เมืองอูล์ม ปี 1939 ในความมืดของค่ำคืน หนุ่มคนหนึ่งกำลังเดินย่องไปรอบๆ อาคารศาลของเมือง ก่อนหน้านั้นไม่นาน เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาเพิ่งปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘เยาวชนฮิตเลอร์’ ส่งผลให้เขาไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เด็กหนุ่มจึงถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มด้วย นอกจากนั้น เขายังคิดอยากจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง เพื่อสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
เช้าวันรุ่งขึ้น ปรากฏมีผ้าโพกสวัสติกะผูกตารูปปั้นเทพแห่งความยุติธรรม (Justitia) ที่บริเวณด้านหน้าศาลของเมืองอูล์ม ไม่มีใครพบร่องรอยของผู้กระทำ เด็กหนุ่มที่เอาตัวเข้าเสี่ยงนั้นเป็นคนจากครอบครัว ‘ชอลล์’ (Scholl) แต่ไม่ใช่ฮานส์ หรือน้องสาว-โซฟี ชอลล์ ที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม ‘กุหลาบขาว’ ต้านกฎหมายและระบบการปกครองของนาซี หากแต่เป็นฝีมือของแวร์เนอร์-น้องชาย
ทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึง ‘พี่น้องตระกูลชอลล์’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงฮานส์และโซฟี ความจริงแล้วพวกเขามีพี่น้องทั้งหมดหกคน ได้แก่ อิงเง (Inge) ฮานส์ (Hans) เอลิซาเบ็ธ (Elisabeth) โซฟี (Sophie) แวร์เนอร์ (Werner) และทิลเด (Thilde) พวกเขาเติบโตขึ้นในครอบครัวเสรีนิยม โรแบร์ต (Robert) ผู้พ่อเป็นคนใฝ่สันติ ส่วนแม่-มักดาเลนา (Magdalena) เคร่งในศาสนา ทั้งพ่อและแม่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างให้กับลูกๆ โรแบร์ต ชอลล์ซึ่งเป็นนักการเมืองประจำท้องถิ่นของเวิร์ตเทมแบร์ก เคยต่อต้านสงครามมาตั้งแต่ปี 1914 โดยปฏิเสธที่จะจับอาวุธไปออกศึก
มีผ้าโพกสวัสติกะผูกตารูปปั้นเทพแห่งความยุติธรรม (Justitia) ที่บริเวณด้านหน้าศาลของเมืองอูล์ม ไม่มีใครพบร่องรอยของผู้กระทำ เด็กหนุ่มที่เอาตัวเข้าเสี่ยงนั้นเป็นคนจากครอบครัว ‘ชอลล์’ (Scholl)
ปี 1943 ฮานส์ในวัย 24 ปี และโซฟีวัย 21 ปี เริ่มแสดงความกล้าหาญ หลังถูกเกสตาโปจับกุมตัว ทั้งสองให้การรับสารภาพว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวที่เขียนบทความต่อต้านฮิตเลอร์และพิมพ์ใบปลิวออกแจกจ่ายหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงใบปลิวชุด ‘เพื่อนนักศึกษา! เพื่อนนักศึกษา!’ ออกแจกจ่ายที่มหาวิทยาลัยมิวนิกในตอนเช้าของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ก่อนเป็นเหตุให้พวกเขาถูกจับกุมตัว ทั้งสองก็แสดงความรับผิดชอบ นอกจากนั้น ฮานส์ยังเป็นคนขึงป้ายผ้าที่มีประโยคคำว่า ‘ฮิตเลอร์ออกไป!’ บนอาคารข้างมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ทั้งสองรับสารภาพโดยปราศจากความเกรงกลัวต่อการระวางโทษความผิด พวกเขาอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่า ทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือและการจัดการของพวกเขาเอง จนกลุ่มเพื่อนที่ตกเป็นเป้าต้องสงสัยเรียกขานพี่น้องทั้งสองคนว่า ‘ปลอดการเมือง’ การที่คริสทอฟ โพรบส์ต (Christoph Probst) สมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวอีกคนถูกจับกุมตัวในวันถัดมานั้น เป็นเรื่องที่สองพี่น้องไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ท้ายที่สุด โซฟีเป็นฝ่ายเอ่ยปาก ขอให้พี่ชายของเธอพ้นจากโทษและข้อกล่าวหา แต่ฮานส์ยังยืนกราน “สิ่งที่ฉันทำ ฉันรู้และไตร่ตรองดีแล้วว่า ฉันจะต้องแลกมันด้วยชีวิต”
