22 มีนาคม 2565 — วันจัดงานครบรอบ 30 ปี เส้นทางสายการเมืองของ ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ประธาน ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ชื่อที่คนคุ้นเคยในนามพรรคใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อต้นปี 2564 หลังจากเธอยุติบทบาทและแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยเมื่อปลายปี 2563

ในวันเดียวกัน สุดารัตน์ปรากฏตัวพร้อมผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 50 คน ครบทั้ง 50 เขต หลังจบงาน หน้าข่าวก็ปรากฏชื่อ ‘นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี’ ที่พรรคไทยสร้างไทยส่งชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายว่า พรรคเคยทาบทามผู้มีชื่อเสียงคนอื่นมาเป็นผู้สมัครก่อนหน้านี้

การเมืองไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ คงไม่เห็นชื่อของ ศิธา ทิวารี ในเบื้องหน้ามากนัก แต่หากย้อนกลับไปราว 2 ทศวรรษก่อน นาวาอากาศตรีศิธา หรือ ‘ผู้พันปุ่น’ เคยรับราชการสังกัดกองทัพอากาศ ไต่เต้าสูงสุดเป็นนักบินประจำเครื่องบินขับไล่ F-16 และตำแหน่งรองหัวหน้าแผนกแผนร่วม กองนโยบายและแผน กรมยุทธการ ประจำกองทัพอากาศ ก่อนตัดสินใจลาออกมาชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตคลองเตย ในนามพรรคไทยรักไทย และได้รับชัยชนะ 2 สมัยในปี 2544 และ 2548 ตามมาด้วยตำแหน่งในฝ่ายบริหาร คือโฆษกรัฐบาลและเลขานุการรัฐมนตรี

หลังการรัฐประหารในปี 2549 เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในปี 2550 เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และเมื่อโทษทางกฎหมายจบลง ปี 2556 นาวาอากาศตรีศิธาเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่เขาเรียกว่าเป็นหนึ่งใน ‘แดนสนธยา’ ทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสนามปั่นจักรยานบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเขาถือว่าเป็นผลงานน่าภาคภูมิใจ ‘ที่ไม่ได้ใช้เงินรัฐแม้แต่บาทเดียว’

แต่การรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ก็ทำให้เขายุติบทบาทอีกครั้ง และผันตัวไปทำงานการเมืองเบื้องหลังของพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่ง ‘ผู้ประสานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย’ แสดงให้เห็นความใกล้ชิดระหว่างเขากับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เป็นประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น สังเกตได้จากการที่เธอออกปากว่า ศิธาคือเบื้องหลังความสำเร็จทางการเมืองของเธอ

การท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้จึงเป็นการ ‘คัมแบ็ก’ ทางการเมืองหน้าฉากของนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี อีกครั้งหนึ่ง แต่มาพร้อมกับ ‘ไทยสร้างไทย’ พรรคที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอย่างเขาและคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เหมือนเป็นการทิ้งทวนทางการเมือง ด้วยการเป็น ‘นั่งร้าน’ ส่งต่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิมให้ผู้คนในสังคม

ที่ศูนย์ประสานงานชั่วคราวของพรรคไทยสร้างไทย ย่านลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ ใต้ร่มไม้ในสวนหย่อม The Momentum สนทนากับ ‘ศิธา ทิวารี’ ในวันที่เขากลับมาเบื้องหน้าอีกครั้งในนามของพรรคไทยสร้างไทย ว่าเขามองโจทย์ของกรุงเทพฯ อย่างไร และจะนำประสบการณ์การรับราชการในกองทัพอากาศ รวมถึงประสบการณ์ด้านธุรกิจ มาใช้กับการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นโมเดลของประเทศไทย อย่างที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ 

ทำไมคุณถึงตัดสินใจลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เบื้องลึกเบื้องหลังกระบวนการในพรรคเป็นอย่างไร

เราทำพรรคการเมืองซึ่งต้องดูแลภาพรวมทั้งประเทศ ต้องยอมรับว่า กรุงเทพฯ คือเมืองหลวงของประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญ มีความสำคัญทั้งความหนาแน่นของประชากร จำนวนสภาผู้แทนราษฎร ความเจริญ แหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว หลายๆ อย่างรวมอยู่ในจังหวัดเดียวกัน

พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างพวกเขากับคนรุ่นผู้ใหญ่ เมื่อก่อนความขัดแย้งทางการเมืองเป็นแนวระนาบ คือความเห็นไม่ตรงกัน ซ้ายกับขวา แต่ปัจจุบันเริ่มมีช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก เด็กไม่เข้าใจผู้ใหญ่ เกิดความคิดที่บอกว่าถ้าเกิดทำอย่างนี้ก็จะย้ายประเทศ ขณะผู้ใหญ่บอกว่าไม่รักประเทศ ไม่รักชาติก็ออกไป มันคนละประเด็นกัน ที่ถูกต้องคือผู้ใหญ่ต้องทำประเทศให้น่าอยู่ ต้องเข้าใจเด็ก เพราะเราต้องส่งมอบประเทศชาติให้กับเด็กในอนาคต เพราะฉะนั้นเราอาสาเป็นตัวเชื่อมตรงนี้ เป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็ก เป็น ‘นั่งร้าน’ ให้เด็กเข้ามาทำงาน

