มีสักกี่ที่ที่คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากห้องนอนแล้ว ก็เห็นจะเป็นในงานปาร์ตี้ของ Trasher Bangkok นี่แหละ ที่คุณจะกระโดดโลดเต้นไปกับเสียงเพลงจังหวะสนุกๆ ที่คุ้นเคยโดยไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย แต่งกายเลียนแบบคนดังทั้งที่กระเป๋าสตางค์ไม่เอื้ออำนวย รวมไปถึงการได้หยอกเย้ากับเพื่อนสนิทด้วยเรื่องไร้สาระโดยไม่ต้องแคร์สายตาใคร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะบรรยากาศเป็นกันเองที่ทำให้ใครต่อใครต่างตั้งตารอปาร์ตี้ครั้งต่อไปของพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ
ในปาร์ตี้ครั้งแรกๆ อาจมองได้ว่าบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมากับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากปาร์ตี้นับร้อยที่พวกเขาจัด ความบังเอิญดูจะเป็นคำอธิบายที่ห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ปาร์ตี้ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะถึงวันนี้พวกเขาสามารถต่อยอดความสำเร็จไปสู่ซีรีส์ออนไลน์อย่าง GayOK Bangkok ที่ลบภาพจำเดิมๆ ของชายรักชายให้มีมิติมากกว่าความตลกหรือความรันทด รวมไปถึงไวรัลคลิปที่ถูกแชร์ว่อนไปทั่วในโลกออนไลน์ที่ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ วิ่งเข้าหา แล้วอะไรคือสูตรลับความป็อปที่ทำให้พวกเขากลายเป็นที่จดจำโดยใช้เวลาเพียงไม่นาน โจโจ้-ทิชากร ภูเขาทอง และ เจนนี่ ปาหนัน หรือ วัชระ สุขชุม จะมาเผยคำตอบนั้นร่วมกัน
จัดปาร์ตี้ให้เหมือนไปสังสรรค์ที่บ้านเพื่อน
สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนเมื่อไปงานปาร์ตี้ของ Trasher Bangkok ในหลายๆ ครั้งก็คือความไร้ระเบียบที่ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่นั่นเองที่ทำให้ใครหลายคนติดใจในความคาดเดาไม่ได้จนกลายเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากจากงานอื่นๆ
“เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนติดใจงานของ Trasher น่าจะเป็นเพราะบรรยากาศของความเป็นเพื่อน ทุกครั้งที่จัดงานเราต้องทำให้คนรู้สึกเหมือนว่ากำลังมาเที่ยวบ้านเพื่อน เพราะฉะนั้นจึงมีหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องปฏิเสธ เช่น เราไม่ชอบการซื้อบัตรล่วงหน้า เพราะรู้สึกว่าจะทำให้ภาพของความเป็นออร์แกไนเซอร์ชัดเจนเกินไป อีกอย่างเราว่าเสน่ห์ของ Trasher ก็คือความไม่มีระเบียบ หมายถึงคาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เช่น เพลงสะดุด คนเมาสะดุดปลั๊กหลุด ซึ่งลองนึกดูว่าถ้าเหตุการณ์เหล่านี้ไปเกิดในงานอีเวนต์ใหญ่ๆ คนก็คงจะด่า แต่เรามีวิธีทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องสนุกๆ ได้”
“เราคงไม่ถึงขั้นที่จะจัดงานเป็นเทศกาลดนตรี มีการพ่นไฟบนเวที
ถ้าจะใหญ่กว่าปาร์ตี้บ้านเพื่อนก็ให้มันเป็นงานประจำหมู่บ้านก็พอ
แต่อย่าให้ถึงขั้นเป็นงานประจำจังหวัด หรืองานระดับประเทศเลย
เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา”
รักษาตัวตนในวันที่สปอนเซอร์เข้าหา
นอกจากรายได้จากการขายบัตรเข้างานแล้ว รายได้อีกทางที่สำคัญไม่แพ้กันของ Trasher Bangkok ก็คือการสนับสนุนจากแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ใช้ปาร์ตี้เป็นสื่อกลางในการสร้างการจดจำ ซึ่งเมื่อมีลูกค้าและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หลายครั้งความเป็นตัวของตัวเองก็จำเป็นต้องถูกลดทอนเพื่อเปิดทางให้ลูกค้าได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่ใช่ปัญหาน่าหนักใจของ Trasher Bangkok เพราะพวกเขามีวิธีรับมือกับลูกค้าได้อย่างน่าสนใจ
“เวลาจะร่วมงานกับลูกค้าก็เหมือนเวลาเราเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะกับบ้านเรา ซึ่งส่วนใหญ่เวลามีสปอนเซอร์เข้ามาเขาก็มักจะอยากได้สิ่งที่เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นเรายินดีที่จะทำงานหนักขึ้นไปอีกขั้นด้วยการช่วยเขาออกไอเดียสำหรับองค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน ทั้งการ tie-in สินค้า การตกแต่งบูท ฯลฯ เพื่อให้มีความกลมกลืนกันไปทั้งงาน
“หรือถ้าจะขายของเราก็ควรจะซื่อสัตย์กับทุกคน บอกไปเลยว่าฉันได้สปอนเซอร์มา เพราะเราว่าความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญมากเวลาจะสื่อสารกับคน เราจะไม่ชอบการเอาสินค้ามาใส่แบบเนียนๆ หรือมาหลอกขายของ ถ้าจะขายก็บอกตรงๆ ไปเลยดีกว่า”
ถึงงานจะใหญ่ขึ้นแต่ความสนุกต้องเท่าเดิม
จากงานปาร์ตี้ครั้งแรกที่ Cafe De Moc ย่านวิสุทธิกษัตริย์ที่มีคนร่วมงานหลักสิบ จนมาถึงงานปาร์ตี้ครั้งล่าสุดในฮอลล์คอนเสิร์ตของห้างกลางกรุงที่นับจำนวนคนมาร่วมงานได้มากกว่า 4,000 คน แม้จะต่างกันที่จำนวนคนมาร่วมงาน และสถานที่จัดงาน แต่ก็ยังมีบางอย่างที่เหมือนเดิม
“เมื่อคนเยอะขึ้น เราคงเอาใจทุกคนไม่ได้ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น วิธีการ เสน่ห์ ธีมการจัดงาน ก็ต้องคงไว้เหมือนเดิม หลายคนบอกว่าอยากได้งานที่สเกลใหญ่ขึ้น แต่เราคงไม่ถึงขั้นที่จะจัดงานเป็นเทศกาลดนตรี มีการพ่นไฟบนเวที ถ้าจะใหญ่กว่าปาร์ตี้บ้านเพื่อนก็ให้มันเป็นงานประจำหมู่บ้านก็พอ แต่อย่าให้ถึงขั้นเป็นงานประจำจังหวัด หรืองานระดับประเทศเลย เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา”
โซเชียลมีเดียคือบัตรเชิญที่ทรงพลังที่สุด
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆ ก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารสิ่งที่ต้องการไปถึงกลุ่มเป้าหมาย และ Trasher Bangkok ก็ใช้สื่ออย่างเฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการชวนคนมาร่วมปาร์ตี้ แต่จากประสบการณ์ที่ใช้โซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ยุค hi5, MySpace จนมาถึงเฟซบุ๊ก และยูทูป พวกเขาจึงเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเห็นผลชัดเจน
