร์พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวราว 4 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
และอย่างที่เราทราบกันดีว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอายุอานามเพียงแค่ 53 ปี นับจากวันที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
แต่ทุกอย่างก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียน การเมืิองที่มีเสถียรภาพ ระบบการศึกษายอดเยี่ยม และคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อปี 2015 มีนักท่องเที่ยวมาสิงคโปร์ราวๆ 15.2 ล้านคน ขณะที่ในปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 16.4 ล้านคน ถ้าเอาเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย สิงคโปร์ก็ติด 1 ใน 10 ของจุดหมายการท่องเที่ยวของคนไทย
ปี 2017 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปสิงคโปร์อยู่ที่ 547,000 คนต่อปี อยู่ในอันดับที่ 9 ของชาติที่เดินทางมาเที่ยวสิงคโปร์เยอะที่สุด
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สายการบินต้นทุนต่ำเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางอื่น เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ล้วนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสิงคโปร์ และอาจต้องหาจุดแข็งใหม่ให้กับตัวเอง
เมอร์ไลออน (Merlion) อ่าวมารินา เบย์ (Marina Bay Sands) การ์เดนส์ บาย เดอะ เบย์ (Gardens by The Bay) และยูนิเวอร์ซัล สตูดิโอ (Universal Studios) อาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกต่อไป เมื่อคนรุ่นใหม่นิยมท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และแสวงหาคุณค่าบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร
นี่คือปี 2018 ที่เทรนด์การท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไป ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตาม
จาก YourSingapore สู่ Passion Made Possible
นับจากปี 2010 ถือเป็นเวลากว่า 7 ปีที่การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) ยึดคอนเซ็ปต์ YourSingapore ในการโปรโมตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาโดยตลอด แต่เมื่อปี 2017 การท่องเที่ยวสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเปิดตัวแคมเปญใหม่ ‘Passion Made Possible’ ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่สิงคโปร์
แคมเปญใหม่นี้ไม่ได้มาแบบลอยๆ ทางการท่องเที่ยวสิงคโปร์ และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 4,500 คน ถึงความหมายของสิงคโปร์ ซึ่งมาจากประชาชนทั่วไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งที่อยู่ในสิงคโปร์ และในประเทศต่างๆ อีก 10 ประเทศ
ผู้เข้ารับการสำรวจมีความเห็นว่า แนวคิดเรื่อง ‘ความมีใจรักกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Passion)’ และ ‘ความเป็นไปได้ (Possibilities)’ คือสิ่งที่สะท้อนจิตวิญญาณของสิงคโปร์ได้ดีที่สุด
ขณะที่การสื่อสารแคมเปญ Passion Made Possible ก็ทำภายใต้ยุทธศาสตร์ One Brand โดยมีการทำโลโก้ใหม่เป็นวงกลมสีแดงและข้างในเป็นตัวอักษร SG อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นสิงคโปร์ในฐานะการเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ และยังเป็นเครื่องหมายแห่งความไว้วางใจ แสดงออกถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถืออีกด้วย
ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสิงคโปร์ ก็ได้แบ่งประเภทนักท่องเที่ยวตามสไตล์ความชอบ (Passion Tribe) เป็น 7 กลุ่มด้วยกันตามความสนใจได้แก่
Foodies
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการกินดื่มที่ให้ประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ มีความหลากหลายตั้งแต่สตรีตฟู้ดไปจนถึงร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์
Explorers
คือกลุ่มคนที่ชอบท่องเที่ยวแบบค้นหาสถานที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร และมักจะเป็นการออกไปสำรวจในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
Collectors
สิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งช็อปปิ้งของอาเซียน มีทุกแบรนด์ตั้งแต่ระดับลักชัวรี แบรนด์สตรีต และแบรนด์ท้องถิ่น
Socialisers
ที่สิงคโปร์คือเมืองที่เต็มไปด้วยบาร์และร้านยามค่ำคืนที่เหมาะจะเป็นสถานที่นัดพบสำหรับผู้ที่ชอบเข้าสังคม
Action Seekers
สำหรับคนรักกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบเล่นกีฬาโลดโผนที่มีความท้าทาย
Culture Shapers
สิงคโปร์ก็มีเทศกาลออกแบบ พิพิธภัณฑ์ที่ดี และร้านค้าหรือแกลอรีให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอยู่เสมอ
Progressors
สิงคโปรคือศูนย์กลางทางธุรกิจของอาเซียน เต็มไปด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ความรู้ทางธุรกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะให้คุณได้เรียนรู้
เปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นสวรรค์ของนักสะสม
ช่วงปลายปี 2017 การท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้โปรโมทการท่องเที่ยวกับกลุ่มเป้าหมายคนไทยตามสไตล์ความชอบสองประเภทได้แก่ Foodies และ Explorers ผ่านสองแอมบาสเดอร์ ได้แก่ ชาคริต แย้มนาม นักแสดงที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารเป็นพิเศษ และปั้น – จิรภัทร พัวพิพัฒน์ บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ที่สิงคโปร์ คอยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านคอนเทนต์ในรูปแบบของวิดีโอ
ส่วนในปี 2018 การท่องเที่ยวสิงคโปร์เน้นหนักไปในเรื่องของ Collectors หรือการเป็นนักสะสม ซึ่งทางเอ็ดเวิร์ด โค ผู้อำนวยการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ก็บอกว่าการช็อปปิ้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางในการเดินทาง และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไม่ได้เพียงซื้อของเท่านั้น แต่ต้องให้คุณค่าและบอกความเป็นตัวตนของเขาด้วย
Collectors คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักจะมองหาของที่แสดงความเป็นตัวตนออกมา เป็นคอลเล็กชั่นเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำใคร อยากให้คิดถึงว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถทำทุกความชอบที่ใช่ให้เป็นจริงได้
“ส่วนหนึ่งที่เราทำแคมเปญใหม่เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวมาสิงคโปร์ได้รู้สึกผูกพันมากกว่าแค่การมาเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ การหาซื้อของ และทานอาหาร แต่อยากให้มีความทรงจำและประสบการณ์ที่ดีกลับไปด้วย
“ต่อไปนี้เรียกว่านักช็อปก็คงไม่ใช่ มันเป็นขั้นกว่าของการช็อปปิ้ง แต่คือการสะสมที่บอกว่าคุณเป็นใคร” เอ็ดเวิร์ดอธิบายถึงคำว่า Collectors
แน่นอนสิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักช็อป เต็มไปด้วยแบรนด์ดังระดับโลกที่ต่างมาเปิดแฟลกชิปสโตร์ ร้านมัลติแบรนด์ หรือคอนเซ็ปต์สโตร์ที่มีหลากหลายแบรนด์ในร้านเดียวกัน เลยไปจนถึงแบรนด์ท้องถิ่นที่รอให้นักช็อปเข้าไปค้นหา
