โลกเปิดศักราชใหม่มาพร้อมกับการได้ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศคนใหม่ ที่อำนาจและการตัดสินใจของเขามีความสำคัญไม่แพ้กับผู้นำของประเทศมหาอำนาจ
นั่นคือการที่โลกได้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) อดีตนายกรัฐมนตรีของโปรตุเกส เป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ แทนนายบันคีมูน ที่หมดสมัยไปเมื่อสิ้นปี 2016
เขาเข้าทำงานเป็นวันแรกในวันที่ 3 มกราคม 2017
หมายความว่าหลังจากนี้ 4 ปี โลกจะมีนาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เป็นหนึ่งในคนที่กำหนดทิศทางของโลกในยามที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความบาดหมางครั้งใหม่ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และประชาชนต่างฝากความหวังไว้ที่เขาในการสร้างสันติภาพและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
งานที่รออดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสคนนี้ จึงไม่ใช่บททดสอบที่เขาจะผ่านไปได้สบายๆ
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส คือใคร เคยผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง และความท้าทายอะไรที่รอเขาอยู่
The Momentum ขอทำหน้าที่พาผู้อ่านไปรู้จักอีกคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2017 นี้
คร่ำหวอดในเวทีการเมืองในประเทศ จนถึงสนามการเมืองโลกกับการแก้ไขปัญหาผู้อพยพ
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และฟิสิกส์ ก่อนจะเดินเส้นทางในสายอาชีพวิชาการ แต่โลกวิชาการสามารถดึงความสนใจเขาอยู่ได้เพียงแค่ 2-3 ปี เขาตัดสินใจหันสู่เวทีการเมืองโปรตุเกสด้วยการเข้าร่วมพรรค Socialist ในปี 1974 และเป็นนักการเมืองอยู่เต็มตัว จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีใน 21 ปีให้หลัง
การพูดได้หลายภาษาทั้งโปรตุเกส อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส ทำให้เขากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางด้านการทูต และก้าวเข้ามาเป็นข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติในปี 2005 และอยู่ในตำแหน่งถึงกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพครั้งร้ายแรงที่สุด และการทำงานขององค์การสหประชาชาติที่เจนีวากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงที่สุดเช่นกัน
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ภายใต้การนำของกูเตอร์เรสได้รับการยกย่องว่า เจ้าหน้าที่เข้าถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น มากกว่าการทำงานอยู่ในหอคอยงาช้างที่เจนีวาดังเช่นในอดีต นอกจากนี้เขายังได้พยายามให้บรรดาประเทศมหาอำนาจเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาวิกฤตผู้อพยพ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ
“เราไม่สามารถห้ามผู้คนไม่ให้อพยพได้ พวกเขาจะยังคงเข้ามา ทางเลือกเดียวที่เรามีคือ เราจะจัดการกับการเข้ามาของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพและมีมนุษยธรรมได้อย่างไร” เป็นข้อความที่เขาเขียนไว้ในนิตยสาร TIME
ประสบการณ์ในฐานะผู้นำการแก้ไขวิกฤตผู้อพยพ ซึ่งเป็นปัญหายุคปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญหน้า จึงเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี
และทำให้กูเตอร์เรสหักปากกาเซียนที่คาดการณ์ว่าโลกจะได้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ และเดินแซงหน้าบรรดาตัวเต็งผู้หญิงหลายคน จนคว้าตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติไปครอง
ความท้าทายที่รออยู่ และคำถามว่าองค์การสหประชาชาติทำอะไรได้จริงๆ หรือ?