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 วันนั้นสำหรับทั้งสองได้คืบคลานมาถึง
เช้าของวันไต่สวนคดี บรรยากาศเต็มไปด้วยความระทึก เก้าอี้ภายในศาลมีคนในชุดเครื่องแบบนั่งกันเนืองแน่น ผู้พิพากษาเดินทางตรงมาจากเบอร์ลิน เพื่อตัดสินคดีนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อของเขาคือ โรลันด์ ไฟรสเลอร์ (Roland Freisler) ที่แสดงตัวตนชัดเจนว่าเป็น ‘ทหารฝ่ายการเมือง’ ของฮิตเลอร์ และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เป็นผู้พิพากษาที่ชอบพูดจาข่มขู่และตะคอกจำเลย
การตัดสินคดีความสมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวจะเป็น ‘งานโชว์’ เพื่อปรามฝูงชน แต่สองพี่น้องตระกูลชอลล์ไม่ได้แสดงออกถึงความเกรงกลัวใดๆ พวกเขามีความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ กล่าวตอบทุกคำถามด้วยสีหน้าและท่าทีสงบ ชัดเจน และกล้าหาญ
ฮานส์ยังยืนกราน “สิ่งที่ฉันทำ ฉันรู้และไตร่ตรองดีแล้วว่า ฉันจะต้องแลกมันด้วยชีวิต”
ท่าทีของสองพี่น้องที่มีต่อนาซีไม่ได้ชัดเจนอย่างนี้มาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านั้นบรรดาลูกๆ ในครอบครัวชอลล์เคยปลาบปลื้มกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ‘เยาวชนฮิตเลอร์’ (HJ – Hitlerjugend) และ ‘สมาคมเด็กสาวเยอรมัน’ (BDM – Bund Deutscher Mädel) บ่อยครั้ง พวกเขาถึงกับมีปากเสียงกับพ่อแม่ เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน แต่แล้ว ปี 1936 ฮานส์ ชอลล์ ที่ขณะนั้นอายุ 17 จู่ๆ ก็ผละออกจากที่ประชุมพรรค NSDAP (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei – พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือพรรคนาซี) ในเนิร์นแบร์ก ผลุนผลันกลับมาบ้าน
ยามนั้นเขาเหมือนคนตาสว่าง เข้าใจและรู้เห็นสถานการณ์เลวร้ายที่สังคมและบ้านเมืองเยอรมนีกำลังเผชิญ หลังจากนั้น พี่น้องตระกูลชอลล์ก็เริ่มมีปัญหาทั้งกับกลุ่ม HJ และ BDM กระทั่งท้ายที่สุดพวกเขาก็หลุดจากตำแหน่งผู้นำกลุ่มไป
แวร์เนอร์และฮานส์ ชอลล์ ผันตัวเองมาเข้ากลุ่ม ‘สมาพันธ์เยาวชน’ ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามของนาซี เมื่อปี 1937 เด็กหนุ่มทั้งสองคนถูกจับข้อหาเป็นสมาชิกกลุ่มต้องห้าม โรแบร์ต ชอลล์-ผู้เป็นพ่อถึงกับประกาศผ่านไปถึงฮิตเลอร์ “ถ้าพวกเขาทำอะไรลูกๆ ของผมละก็ ผมจะเดินทางเข้าเบอร์ลิน และจัดการฮิตเลอร์ด้วยมือของผมเอง”
ความเชื่อมั่นและความแกร่งกล้าเช่นเดียวกันนี้ส่งต่อถึงฮานส์และโซฟี ชอลล์ ให้ก่อตั้งกลุ่มกุหลาบขาวขึ้น เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องที่กำลังเกิดขึ้นในเยอรมนี
ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 ขณะที่ยืนอยู่ต่อหน้าโรลันด์ ไฟรสเลอร์-ผู้พิพากษาขั้วตรงข้าม โซฟี ชอลล์มีความรู้สึกคล้ายมีพลังหนุนหลัง “สิ่งที่เราเขียนและพูดล้วนเป็นสิ่งที่พวกคุณก็คิดเหมือนกัน เพียงแต่พวกคุณไม่กล้าพอที่จะพูดมันออกมา” เธอพูดต่อหน้าศาลและผู้คนในโถงที่ไม่แสดงปฏิกิริยาตอบรับใดๆ เลย