เชอร์ลีน เซีย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ประจำประเทศไทยบอกว่า นักท่องเที่ยวคนไทยจะแบ่งมีทั้งแบบครอบครัวและมาเที่ยวเอง เวลามาเที่ยวก็จะช็อปปิ้งแบรนด์ที่เมืองไทยไม่มี หรือของบางอย่างมีแค่สิงคโปร์ แน่นอนว่าการช็อปปิ้งเป็นส่วนสำคัญในการเดินทางมาที่นี่ อยากให้เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักช็อป
“สิงคโปร์มีทุกอย่างที่คุณต้องการ เป็นสวรรค์สำหรับนักช็อปที่อยากได้ของหายาก เรามีแหล่งช็อปปิ้งเยอะมาก ไม่ใช่แค่ถนนออร์ชาร์ด ยังมีย่าน Marina Bay, Kampong Glam, Harbourfront และ Bugis ซึ่งการมาช็อปที่สิงคโปร์มักได้ความมั่นใจโดยเฉพาะของแบรนเนมด์”
ของแบรนด์เนมที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน
ถ้าเป็นคนแฟชั่นก็พอจะคาดเดาได้ว่าสิงคโปร์เต็มไปด้วยแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์ดังทั้งหลาย อย่างที่ Louis Vuitton เลือกเปิดคอนเซ็ตป์ สโตร์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า ‘Island Maison’ ที่ย่าน Marina Bay หรือไม่ก็เป็นร้านใหญ่ที่มีไลน์สินค้าครบครั้นอย่าง Victoria’s Secret, Muji, Uniqlo และ Apple store เป็นต้น
ถนนออร์ชาร์ด
บนถนนออร์ชาร์ดเต็มไปด้วยห้างดังเช่น ION และ Paragon และแบรนด์เนมระดับโลกยึดหัวหาดทั้งสองฝั่ง อย่าง Louis Vuitton, Prada และ Coach เป็นต้น แต่กลับมีร้านคอนเซ็ปต์ สโตร์ ในกลุ่มของ Surrender ที่มีร้าน Surrender, Off-White และ Christian Dada ให้เราพอแก้เลี่ยนได้บ้าง
เมย์ ทัน หัวหน้าฝ่ายศิลป์และการตลาดของกลุ่ม Surrender ก็บอกว่า ทั้งสามแบรนด์จะเปลี่ยนถนนออร์ชาร์ด นอกจากแบรนด์เนมที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว มันเป็นการผสมผสานที่ดี ทำให้ถนนสายนี้ดูเด็กลง เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยากมาเที่ยวสิงคโปร์
Surrender เป็นร้านค้าที่รวมแบรนด์สินค้าแนวสตรีตหลากหลายแบรนด์ไว้ด้วยกัน เช่น 424, Neighborhood, Visvim รวมไปถึง Adidas คอลเล็กชันพิเศษ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่แบรนด์จากดีไซเนอร์ชั้นนำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น นิวยอร์ก และแอลเอ
“มันเป็นร้านที่เหมือนแกลอรีแสดงงานศิลปะ เราออกแบบตรงกลางให้มันวงกลมเหมือนพื้นที่จัดนิทรรศการ เราเป็นมากกว่าแค่การซื้อของ แค่เราผสมผสานแฟชั่น ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน
“หลักการเลือกแบรนด์ที่เข้ามาขาย ต้องดูเรื่องคุณภาพเป็นอย่างแรก ถ้าคุณภาพไม่ได้ ยังไงก็ขายไม่ได้แน่นอน แล้วแต่ละแบรนด์มีเรื่องราวที่น่าสนในตัวเองอยู่แล้ว ลูกค้าจะได้ใช้เวลาที่ร้านกับการศึกษาและค่อยๆ ดูรายละเอียดไปทีละแบรนด์”
ร้าน Off-White โดย Virgil Abloh สตรีตแบรนด์ดังที่สุดในเวลานี้ และสาขาที่สิงคโปร์ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยการตกแต่งร้านที่มีความโดดเด่น ภายในคอนเซ็ปต์ ‘Windows’ ที่ตกแต่งด้วยกระจกใสล้อมรอบ ภายในเป็นผนังคอนกรีตหนาอีกชั้นหนึ่ง ทำให้บรรยากาศของร้านดูโดดเด่นขึ้นมาทันที
เช่นเดียวกับร้าน Christian Dada แบรนด์ญี่ปุ่น โดย Masanori Morikawa ที่เป็นเสื้ิอผ้าแฟชั่นร่วมสมัย และกำลังได้รับการจับตามองจากงานแฟชั่นวีค ด้วยสไตล์เสื้ิอผ้าที่ไม่เหมือนใคร มีความขบถและกวนตีนอยู่ในรายละเอียด ทำให้สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งสาขาที่สิงคโปร์นับเป็นสาขาแรกนอกโตเกียวอีกต่างหาก
