ชัยชนะ 4-3 ที่สนามแอนฟิลด์เมื่อกลางเดือนมกราคม ไม่ได้เพียงแค่หยุดสถิติไม่แพ้ใครและความหวังที่จะคว้าแชมป์แบบไร้พ่ายของแมนฯ ซิตี แต่ยังมีอีกสถิติสุดพิลึกที่เกิดขึ้นในนัดนั้น
โรแบร์โต ฟีร์มีโน ของลิเวอร์พูลโดนใบเหลืองจากการถอดเสื้อฉลองประตูเป็นครั้งที่ 8 ใน 6 ฤดูกาล ซึ่งมากที่สุดในห้าลีกใหญ่ของยุโรป ถ้ามองเผินๆ มันก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องฮาๆ ในโลกฟุตบอล แต่คิดดีๆ แล้วมันก็มีอะไรน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องที่ว่าทำไมนักฟุตบอลถึงชอบถอดเสื้อฉลองประตูกันนัก ทั้งที่รู้ว่าจะต้องโดนใบเหลือง รวมทั้งความไม่สมเหตุสมผลของโทษใบเหลืองนี้ด้วย
โรแบร์โต ฟีร์มีโน ถอดเสื้อฉลองประตูขึ้นนำ 2-1 ในนัดพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2018
(ที่มาภาพ: Reuters/Carl Recine)
สถิติการโดนใบเหลืองจากการถอดเสื้อเมื่อยิงประตูได้ของฟีร์มีโน ไล่มาตั้งแต่สมัยเขาอยู่กับฮอฟเฟนไฮม์ ปี 2012 เขาได้ไป 1 ใบ ส่วนปี 2013 ท็อปฟอร์มสุดๆ ทำแฮตทริก 3 ใบรวด พอมาอยู่กับลิเวอร์พูลก็ยังคงเส้นคงวา 2 ใบในปี 2016 อีก 1 ใบในปี 2017 และเปิดศักราช 2018 ไปแล้วในนัดกับแมนฯ ซิตี เฉลี่ย 1.33 ใบต่อปี
ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นอีกครั้ง (แน่นอนว่าหมายถึงใบเหลืองใบที่ 8 ไม่ใช่การชนะ 4-3) หลังจากฟีร์มีโนวิ่งเบียดชิงตำแหน่งกับกองหลังแมนฯ ซิตี้ จนหลุดเข้าไปชิพบอลลอยโค้งๆ ชนเสาเข้าประตูไปอย่างเหนือชั้น เขาก็ออกวิ่งดีใจ (จริงๆ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่เข้าใจว่าทำไมนักฟุตบอลชอบดีใจด้วยการวิ่งหนีเพื่อนกันนัก ทั้งที่สุดท้ายก็โดนเพื่อนจับกอดจับกดจนได้อยู่ดี) แล้วถอดเสื้อโยนทิ้ง หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ตัดสินก็แจกใบเหลืองให้เขาตามระเบียบ
แล้วไอ้ ‘ระเบียบ’ ที่ว่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
ในกฎของ FIFA มีอยู่หมวดหนึ่งที่ระบุถึงการฉลองหลังยิงประตูได้โดยเฉพาะ ใจความสำคัญคือนักฟุตบอลสามารถฉลองได้ แต่ต้องไม่เลยเถิดจนกินเวลามากเกินไป และที่สำคัญคือระบุเอาไว้เลยว่าการฉลองในลักษณะต่อไปนี้จะต้องโดนใบเหลือง
- ผู้ตัดสินเห็นว่าเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือเยาะเย้ยฝ่ายตรงข้าม
- ปีนรั้วกั้นสนาม
- ถอดเสื้อหรือเอาเสื้อคลุมหัว
- คลุมหัวหรือหน้าด้วยหน้ากากหรือวัตถุอื่นๆ
เรื่องแปลกประหลาดก็คือการห้ามถอดเสื้อฉลองนี้เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาในกฎเมื่อปี 2004 โดย FIFA ถึงกับอธิบายออกมาอย่างเป็นทางการเลยว่าห้ามทำ และการถอดเสื้อฉลองจะถูกลงโทษในฐานะที่เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา (unsporting behaviour)
ยิ่งอธิบายก็ยิ่งงง ตกลงแล้วไอ้การถอดเสื้อนี่มันไม่มีน้ำใจนักกีฬายังไง
