อีกเพียงสัปดาห์เดียว การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพก็จะเริ่มต้นขึ้น
ขึ้นชื่อว่าฟุตบอลโลก มันคือมหกรรมการชิงชัยยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกฟุตบอล ที่แต่ละประเทศที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายทั้ง 32 ทีมจะมาฟาดแข้งกัน เพื่อก้าวไปสู่การคว้าถ้วย ‘เวิลด์คัพ’ สุดคลาสสิกประดับเกียรติยศสูงสุดของชีวิตนักฟุตบอล และสร้างชื่อให้กับชาติของตน
แม้ที่ผ่านมา ฟุตบอลโลกจะได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาทั่วโลกในทุกๆ 4 ปีที่การแข่งขันเวียนมาถึง แต่ในปี 2022 นี้ หลายฝ่ายกลับมองว่าบรรยากาศช่าง ‘เงียบเหงา’ เหลือเกิน เมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มา ทั้งที่ตามปกติแล้วจะต้องมีการโปรโมตกันอย่างเอิกเกริกเป็นเดือนๆ หรือสัญลักษณ์ของมาสคอตก็มักจะถูกนำไปใช้เป็นจุดขายของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์
ว่ากันตามจริง แฟนบอลหลายคนอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพลงธีมฟุตบอลโลกครั้งนี้คือเพลงอะไร
ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ผมจำได้คือ ‘ฟรองซ์ 98’ หรือฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเวิลด์คัพที่คลาสสิกที่สุดตลอดกาล แม้จะเลือนลางเพราะยังเด็กมาก แต่ยังจดจำและสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลโลกในปีนั้นได้มากกว่าปีปัจจุบันด้วยซ้ำ ทั้งสีสัน บรรยากาศ ความคึกคักของสังคม และเพลง ‘The Cup of Life’ ของริกกี มาร์ติน
แม้จะดูเป็นการคิดแทนมากเกินไปหน่อย แต่ก็อดเศร้าไม่ได้ เพราะเราอาจไม่รู้เสียแล้วว่า ความทรงจำร่วมของเด็กยุคนี้กับฟุตบอลโลกคืออะไร
‘เงียบเหงา’ และ ‘อื้อฉาว’ ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
ความเงียบเหงาของฟุตบอลโลกปีนี้เป็นจุดร่วมจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพอากาศที่ร้อนของกาตาร์ จนต้องย้ายการแข่งขันมาเป็นช่วงปลายปีที่อุณหภูมิลดลง จนกระทบตารางการแข่งขันลีกของหลายประเทศ, ความไม่มั่นใจในความพร้อมของกาตาร์ เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านฟุตบอลน้อย และไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกมาก่อน หรือแม้กระทั่งสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความซึมเซาจากโรคระบาด สงคราม และปัญหาใหญ่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก
หรือความอื้อฉาวเรื่องการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่า, เซปป์ แบลตเตอร์ (Joseph Blatter) อดีตประธานฟีฟ่า ออกมายอมรับว่า การเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คือ ‘ความผิดพลาด’ ไปจนถึง คาลิด ซัลมาน (Khalid Salman) อดีตนักฟุตบอลชาวกาตาร์และทูตฟุตบอลโลก 2022 ให้สัมภาษณ์ว่า ‘การรักร่วมเพศเป็นอันตรายต่อจิตวิญญาณ’ และผู้ที่มาเยือนกาตาร์ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมในช่วงฟุตบอลโลกต้องยอมรับกฎนี้ จนมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ที่จะเข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลก
ยังไม่นับอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอลระดับสตาร์หลายคน ที่ทำให้ต้องหลุดโผทีมชาติเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ รวมไปถึงหลายประเทศยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันในรอบสุดท้ายครั้งนี้ ก็ล้วนมีส่วนทำให้ฟุตบอลโลก 2022 มีรส ‘จืด’ ลงไม่มากก็น้อย
และประเด็นใหญ่ที่สุดอีกข้อ คือปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม ในระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกต่างให้ความสำคัญ
จนหลายคนมองว่า นี่คือฟุตบอลโลกครั้งที่ ‘พัง’ ที่สุด
ประเด็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม นี่เอง ทำให้ ‘Kafala system’ หรือ ‘ระบบคาฟาลา’ ซึ่งเป็นเป็นระบบที่ใช้ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการก่อสร้างและภายในประเทศในประเทศสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ และประเทศใกล้เคียง อาทิ บาห์เรน คูเวต เลบานอน กาตาร์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถูกพูดถึงอย่างมาก เนื่องจากเป็นระบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิของแรงงานโดยตรง และทำให้แรงงานจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิ
ระบบทาสแห่งยุคสมัยใหม่
ระบบคาฟาลา เป็นระบบกฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติ ก่อตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายฉบับที่ 4 ของปี 2016 ช่วงที่เศรษฐกิจของกาตาร์เติบโต และประเทศต้องการแรงงานค่าจ้างราคาถูกจำนวนมาก โดยระบบนี้กำหนดให้แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องมีผู้สนับสนุนในประเทศ ซึ่งมักจะเป็นนายจ้างที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องวีซ่าและสถานะทางกฎหมาย ว่าง่ายๆ คือเป็นระบบที่กำหนดความผูกพันทางกฎหมายระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้าง ทั้งเงื่อนไขต่างๆ สัญญาจ้าง การขอใบอนุญาตทำงาน และกำหนดให้ลูกจ้างอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง เช่น การเปลี่ยนงานหรือการเดินทางออกนอกประเทศ
แนวปฏิบัตินี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการสร้างโอกาสสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์จากคนงานได้ง่าย เนื่องจากนายจ้างมีสิทธิยึดพาสปอร์ตของลูกจ้างไว้ได้ตลอดระยะเวลาของสัญญาจ้าง และระงับค่าจ้าง ส่วนคนงานที่พยายามลาออกจากงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง อาจถูกรายงานไปยังทางการของกาตาร์และถูกปรับ รวมถึงอาจถูกตั้งข้อหาทางอาญา
สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างระบบการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังทำให้แรงงานจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องจ่าย ‘ค่าธรรมเนียมการรับสมัคร’ ทำให้เป็นหนี้เพิ่ม และไม่สามารถออกจากกาตาร์ได้ เพราะต้องทำงานชดใช้หนี้ดังกล่าว
แรงงานหนัก ไม่มีค่าจ้าง
ย้อนกลับไปในการเตรียมพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก กาตาร์สรรหาคนงานนับแสนซึ่งส่วนใหญ่มาจากอินเดีย เนปาล และบังกลาเทศ ผ่านเอเจนซีของแต่ละประเทศ คนงานทั้งหมดต้องจ่าย ‘ค่าธรรมเนียมการรับสมัคร’ ราว 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 143,960 บาท ก่อนออกเดินทางจากประเทศบ้านเกิด และเมื่อพวกเขามาถึงกาตาร์ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ระบบคาฟาลาเป็นที่เรียบร้อย
Business Insider เคยทำสารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังของกาตาร์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยตอนหนึ่งได้สัมภาษณ์ ดิพลาล์ มาฮาโต (Diplal Mahato) อดีตคนงานชาวเนปาลที่เข้าไปทำงานในส่วนของการก่อสร้างที่กาตาร์เป็นเวลา 7 ปี เขาเล่าถึงความลำบากในการทำงานว่า ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสมัครราว 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 50,000 บาท)
“เพื่อนของผมที่ไปทำงานที่กาตาร์บอกว่า เงินเดือนที่นั่นดีมาก นายจ้างจ่ายทุกเดือนเป็นปกติ และเป็นบริษัทที่ดี” ดิพลาล์เล่า แต่ในความเป็นจริง เขากลับต้องกลายเป็นเหมือนแรงงานที่ถูกใช้งานหนัก เช่น การถูกบังคับให้ทำงานกลางแจ้งในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิแตะ 43 องศาเซลเซียส
เช่นเดียวกันกับ ลักซ์แมน คามาตี (Laxman Kamati) คนงานจากเนปาล ที่ถูกใช้แรงงานให้ขนหินน้ำหนักราว 50 ถึง 60 กิโลกรัม “ผมต้องเอาผ้าขนหนูพันรอบศีรษะ แล้ววางหินบนนั้น เพื่อขนมันขึ้นบันได” จนทำให้เขามีอาการบาดเจ็บที่หลังมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่สามารถยืนขึ้นได้ หลังจากนั่งลงเป็นเวลานาน “พวกเขาให้เราทำงานหนัก และไม่จ่ายค่าจ้างให้”
Human Rights Watch รายงานว่า บริษัทก่อสร้างบางแห่งที่มีพนักงานประมาณ 6,700 คน และเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างสนามกีฬาสำหรับฟุตบอลโลก ไม่จ่ายเงินเดือนให้แก่คนงานนานถึงห้าเดือนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความเป็นอยู่ของเหล่าแรงงานและพบว่า ที่พักทั้งสกปรกและเต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย ไม่มีน้ำใช้เพียงพอ มีคนอาศัยอยู่รวมกันจนแออัดเหมือนคุก และแม้กระทั่งหากมีแรงงานป่วย ก็ไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลเร็วขนาดไหน