“หลายแบรนด์อาจไม่ใช่แบรนด์ที่คุ้นเคยกับนักช็อป เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะนำแบรนด์เหล่านี้ให้คนได้รู้จักและเรียนรู้ไปพร้อมกัน” เมย์ ทัน ให้ความเห็น
ขณะที่หากคุณอยากได้รองเท้าสนีกเกอร์ดีๆ สักคู่ในสิงคโปร์ ก็หนีไม่พ้นที่จะไปร้าน Limited Edt ของมานดีป โชปรา ที่เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2003 ถือเป็นร้านสนีกเกอร์ร้านแรกในสิงคโปร์ โดยปัจจุบันมีถึง 12 สาขาทั่วสิงคโปร์ มีรองเท้าจากแบรนด์ดัง เช่น Nike, New Balance, Adidas, Vans, Puma, Reebok และ Converse โดยมี Limited Edt. Vault สาขาใหญ่สุดที่ 313@Somerset สำหรับรองเท้ารุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น
“15 ปีแล้วที่เราทำร้านสนีกเกอร์ เราเป็นร้านแรกๆ ในอาเซียนที่จำหน่ายสนีกเกอร์รุ่นหายาก และเราสามารถเลือกทำรุ่นพิเศษที่ทำกับศิลปินได้เอง อาจจะเป็นสตรีตอาร์ทิสต์ของสิงคโปร์หรือต่างชาติก็ได้
“กระแสสนีกเกอร์ในสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็วมาก สมัยก่อนมีแค่บางกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ แต่ตอนนี้มีคอลเล็กชันใหม่วางขายกันทุกสัปดาห์ ไหนจะรุ่นพิเศษอีกต่างหาก คนซื้อมีความรู้มากขึ้นว่าเขาอยากได้รองเท้าสนีกเกอร์แบบไหน และมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแต่ละสาขาของเราจึงขายสินค้าไม่เหมือนกัน” มานดีป กล่าว
สำหรับใครที่ชอบนาฬิกาหรู มีเพียงร้านเดียวบนถนนออร์ชาร์ดที่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ นั่นคือ Malmaison by The Hour Glass เพราะแค่การตกแต่งก็กินขาด ภายใต้คอนเซ็ปต์ Residential Inspired Luxury Emporium ตกแต่งอย่างหรูหราสไตล์ฝรั่งเศสยุคพระเจ้านโปเลียน และพระมเหสีโจเซฟีน
ร้านนี้กินพื้นที่ถึง 8,000 ตารางฟุต แบ่งเป็นสองชั้น เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจอกับห้องโถงที่เรียกว่า The Great Hall ตกแต่งด้วยไม้สีเข้ม เครื่องดนตรีโบราณของ Reuge จากศตวรรษที่ 14 และเทียนหอมของ Cire Trudon มีห้อง The Napoleon Room ที่ภายในห้องตกแต่งด้วยกำแพงกำมะหยี่สีน้ำฟ้าดูทันสมัย ซึ่งชั้นหนึ่งจะประกอบด้วยนาฬิกาแบรนด์ดัง เช่น Rolex, IWC Schaffhausen และ Patek Philippe
บริเวณชั้นบนของ Malmaison จะให้ความแตกต่างจากชั้นแรก ด้วยความสว่างจากแสงที่ดูเป็นธรรมชาติ โดยมีแบรนด์ดังอย่าง Cartier, Piaget และ Harry Winston จัดแสดงอยู่ พร้อมกับน้ำหอมเอ็กคลูซีฟแบรนด์ Frederic Malle ที่มีให้เลือกซื้อเช่นกัน
ถนนสก็อตต์
แต่ที่ห้าง Pedder on Scotts บนถนนสก็อตต์ จะเต็มไปด้วยรองเท้าแบรนด์หรู ที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางฟุต ในชั้นเดียว แบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ Pedder รองเท้าสำหรับผู้หญิงที่มีตั้งแต่แบรนด์ Alexander Wang ไปจนถึง Christian Louboutin โซน Pedder Men รองเท้าสำหรับผู้ชาย โซน New Generation ที่วางขายแบรนด์รองเท้าแนวสตรีท โซน Weekend & Sports ที่เน้นขายรองเท้าผ้าใบลำลอง และรองเท้าผ้าใบกีฬา โซน Cool Kids สำหรับเด็ก และ Kiosks ซึ่งเป็นบริเวณที่จัดไว้สำหรับอาหารและแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ
ถนน Dempsey
แล้วบนถนน Dempsey ในโครงการ COMO Dempsey ก็มีร้านน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ Dover Street Market รีเทลชื่อดังจากลอนดอน ที่มาเปิดสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสาขาที่ 4 ต่อจาก ลอนดอน โตเกียว และนิวยอร์ก
