1.
“พวกทหารรัสเซียเคยสัญญาว่าจะอยู่ที่นี่ตลอดไป”
นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียได้รุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกยึดครอง แต่คนยูเครนก็รวมใจสู้ สามารถยันทัพผู้บุกรุกไว้ได้ แม้ดินแดนทางฝั่งตะวันออกจะถูกปกครอง แต่การทำให้ทหารรัสเซียไม่สามารถบุกรุกกลืนทั้งประเทศได้ แม้จะใช้ความโหดเหี้ยมเท่าไรก็ตาม ยูเครนยันอยู่ นับเป็นผลงานที่น่าตื่นตะลึงไปทั้งโลก
สถานการณ์ล่าสุดก็คือทหารยูเครนสามารถขับไล่ทหารรัสเซียได้อย่างต่อเนื่อง ความหวังเรืองรองของคนยูเครนที่จะมีโอกาสได้ดินแดนที่ถูกปกครองกลับคืนมา ดูมีแววขึ้น และรัสเซียประกาศเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง ตาต่อตาฟันต่อฟัน โลกระอุยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ภายใต้สถานการณ์ที่ยูเครนดูได้ลุ้น ทุกคนหวังจะขับไล่ศัตรูผู้รุกรานชาวรัสเซียออกไป ที่เมืองเบลโกรอด (Belgorod) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่ติดชายแดนยูเครน ห่างเพียง 40 กว่ากิโลเมตร ดูเหมือนคนที่นี่จะวิตกมากกว่าเดิม
รัสเซียทั้งประเทศ ไม่ได้รู้สึกถึงภัยสงครามมากนัก ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ไปเมืองหลวงมอสโกเห็นว่าคนที่นี่ยังเที่ยวราตรี ออกมาช็อปปิง แม้ร้านแบรนด์เนมหลายแห่งจะถอนตัวออกไป แต่ยังมีสินค้าเลียนแบบแมคโดนัลด์ สตาร์บักส์ อีกทั้งสินค้าแบรนด์เนมหลายแห่งก็ยังไม่ถอนตัวออกไป ยังสามารถเลือกซื้อกันได้
อย่างไรก็ดี ที่เมืองเบลโกรอดแห่งนี้ ด่านแรกของรัสเซียที่ติดกับยูเครน พวกเขาได้ลิ้มรสชาติแห่งสงครามกันแล้ว เสียงระเบิดดังกระหึ่มใกล้ๆ ชาวเมืองต่างรู้สึกถึงเสียงกู่ร้องกึกก้องแห่งสัตว์สงครามที่กำลังโรมรันอยู่ไม่ห่าง
ไม่เพียงแต่คนรัสเซียเท่านั้นที่รับรู้อันตรายแห่งศาสตร์ของการเข่นฆ่า พวกเขายังต้อนรับคนยูเครนนับพันที่หนีตายเอาตัวรอดจากสงครามมายังดินแดนแห่งนี้
เราอาจเรียกพวกเขาได้ว่า ‘ยูเครนทิ้งแผ่นดิน’
2.
คนยูเครนกลุ่มนี้แตกต่างจากประชากรยูเครนทั่วไปที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานมายังรัสเซีย หรือเชลยศึกที่ถูกจับกุมและโดนคุมขังในดินแดนศัตรู ถูกทรมานอย่างโหดร้าย แต่คนยูเครนทิ้งแผ่นดินเหล่านี้เป็นผู้อาสาตั้งใจที่จะย้ายจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนในยูเครน แผ่นดินของพวกเขา สู่ดินแดนของรัสเซีย ที่ซึ่งรัฐบาลยูเครนและคนทั้งโลกประกาศว่าคือผู้รุกราน แต่สำหรับพวกเขาแล้ว มันคือสถานที่ปลอดภัยต่อชีวิต ต่อครอบครัว และต่อทหารยูเครนด้วย
ต้องเข้าใจก่อนว่าดินแดนยูเครนที่ติดกับชายแดนรัสเซียนั้น พวกเขาต่างรับรู้วัฒนธรรมกันไปมา หลายคนพูดภาษารัสเซียคล่องปากกว่าภาษายูเครน ยกตัวอย่างที่แคว้นดอนบาส (Donbas) ซึ่งถูกทหารรัสเซียยึดครองไปในปี 2014 นั้น ก่อนหน้านี้คนดอนบาสก็มีความสนิทกับรัสเซียอยู่แล้ว
การบุกรุกรานของรัสเซียปลุกกระแสขัดแย้งในดินแดนแห่งนี้ ประชากรยูเครนบางส่วนคัดค้านขับไล่ทหารยูเครนที่พยายามปกป้องดินแดน เรื่องนี้สร้างความตกใจให้กองทัพยูเครนอย่างมาก คนพื้นที่หลายคนปฏิเสธอพยพออก บางทีก็ไปขวางการเดินทัพของยูเครนด้วย
“ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ไว้ใจกองทัพ และไม่ไว้ใจรัฐบาลยูเครน”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาคำพูดของหญิงชราที่อาศัยในเมือง เธอพูดกับนักข่าวท่ามกลางเสียงระเบิดว่า “ฉันไม่ไปไหนทั้งสิ้น ฉันอยู่ที่นี่มา 40 ปีแล้ว โคตรเหง้าศักราชก็ถูกฝังที่นี่ คนที่จะมาปกป้องเราอยู่ไหน ทำไมพวกเขาไม่มาล่ะ”
ที่แคว้นดอนบาสแห่งนี้ วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) พระเจ้าซาร์องค์ใหม่ ผู้ปกครองรัสเซียได้เผยแพร่ข่าวลวง โฆษณาชวนเชื่อมาอย่างยาวนานว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งของรัสเซีย อย่างไรก็ดีสำหรับบางคน แม้จะพูดรัสเซียเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่พวกเขาก็ถือตัวว่าเป็นคนยูเครน
โดยเขาย้ำว่าหากต้องตกอยู่ภายใต้รัสเซีย หายนะจะต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะมันจะไม่มีการพัฒนา ไม่มีกฎหมาย ชีวิตก็ไม่ปกติ
ชายคนหนึ่งยืนยันว่าดอนบาสเป็นของยูเครนมาแต่ไหนแต่ไร ท่ามกลางประชาชนในพื้นที่ซึ่งคิดว่าการอยู่กับรัสเซียก็ไม่ได้เสียหายอะไร
สำหรับชายคนนี้ วันหนึ่ง ทหารยูเครนแล่นทัพผ่านมา นายพันคนหนึ่งเดินลงมาเจอเขา ก่อนจะเอาพานท้ายปืนกระแทกหน้า จนเลือดอาบ เพราะเชื่อว่าคนในแคว้นดอนบาส เป็นพวกโปรรัสเซียทั้งหมด
แม้จะเลือดอาบ แต่ผู้บาดเจ็บก็ยังย้ำว่า ตัวเองคือคนยูเครน “ทหารเลวๆ สักตัว ไม่ได้เป็นภาพแทนของกองทัพทั้งหมด”
กองทัพยูเครนไม่เคยยืนยันว่าเหตุการณ์ทำร้ายพลเรือนนี้เกิดขึ้นจริง แต่พวกเขาย้ำว่า ในแคว้นดอนบาสที่ซึ่งสงครามต่อต้านการปกครองยังดำเนินอยู่ มีสายลับรัสเซียเต็มไปหมด
บางทีความไม่ไว้ใจกันในดินแดนแห่งนี้ อาจเกิดขึ้นก่อนรัสเซียจะรุกรานในปี 2022 อีกด้วย
3.
เดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประชาชนยูเครนรวมตัวกันที่กรุงเคียฟ (Kyiv) เมืองหลวงของประเทศ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีที่โปรรัสเซีย มันก่อกำเนิดเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน ชัยชนะนำไปสู่การกวาดล้างนักการเมืองที่นิยมชมชอบในดินแดนที่ปูตินปกครอง ไม่เพียงแต่ความภูมิใจในการเป็นยูเครนจะเลื่องลือขึ้นเท่านั้น
แต่ชาตินิยม เราคือชาวยูเครน สร้างพลังหลอมรวมสังคมยิ่งขึ้น นั่นทำให้ประชาชนบางส่วนซึ่งมีใจให้กับรัสเซียได้รับผลกระทบ ร้านค้าหลายแห่งขึ้นป้ายว่า จะขายสินค้าให้กับคนที่พูดภาษายูเครนเท่านั้น นั่นทำให้หญิงชราหลายคนครุ่นคิด นี่พวกเราอยู่ในดินแดนแบบนี้ได้อย่างไร
ความไม่พอใจเหล่านี้ของคนยูเครนจำนวนหนึ่ง แสดงออกไม่เพียงแต่ขวางกองทัพของชาติตัวเองเท่านั้น ทหารยูเครนได้เห็นประชาชนที่ตัวเองโถมกายเข้าสู้เพื่อปลดปล่อยจากการยึดครองของยูเครน ชูนิ้วกลางด่ากลับ
สิ่งเหล่านี้ก่อกำเนิดไปสู่ความไม่เชื่อใจกันระหว่างกองทัพยูเครนกับประชาชนในแคว้น นั่นทำให้ปูตินได้เพาะบ่มความไม่พอใจ โดยบอกว่าจริงๆ แล้ว กรุงเคียฟไม่ต้องการแคว้นดอนบาสหรอก
นี่เป็นการลวงข้อมูลเท็จเพื่อปูทางสู่การยึดครอง เพราะประชาชนหลายคนในแคว้นนี้ยืนยันว่า แม้พวกเขาจะพูดรัสเซีย แม้พวกเขาจะผูกพันกับดินแดนรัสเซีย แต่พวกเขาคือคนยูเครน
อย่างไรก็ดีในดินแดนที่คำโกหกถูกหว่านไปทั่ว ดูเหมือนมีคนยูเครนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าตัวเองอยู่กับรัสเซียดีกว่า
4.