แต่ก็จะเห็นว่าพรรคเพิ่งก่อตั้ง เพิ่งแยกตัวจากเมื่อก่อนที่เป็นพรรคไทยรักไทยและปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย เราจำเป็นต้องหาบุคลากรมาร่วม เราพยายามจะเฟ้นหาคนที่มาลงสมัครเป็นวัยที่เข้าใจความรู้สึกทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ตอนแรกก็ดูว่าเป็นใครที่พอเป็นที่รู้จัก แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือถ้าเป็นที่รู้จัก คะแนนก็อาจจะพุ่งปรี๊ดเลย ในขณะที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่เป็น DNA ของพรรคไทยสร้างไทย ที่บอกว่าจะทำอะไรให้กับประเทศนี้บ้าง มีนโยบายอย่างไร ต้องใช้เวลาและอาจจะนำเสนอได้ไม่ครบถ้วน เราก็เลยมองว่าต้องเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเดียวกัน มีแนวทาง แนวนโยบายเดียวกัน

ส่วนตัวผม ตอนแรกมองว่าจะช่วยในส่วนกลาง ดูแลเบื้องหลัง หรือเป็นเหมือนฝ่ายเสนาธิการของพรรค ดูนโยบาย เป็น think tank ของพรรค และทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามา มีการเสวนาให้ความรู้ ผมก็ต้องไปเป็นคนไปบรรยาย เด็กก็รู้สึกว่า เฮ้ย พอเล่าประวัติ ตอนลงพื้นที่ทำอย่างไร ทำการเมืองอย่างไร แนวความคิดเป็นอย่างไร เขารู้สึกอิน และพอจะหาคนลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนบอกว่า ‘เอาพี่ปุ่นนี่ล่ะ’ ต้องเป็นคนที่เขาเชื่อใจหรือเข้าใจในมุมเดียวกัน ผู้ใหญ่ในพรรคก็บอกว่าคุณชำนาญมากที่สุด มาช่วยกันทำ ในที่สุดพรรคเลยชี้มาเป็นเรา

เกือบ 2 ทศวรรษที่อยู่ในแวดวงการเมือง คุณมองความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างไรบ้าง

ผมรู้สึกว่าการเมืองตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน การเมืองในอุดมคติก็อย่างหนึ่ง การเมืองของไทยกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ ช่วยพรรคพวกเพื่อนฝูง คนที่ทำงานการเมืองสมัยก่อนเวลาทำความผิด เขาจะมีการชุบตัว ช่วยให้ผิดเป็นถูก นั่นถือว่าแย่แล้ว ปัจจุบันทำกลับกันได้ ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้าม เขาทำให้ถูกเป็นผิดได้

คุณเริ่มต้นการทำงานจากข้าราชการ ก่อนจะมาทำงานการเมืองและภาคธุรกิจ จะใช้ประสบการณ์เหล่านี้กับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง

อันดับแรก ผมเข้าใจความรู้สึกของข้าราชการ ผมรับราชการตั้งแต่อายุ 18 ปี พอสอบเข้านักเรียนนายเรืออากาศได้ก็นับว่าเป็นข้าราชการเลย และไต่เต้าจนเป็นนายทหารสัญญาบัตรจนกลายเป็นนักบิน 

สอง การเป็นนักบิน ธรรมชาติของนักบินคือต้องตัดสินใจเพื่อให้ชีวิตตัวเองรอด ในเชิงความคิด ตรรกะ ความสมเหตุสมผลต้องดี เพราะจะเกี่ยวพันกับชีวิต ใครจะบอกว่าอันนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำดีแล้ว เราต้องเข้าไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง จะทำให้การตัดสินใจของเราไม่ผิดพลาด

สาม ผมเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตคลองเตย ผู้สมัครหลายท่านอาจจะไม่เคยสัมผัสชีวิตชาวบ้าน แต่ผมไม่ได้ลงไปรับฟังปัญหาแล้วเขียนนโยบายทันที ผมเริ่มตั้งแต่กระบวนการมองปัญหาของชุมชน คุยกับชาวบ้าน ใครกังวลใจเรื่องอะไร ปัญหาขยะ ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ผมเข้าไปฟัง ร่วมอบรม กินนอนอยู่กับพวกเขา กระบวนการนี้ชาวบ้านเรียกว่า ‘ร่วมใจ’ ต่อด้วย ‘ร่วมคิด’ มาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เขียนขึ้นบอร์ด ขอความคิดเห็น วิเคราะห์จุดต่างๆ ก่อนร่างนโยบาย ในที่สุดจากร่วมใจ ร่วมคิด เป็น ‘ร่วมทำ’ ทำกับชาวบ้านจนขึ้นเป็นโครงการจนสำเร็จ ประสานงานขอเงินจากหน่วยงานข้างเคียง หรือองค์กร NGO ต่างๆ