ถ้าใครยังไม่รู้จัก Dover Street Market คือเป็นร้านที่ก่อตั้งโดย Rei Kawakubo เจ้าของแบรนด์ Comme des Garcons ทำให้ไม่ต้องแปลกใจว่าจะมีแบรนด์ Comme des Garcons วางขายเป็นส่วนใหญ่ แต่นอกจากนั้นก็มีแบรนด์อื่นเช่น The Row, Balenciaga Gucci และคอลเล็กชันพิเศษที่ Dover Street Market ทำร่วมกับแบรนด์อื่นๆ
ความน่าสนใจของ Dover Street Market ที่สิงคโปร์ คือตัวอาคารที่ตั้งสร้างขึ้นจากอาคารค่ายทหารเก่าที่เป็นอาคารชั้นเดียว มีพื้นที่โล่งกว้างถึง 12,325 ตารางเมตร ประกอบด้วยโครงสร้างเพดานที่สูงถึง 10 เมตร พื้นที่ส่วนกลางที่คล้ายกับบ้านคนที่มีเติมแต่งด้วยสีสันสดใส
แวะชิมร้านมิชลินสตาร์
นอกจากสถานที่ช็อปปิ้งแบรนด์เนมชื่อดังแล้ว ยังมีร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ Alma by Juan Amador โดยเชฟ ไฮเคิล โจฮารี ที่ได้สร้างสรรค์เมนูสุดพิเศษร่วมกับนักแสดงชื่อดังของไทยอย่าง ชาคริต แย้มนาม ออกมาเป็นอาหารที่ผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นสิงคโปร์เข้ากันได้อย่างลงตัว
เมนูที่ทำร่วมกันประกอบด้วย ปูหิมะญี่ปุ่นคลุกเคล้าเครื่องแกงไทย (Japanese Snow Crab with Thai Curry) โดยการนำปูหิมะญี่ปุ่นนึ่ง เสิร์ฟพร้อมกับเยลลี่พริกไทยดำมะเขือเทศและไอศครีมที่มีกลิ่นอายของเครื่องแกงไทยและบิสกิตปู
ต่อมาเป็น ปลาหิมะกับลักซา (Patagonian Toothfish with Laksa) คือปลาหิมะรสชาติกลมกล่อมเสิร์ฟพร้อมกับลักซา หัวไชเท้าและหอยเชลล์
จานที่สาม คือ พอร์คเบลลี่ออสเตรเลียและหมี่สยาม (Australian Pork Belly a la ‘Mee Siam’) พอร์คเบลลี่ออสเตรเลียหั่นเป็นชิ้นๆ เสิร์ฟพร้อมกับหมี่สยามในน้ำซุปหวานอมเปรี้ยว
และจานสุดท้าย บูเบอร์ เทริกู (Bubur Terigu) ขนมหวานที่มีรสชาติไม่เหมือนใครซึ่งทำจากโจ๊กบัควีต มะพร้าว ป็อปคอร์นทุเรียน และซอส Gula Melaka ที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว
ถ้าใครเป็น Foodie ต้องอย่าพลาดอาหารสุดพิเศษนี้ โดยมาในรูปแบบของอาหารกลางวันจันทร์ถึงศุกร์ มีตั้งแต่วันนี้อยู่ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2561
Collectors ที่แท้จริงต้องค้นหาแบรนด์ท้องถิ่นให้เจอ
สำหรับนักช็อประดับที่เรียกว่า Collectors แล้ว การช็อปปิ้งของแบรนด์เนมเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปเสียแล้ว ลองมองหาแบรนด์ท้องถิ่น Made in Singapore จากดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์เรียนที่จะทำให้เราได้ประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างแน่นอน หนึ่งในนั้นคือการไปเยือน K+ Curatorial Space ซึ่งตั้งอยู่ในห้าง Scotts Square
K+ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1999 เป็นพื้นที่รวมผลงานและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจากดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์เองและจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะซึ่งจะหมุนเวียนผลงานทุกๆ 6-8 สัปดาห์ โดยของในร้านกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นของดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์ มีทั้งของที่ระลึก เครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ และแบรนด์ดังๆ ของสิงคโปร์ เช่น BooksActually, GOODSTUPH, Kinetic, Pomelo, Supermama และ Tofu
Schaffen Watches แบรนด์นาฬิกาเรือนพิเศษ