“เรามองว่าโซเชียลมีเดียคือสื่อที่อยู่ในมือ ไม่ต้องรอให้คนนั่งรถกลับบ้านเพื่อจะไปเสพเหมือนทีวี และเราก็ไม่มีช่องทางอื่นเลย จุดแข็งของเราคือโซเชียลมีเดีย เรารู้ว่าต้องทำอะไรให้คนดู ทำยังไงถึงจะชวนคนมาปาร์ตี้ได้ ซึ่งองค์ประกอบที่เราใช้ก็มีทั้งอารมณ์ขัน หรือใช้เพลงที่สามารถดึงดูดให้คนเข้ามาดูได้ อาจจะไม่ถึงขั้นเก่ง แต่พอใช้มานานๆ ทำให้เราค่อนข้างจะจับทางได้ แล้วโดยนิสัยของคนปาร์ตี้เขาใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว พอโพสต์อะไรไปปุ๊บเลยเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว คนเห็นเร็ว กระจายเร็ว เวลาสร้างอีเวนต์ คนก็จะแชร์ และเข้ามาคลิก Attend กันเยอะมาก”
เลือกประเด็นทำคลิปให้ดี การันตียอดแชร์
แค่ตัวอักษรหรือรูปภาพอาจไม่ทรงพลังพอที่จะสื่อสารให้โดนใจผู้คนในโลกออนไลน์อีกต่อไป คลิปวิดีโอโดนใจคือกุญแจสำคัญดอกใหญ่ที่ทำให้ Trasher Bangkok กลายเป็นเพื่อนซี้ที่ใครๆ ก็อยากคบหา เพราะแต่ละประเด็นที่พวกเขาหยิบยกมาสื่อสารในรูปแบบคลิปวิดีโอล้วนแล้วแต่โดนใจ
“ส่วนใหญ่ Trasher จะชอบเล่นกับประเด็นที่ปัจจุบันทันด่วน อย่างเช่น กระแสสังคม เรื่องป็อปๆ หรือเหตุการณ์ที่โด่งดัง แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทุกวันนี้คลิปวิดีโอมีอายุสั้นมาก เมื่อก่อน 1 สัปดาห์ยังแชร์กันอยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้ 2 วันก็หายไปจากไทม์ไลน์แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานเร็วมากขึ้น ที่สำคัญคือเราจะเลือกจากประเด็นที่มั่นใจว่าเรารู้จริง เช่น เรื่องเกย์ ตุ๊ด LGBT แต่คงไม่กล้าไปพูดเรื่องการเมืองที่เราไม่ถนัด”
“สิ่งที่เรากลัวคือกลัวตัวเองเบื่อ เพราะเราโตขึ้นเรื่อยๆ
ปาร์ตี้มาตั้งแต่อายุ 20
พออายุมากขึ้นจะไปเต้นสนุกสนานแบบนั้นตลอดเวลาก็ไม่ได้
เลยคิดว่าแล้วอะไรล่ะที่จะช่วยเราให้อยู่ตรงนั้นได้
สุดท้ายมันก็คือการต้องคิดอะไรใหม่ๆ
เพื่อทำให้ปาร์ตี้ของเราน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา”
เอาชนะความกลัวภายในใจ
เมื่อได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นจากผลงานที่ลงมือทำ ทั้งงานปาร์ตี้ที่มีคนเข้าร่วมจนแน่นขนัด หรือคลิปวิดีโอที่มีคนดูหลักแสน สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นความกลัวที่พวกเขาจำเป็นต้องเผชิญหน้า
“บางทีก็เกิดอาการกลัวผลตอบรับเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เลยไม่ค่อยกล้าดูฟีดแบ็กเท่าไร เพราะกลัวว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาจะกระทบความรู้สึกของเรา แต่เราก็คิดง่ายๆ ว่า ตั้งใจทำคลิปออกมาให้ดีที่สุด จริงใจที่สุด อย่าไปคาดหวังยอดวิว หรือกับงานปาร์ตี้ก็จะเต็มที่กับมันเหมือนเดิม ก็ช่วยทำให้ความกลัวลดน้อยลงได้บ้าง
