หิมะเริ่มโปรยเกล็ดตอนเจ็ดโมงเช้า เรานั่งสัปหงกอยู่ในไออุ่นของสถานีรถไฟชั่วคราวที่ออชเฟียนชิม (Oswiecim) ในโปแลนด์ หลังจากโดยสารรถไฟข้ามพรมแดนมาจากกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ชาวโปลิชประจำสถานีสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ ซ้ำร้าย ตู้กดเงินแห่งเดียวในเมืองยังปฏิเสธบัตรพลาสติกจากประเทศไทย

เรามีทางเลือกเดียวคือแบกเป้น้ำหนักราว 20 กิโลกรัมฝ่าหิมะไปบนถนนแปลกหน้า บรรยากาศทึมเทาเข้ากับประวัติศาสตร์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมของประเทศโปแลนด์

ย้อนกลับไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง โปแลนด์ถูกลบหายออกไปจากแผนที่โลก เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือใจกลางทวีปยุโรป อีกทั้งยังขนาบข้างด้วยสองมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตและเยอรมัน ความพ่ายแพ้ทางทหารทำให้โปแลนด์ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งปกครองโดยเยอรมัน อีกส่วนหนึ่งดูแลโดยสหภาพโซเวียต และท้ายที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนาซีเยอรมันโดยสมบูรณ์

auschwitz

ป้ายทางเข้าค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ระบุว่า “จงทำงานเพื่ออิสรภาพ (ARBEIT MACHT FREI)”

ชื่อ ‘เอาชวิตซ์’ ที่คนทั่วโลกรู้จัก คือมรดกของการถูกยึดครองที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะนั่นคือชื่อที่ทหารนาซีเยอรมันตั้งให้กับเมืองออชเฟียนชิม

เราเดินเลียบไปตามทางรถไฟสายเล็กประมาณสองกิโลเมตร ทางรถไฟนั้นก็เลี้ยวไปทางขวา ส่วนทางซ้ายมือของเราคือลานกว้างที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ หน้าอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนา

‘จงทำงานเพื่อเสรีภาพ’ (ARBEIT MACHT FREI)

จงทำงานเพื่ออิสรภาพ (ARBEIT MACHT FREI) ประโยคแห่งความหวังเสมือนป้ายต้อนรับเหนือประตูเหล็กที่นักโทษต้องเดินผ่านทุกวัน มันคือคำหลอกลวงที่โหดร้าย เพราะไม่มีใครทำงานหนักจนได้รับอิสรภาพ เว้นแต่ว่าอิสรภาพนั้นหมายถึงความตายในค่ายกักกันแห่งนี้

พ้นรั้วประตูเข้ามา เราจะเห็นกลุ่มอาคารอิฐสีแดงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่ของนักโทษในค่ายกักกัน ตอนนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายแง่มุมทางประวัติศาสตร์ โดยเปิดให้เข้าชมได้ฟรีแต่ก็มีขนาดใหญ่มากจนเดินวันเดียวไม่หมด

ค่ายกักกันเอาชวิตซ์เป็นเพียงหนึ่งในค่ายกักกันกว่า 15,000 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วทวีปยุโรปในส่วนที่ถูกยึดครองโดยเยอรมัน และนักโทษที่อยู่ในค่ายกักกันไม่ได้มีเพียงชาวยิว แต่ยังรวมถึงทหารรัสเซีย ชาวโปแลนด์ที่ต่อต้านเยอรมัน และใครก็ตามที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเหล่านักโทษ

เราเดินตามหญิงร่างเล็กวัยกลางคนผู้นำทัวร์ในครั้งนี้ เธอบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า บริเวณลานหน้าอาคารที่เรายืนอยู่นั้น คือบริเวณที่เหล่านักโทษต้องยืนทนหนาวในเครื่องแต่งกายลายทางและรองเท้าไม้เก่าๆ ตั้งแต่ตี 3 เพื่อขานชื่อ แล้วรอให้เจ้าหน้าที่เดินทางมามอบหมายงานในเวลา 7 โมงเช้า และทำงานหนักจนถึงเย็น โดยมีแค่ขนมปังขึ้นรา ซุปเศษผัก และน้ำสกปรกตกถึงท้อง

ในสภาพการทำงานดังกล่าว นักโทษส่วนใหญ่มีชีวิตรอดอยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน ในอาคารมีภาพถ่ายผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันแห่งนี้ เขาและเธอผอมจนเหลือเพียงแต่กระดูก ส่วนใหญ่มักมีน้ำหนักไม่ถึง 30 กิโลกรัมด้วยซ้ำ ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ เขาและเธอก็มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนักหลังจากออกจากค่ายกักกัน

เราเดินมาถึงระเบียงแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายของเหล่านักโทษในค่ายกักกันเอาชวิตซ์ แต่ละใบระบุชื่อ สกุล สัญชาติ อาชีพ และการศึกษา แต่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง จบปริญญาเอกหรือมัธยมปลาย สายตาที่ส่งผ่านมาจากรูปภาพมันช่างเศร้า เศร้าจนผมลืมไม่ลง