ย้อนกลับไปที่เมืองเบลโกรอด ทางปูตินเคยออกนโยบายประชานิยมเพื่อชนชาวยูเครน โดยการโฆษณาว่าหากมีชาวยูเครเนี่ยน ย้ายมาตั้งรกรากในดินแดนรัสเซีย ก็จะได้เงินช่วยเหลือคนละ 130 เหรียญสหรัฐฯ ทันที ซึ่งรัสเซียใช้เงินหว่านล้อมนี้ถึง 60 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่รัฐบาลยูเครนได้โต้กลับย้ำว่า พวกเขาไม่ใช่ศัตรูของประชาชน อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะมีประชาชนบางส่วนตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากยูเครนบ้านเกิดเมืองนอน สู่รัสเซียไปแล้ว
ในอีกฟาก ความเกลียดชังรัสเซียโดยคนยูเครนจะพุ่งสูง แต่ในเมืองเบลโกรอดแห่งนี้ คนรัสเซียที่นี่ดูจะเข้ากันได้ดีกับคนยูเครน พวกเขาอพยพหนีตายภัยสงครามมาเป็นพันคน อาศัยในอพาร์ตเมนต์ กางเต็นท์ที่ทางการจัดไว้ให้
ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ 2 ชาติที่เบลโกรอด จะเห็นได้ยาก ทุกคนเอื้อเฟื้อต่อกัน เรื่องราวตรงนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าในสงครามและการรุกรานนั้น มันมีอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนมักไม่ให้ความสนใจ ทั้งรัสเซียและยูเครน
สำหรับประชาชนแล้ว พวกเขาคือเหยื่อรายแรกแห่งสงครามเสมอ
ชาวบ้านยูเครนที่หนีตายไปยังรัสเซียนั้น พวกเขาต้องการแค่อย่างเดียว ‘ความสงบสุข’ เมื่อบ้านเกิดเมืองนอนเต็มไปด้วยระเบิดที่ถล่มกันแทบทุกชั่วโมง กระสุนที่ปลิวว่อน ความตายที่ไม่เคยสนใจว่าจะเป็นทหารฝั่งใด ราษฎรยูเครนจำนวนมากตัดสินใจอพยพครอบครัวมายังรัสเซีย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
“ผมอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนยูเครนที่หนีมารัสเซียนั้น หลายคนทำงานให้กับหน่วยงานรัฐการช่วงรัสเซียยึดครอง พวกเขาเป็นหมอ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อขับเคลื่อนระบบรัฐให้ดำเนินต่อไปได้
จากการสัมภาษณ์ของสื่อ คนที่หนีออกมาจากดินแดนยึดครองของรัสเซีย ซึ่งต้องถอนทัพอย่างไม่เป็นโล้เป็นพาย เรียกได้ว่าหมดท่า หลังยูเครนโต้กลับ ประชาชนที่หนีตายมายังเมืองเบลโกรอด พบว่ากองทัพยูเครนได้เข้าไปในสถานที่รัฐการ และพบรายชื่อคนที่รับทำงานและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกรัสเซีย
ความร่วมมือนี้หลายคนทำเพื่อจะได้ไม่อดตาย เพื่อจะให้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ และเพื่อให้อาชีพดำเนินต่อไปได้ แต่ในสงคราม มันคือความโหดร้าย การจับมือช่วยงานศัตรู ถือเป็นความผิด ที่ต้องถูกลงโทษ ต้องติดคุกระหว่าง 10-15 ปีเลยด้วย
นั่นทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ตัดสินใจหนีจากยูเครนไปสู่รัสเซีย นี่คือความจริงอีกด้านที่สงครามมักไม่ได้บอกเล่าไว้ ขอยกตัวอย่าง การรุกรานของนาซีเยอรมันในฝรั่งเศส ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งให้ความร่วมมือกับนาซี ผู้หญิงหลายคนเผชิญสภาวะอดอยากอาหาร และต้องเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อต้องร่วมมือกับศัตรู เพื่อจะได้ไม่อดตาย พวกเธอจึงยอมทำ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสหลายคนที่ทำงานให้นาซี
สุดท้ายเมื่อฝรั่งเศสถูกปลดปล่อย ในวันที่ปารีสขับไล่นาซี คนที่ร่วมมือกับเยอรมันถูกลงโทษอย่างรุนแรงหนักหน่วง หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเคยร่วมมือกับนาซีแปรเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้รักชาติขึ้นมา ไล่ลงโทษคนอื่นอย่างเกินหน้าเกินตา