ถ้าจะบอกว่าการถอดเสื้อนั้นอนาจารหรือขัดต่อหลักศาสนา (เช่น อิสลาม) แต่ทำไมการถอดเสื้อแลกกันหลังเกมสามารถทำได้ โป๊เปลือยนานกว่าด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น มีหลายกรณีที่นักฟุตบอลสวมเสื้อข้างในอีกชั้นก็ยังโดนใบเหลืองอยู่ดี (อย่างฟีร์มีโนในนัดพบกับแมนฯ ซิตี ก็ใส่เสื้อข้างในอีกตัวที่คลุมไปถึงข้อมือเลยด้วยซ้ำ)
ถ้าจะบอกว่าการถอดเสื้อฉลองทำให้เสียเวลา แบบนั้นก็ไม่ควรลงโทษการถอดเสื้อในทุกกรณี แต่ควรจะดูจากเวลาที่เสียไปมากกว่า และการถอดเสื้อก็ไม่ได้กินเวลามากนัก เมื่อเทียบกับการดีใจแบบอื่นๆ ที่นับวันก็ยิ่งพิสดาร (advance) มากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการยั่วยุฝ่ายตรงข้าม ก็คงไม่มีใครโกรธที่เห็นคนถอดเสื้อหรอกมั้ง ไม่อย่างนั้นชายหาดกับโรงยิมก็คงนองเลือดไปแล้ว
ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องข้อความทางการเมืองหรือโฆษณาแฝง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องแจกใบเหลืองในทุกกรณี
หรือถึงที่สุดแล้วมันเป็นเหตุผลเรื่องสปอนเซอร์ แต่นั่นก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการไม่มีน้ำใจนักกีฬาตรงไหน (เว้นแต่ว่า FIFA จะนับสปอนเซอร์เป็นนักกีฬาด้วย)
ที่ยิ่งเพี้ยนสุดๆ คือมีกฎว่าการถอดเสื้อหรือการเอาเสื้อคลุมหัวจะโดนใบเหลือง แต่เอกสารที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ของ FIFA กลับระบุว่าถ้าแค่ถลกเสื้อขึ้นมาไม่โดนใบเหลือง! (อะไรวะเนี่ย)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเพราะอะไรการถอดเสื้อฉลองถึงต้องโดนใบเหลืองในทุกกรณี นับเป็นหนึ่งในกฎของ FIFA ที่ไม่สมเหตุสมผลที่สุด
นอกจากความไม่สมเหตุสมผลของมันแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกฎนี้ก็คือ ทั้งๆ ที่นักฟุตบอลต่างก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าถอดเสื้อจะต้องโดนใบเหลืองแน่ๆ แต่ทำไมเรายังเห็นการถอดเสื้อฉลองอยู่บ่อยๆ
นักฟุตบอลอาชีพนั้นไม่ได้ไม่รู้ว่ามีกฎนี้อยู่แน่ๆ พวกเขาเป็นมืออาชีพที่รับค่าจ้างมหาศาล ฝึกซ้อมฟุตบอลกันมาแทบจะตลอดชีวิต ไม่ใช่นักฟุตบอล อบต. ที่ไม่ค่อยแม่นกฎ (ถ้าเป็นคนอังกฤษจะเรียกว่านักบอล Sunday league บอลลีกสมัครเล่นที่เตะกันเฉพาะวันอาทิตย์) แต่การที่รู้ทั้งรู้ว่ามีโทษแต่ก็ยังทำเนี่ยแหละ ที่ยิ่งทำให้มันมีคุณค่าเป็นพิเศษ
ตัวฟีร์มีโนเองก็รู้ว่าถ้าถอดเสื้อแล้วจะต้องได้ใบเหลือง และตัวเขาเองก็ได้ใบเหลืองเพราะเรื่องนี้มาบ่อยครั้งแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2017 ฟีร์มีโนทำประตูได้ในนัดที่พบกับไบรท์ตัน แล้วเขาก็ออกวิ่ง สองมือจับเสื้อดึงขึ้นเหมือนจะถอด (จังหวะนั้นเจอร์เกน คล็อปป์ คงเสียววูบ) ดึงจังหวะหลอกนิดนึง ยกนิ้วชี้ทำท่า ‘อ๊ะอ๊า’ แล้วยิ้มยั่วยวน ครั้งนั้นเขาไม่ยอมโดนใบเหลือง
ฟีร์มีโนทำได้ 2 ประตูในนัดที่ไปเยือนไบรตันแอนด์โฮฟ อัลเบียน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2017
(ที่มาภาพ: Reuters/Dylan Martinez)
