เรารู้กันดีว่าประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติแอฟริกันนั้นเจ็บปวดแค่ไหน และเราก็เห็นว่าวัฒนธรรมชนเผ่าที่ถูกกดทับมายาวนานจากการล่าอาณานิคม ได้บ่มเพาะจนเกิดเป็นวัฒนธรรมป็อปที่เป็นสีสันสำคัญของโลกใบนี้ เช่นที่เรารู้จักกันดีอย่างดนตรีคนดำ (Black Music) —ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี โซล ฟังก์ แจ๊ซ และอีกนับไม่ถ้วน ที่ใครได้ยินก็อดใจไม่ไหวต้องยักไหล่ตาม

แต่คราวนี้เราอยากพูดถึงอีกผลผลิตหนึ่งจากรากเหง้าชาวแอฟริกัน นั่นคือ แอโฟรฟิวเจอริสม์ (Afrofuturism) ที่ถูกบอกเล่าอย่างถึงเครื่องในหนัง Black Panther พร้อมแทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลักอย่างงดงามในปี 2018

ก่อนอื่นขอแจ้งว่าบทความนี้จะใช้คำว่า ‘คนดำ’ แทน ‘คนผิวสี’ (ซึ่งที่จริงหมายความถึงพวกเราชาวเอเชียนได้ด้วย) ทั้งนี้เพื่อสื่อความโดยตรงถึงคนเชื้อสายแอฟริกัน และพยายามก้าวผ่านการย่ำอยู่กับบาดแผลจากการเหยียดเชื้อชาติ เพราะเรา—ผู้เขียน เชื่อว่าพวกเขาได้พ้นจากสถานะที่ต้อยต่ำหรือผูกติดอยู่กับการต้องถูกสงสารหรือเห็นใจมานานแล้ว ยิ่งกว่านั้น พบว่าชาวแอฟริกันบางส่วนก็สบายใจที่จะถูกเรียกว่าคนดำมากกว่าผิวสี เพราะเขาก็ไม่เห็นว่าการมีผิวสีดำนั้นมันไม่ดีตรงไหน

แอโฟรฟิวเจอริสม์ คือสุนทรียะอย่างหนึ่งที่ต้องการสื่อสารเรื่องความแข็งแกร่งของชาติพันธุ์ ผ่านภาพคนผิวดำในรูปลักษณ์ล้ำยุคและเหนือธรรมชาติ เป็นส่วนผสมของความเป็นไซ-ไฟ สัจนิยมมหัศจรรย์ กับวัฒนธรรมชนเผ่า เพื่อแสดงภาพของชาวแอฟริกันที่มีรากเหง้ายาวนานและไม่ได้ผูกติดกับความเป็นทาสอีกต่อไป ซึ่งทำให้บางสื่อเช่น The Huffington Post เรียกว่านี่คือ cultural movement

แม้คำว่าแอโฟรฟิวเจอริสม์จะถูกใช้ครั้งแรกก็เมื่อปี 1994 มาแล้ว (ในงานเขียน ‘Black to the Future’ โดยนักวิจารณ์ มาร์ก เดรี) แต่สุนทรียะแบบนี้มีจุดเริ่มต้นในยุค ’50s หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงอย่างศาสตราจารย์ ลิซา ยาซเซก (Lisa Yaszek) แห่งสถาบันวรรณกรรม สื่อ และการสื่อสารแห่งจอร์เจีย บอกว่าแรกเริ่มมันปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมของราล์ฟ เอลลิสัน (Ralph Ellison) เรื่อง Invisible Man ในปี 1952 ที่เล่าภาพโลกอนาคตของคนดำในอเมริกาเป็นเรื่องแรก

ในเวลาใกล้ๆ กัน แนวคิดนี้ได้เข้ามาผสมอยู่ในงานดนตรีเมื่อซันรา (Sun Ra) ศิลปินแจ๊ซชาวอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ ได้หยิบเอาความเชื่ออียิปต์โบราณมาโยงกับนิยายไซไฟบนปกอัลบั้ม และชุดบนเวทีคอนเสิร์ตที่ทำให้เขาดูเหมือนเทพเจ้าราห์ ผู้มาจากโลกอนาคต ทั้งยังเชื่อมโยงผูกพันกับอวกาศซึ่งน่าตื่นเต้นเป็นที่สุดสำหรับยุคนั้น

แม้จะฟังดูเพี้ยน แต่แนวคิดแบบนี้อยู่กับซันรามาตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย โดยเขาบอกว่าเคยเห็นภาพหลอนว่าตนถูกลักพาตัวไปยังดาวเสาร์ และเห็นคำทำนายโลกอนาคตบนนั้น ซึ่งอนาคตของโลกนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นเขานั่นเอง