พื้นที่ส่วนหนึ่งจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับนักออกแบบและนักเรียนที่สนใจด้านศิลปะและงานดีไซน์ให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ คำแนะนำ และความคิดดีๆ และยังมีทีมงานของ K+ ที่ช่วยให้คำแนะนำ หนึ่งในนั้นคือ Schaffen Watches แบรนด์นาฬิกาแบบ Customization ผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่วัย 20 ต้นๆ อย่างสองพี่น้อง นิโคลาส และ โจนาธาน ฮาน
Nicholas เล่าว่าจุดเริ่มต้นของ Schaffen Watches ว่าอยากหานาฬิกาให้เป็นของขวัญวันเกิดคุณพ่อ แต่หาเรือนที่ถูกใจไม่ได้ จึงคิดว่าทำไมไม่มีนาฬิกาที่สามารถเลือกได้ตั้งแต่ตัวเรือน หน้าปัด และสาย
“จริงๆ เริ่มจาก 3 ปีที่แล้ว เรามองหานาฬิกาที่ชอบไม่ได้ เพราะแต่ละเรือนมีสิ่งที่เราไม่ชอบ เลยคิดริเริ่มนาฬิกาที่เราออกแบบเองได้ หลักๆ เราจะเป็นคนออกแบบและนำเสนอไอเดีย แต่เรามีช่างนาฬิกาที่เขาจะประกอบให้”
“กลุ่มลูกค้าของเราค่อนข้างกว้างพอสมควร แต่คิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากได้นาฬิกาแตกต่าง ไม่เหมือนใคร เพราะเรามีให้เลือกเยอะ แล้วราคาก็ไม่ได้แพงจนเกินไป”
ปัจจุบัน Schaffen Watches มีกลุ่มลูกค้าจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสได้ทำนาฬิกาเรือนพิเศษให้กับข้าราชการกองทัพอากาศในวันเกษียณ โดย Schaffen Watches มีทั้งแบบที่เป็น Mechanic และ Automatic ในราคา เริ่มต้นที่ 299 ดอลลาร์สิงคโปร์
SBTG สนีกเกอร์ลายใหม่
พูดถึงนักออกแบบรุ่นใหม่อย่างสองพี่น้อง นิโคลาส และ โจนาธาน ฮาน ไปแล้ว ถ้าไม่พูดถึงนักออกแบบรุ่นใหญ่อย่าง มาร์ค ออง (Mark Ong ) ก็คงจะไม่ได้ เขาเป็นผู้บุกเบิกการออกแบบรองเท้าสนีกเกอร์ หรือ Sneaker Customization เป็นการนำสนีกเกอร์มาทำลวดลายใหม่ ภายใต้ชื่อ SBTG หรือ Sabotage
“ผมสนใจการออกแบบรองเท้ามาตั้งนานแล้วสัก 20 ปีที่แล้วได้ ผมชอบการเพนท์ ตอนเด็กๆ เคยเป็นทหาร ก็คิดว่าอยากเอาลายทหารมาอยู่ในสนีกเกอร์ พอออกจากการเป็นทหาร ก็ลองทำมาเรื่อยๆ มันเหมือนได้ผ่อนคลายและสบายใจที่ได้ทำ”
“Destroy to Create มันคือสโลแกนของผม คือคนที่สั่งให้เราเพนท์ลายลงบนรองเท้า เขาคิดว่ามันไม่สวยตอนแรก เราก็เหมือนจะทำลายนะ แต่จริงๆ แล้วมันคือการทำสิ่งที่มันสร้างสรรค์กว่า และตอนหลังมันจะออกมาสวย”
Bynd Artisan สมุดส่วนตัวที่มีเอกลักษณ์
ส่วน James Quan ผู้ก่อตั้งสมุดทำมือแบรนด์ Bynd Artisan ในปี 2014 โดยเป็นการต่อยอดธุรกิจเครื่องเขียนของครอบครัว ได้สร้างความโดดเด่นให้กับลูกค้าสามารถเลือกสมุดที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครได้ ตั้งแต่เลือกแบบปก กระดาษ สันเข้าเล่ม และสายรัด ในราคาเริ่มต้น 35 ดอลลาร์สิงคโปร์
“ความพิเศษคือของทุกชิ้นไม่ว่าจะปก หรือกระดาษ สันเข้าเล่ม คุณเลือกเองได้หมด ปกหนังเราก็นำเข้าจากอิตาลี กระดาษอย่างดีมาจากฮอลแลนด์ อะไรก็ได้ที่คุณต้องการ เรามีหมด ความเป็นไปได้ที่คุณจะมีสมุดเหมือนของคนอื่นแค่ 1 ใน 10 ล้าน เท่านั้น”
Bynd Artisan เป็นเจ้าของรางวัล Best Shopping Experience at the Singapore Tourism Awards 2017 และ President’s Design Award – Design of the Year 2016
“สมุดเล่มหนึ่งใช้เวลา10 -15 นาที เมื่อใช้หมดแล้ว คุณกลับมาที่ร้านเราได้ สามารถเปลี่ยนกระดาษข้างใน หรือเปลี่ยนปกใหม่ได้ ราคาเริ่มต้นแค่ 10 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น”
Je t’aime Perfumery กลิ่นหอมที่เป็นตัวเรา
ขณะที่ได้เขียนถึงสมุด รองเท้า และนาฬิกา ที่ทำขึ้นเฉพาะตัวไปแล้ว ยังขาดน้ำหอมที่เราสามารถสร้างกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองได้ที่ Je t’aime Perfumery ซึ่งตั้งอยู่ที่ Goodman Art Center
