อันที่จริง บรรดาหัวหน้าแย่ๆ ในที่ทำงาน มักจะมีจุดร่วมกันอยู่ไม่กี่อย่าง ทั้งหมดอาจเป็นความกดดันที่สะสมมาตั้งแต่สมัยคนเหล่านี้ยังเป็น ‘ลูกน้อง’ อีกส่วนก็คือประสบการณ์ Trauma ในที่ทำงานเดิม ประกอบสร้างเจ้านายสุดเลวร้ายขึ้นมา
เจ้านายที่ขยันพูดพล่าม เจ้านายที่เอาแต่สั่งโดยไม่ใส่ใจคนอื่น เจ้านายที่มักพูดกระแทกแดกดันอย่างรุนแรง หรืออารมณ์ร้าย ก่นด่าลูกน้องด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไปจนถึงขว้างแฟ้ม ปากล้วยใส่ลูกน้อง
“คนแบบนี้มีอยู่ในโลกได้อย่างไร ขึ้นสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจแบบนี้ได้อย่างไร” คือคำถามที่เกิดขึ้นเป็นประจำ… เมื่อคนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นใหญ่
แน่นอน คนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ล้วนมีเหตุผล เขาอาจรวยมาก มีอิทธิพลมาก หรือคนที่ใหญ่กว่าต้องการหัวหน้าแบบนี้เป็น ‘หนังหน้าไฟ’ เพื่ออะไรบางอย่าง และอีกส่วนหนึ่งก็คือเจ้านายแบบนี้ อาจคิดว่าตัวเองเก่งโดยไม่รู้ตัว ขณะที่บางคนอาจเคยเป็น ‘คนดี’ มาก่อน หากเจอสถานการณ์บังคับบางอย่างจนกลายเป็นเจ้านายสุดย่ำแย่
ทว่าเจ้านายแบบนี้อาจมีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยอธิบายว่าเจ้านายของคุณเป็นเจ้านายที่แย่สุดแสนน่ารังเกียจ โอหังคลั่งอำนาจ หากคุณเป็นลูกน้อง คุณอาจตอบได้ว่าเจ้านายคุณเลวร้ายอย่างนี้หรือไม่ และถ้าคุณมีภารกิจที่ต้องดูแลคน ทั้งการทำงานและสภาพจิตใจ บางทีคุณอาจต้องลองตอบว่าพฤติกรรมของคุณเข้าข่ายตามเช็กลิสต์นี้หรือไม่เช่นกัน
1. ใช้ความอัปยศในที่สาธารณะเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจ
เจ้านายบางคนมีแนวโน้มที่จะตำหนิพนักงานในที่สาธารณะ พวกเขาทำต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า และบางครั้งต่อสาธารณชนทั่วไป เหตุผลที่พวกเขาทำอย่างนั้นก็เพื่อ ‘ดิสเครดิต’ คุณ ทำให้อับอายต่อหน้าคนอื่นๆ ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้อธิบายความ ชี้แจง หรือแก้ตัวใดๆ
เจ้านายลักษณะนี้มักจะใช้คำพูดในเชิงตำหนิมากกว่าเชิงให้ปรับปรุงตัว และอาศัยโอกาสนี้สร้างความหวาดกลัวให้ปกคลุมในบรรดาพนักงาน และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ว่าอย่าทำแบบเดียวกัน
ความกลัวที่เจ้านายเหล่านี้สร้าง มีจุดประสงค์เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัว ให้พนักงานทั้งหลายพึงรู้ว่าห้ามทำผิดพลาด และในโอกาสต่อมา สมองซีกความคิดสร้างสรรค์จะค่อยๆ หายไป พวกเขาจะไม่กล้าทำงานให้ได้ดีที่สุด แต่จะทำงานในคุณภาพงั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกด่าเท่านั้น
แล้วหากเจ้านายคนนั้นเป็นตัวคุณต้องทำอย่างไร – หากต้องเจอแบบนี้ คุณอาจต้องหยุดนิ่งสักระยะ หายใจเข้าลึกๆ คิดให้มาก และมองไปรอบข้าง รวมถึงก่อนจะระเบิดอารมณ์ใส่ใคร ควรต้องพินิจดูก่อนว่ามีคนอยู่รอบข้างหรือไม่ หากมีก็จงกรุณาประชุมกับคนที่คุณต้องการพูดคุยด้วยเป็นการส่วนตัว
2. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้แล้วพูดแค่ว่า “ทำให้เสร็จนะ”
เจ้านายที่ดีและยิ่งใหญ่ไม่เพียงผลักดันให้คนของพวกเขาให้ทำมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีมากขึ้น หากแต่พวกเขายังต้องรู้วิธีในการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง อีกทั้งยังต้องสนับสนุนและช่วยให้พนักงานทุกคนเติบโต
แต่เจ้านายสุดห่วยจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม พวกเขาจะผลักดันให้ลูกน้องทำงานอย่างหนัก และตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ คาดหวังไม่ได้ ไร้สาระ อีกทั้งยังไม่ได้ให้การสนับสนุน
แน่นอนว่าเมื่อได้ยินดังนี้ บรรดาพนักงานจะพูดโดยพร้อมเพรียงกันว่า “เป็นไปไม่ได้” หรือ “ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร” และในที่สุด หัวหน้าจะตอบกลับมาเพียงว่า “ก็ทำให้เสร็จแล้วกัน”
ประเด็นสำคัญก็คือ ในฐานะหัวหน้า ไม่ว่าคุณต้องการอะไร อันดับแรกที่ต้องประเมินก็คือทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่นั้นสามารถทำงานนั้นได้หรือไม่ และเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น ในฐานะหัวหน้า คุณช่วยอะไรคนของคุณได้บ้าง
แล้วหากคุณเป็นคนอย่างนี้ คุณต้องทำอะไร – ไม่มีอะไรมากนอกจาก ทำงานกับเพื่อนร่วมงานของคุณ กำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน ช่วยกระตุ้นพวกเขาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ให้เขาเบิร์นเอาต์ และอยู่เคียงข้างตลอดเวลาที่พวกเขามีปัญหา
3. เป็นคนหน้าซื่อใจคด เป็นเผด็จการ ออกกฎใช้กับคนอื่น แต่ตัวเองไม่ต้องทำตามกฎนั้น
สำหรับบางคน การเป็น ‘เจ้านาย’ นั้นยอดเยี่ยมมาก เพราะจู่ๆ กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถนำมาใช้กับพวกเขาได้อีก ต่อไป พวกเขาอาจตั้งกฎขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าเขาผิด
กฎอาจมีอยู่ว่า คุณบอกพนักงานของคุณว่าพวกเขาไม่สามารถกินอาหารที่โต๊ะทำงานได้ แต่คุณนั่งกินอาหารอย่างมีความสุขทุกวัน หรือคุณอาจหงุดหงิดพนักงานทุกครั้งที่ไม่ตอบอีเมลเร็วพอ แต่เมื่อคุณได้รับอีเมลบางอย่างของพวกเขา คุณอาจเพิกเฉยกับมันเสียอย่างนั้น
นี่อาจเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยที่สุดในที่ทำงานทั่วโลก เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุใหญ่ คือ
1. เจ้านายกำลังเหลิงอำนาจ เชื่อว่าตนเองยิ่งใหญ่ที่สุด อยู่นอกเหนืออำนาจหรือกฎระเบียบใดๆ
2. เจ้านายเป็นคนดื้อรั้น ไม่สนใจคำวิจารณ์ใดๆ
3. เจ้านายเป็นคนงี่เง่าที่ไม่เข้าใจตรรกะพื้นฐานในการทำงาน เขาโง่เกินไปที่จะเข้าใจความเจ้าโง่ของเขาเอง หากต้องเป็นคนรับคำวิจารณ์ วิธีแก้ของเขาคือการพูดจาโผงผาง ตามด้วยการอาละวาดต่อเหมือนคนบ้า
หากคุณเป็นคนอย่างนั้น – ลองส่องกระจกดูนานๆ ก่อนที่คุณจะปิดอีเมลสำคัญ หรือตำหนิพนักงานว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี นอกจากนี้ให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันเคยทำเช่นนี้หรือไม่’ อย่าลืมว่าการ ‘นำ’ โดยเอาตัวเองเป็นแบบอย่าง หรือ Lead by Example เป็นเรื่องสำคัญมากๆ