แม้ในครั้งแรก ภาพไซไฟและเหนือจริงจะเป็นลายเซ็นของซันรามากกว่าจะเป็นอัตลักษณ์แบบใหม่ของคนดำ แต่ศิลปินเชื้อชาติแอฟริกันที่เชื่อในแนวคิดแบบแอโฟรฟิวเจอริสม์ก็ได้พยายามหยิบมันมาใช้อีกเมื่อมีโอกาส

ในปี 1970 เจย์ แจเรล (Jae Jarrell) หนึ่งในศิลปินกลุ่มแอฟริคอบรา (AfriCOBRA) ที่รวมกลุ่มกันในชิคาโกช่วงปี ’60s ได้ออกแบบ Revolutionary Suit เป็นชุดสูททูพีซที่ตกแต่งขอบเสื้อด้วยกระสุนปืน ก่อนที่ วาดสเวิร์ธ แจเรล (Wadsworth Jarrell) จิตรกรผู้เป็นสามีของเธอ จะนำชุดนี้ไปเป็นเครื่องแต่งกายของคนในภาพวาดของเขาด้วย

ความแอโฟรฟิวเจอริสม์ของซันรา

ชุด Revolution Suit ของเจย์ แจเรล

ในยุค ’60s ท่ามกลางวัฒนธรรมฮิปปี้ที่เฟื่องฟูในหมู่คนขาว และฮิปฮอปที่เฟื่องฟูในหมู่คนดำ กลุ่มแอฟริคอบราได้พยายามฉีกแนวออกไปทางอื่น เพื่อเป็นการ ‘ค้นพบตัวเองเสียใหม่’ เพราะแม้ฮิปฮอปจะให้ภาพคนดำที่กล้าแกร่งไม่แคร์ใคร แต่พวกแอฟริคอบราที่เชื่อในแอโฟรฟิวเจอริสม์ต้องการภาพที่ไปไกลกว่านั้น

พวกเขาเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกอนาคตที่ทุกคนกำลังมุ่งเข้าไปหา คล้ายว่าวางเผ่าพันธุ์ตัวเองให้เป็นจุดหมายปลายทางของมนุษยชาติ พร้อมกับบอกว่ามีรากฐานมาจากวัฒนธรรมโบราณเนิ่นนานแล้วอีกด้วย จากการหยิบเอาวัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิมมาหลอมรวมในเสื้อผ้าหน้าผมที่แสดงอัตลักษณ์ชัดเจนที่สุด

พักหลังมานี้สุนทรียะแบบแอโฟรฟิวเจอริสม์ปรากฏสู่สายตาชาวโลกบ่อยขึ้น อย่างเช่นภาพถ่ายของช่างภาพ เฟบริซ มอนเทโร (Fabrice Monteiro) ในชื่อชุด The Prophecy เมื่อปี 2015 ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งลุยเซียนา เป็นภาพถ่ายแฟชั่นโอต์ กูตูร์ ซึ่งทำจากเศษขยะในประเทศเซเนกัล เป็นการเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบแอโฟรฟิวเจอริสม์อย่างสะดุดตาผู้คน หากมองเผินๆ ภายใต้ความงดงามน่าเกรงขาม สาวผิวดำในภาพดูเหมือนจะเป็นหายนะของโลกใบนี้

ซึ่งนั่น มอนเทโรได้ให้ความหมายว่าหญิงสาวผิวดำเหล่านี้เป็นตัวแทนของบุตรสาวแห่งไกอา หรือมารดาผู้ให้กำเนิดโลก พวกเธอปรากฎกายเพื่อเตือนภัยมนุษย์โลกมากกว่าจะทำตัวเป็นหายนะเสียเอง

งานภาพถ่ายโดยศิลปินเฟบริซ มอนเทโร

ปัจจุบันเรายังเห็นศิลปินที่วางที่ทางตัวเองให้มีกลิ่นอายแอโฟรฟิวเจอริสม์ด้วยดนตรีหรือแฟชั่น เช่น เอฟเคเอ ทวิกส์ หรือโซแลง โนวส์ ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นอีกหนึ่งสไตล์ที่คนเริ่มคุ้นชินกันแล้ว ทั้งยังมีงานอาร์ตจากลินา วิคเตอร์, ไซรัส คาบิรู หรืออันเดอร์ด็อก ฯลฯ ที่รันวงการด้วยแอโฟรฟิวเจอริสม์อยู่ในยุคนี้