กรณีเช่นนี้ยังมีให้เห็นในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อชาวบ้านที่ถูกยึดครองสลับไปมาระหว่างกองทัพเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ต่างถูกกวาดล้าง ถูกผลักไปมาว่าเป็นศัตรูของแผ่นดิน ทั้งที่พวกเขาก็แค่ต้องการเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น
นี่คือความโหดร้ายที่คนนิยมสงครามมักไม่อยากพูดถึง
ประวัติศาสตร์เดินซ้ำรอยเสมอ ดังเช่นคนยูเครนหลายคน แม้จะมีโทษติดคุก 10-15 ปี แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทหารยูเครนที่พกความแค้นพวกรัสเซียมาเต็มที่ จะไม่ยิงพวกเขาทิ้งเพียงเพราะช่วยเหลือศัตรูของชาติ
ความหวาดกลัวนี้ ทำให้บางคนยอมรับว่า อยากให้พวกรัสเซียกลับมายึดครองอีกครั้ง อย่างน้อยชาติอาจเป็นชุมชนจินตกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่การอยู่ใต้ศัตรูทำให้พวกเขาปลอดภัยมากกว่า
นี่ช่างเป็นความจริงที่น่าถกเถียงยิ่งนัก
ระหว่างชาติที่เราเกิด กับชีวิตที่เราเป็น ความรักแผ่นดิน หรือความสุขสบายแห่งชีวิต ส่วนรวมหรือปัจเจก เราควรจะเลือกอะไร ระหว่างที่คนที่เรารักกับสังคมที่เรายึดมั่น
บางทีคำตอบมันอาจไม่มีถูกผิดก็เป็นได้
5.
เดิมเบลโกรอด อยู่ไม่ไกลจากคาร์คีฟ (Kharkiv) ของยูเครน หลายคราคนเบลโกรอด จะข้ามไปเที่ยวคาร์คีฟเสมอ เพราะที่นี่มีความงาม มีร้านอาหารอร่อย ช่วงสุดสัปดาห์ อาจจะเห็นคนรัสเซียในดินแดนยูเครนมากเป็นพิเศษ
แต่เพราะความขัดแย้งที่ปูตินบ่มเพาะมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2014 ทำให้คนเมืองคาร์คีฟ ปลุกชาตินิยม ไม่ขอพูดภาษารัสเซีย ซึ่งพวกเขาก็พูดกันคล่องปาก เรื่องนี้ทำให้คนคาร์คีฟบางคนที่อยากดูหนังรัสเซีย ต้องข้ามฝั่งมาเบลโกรอดแทน
ไม่เพียงแต่คนคาร์คีฟจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง คนเบลโกรอดก็เจ็บช้ำเช่นกัน เพราะสำหรับพวกเขา ดินแดนของยูเครนนี้ มีความผูกพันกันมาก ระหว่าง 2 เมือง พวกเขาใกล้ชิดกว่าที่คาด
แต่เพราะสงครามโดยคนเพียงไม่กี่คน มันได้เชือดเฉือนหัวใจของประชาชน 2 แดนดินให้กลายเป็นศัตรูกัน และความขัดแย้งนี้จะอยู่ยาวนาน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นยูเครนบนแผ่นดินรัสเซีย หรือคนรัสเซียที่หลงรักความงามแห่งยูเครน การรุกรานครั้งนี้จะสร้างบาดแผลให้ชน 2 ชาตินี้ไปอีกยาวนาน ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร และสิ้นสุดอย่างไร
คำตอบอาจไม่ได้อยู่ในสายลม แต่ทำให้รู้ว่า สงครามเป็นสิ่งประดิษฐ์น่ารังเกียจที่สุดของมนุษย์ ซึ่งผ่านมานับพันปี ก็ไม่เคยมีใครคิดจะยุติมันลง
และคนที่ซวยสุดๆ ก็คือประชาชนคนธรรมดานี่เอง
อ้างอิง
- https://www.nytimes.com/2022/09/17/world/europe/ukraine-war-donbas-putin.html
- https://www.nytimes.com/2022/02/19/world/europe/fleeing-from-ukraines-separatist-regions-to-russia-many-blame-kyiv-for-the-intensifying-conflict.html
- https://www.nytimes.com/2022/09/14/world/europe/russia-ukraine-border-belgorod.html
- https://www.theguardian.com/world/2022/sep/15/ukraine-russia-local-allies-flee
- https://www.aljazeera.com/news/2022/6/17/ukrainians-in-russia-blame-european-governments-for-ongoing-war