ตีตั๋วขาไป ไม่มีขากลับ
มีแรงงานต่างชาติหลายคนที่เข้าไปทำงานในกาตาร์ ไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวได้
เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานเมื่อกุมภาพันธ์ 2021 ว่า หลังจากกาตาร์ถูกประกาศให้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ตั้งแตปี 2016-2020 มีแรงงาน 6,500 คน ต้องเสียชีวิตในกาตาร์ แต่ทางการกาตาร์ระบุว่า 70% ของจำนวนดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตจาก ‘โรคหัวใจที่อธิบายไม่ได้’ หรือ ‘ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว’ ที่สร้างความคลางแคลงใจ และทำให้หลายครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิตไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
“ปัญหาคือรัฐบาลกาตาร์ปฏิเสธให้มีการชันสูตรพลิกศพ พวกเขาไม่ต้องการรู้สาเหตุการเสียชีวิต เพราะหากเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะถูกตราหน้าว่าแท้จริงแล้วมันเป็นความตายที่ป้องกันได้” ผู้เชี่ยวชาญของเดอะการ์เดียนระบุ
นานาชาติร่วมกดดันจนเกิดความเปลี่ยนแปลง
ภายหลังถูกกดดันจากนานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชน ในปี 2019 กาตาร์ปิดแคมป์คนงานกว่า 300 แห่ง และกำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ในการทำงานของแรงงาน ในปี 2020 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ทำงานร่วมกับกาตาร์เพื่อปฏิรูปประเด็นเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2016 โดยให้ความสำคัญกับการรื้อระบบคาฟาลา การสร้างค่าแรงขั้นต่ำ และการเพิ่มสวัสดิการอื่นๆ ให้กับคนงาน ระบุว่าข้อกำหนดใหม่ทำให้เกิดสิ่งที่เหมือนจะ ‘ยุติ’ ระบบคาฟาลาได้ อาทิ
- การยุติกฎหมายฉบับที่ 13 ในเรื่องข้อกำหนดของ ‘วีซ่าขาออก’ ที่แรงงานต่างชาติได้รับการอนุมัติให้ออกจากกาตาร์ได้โดยไม่ต้องได้รับหนังสืออนุญาตให้ออกจากประเทศ
- แรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้าง
- ห้ามทำงานกลางแจ้งระหว่างเวลา 10.00-15.30 น. เพื่อป้องกันความเครียดจากความร้อน
- เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกที่ 1,000 ริยัลกาตาร์ (ประมาณ 9,868 บาท) ต่อเดือนให้กับคนงานทุกคน
- รัฐจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่นี้ 12 ภาษา และประกาศไปยังกลุ่มชุมชน สำนักงานแรงงาน และสถานที่อื่นๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลในเชิงบวก นับตั้งแต่นั้นมา คนงานมากกว่า 2.4 แสนคนมีการเปลี่ยนงาน และคนงานกว่า 2.8 แสนคนได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลกาตาร์จะพยายามทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อทำการปฏิรูป แต่หลายฝ่ายมองว่า การปฏิรูปในด้านอื่นๆ ยังไม่เพียงพอ และแรงงานข้ามชาติยังคงเผชิญกับการละเมิดสิทธิอย่างมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีนายจ้างจำนวนมากที่ทำการ ‘ตอบโต้’ ข้อกำหนดต่างๆ ในรูปแบบของการยกเลิกใบอนุญาตให้พำนักอาศัยของแรงงาน การยื่นข้อหาหลบหนีให้แรงงาน หรือข่มขู่แรงงาน ขณะที่นายจ้างหลายแห่งพยายามเรียกเก็บเงินจากแรงงานจำนวนมากในการยกเลิกสัญญาจ้าง
ฟุตบอลโลกกำลังจะเปิดฉากอีกเพียง 1 อาทิตย์ แต่แรงงานที่อยู่เบื้องหลัง ‘ความสวยงาม’ ของภาพการแข่งขันในครั้งนี้ยังคงเผชิญกับความสูญเสีย การละเมิด และการทารุณกรรม ในขณะที่หากส่งเสียง พวกเขาก็เสี่ยงที่จะต้องถูกเนรเทศอย่างไม่เป็นธรรม
นี่เป็นเรื่องที่มากกว่าฟุตบอล แต่มันคือเรื่องของความเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก่อนที่มันจะกลายเป็น ‘รอยด่าง’ ที่ฝังในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก และไม่อาจลบเลือนได้อีก
แต่ไม่แน่ว่ามันอาจเป็นเช่นนั้นไปแล้ว
อ้างอิง
https://lawforasean.krisdika.go.th
https://www.youtube.com/watch?v=2ALeYFi_1hg
https://en.wikipedia.org/wiki/Kafala_system
Tags: สิทธิมนุษยชน, ฟุตบอลโลก, กาตาร์, Game On, World Cup 2022, Qatar, Kafala System, ระบบคาฟาลา, แรงงานต่างด้าว