ร้านน้ำหอม Je t’aime Perfumery ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดย Prachi Saini Garg ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำน้ำหอม ที่ศึกษาด้านศาสตร์การทำน้ำหอมแบบสมัยเก่า และส่วนประกอบในการทำน้ำหอมจากเอเชียมาเป็นระยะเวลาหลายปี ร้านนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับ ‘Orchids Original of Singapore’ หรือดอกกล้วยไม้ของสิงคโปร์ เพื่อกลั่นน้ำมันจากกล้วยไม้เก้าชนิดอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนการทำน้ำหอม จะเริ่มต้นจากให้เราทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ คำถามจะเป็นประมาณว่า เราเป็นคนมีนิสัยอย่างไร ชอบแต่งตัวแบบไหน เวลาไปออกงานสังคม คุณเป็นประเภทต้องโดดเด่นในงาน หรือทำตัวเงียบๆ จากนั้นนับคะแนน และเลือกกลิ่นที่ถูกคัดเลือกมาจากน้ำหอม 5 ประเภท ได้แก่ น้ำหอมกลิ่น Woody, Oriental, Floral, Citrus และ Fresh โดยกลิ่นมีทั้งสิ้น 45 กลิ่น และผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจะสามารถเลือกผสมกลิ่นได้ตามใจชอบ ผ่านการหยดกลิ่นลงบนชุดเทสเตอร์ (รวมทั้งสิ้น 60 หยด) เมื่อเสร็จแล้วทีมงานจะนำไปเติมแอลกอฮอล์ และรอรับน้ำหอมในแบบฉบับของคุณได้เลย
ราคาเริ่มต้นในการเวิร์กช็อปอยู่ที่ 115 ดอลลาร์สิงคโปร์ สามารถเลือกขนาด 10 ม.ล. สำหรับขวดทดลอง และ 75 ม.ล. สำหรับน้ำหอมแบบ eau de toilette พร้อมขวดที่สลักชื่ออย่างสวยงาม
Xin Ying พนักงานของร้านบอกกับเราว่า ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนสิงคโปร์ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นนักท่องเที่ยว ในสิงคโปร์มีการจัดเวิร์กช็อปน้ำหอมอยู่ 4-5 แห่ง แต่ไม่ถึงกับได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากเป็นตลาดที่เฉพาะกลุ่มมากๆ
“ถ้าถามว่ามันจะป็อปปูลาร์ในสิงคโปร์ไหม คิดว่าน่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์แตกต่างกันไป มีเวิร์คช้อปหลายอย่างในสิงคโปร์ งานเซรามิก หรือเพนติ้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคู่รักที่เพิ่งแต่งงานกัน”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ที่อยากนำเสนอความเป็นสิงคโปร์ในด้านอื่นๆ เพราะนี่คือยุคสมัยของการท่องเที่ยวที่คนไม่ได้แค่ไปยืนถ่ายรูปกับสัญลักษณ์ของเมืองอีกต่อไปแล้ว
Fact Box
- การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board - STB) เป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชั้นนำในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในภาคการบริการของสิงคโปร์ ด้วยการสร้างพันธมิตรกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมและชุมชน ส่งผลให้เกิดภูมิทัศน์การท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่โดดเด่นและหลากหลาย
- การท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้เปิดตัวแบรนด์แคมเปญใหม่ ภายใต้แนวคิด 'Passion Made Possible: ทุกความชอบที่ใช่ เป็นไปได้ที่สิงคโปร์' เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสิงคโปร์ในฐานะจุดมุ่งหมายอันมีชีวิตชีวา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ปลดปล่อยและแสดง passion ของตนเองได้อย่างเต็มที่
- ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stb.gov.sg และ www.visitsingapore.com หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ได้ที่ @STB_sg