ขณะเดียวกัน อย่าออกกฎที่งี่เง่า หากคุณไม่รู้ว่ากฎบางอย่างถูกออกมาเพื่ออะไร และไม่สามารถอธิบายกฎนั้นๆ ได้ ก็ควรเก็บเอาไว้ในใจ หรือลองใช้กับตัวเองคนเดียวก่อน
4. เพิกเฉยต่อความเห็นและอารมณ์ และปฏิเสธที่จะช่วยเพื่อนร่วมงาน
ใช่ – งานคุณอาจจะมาก ต้องทำตามเป้าหมาย ต้องออกไปหาลูกค้า ต้องตรวจงาน ต้องกำหนดทิศทางประจำปี ต้องดูแลยอดรายรับรายจ่าย แต่ในอีกฟังก์ชันหนึ่ง เจ้านายก็เหมือนคอขวดทุกครั้งที่เกิดปัญหาในที่ทำงาน ถ้าคุณไม่แก้ ทุกอย่างก็จะเละเทะ จะล้มเหลวทั้งหมด
ใช่ – คุณไม่ว่าง ใช่ – คุณมีหลายอย่างที่ต้องทำ ใช่ – คุณหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนของคุณจะสมบูรณ์แบบและยอดเยี่ยม และบรรลุสิ่งที่คุณต้องการโดยที่คุณไม่ต้องช่วยพวกเขา แต่นั่นไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนเปราะบาง ไม่มีใครทำอะไรสมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด ทุกคนต่างต้องการกำลังใจ ต้องการมือที่ยื่นมาช่วยเมื่อประสบปัญหา และหน้าที่ของคุณอันดับแรกๆ คือแก้ตรงนี้ให้ได้
ฉะนั้น พยายามรับฟังเพื่อนร่วมงานให้มาก หากงานดูช้ากว่ากำหนด หรือมีขั้นตอนติดขัด ก็จำต้องลงไปดูรายละเอียด รับฟังปัญหา ฟีดแบ็กให้สม่ำเสมอ และช่วยพาเขาออกจากหล่มให้ได้
5. โง่และคิดว่าตัวเองฉลาด
ความโง่นั้นมีหลายระดับ มีทั้งมั่นใจในตัวเองมากเกินไป มีทั้งมั่นใจในประสบการณ์ที่ทำมา ซึ่งบางครั้งกลายเป็นการตัดสินใจแบบผิดๆ
ทฤษฎี ‘Dunning–Kruger Effect’ เกิดขึ้นโดย จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) และเดวิน อลัน ดันนิง (David Alan Dunning) จนกลายเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง หลักการนั้นมีอยู่ว่า ยิ่ง ‘มั่นใจ’ และ ‘มั่นหน้า’ คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ มีความรู้มากเท่าไร ถึงจุดหนึ่ง ระดับความเชื่อมั่นในตัวเองจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ในความจริงแล้วอาจไม่รู้จริง ในที่สุดก็จะไปค้างเติ่งอยู่บน Mount Stupid แล้วก็จะตามมาด้วยการพูดอะไรโง่ๆ ออกมา
หากวาดเป็นกราฟ จะพบว่า Mount Stupid นั้นคือจุดที่ความรู้เป็น 0 แต่ความมั่นใจเป็น 100 จนผู้คนรอบข้างจะเอือมระอากับความ ‘อวดฉลาด’ เหล่านั้น และเมื่อถึงจุดพีก หากรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้เจ๋งจริง กราฟก็จะดิ่งลงอย่างรวดเร็วไปสู่ด้านล่าง ภายใต้ ‘หุบเขาแห่งความสิ้นหวัง’ (Valley of Despair)
และเมื่อถึงจุดต่ำสุด Dunning–Kruger บอกว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด ‘ปัญญา’ ซึ่งจะทำให้กราฟค่อยๆ เชิดขึ้นอีกครั้ง โดยหากเรียนรู้ได้ในระยะยาว ก็จะเปิดประตูไปสู่ Plateau of Sustainability หรือลานแห่งความยั่งยืน และบุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็น ‘กูรู’
คำถามสำคัญมีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ
1. ทำอย่างไรจึงจะ ‘รู้ตัว’ ว่าตัวเอง ‘โง่’
2. ทำอย่างไรจึงจะไม่พาตัวเองไปถึงจุดติดค้างบน Mount Stupid
3. หากค้างเติ่งอยู่บนนั้นแล้วจะลงมาได้อย่างไร
บทความในเว็บไซต์ Psychology Today ตอบคำถามข้อแรกไว้ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือการ ‘ประเมินตัวเอง’ จนสูงเกินไป การศึกษาของ Dunning และ Kruger พบว่า คนที่อยู่บนยอดเขามักจะประเมินตัวเองสูงเกินไป ทั้งในด้านความฉลาด ด้านอารมณ์ขัน (ไม่มีคนตลกคนไหนที่บอกว่าตัวเองตลก) และการมีทักษะที่หลากหลาย
ฉะนั้น หากค้างเติ่งอยู่บนภูเขาแห่งความโง่แล้ว ต้องทำอย่างไรในการไต่ลงมาให้เร็วที่สุด คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนจากคำว่า ‘ฉันรู้ทุกเรื่อง’ ไปสู่ ‘เรื่องนี้ มันซับซ้อนกว่าที่ฉันเคยรู้’ หรือเรื่องนี้ยังมี ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ที่อยู่ข้างหลัง และท้ายสุด ต้องยอมรับกับตัวเอง ยอมรับกับทุกคนว่าเราโง่ในบางเรื่อง และเราไม่มีทางฉลาดได้ในทุกเรื่อง
หากยอมรับได้เช่นนี้ หากหมั่นตรวจทานตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองอยู่เสมอ ก็จะมีอันหลุดพ้นภาระนี้ได้ แต่หากยังมั่นหน้ามั่นใจต่อไป หรือรายล้อมด้วยคนที่คอยชื่นชม คอยแสวงหาผลประโยชน์ พร้อมกับปรบมือ พยักหน้าไปกับเราทุกเรื่อง
ข้อสุดท้ายที่ควรพึงตระหนัก – การเป็นเจ้านายนั้น แปลอีกนัยหนึ่งคือผู้มีอิทธิพลอย่างสูงส่งต่อบรรดาพนักงาน ต่อบรรดาน้องๆ ทุกคน และนั่นไม่ใช่ ‘อภิสิทธิ์’ ที่คุณมีอำนาจมากกว่าผู้อื่น แต่เป็นเรื่องของ ‘ความรับผิดชอบ’
และทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องคอยประคบประหงมลูกน้อง แล้วปล่อยให้พฤติกรรมแย่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือพยายามเป็น ‘เพื่อนที่น่ารัก’ กับทุกคน
แต่การเป็นหัวหน้าคือการกำหนดทิศทาง คือการสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นผู้สนับสนุน คอยแก้ปัญหาให้กับทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน และสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือคนที่คุณทำงานด้วยล้วนมีความรู้สึก มีความหวัง มีความกลัว มีความฝัน และมีแรงบันดาลใจ
เพราะฉะนั้น หน้าที่คุณคือต้องรักษาความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ไว้ให้ได้ ไม่ปล่อยให้ความกลัว ไม่ปล่อยให้พลังด้านลบเข้าครอบงำองค์กร แล้วพยายามขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างดีที่สุด
เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ต้องอาศัยประสบการณ์และ ‘ความยืดหยุ่น’ ขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในโลกอันพลิกผัน ซึ่งไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จอีกต่อไป…
ที่มา
http://www.motivationalsmartass.com/2011/11/five-habits-of-highly-horrible-bosses/
https://kristianmagnus.com/dunning-kruger-effect/
Tags: การทำงาน, Work Tips, ผู้นำ, ออฟฟิศ