องค์การสหประชาติถูกตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์หลักคือ ป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นอีกครั้ง ด้วยการเป็นตัวกลางระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศ แต่โครงสร้างอำนาจขององค์การสหประชาชาติที่มี 5 ประเทศมหาอำนาจ ทั้งจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีหน้าที่สำคัญหลักๆ ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การป้องกันการพิพาทระหว่างประเทศ รวมถึงการควบคุมกำลังอาวุธของบรรดาประเทศสมาชิก ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า โครงสร้างอำนาจลักษณะนี้ทำให้สหประชาชาติขาดความเป็นกลาง เพราะการตัดสินใจต่างๆ หนีไม่พ้นอำนาจของบรรดาประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ที่เราเห็นประเทศเหล่านี้เป็นตัวละครหลัก และทะเลาะกันเสียเองในสงครามซีเรีย
คำถามว่าสหประชาชาติมีไปทำไม และเพื่ออะไร หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ทันท่วงที หรือมีอำนาจเด็ดขาดเหนือประเทศเหล่านี้ ไม่ใช่คำถามใหม่ แต่ยังคงเป็นคำถามที่คาใจที่ผู้นำใหม่อย่าง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส จะต้องหาคำตอบ
คำถามนี้ส่งเสียงสะท้อนผ่านข้อความทวิตเตอร์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขาทวิตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2016 ว่า “องค์การสหประชาชาติเป็นองค์กรที่มีศักยภาพมาก แต่ขณะนี้เป็นเหมือนแค่ชมรมที่ผู้คนมารวมตัวกัน เพื่อพูดคุยและสังสรรค์ ช่างน่าเศร้านัก!”
ไม่น่าแปลกใจนักที่ข้อความนี้ของเขาจะถูกรีทวิตอย่างกว้างขวาง เพราะคงสะท้อนความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ด้านกูเตอร์เรสให้สัมภาษณ์ในวันแรกที่เขาเข้าทำงานถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของโดนัลด์ ทรัมป์ว่า คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขากังวลแต่อย่างใด
“ไม่ ตอนนี้ผมให้ความสำคัญกับปัญหาร้ายแรงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญพร้อมกัน สงครามที่กำลังเกิดขึ้น ทุกคนทุกแห่ง ผมหวังว่าเราทั้งหมดจะสามารถร่วมมือกันได้”
สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของสหประชาชาติ มากกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมดของสหประชาชาติ ความจริงข้อนี้บอกกับเราว่า ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติต้องพยายามก้าวผ่านข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นกลาง ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เองก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
นี่จึงเป็นอีกความยากลำบากขององค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งเงินบริจาคจากประเทศมหาอำนาจอยู่
นอกจากปัญหาการก่อการร้าย วิกฤตผู้อพยพ และการเป็นตัวกลางลดความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับสหรัฐฯ ที่เป็นงานหลักของสหประชาชาติ กูเตอร์เรสยังต้องเฝ้าระวังและหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่คาดการณ์ว่าเกาหลีเหนือจะมีขีปนาวุธ 20 ลูก อีกทั้งท่าทีล่าสุดของรัสเซียและสหรัฐฯ ในการพัฒนาแสนยานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์
การจะผลักภาระทั้งหมดให้สหประชาชาติก็จะดูโหดร้ายไปนัก หากบรรดาประเทศมหาอำนาจยังคงพัวพันกับความยุ่งเหยิงเหล่านี้อยู่ และประสิทธิภาพของผู้นำคนใหม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติก็คงจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด หากพวกเขายังปราศจากอำนาจเต็มที่
ดังเช่นที่กูเตอร์เรสกล่าวว่า “การทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องได้รับ ‘สิทธิ’ ในการทำสิ่งที่ถูกต้องเหล่านั้นด้วย”
ลำพังการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ยากและท้าทาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรสพออยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือ การต่อสู้และการยืนหยัดเพื่อได้ ‘สิทธิ’ เหนืออำนาจเงินและอำนาจทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาคาราคาซังเหล่านี้
การกล่าวว่าเลขาธิการสหประชาชาติ คืออีกหนึ่งอาชีพที่ยากที่สุด ก็คงจะไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงนัก
อ้างอิง:
- www.euronews.com/2017/01/04/first-day-at-the-office-for-new-un-chief-António-guterres
- edition.cnn.com/2017/01/03/world/united-nations-guterres-first-day
- www.bbc.com/news/world-europe-37565570