‘แคนาดา’

เราเดินเข้ามาสู่อาคารอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ภาพสิ่งของกองพะเนินทำเอาผมผงะ แก้วน้ำ กาต้มน้ำ แว่นตา ขาเทียม รองเท้า กระเป๋าเดินทาง แม้กระทั่งเส้นผม สิ่งของเหล่านี้ทุกชิ้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นของนักโทษชาวยิวที่จากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะจากสาธารณรัฐเช็กและประเทศฮังการีที่ถูกกวาดต้อนมายังเอาชวิตซ์ในตู้ขบวนที่แน่นขนัดไม่ต่างจากรถขนส่งสัตว์

ตู้รถไฟสำหรับขนส่งนักโทษชาวยิว

เมื่อถึงค่ายกักกัน เหล่าแพทย์ทหารใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีชี้ว่าใครมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะนำไปใช้เป็นแรงงานทาส ราว 3 ใน 4 ของชาวยิวไม่ผ่านการคัดเลือกนั้น ชายที่ท่าทางอ่อนแอ สตรีที่มีทารก คนชรา และเด็ก จะถูกส่งขึ้นรถบรรทุกเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่สังหาร

ส่วนข้าวของของชาวยิวที่โดยสารมากับรถไฟจะถูกส่งไป ‘แคนาดา’ พื้นที่คัดแยกสิ่งของเพื่อนำไป ‘รีไซเคิล’

ชื่อแคนาดา มาจากมุมมองของคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองว่า แคนาดาคือดินแดนแห่งความมั่งคั่ง ที่ห้องนี้เองที่ทำให้ทหารนาซีเยอรมันบางคนร่ำรวยจากการขโมยสินทรัพย์ของชาวยิว สิ่งของที่ไม่มีค่ามากนักจะถูกนำไปขายทอดตลาดหรือแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากสงคราม แม้แต่เส้นผมของชาวยิวเองก็ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของสิ่งทอในเยอรมัน

ตัวอักษรสีขาวบนกระเป๋าเดินทางที่ระบุชื่อ สกุล บ้างเขียนที่อยู่อย่างละเอียด พอจะบอกได้ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทหารนาซีเยอรมันนั้นไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาคาดคิด เป็นเรื่องยากจะเชื่อว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเหี้ยมโหดเกิดขึ้นมาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคนด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงโดยถูกถ่ายทอดผ่านปากอดีตทหารนาซีเยอรมัน รวมถึงเหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังถูกบันทึกด้วยภาพถ่ายที่ทหารนาซี ‘ถ่ายเล่น’ เพื่อส่งเป็นโปสการ์ดไปให้กับครอบครัว

ความตาย ณ สถานีปลายทาง

ตอนบ่าย เราย้ายตัวเองจากค่ายกักกันเอาชวิตซ์แห่งแรกไปยังค่ายกักกันแห่งที่สองที่ชื่อว่า ค่ายกักกันเอาชวิตซ์แห่งที่สอง – เบียเคเนา (Auschwitz II – Birkenau) ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก หากใครเคยชมภาพยนตร์ชิ้นเอกอย่าง Schindler’s List คงจะคุ้นกับฉากรถไฟกลางดึกที่ขนผู้หญิงชาวยิวมายังค่ายกักกัน ฉากในภาพยนตร์จำลองขึ้นจากสถานที่ที่ผมกำลังยืนอยู่ ทางขวายังคงมีซากปรักหักพังของอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ควบคุมนักโทษกว่า 200,000 ชีวิตไกลสุดสายตา ส่วนปลายรางรถไฟ คือพื้นที่สังหารอันเลื่องชื่อของทหารนาซีเยอรมัน

ทางเข้าค่ายกักกันเอาชวิตซ์แห่งที่สอง – เบียเคเนา (Auschwitz II – Birkenau) ซึ่งมีรางรถไฟสำหรับขนชาวยิวไปยังพื้นที่สังหาร

ทหารนาซีทดลองหลายต่อหลายครั้งเพื่อหาวิธีการฆ่าที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ที่สุด จนมาพบวิธีสังหารหมู่โดยการรมด้วย Zyklon B ยาฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์ ทหารนาซีจะหลอกให้ผู้เคราะห์ร้ายถอดเสื้อผ้าออกให้หมด โดยแจ้งว่าจะให้อาบน้ำก่อนกวาดต้อนนักโทษเข้าสู่ห้องรมแก๊ส เมื่อประตูเหล็กถูกปิดล็อคอย่างแน่นหนา ห้องทั้งห้องจะถูกปกคลุมไปด้วยหมอกสีขาวและเสียงกรีดร้อง ผู้รับพิษต้องทนทรมานนานอย่างน้อยสองนาที เนื่องจากไซยาไนด์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการหายใจของเซลล์จนระบบร่างกายของมนุษย์ล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