และในปี 2013 คำนี้ก็ได้ถูกขยายขอบเขตให้กลายเป็น ‘แอโฟรฟิวเจอริสม์ 2.0’ โดย เรย์นัลโด แอนเดอสัน นักวิชาการด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยแฮร์ริส-สโตว์ ซึ่งแน่นอน เป็นคนดำ มองว่าขอบเขตเดิมของแอโฟรฟิวเจอริสม์ ไม่ได้ครอบคลุมกว้างขวางเพียงพอสำหรับแนวคิดนี้ในศตวรรษที่ 21 ที่โซเชียลมีเดียส่งอิทธิพลแรงกล้า

นิยามใหม่ที่เขามอบให้ แอโฟรฟิวเจอริสม์ 2.0 ก็คือ—ขออนุญาตยกมาทั้งหมด “อัตลักษณ์ของคนดำที่ผ่านการวิวัฒน์โดยเทคโนโลยี (technogenesis) ในยุคต้นของศตวรรษที่ 21 ซึ่งสะท้อนชุดประวัติศาสตร์มุมกลับ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของซอฟต์แวร์ ที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย ตรรกะของฐานข้อมูล การสังเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิตัล ความสามารถในการผสมผสานเนื้อหาและวิธีการในการผลิตสื่อ ประสาทวิทยา การต่อยอดนวัตกรรมมนุษย์ ความเลื่อนไหลทางเพศ ลัทธิหลังมนุษย์นิยมที่อาจจะกำลังมาถึง และการประสานองค์ความรู้ทั้งหลาย เพื่อที่จะขับเคลื่อนลูกหลานเชื้อสายแอฟริกันให้แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียว”

จากคำนิยามนี้ เราพบว่าชาวแอฟริกันบางส่วนพร้อมแล้วเหลือเกิน ที่จะก้าวไปสู่อนาคตโดยละทิ้งบาดแผลเดิมไว้ข้างหลัง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็มีการจัดเทศกาล Afrofuturism Festival 2017 ในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ที่มีทั้งการจัดแสดงงานศิลปะ นวัตกรรม และงานเสวนาร่วมด้วย

งานภาพถ่ายโดยศิลปินลินา ไอริส วิคเตอร์

จนมาถึงปี 2018 นี้ แอโฟรฟิวเจอริสม์ ปรากฏตัวดังปัง ในหนังฮีโร่ Black Panther โดยมีประเทศวากันดาที่ไฮเทคที่สุด กับชาวเมืองที่สวมชุดพื้นเมืองแสนเก๋ท่ามกลางเทคโนโลยีล้ำยุค และมีองค์หญิงซูรี น้องสาวขององค์ชายทีชาลา เป็นหนึ่งในตัวละครที่ฉลาดที่สุดในจักรวาลมาร์เวล

แม้ก่อนหน้านี้ ออริจินัลของแบล็กแพนเตอร์จะถูกเขียนขึ้นโดยคนขาวอย่าง สแตน ลี และ แจ็ค เคอร์บี้ ในปี 1966 แต่ภายหลังคนดำได้มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างเต็มตัว เมื่อปี 1998 นักเขียนเชื้อสายแอฟริกันคริสโตเฟอร์ พรีสต์ ได้เข้ามารับผิดชอบคอมิก Black Panther แทน

และสำหรับหนังที่ปล่อยออกมาในปี 2018 นี้ ก็มีทีมงานหลักเป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน จนทำให้เสียงตอบรับจากคนดำเองเป็นไปในทางบวก ว่านี่คือหนัง ‘เพื่อพวกเรา โดยพวกเรา’ ที่แท้จริง (แม้หนังมันจะอนุรักษ์นิยมไปหน่อยก็เถอะ) และความโด่งดังของตัวหนังเองก็ทำให้ความหมายของแนวคิดนี้อาจจะไปใกล้กับ แอโฟรฟิวเจอริสม์ 2.0 ในแบบของแอนเดอสันได้มากยิ่งขึ้น

มองกลับมาในโลกความเป็นจริง หากโยนเรื่องของแอโฟรฟิวเจอริสม์ทิ้งไป วากานดาดูเหมือนจะเป็นยูโทเปียของคนดำอย่างไรอย่างนั้น ภาพสวยงามในหนังนั้นกลายเป็นฝันหวานๆ ที่มีไว้ให้เรามองอยู่ไกลๆ —แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น แม้ความจริงจะยังโหดร้ายอยู่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแอโฟรฟิวเจอริสม์เป็นความหวังสำคัญของใครหลายคน

นี่จึงเป็นสุนทรียะที่เราอยากเห็นอีกบ่อยๆ ไม่แพ้กับสุนทรียะแบบเอเชียที่เราหลงใหลเลยทีเดียว

 

 

อ้างอิง

Tags: , ,