ผมเป็นโฆษกรัฐบาลช่วงที่จัดระบบกระทรวง ทบวง กรมใหม่ ต้องแถลงข่าวแทนทุกกระทรวงที่นำเรื่องสำคัญเข้าคณะรัฐมนตรี และผมรู้การปฏิบัติของแต่ละกระทรวง หรือการจัดหมวดหมู่งานต่างๆ 

ผมจะบอกเลยว่า ระบบงานของกรุงเทพฯ ล้อจากการจัดระเบียบกระทรวง ทบวง กรม ของประเทศทั้งหมดลงมา ผมทราบเลยว่าใครทำอะไร อย่างไร แล้วจะต้องกำกับดูแลแบบไหน ทั้งหมดนี้ซึมซับมาตลอด 20 ปีของการทำงานทางการเมือง

นอกจากเขตคลองเตยที่คุณเคยลงไปทำงานคลุกคลีมา ยังมีอีก 49 เขตที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูแล มองความซับซ้อนและหลากหลายทางพื้นที่นี้อย่างไร

หนึ่ง เขตคลองเตยครอบคลุมถนนสุขุมวิท ซอยทองหล่อ เอกมัย อโศก ฯลฯ ย่านที่ดินที่อยู่อาศัยของคนรวย คอนโดฯ ที่มีราคาต่อตารางเมตรและราคาที่ดินแทบจะสูงที่สุดของประเทศไทย สอง เขตถนนพระราม 4 เป็นธุรกิจ SMEs ธุรกิจห้องแถว ขายส่ง ธุรกิจ ตลาด มีตลาดคลองเตย และเป็นชุมชนของคนชนชั้นกลาง และสาม ชุมชนแออัดคลองเตย เป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อันดับสองของโลก และไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนคลองเตยเคยอยู่บนที่ดินบุกรุกและตอนหลังก็ออกทะเบียนบ้านให้เขาอยู่

ทุกอย่างผสมผสานกันในเขตคลองเตย ผมเข้าใจปัญหาตั้งแต่รากหญ้าถึงคนรวย ดังนั้น ทุกอย่างของคลองเตยแทบจะ represent กรุงเทพมหานครเกือบครบทุกเขต อาจจะมีบ้างที่ตกหล่น เช่น เรื่องเกษตรกรรมในเมือง

ทำไมคุณศิธาถึงเปรียบเทียบปัญหาของกรุงเทพฯ เหมือนภูเขาน้ำแข็ง

เราพูดแต่ปัญหาที่อยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาด้านใต้อีกสิบเท่าไม่พูดถึง ปัญหาที่เราพูดถึงมันอาจจะออกในรูปของ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ กทม. ยังมีองค์กรที่เป็นแดนสนธยาที่เข้าไปตรวจสอบไม่ได้อยู่

เช่นอะไรบ้าง

เช่น กรุงเทพธนาคม โดยเจตนารมณ์ก็ดีนะ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาจากวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนของราชการ มีกรุงเทพมหานครถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะตอนนี้เวลาตรวจสอบต้องผ่าน กทม. อ้อมเข้าไปกว่าจะเข้าถึงก็ยาก

อย่างปัญหารถไฟฟ้าทุกวันนี้แก้ไม่จบสักที เอกชนก็บอกว่าให้เขาทำธุรกิจ ต่อให้รวยเป็นแสนล้าน แต่รัฐบาลติดหนี้เขา 3 หมื่นล้าน ไม่มีบริษัทไหนอยู่ได้นะครับ พอเรื่องจะเข้า ครม. ก็มีคนไปวอล์กเอาต์ บอกว่าจะเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทต่อเที่ยว เขารับไม่ได้เพราะมันแพง ประชาชนก็เฮลั่นเพราะจะถูกลง 

จริงๆ ไม่ใช่ ข้อกำหนดเขาเขียนไว้ว่า ‘ไม่เกิน 65 บาท’ หมายความว่าคุณจะให้ขึ้นฟรีก็ได้ จะคิด 10-20 บาทก็ได้ นี่เป็นประเด็นที่เล่นกับการรับรู้ (Perception) ของประชาชน เลือกพูดแต่สิ่งที่อยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ไม่ได้เจาะไปข้างใต้

 