ที่ปลายรางรถไฟ เด็กกลุ่มใหญ่กำลังยืนล้อมวง บางคนคลุมตัวเองไว้ด้วยผ้าสีขาวคาดฟ้า ตรงกลางประดับด้วยดาวหกแฉกหรือสัญลักษณ์ดาวของเดวิด (Star of David) ลวดลายที่บอกว่า พวกเขาคือลูกหลานชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่นานเสียงสวดมนต์ก็ดังก้องไปทั่วบริเวณ

“ให้สถานที่แห่งนี้เปรียบดั่งเสียงร่ำไห้และคำเตือนต่อมนุษยชาติถึงเหตุการณ์ที่นาซีฆาตกรรมบุรุษ สตรี และเด็กกว่า 1.5 ล้านคน โดยเฉพาะชาวยิวจากหลายประเทศในยุโรป”

ถ้อยคำสลักอยู่บนหลุมศพที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่ไร้ชื่อผู้ตาย อนุสรณ์ตั้งอยู่ปลายรางรถไฟ ไม่ไกลจากห้องรมแก๊สและสถานที่เผาศพของชาวยิว ที่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงซากเนื่องจากทหารนาซีตัดสินใจ ‘กลบเกลื่อน’ โศกนาฏกรรมที่ตนเองก่อขึ้น หลังจากที่รู้ว่าฝ่ายตนกำลังจะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

แผ่นจารึกเหนืออนุสรณ์สถาน ระบุข้อความว่า “For ever let this place be a cry of despair and a warning to humanity, where the Nazis murdered about one and a half million men, women, and children, mainly Jews from various countries of Europe. Auschwitz-Birkenau 1940 – 1945”

ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์โหดร้ายและปวดร้าว แต่ชาวโปแลนด์และชาวยิวกลับยืนหยัดที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ต่อไป พวกเขาปรับปรุงและบำรุงสถานที่แห่งนี้เอาไว้อย่างดี มีการพานำชมและบรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่จัดการโดยอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนาในราคาสบายกระเป๋า

หญิงชาวโปแลนด์ร่างเล็กผู้นำทัศนศึกษาเล่าว่า ครอบครัวของเธอก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แม้ความเจ็บปวดจะคลออยู่ในน้ำเสียง แต่เธอย้ำกับเราว่าไม่ได้เคียดแค้นทหารนาซีเยอรมัน เธอย้ำว่าต้องการให้ประวัติศาสตร์หน้านี้ถูกจดจำ ซากปรักหักพังที่อยู่รอบตัวเราคือสิ่งยืนยันถึงเหตุการณ์ทารุณกรรมที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ และเราต้องเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ผมอ้อยอิ่งดูพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า คำพูดประโยคสุดท้ายก่อนจากกันยังตรึงอยู่ในหัว เธอผู้เลือกที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่แสนจะเจ็บปวดเพื่อเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลัง แทนที่จะฝังกลบความทรงจำ แปะป้ายคำว่าให้อภัย และแสร้งทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจาก ในค่ายกักกัน, หญิงสาวกรีดเปิดรอยแผลของเธอเอง

 

ภาพประกอบหน้าแรก : ภาพมุมสูงของค่ายกักกันเอาชวิตซ์แห่งที่สอง – เบียเคเนา (Auschwitz II – Birkenau) ที่ยังคงโครงสร้างค่ายกักกันดั้งเดิมเอาไว้ โดยค่ายกักกันแห่งนี้ เป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดของนาซีเยอรมัน (จักรวรรดิไรซ์ที่ 3) โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้แรงงาน และพื้นที่สังหารนักโทษ

Fact Box

การเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากออชเฟียนชิม (Oswiecim) อยู่ค่อนข้างไกลจากวอซอ (Warsaw) เหมืองหลวงของโปแลนด์ ใกล้กับชายแดนของประเทศสโลวาเกีย ทางเลือกที่ง่ายที่สุดคือพักในเมืองคราเคา (Krakow) แล้วนั่งรถบัสหรือรถไฟมาที่ออชเฟียนชิม ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง

พื้นที่ของอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนา แบ่งออกเป็นสองส่วน คือค่ายกักกันแห่งที่หนึ่ง และค่ายกักกันแห่งที่สอง (เบียเคเนา) โดยทั้งสองแห่งเปิดให้เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้เขียนแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า ให้จองเพื่อเข้าร่วมไกด์ทัวร์ล่วงหน้า โดยทัวร์ที่สั้นที่สุดใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงครึ่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองค่าย ด้วยราคาประมาณ 400 บาทต่อคน เรียกว่าคุ้มเกินคุ้ม

อย่างไรก็ดี เนื่องจากอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์มีเวลาเปิด-ปิดแตกต่างกันในแต่ละเดือน ก่อนเดินทางไปควรอ่านรายละเอียดเบื้องต้นทางเว็บไซต์ของอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียเคเนา

สำหรับใครที่สนใจ แต่อาจไม่มีโอกาสได้เดินทางไป สามารถชมบรรยากาศของอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ผ่านทาง Virtual Tour

Tags: , , ,