ทนายซึ่งที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้มาว่าความแก้ต่างให้กับจำเลย พยายามอธิบายออกตัวว่า เขารู้สึกละอายใจแทนลูกความของตน ทันใดนั้นเองก็เกิดเสียงอึกทึกขึ้นในห้องโถงศาล ชายวัยกลางคนคนหนึ่งพุ่งพรวดออกมาตรงระเบียงทางเดินด้านหน้า เขาคือโรแบร์ต ชอลล์ ซึ่งมาคอยให้กำลังใจลูกๆ และก่อนหน้านี้เคยต้องโทษจำคุกนานสี่เดือนในข้อหาพูดจาลบหลู่ ‘ผู้นำ’ เขาเอ่ยปากขอความเมตตาจากศาล ทว่าไฟรสเลอร์ไม่ฟังความ และให้เจ้าหน้าที่นำตัวชอลล์ออกไป ระหว่างที่ชอลล์ถูกฉุดกระชากออกไปนั้น เขาตะโกนเตือนไฟรสเลอร์ “อย่าลืมว่ามันยังมีความยุติธรรมอย่างอื่น”
“สิ่งที่เราเขียนและพูดล้วนเป็นสิ่งที่พวกคุณก็คิดเหมือนกัน เพียงแต่พวกคุณไม่กล้าพอที่จะพูดมันออกมา” เธอพูดต่อหน้าศาลและผู้คนในโถงที่ไม่แสดงปฏิกิริยาตอบรับใดๆ เลย
โดยไม่สนใจหรือชั่งใจใดๆ ผู้พิพากษาตัดสินลงโทษประหารชีวิตฮานส์และโซฟี ชอลล์ รวมทั้งคริสทอฟ โพรบส์ต จำเลยทั้งสามคนไม่แสดงอาการประหลาดใจ ฮานส์ลุกขึ้นชี้นิ้วไปที่คอกผู้พิพากษา “วันนี้คุณแขวนคอเรา พรุ่งนี้ก็ถึงตาคุณ!” การพิพากษาคดีในวันนี้สิ้นสุดลงด้วยคำพูดของคนในครอบครัวชอลล์ ไม่ใช่ของผู้พิพากษาไฟรสเลอร์
ตอนที่โรแบร์ต และมักดาเลนา ชอลล์ เดินทางไปพบลูกทั้งสองคนในชตาเดลไฮม์ ระหว่างเวลา 16-17 นาฬิกาในวันเดียวกันนั้น พวกเขายังไม่รู้ว่า นั่นคือการพบหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย หรือเป็นโมงยามสุดท้ายในชีวิตของฮานส์และโซฟี ฮานส์ให้คำมั่น เขาจะไม่คิดแค้น และจะทิ้งความเคืองขุ่นทั้งหมดไว้เบื้องหลัง ผู้เป็นพ่อสวมกอดเขา และให้คำสัญญา “ลูกๆ จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์”
โซฟีก็เช่นกัน เธอเผชิญหน้าพ่อกับแม่ด้วยสีหน้าเรียบเฉย ปราศจากความกลัว และเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอและแม่ต่างให้ความหวังซึ่งกันและกัน – ก่อนที่เธอจะผละจาก ผู้เป็นแม่พูดคล้ายนึกอะไรขึ้นมาได้ว่า พระเยซูจะอยู่เคียงข้างโซฟี “พระองค์จะอยู่เคียงข้างแม่ด้วย” ลูกสาวบอก ก่อนก้าวเดินออกจากห้อง
ความเข้มแข็งและกล้าหาญของคนหนุ่มสาวทั้งสามคนนั้น แม้แต่ผู้คุมเองก็ยังรู้สึกได้ ขณะนำนักโทษประหารทั้งสามออกไปสูบบุหรี่เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็ได้เวลา คำสั่งประหารระบุที่เวลา 17 นาฬิกา
“อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เราก็จะไปพบกันในความเป็นนิรันดร์แล้ว” โพรบส์ตบอก โซฟีก้าวเดินออกไปเป็นคนแรก นัยน์ตาไม่แสดงความหวั่นกลัวแม้สักนิด จากนั้นเป็นฮานส์ที่ยังตะโกนร้อง “เสรีภาพจงเจริญ!” บนแท่นประหาร และคนสุดท้ายที่ก้าวไปสู่ความตายคือคริสทอฟ โพรบส์ต
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สมาชิกครอบครัวชอลล์ที่รอดชีวิตมาได้คือพ่อกับแม่ และลูกสาวอีกสองคน-อิงเง และเอลิซาเบ็ธ ส่วนทิลเดเสียชีวิตในวัยเด็ก ฮานส์และโซฟีถูกประหาร ส่วนแวร์เนอร์นั้นหายตัวไปในรัสเซียตั้งแต่ปี 1944
ในตอนเช้าของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 ก่อนที่ผู้คุมจะนำตัวฮานส์ ชอลล์ใส่โซ่ตรวนพาออกไปยังห้องโถงศาล ฮานส์เขียนข้อความด้วยดินสอบนผนังห้องขัง ‘ขอจงรับพลังทั้งหมดเพื่อป้องกัน” ซึ่งเป็นประโยคจากงานเขียนของเกอเธ เป็นคำทิ้งท้ายของฮานส์ และส่งถึงพ่อแม่ของเขา
และนั่นคือคำขวัญของครอบครัวชอลล์
หมายเหตุ: โรลันด์ ไฟรสเลอร์ เสียชีวิตในเบอร์ลินเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1945 จากการโจมตีด้วยระเบิด
อ้างอิง:
- Spiegel Online
- www.politicalbeauty.de
- karlrobertreiten.de