“สิ่งที่เรากลัวคือกลัวตัวเองเบื่อ เพราะเราโตขึ้นเรื่อยๆ ปาร์ตี้มาตั้งแต่อายุ 20 พออายุมากขึ้นจะไปเต้นสนุกสนานแบบนั้นตลอดเวลาก็ไม่ได้ เลยคิดว่าแล้วอะไรล่ะที่จะช่วยเราให้อยู่ตรงนั้นได้ สุดท้ายมันก็คือการต้องคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อทำให้ปาร์ตี้ของเราน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา เราเลือกจะทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าต่อให้ต้องไปยืนตรงนั้นทั้งคืนก็จะไม่เบื่อ เพราะมันคือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”
ทำเรื่องเฉพาะกลุ่มให้เข้าถึงคนในวงกว้าง
นอกจากปาร์ตี้โดนใจที่เกิดขึ้นเดือนละครั้งแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา Trasher Bangkok ยังฉีกภาพจำเดิมๆ ของตัวเองจากนักจัดปาร์ตี้กลายเป็นคนทำซีรีส์ออนไลน์ โดยมี GayOK Bangkok เป็นผลงานชิ้นแรก ซึ่งไม่ได้ขายเสียงหัวเราะอย่างที่พวกเขาถนัด แต่เป็นซีรีส์ดราม่าที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของกลุ่มชายรักชายที่มีความสมจริง ความแตกต่างตรงนี้เองที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เข้าถึงใจคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม LGBT หรือแม้แต่ชายจริงหญิงแท้
“พอเรานำเสนอเรื่องที่มีความเรียล คนดูจะรู้สึกเหมือนเขาไม่ได้กำลังดูซีรีส์ แต่กำลังดูเรื่องราวของตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงในสังคม เพราะเราเริ่มจากไอเดียที่คิดว่าเกย์ก็เหมือนผู้ชายผู้หญิงทุกคน เราต่างมีปัญหาชีวิตไม่ต่างกัน ทั้งปัญหาแฟนเก่า ตกงาน ต้องส่งเงินให้แม่ใช้ เพราะฉะนั้นนอกจากเกย์แล้ว ชายจริงหญิงแท้ที่ดูเขาก็จะรู้สึกว่าเขาเข้าถึงตัวละครนั้นๆ ได้ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นเพศไหน ที่ดีใจคือมีชายจริงหญิงแท้หลายคนเข้ามาบอกเราว่า เขาไม่เคยรู้เลยว่าชายรักชายเขาจีบกันแบบนี้ ไม่เคยรู้เลยว่าเรามีปัญหาแบบนี้กันด้วย กลายเป็นว่า LGBT บางคนมาดูซีรีส์เรื่องนี้เพราะผู้ชายผู้หญิงแท้ๆ มาบอกให้ดู ซึ่งทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดหวังเอาไว้”
“วิธีการทำงานกับเพื่อนให้ไม่เสียเพื่อน ก็ต้องทะเลาะกันให้จบตรงนั้น
ยิ่งสนิทก็ยิ่งต้องแยกกันระหว่างการคุยเรื่องงานกับการปาร์ตี้
ถ้าจะเที่ยวก็เที่ยวเลย คุยเรื่องงานก็คุยให้จบกันไปเลย อย่าเอามาปนกัน”
เลือก ‘เพื่อน’ ร่วมงานคอเดียวกัน
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของ Trasher Bangkok เกิดจากกลุ่มเพื่อนสนิทสมัยมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่คน และถึงแม้วันนี้สเกลของการจัดงานจะใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่ทีมงานของ Trasher ก็ยังคงเป็นกลุ่มเพื่อนสนิทเช่นเคย และกำลังขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ
“ส่วนใหญ่เกิดจากการแฮงก์เอาต์กันแล้วรู้ทัศนคติ เคยทำงานด้วยกันแล้วรู้สึกว่าเราชอบอะไรเหมือนกัน สมมติว่าถ้าชอบบริตนีย์ สเปียส์ ก็จบ (หัวเราะ) สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกคนเข้ามาทำงานร่วมกันคืออารมณ์ขัน เขาต้องมีอารมณ์ขันที่ตรงกับเรา ตลกในเรื่องเดียวกัน แล้วเราว่าอารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านเรื่องยากๆ ไปได้ เวลามีปัญหาก็แค่ยักไหล่
“วิธีการทำงานกับเพื่อนให้ไม่เสียเพื่อน ก็ต้องทะเลาะกันให้จบตรงนั้น ยิ่งสนิทก็ยิ่งต้องแยกกันระหว่างการคุยเรื่องงานกับการปาร์ตี้ ถ้าจะเที่ยวก็เที่ยวเลย คุยเรื่องงานก็คุยให้จบกันไปเลย อย่าเอามาปนกัน ถ้าขัดแย้งก็ต้องพูดออกมาให้หมด อย่าเก็บปัญหาไว้ในใจ”
รีเฟรชตัวเองให้เท่าทันคนรุ่นใหม่
วัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจหมายถึงประสบการณ์ที่เพิ่มพูนสูงขึ้นในทุกๆ วัน แต่อีกทางก็อาจจะเป็นการปิดกั้นตัวเองให้สนใจในเรื่องที่แคบลง และอาจจะตกยุคไปในท้ายที่สุด ทางออกของปัญหานี้คือการหมั่นรีเฟรชตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างเท่าทัน
“เราต้องพยายามคลุกคลีกับเด็กหลายๆ วัย อย่างเวลาไปปาร์ตี้ก็ต้องเข้าไปพูดคุยกับเขา หรือบางครั้งก็มีเด็กๆ ส่งข้อความอินบ็อกซ์มา ทำให้เราได้รู้ว่าเด็กๆ เขามีความต้องการอะไร อยากได้ปาร์ตี้แบบไหน แล้วเราควรจะปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง หรือบางครั้งเราก็ถามกันแบบซื่อๆ เลยว่าเด็กๆ เขาอยากได้อะไร ถ้าปรับขึ้นราคาจะโอเคไหม ได้สถานที่จัดงานตรงนั้นมาดีไหม แม้แต่ตอนทำซีรีส์ที่จำเป็นต้องเขียนบทให้ตัวละครจีบกัน เราก็ถามไปเลยว่าช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าพวกเธอจีบกันยังไง ซึ่งพอทำแบบนี้เด็กๆ เขาก็จะรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมกับเราไปด้วย”
แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแบบ Trasher
ถึงจะขึ้นชื่อเรื่องการจัดปาร์ตี้ที่สนุกสุดเหวี่ยงจนทำให้หลายคนติดใจ แต่ในชีวิตจริงก็คงไม่ได้มีแต่เรื่องสนุกสนานเสมอไป และแม้แต่ในปาร์ตี้ที่ทุกคนกำลังสนุกสนาน ปัญหาน่าหนักใจก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมา Trasher Bangkok ต้องเผชิญกับปัญหาหนักหนามากมาย บางปัญหาก็ร้ายแรงในระดับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตของผู้ร่วมงาน หรือกรณีที่หนักหนาถึงขั้นจะฟ้องร้องกันก็ผ่านมาแล้ว เมื่อถามถึงวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของพวกเขา คำตอบที่ได้คือรอยยิ้ม และถ้อยคำง่ายๆ แต่จริงใจ
“บางปัญหาอาจใช้อารมณ์ขันเข้าไปช่วยและทำให้เรื่องดูซอฟต์ลงได้ แต่บางเรื่องอารมณ์ขันก็ช่วยไม่ได้ อย่างล่าสุดที่มีกรณีถึงขั้นจะฟ้องร้อง เราก็ต้องรีบปรึกษาคนที่เขามีประสบการณ์มาก่อน ทำให้รู้ว่าเวลาที่มีปัญหากับผู้หลักผู้ใหญ่ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความจริงใจ ที่สุดแล้วเราว่ามันคือการทำตัวให้น่ารักนั่นแหละ ถึงเราจะกบฏ แต่เราต้องไม่ก้าวร้าว”
Tags: Trasher Bangkok, โจโจ้-ทิชากร ภูเขาทอง, เจนนี่ ปาหนัน, GayOK Bangkok