เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัย เรื่อง ‘ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น’ แสดงความกังวลจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประกาศยกเว้น ‘กัญชา’ จากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยเฉพาะกัญชา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มเปราะบางคือเด็กและวัยรุ่น สามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชาซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ
ทั้งนี้ ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หลายชนิด แบ่งเป็น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท(psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ THC (delta-9-/delta-8 tetrahydrocannabinol และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Non-Psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ (Cannabidiol-CBD) ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก สำหรับ THC มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหรือการแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้นเข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย จึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
2. ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่า กัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
3. ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ ‘ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค’
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น
สำหรับวันนี้ (10 มิถุนายน 2565) ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีการจัดงาน ‘มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร’ ภายใต้แนวคิดกัญชาคืนชีวิตสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รวมถึงยังมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากเข้าร่วม โดยอนุทินยืนยันว่า กัญชาเป็นพืชที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดี เป็นหนทางทำมาหากิน สร้างรายได้จากการปลูกพืชกัญชา ตั้งแต่ระดับครัวเรือน กิจการ วิสาหกิจชุมชน สำหรับที่มีคนกังวลเรื่องกัญชาจะเป็นยาเสพติด ความมึนเมานั้น เป็นความคิดทางการตลาดของคนที่ไม่อยากให้ใช้ประโยชน์จากกัญชา แต่ในข้อเท็จจริง ประเทศไทยสามารถใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ แทนการใช้ยาจากต่างประเทศ โดยเงินที่ซื้อยาเหล่านั้นเทียบกับพืชกัญชาในประเทศไทย หรือยาที่หมอจ่ายนั้นต่างกันเยอะ จึงต้องไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางภูมิปัญญาไทย
Tags: Report, กัญชา, กัญชาเสรี