วันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน 2565) ถือเป็นอีกวันสำคัญของการเมืองไทยและความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมตินัดพิจารณาว่า จะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมหรือไม่ โดยวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ทันยื่นอภิปรายในสภา เพราะเวลาหมด ต้องปิดการประชุมไปก่อน จนหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการประวิงเวลาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และอาจเป็นการ ‘บังคับ’ ให้รับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยรัฐบาลแทน
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอไว้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2563 แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอนำร่างฯ ไปศึกษา 60 วัน โดยใจความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือการเน้นความเสมอภาคของทุกเพศ และนิยามให้ทุกคู่รักเป็นคู่สมรสเหมือนกันหมด นั่นคือการเปลี่ยนข้อความในกฎหมายที่ระบุว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เท่านั้นที่สามารถสมรสกันได้ เป็น ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ แทน และมีสิทธิสวัสดิการเท่าเทียมกันอย่างไม่แบ่งแยก ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นิยามให้คู่รัก LGBTQIA+ เป็นคู่ชีวิต และมีสิทธิสวัสดิการน้อยกว่า ‘คู่สมรส’ และไม่ครอบคลุมสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิลดหย่อนภาษี
ดังนั้น วันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 จะเป็นการพูดถึงความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศบนรัฐสภาอีกครั้ง โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จะเป็นผู้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดังกล่าว
“นับจากวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ไปอีก 2 วัน จะครบ 2 ปีที่เรายื่นเรื่องสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาฯ เนื่องจากเรายื่นกฎหมายนี้ครั้งแรกในเดือนไพรด์เหมือนกัน ดังนั้น พุธที่จะถึงนี้ถือเป็นเกือบ 2 ปีเต็มที่เราต้องต่อสู้ในสภาฯ”
ธัญวัจน์พูดถึงประเด็นนี้ต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอและพรรคก้าวไกลต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะสมรสเท่าเทียมเป็นหลักการคิดที่ทำให้คนเสมอภาค เป็นจุดยืนและสิ่งที่พรรคทำมาเสมอ คือการมองว่าสมรสคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการก่อสร้างครอบครัวที่ควรจะอยู่ในกฎหมายเหมือนกับชายหญิงทั่วไป แต่ ณ วันนี้มีกระแสเรื่องของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้ามาประกบในวันที่จะอภิปราย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
“เราต้องยืนยันในหลักการว่า หากจะรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องรับแบบไม่มีเงื่อนไข หาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกรับร่างฯ แต่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไม่ถูกรับ มันก็เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด มันจะทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยว เพราะพูดอย่างไรไปก็ไม่ตรงตามหลักการ หลายท่านคงรู้อยู่แล้วว่าคำว่า ‘คู่สมรส’ มันอยู่ในกฎหมาย ซึ่งมันครอบคลุมคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับคู่สมรสอย่างอัตโนมัติ แต่พอคำว่า ‘คู่ชีวิต’ มันเป็นคำนิยามใหม่
“หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ของความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ คือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีสิทธิ 10 ข้อ แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มี 6 ข้อ ไม่ว่าจะเรียงสลับเลขหรือข้อกฎหมายอย่างไร มันก็ไม่มีทางเสมอภาคเท่าคู่สมรส เพราะถ้าคู่ชีวิตมี 10 ข้อเท่ากับคู่สมรส มันจะเกิดคำถามต่อมาว่า ถ้ามีสิทธิเท่ากันทำไมถึงไม่ใช้กฎหมายเดียวกัน
“ถ้าคุณรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาฯ แน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายที่มีข้อกังวลอาจจะออกมาต่อสู้จนร่างฯ มันติดขัด และออกมาแค่ 85 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็อยู่ในฐานของสมรสเท่าเทียม ดังนั้น ก็มาสู้กันต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเขามีเสียงที่เยอะกว่า แต่หลักการการเลือก พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น เป็นการยอมรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบมีเงื่อนไข เพราะฉะนั้นก้าวแรกต้องถูก
“ตอนนี้ประเทศไทยมี แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ที่ขึ้นอันดับ 1 และมีแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ดังนั้น ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน และรับเงินเดือนประชาชน จะต้องรู้ว่าต้องโหวตอะไร และอยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูวันอภิปรายอีกครั้ง ช่วยกันแท็ก ช่วยกันส่งเสียงไปถึง ส.ส. ในแต่ละเขตของทุกคนว่าต้องการสมรสเท่าเทียม ต้องออกมายืนยันให้ชัดเจนว่าไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต
“ถ้าเกิดเรารับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนตัวเกรงว่าจะเป็นการหยุดกฎหมายไว้ที่ตรงนี้ พอได้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้ว สิทธิมันก็ใกล้เคียงกันแล้วนี่ ก็ใช้อันนี้ไปก่อน ที่สำคัญคือมันเป็นการกลัดกระดุมผิดเม็ด เดือนไพรด์แต่ LGBTQIA+ ต้องมารับกฎหมายซึ่งเป็นการยอมรับเขาอย่างมีเงื่อนไข” ธัญวัจน์ทิ้งท้าย
Tags: Report, LGBTQ, ความหลากหลายทางเพศ, LGBTIQ+, พรรคก้าวไกล, สมรสเท่าเทียม, The Proud of Pride