แต่กับลูกยิงที่พาทีมขึ้นนำทีมจ่าฝูงซึ่งยังไม่เคยพ่ายแพ้นั้นต่างกัน เขารู้ดีว่าลูกยิงลูกนั้นมีความหมายแค่ไหน สะใจขนาดนี้ โดนใบเหลืองก็คุ้ม
การถอดเสื้อฉลองโดยยอมโดนใบเหลืองที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่สุด น่าจะต้องยกให้ลูกยิงในนัดชิงฟุตบอลโลก 2010 ของ อันเดรส อีเนียสตา หลังจากยิงประตูตัดสินในช่วงท้ายของการต่อเวลาพิเศษของแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอล อีเนียสตาออกวิ่งฉลองด้วยการถอดเสื้อ เสื้อขาวข้างในเขียนข้อความว่า ‘ดานี คาร์เก อยู่กับเราเสมอ’ ซึ่งเป็นข้อความที่อุทิศให้กับเพื่อนนักฟุตบอลของทีมอัสปัญญอล (สโมสรร่วมเมืองบาร์เซโลนา) ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อปี 2009
อันเดรส อีเนียสตา ฉลองการทำประตูชัยในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ด้วยข้อความรำลึกถึง ดานี คาร์เก ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายขณะมีอายุเพียง 26 ปี
(ที่มาภาพ: https://www.barcablaugranes.com/2011/2/9/1983776/getting-to-know-andres-iniesta)
อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การถอดเสื้อน่าจะสัมพันธ์กับการแสดงออกซึ่งความเป็นชาย โดยทั่วไป ฟุตบอลมักถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นกิจกรรม ‘แมนๆ’ อยู่แล้ว ยิ่งในจังหวะที่ได้แสดงความเก่งกาจผ่านการทำประตู ความภาคภูมิในความเป็นชายของเขาคงยิ่งพลุ่งพล่าน นักฟุตบอลอย่างโรนัลโดหรือบาโลเตลลีจึงไม่ลังเลที่จะถอดเสื้อแล้วเบ่งกล้ามอวดซิกซ์แพ็กและแผงอกที่ยิ่งขับเน้นความเป็นชายของเขาออกมา
กฎห้ามถอดเสื้อฉลองนี้น่าจะเป็นหนึ่งในกฎที่แฟนบอลทั่วโลกข้องใจมากที่สุด แฟนบอลหลายคนมองว่าข้อห้ามนี้ทำให้เกมจืดชืดลงไปเยอะ แทนที่นักฟุตบอลจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ในห้วงยามที่ตื่นเต้นที่สุดของเกม ก็กลับทำได้แค่ดีใจเล็กๆ น้อยๆ อารมณ์ร่วมของแฟนบอลก็พาลไม่สุดไปด้วย หลายคน (รวมทั้งผู้เขียน) ก็มองว่ามันเป็นการจำกัดอิสรภาพจนเกินเหตุ โดยเฉพาะด้วยคำอธิบายที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
ไหนๆ ก็ว่าด้วยการถอดแล้ว ก็น่าจะลองไปให้ไกลที่สุด โดยหนึ่งในการฉลองที่ประทับใจที่สุดตลอดกาลสำหรับผู้เขียนเกิดขึ้นใกล้ๆ ตัวนี่เอง มันคือการฉลองด้วยการถอดกางเกงขึ้นมาสวมหัวจนโดนไล่ออกของ มารีโอ ยูโรฟสกี สมัยที่ยังเล่นให้กับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด การถอดครั้งนั้นโด่งดังไปทั่วโลกด้วยความเพี้ยนและก้าวล้ำเกินสามัญสำนึกไปลิบลิ่ว
คำถามก็คือ ถ้าเราอยากจะโวยให้ FIFA ยอมรับการถอดเสื้อฉลอง เราจะผลักดันไปจนถึงการถอดกางเกงเลยไหม (ส่วนผู้เขียนตอบได้เลยว่ายอม ด้วยเหตุผลแบบมักง่ายว่ามันสนุกดี)
การฉลองการทำประตูแบบ ‘สุดๆ’ ของ มารีโอ ยูโรฟสกี เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2013
(ที่มาภาพ: https://www.huffingtonpost.com/2013/05/22/mario-gjurovski-festejo-calzones_n_3320491.html)