ถ้านาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารีเป็นผู้ว่าฯ กทม. ปัญหาเหล่านี้จะหายไปไหม เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะมีราคาประมาณเท่าไร

ภาพรวมก่อนนะครับ เราเรียกว่า Mass transit (ขนส่งมวลขน) แต่ไม่ได้ตอบสนอง Mass people ประชาชนส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้ ไม่มี demand เนื่องจากราคาแพง ผมจะเอาที่ปรึกษาทางการเงินมาดูตรงนี้เลยครับ และคุยกับภาคเอกชนว่ากำไรของคุณมากเกินไป ของคุณพอดีแล้ว แม้กระทั่งกำไรน้อยไป ผมก็จะบอก แต่ถ้ากำไรที่พอดีที่เหมาะสม เอกชนอยู่ได้ และประชาชนก็ขึ้นได้ และถ้ารัฐบาลก็เข้าไปสนับสนุน (Subsidize) บางส่วนได้ นั่นคือจุดที่พอดี

รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ค้าขายหรือเอากำไรจากประชาชน คุณต้องลดทอนราคาให้ Mass people ใช้ Mass transit ได้ สิ่งที่ต้องทำคือแกะให้เห็นราคาต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Operational costs) ทั้งหมดที่ใช้ ถ้าราคาจบที่ 40 บาท ผมจะบอกว่าแพงไป มีตั้งหลายอย่างในภาคคมนาคมที่รัฐบาลเอาภาษีอากรของประชาชนมาทำแล้วไม่เก็บตังค์ หรือรัฐบาลสนับสนุน ทำไมรถไฟฟ้าซึ่งวางพื้นฐานมาแล้วถึงบอกว่าไม่ต้องสนับสนุน แล้วให้เอกชนส่งเงินให้รัฐบาลเป็นผลตอบแทน

วันเปิดตัวและแถลงนโยบาย คุณศิธาใช้ 3 คำเป็นจุดตั้งต้นนโยบาย คือ ‘3P’ – People – Profit – Planet ทำไมถึงชู 3 ข้อนี้เป็นหลัก

ผมขอพูดก่อนว่า นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. แทบจะทุกคนจากอดีตจนถึงตอนนี้แทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน ครั้งนี้มีผู้สมัคร 31 คน ผมเชื่อว่าใน 20 คนแรก นโยบายเขียนออกมาแทบจะเหมือนกันทั้งหมด บางคนอาจจะจัดกลุ่มเป็น 20 ข้อ 6 ด้าน 9 ด้าน ฯลฯ ส่วนผมมองด้านใหญ่ๆ 3 ส่วน และแต่ละส่วนก็แตกเป็นนโยบายระดับรอง นโยบายย่อย แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ ปากท้อง และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อย่างแรกคือ ‘People’ การพัฒนาคน ยกระดับคุณภาพชีวิตคน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เราดีขึ้น 

สอง ‘Profit’ เป็นส่วนสำคัญมาก อย่างที่บอกว่า ผมลงพื้นที่ ชาวบ้านพูดเรื่องปากท้อง เขาต้องทำมาค้าขายได้ นโยบายของพรรคจะมีส่วนเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ในส่วนของ กทม. เราจะทำกองทุนเครดิตประชาชนให้พี่น้องประชาชน โดยพี่น้องประชาชน โดย กทม. เป็นตัวกลาง และสาม ‘Planet’ สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน 

สาม ‘Planet’ สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน บอกลาน้ำรอระบาย ด้วยแพ็กเกจแก้น้ำท่วมก่อนกรุงเทพฯ จมบาดาล ลดมลพิษ ลดฝุ่น PM2.5 โดยห้ามรถที่ปล่อยควันเสียวิ่งใน กทม. ควบคุมการก่อสร้าง เร่งปลูกต้นไม้ ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดย กทม. สนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในทุกเขต

ขณะเดียวกัน จะสร้างเมืองสุขภาพดี ผ่านการเพิ่มสถานที่ออกกำลังกาย ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ แจกสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ส่งเสริมคน กทม. ให้ออกกำลังกาย รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 9 ตารางเมตรต่อคน ตามมาตรฐานนานาชาติ

เมื่อก่อนในสมัยพรรคไทยรักไทย เราเคยทำกองทุนหมู่บ้านให้ชาวบ้านบริหารจัดการ บางชุมชนแล้วแต่ตกลง 3-5 หมื่นบาท หมื่นเดียวก็มี การปล่อยกู้ให้ดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือน เราฟังแล้วตกใจ ทำไมเยอะอย่างนี้ ไม่ได้นะ คุณต้องเอาตามกฎหมาย เขาบอกว่าไม่ใช่ ถ้าเกิดต่ำกว่านี้จะควบคุมไม่ได้ ปกติชาวบ้านไปกู้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 10 หรือ 20 ต่อเดือนก็มี เขามาเจอ 1.5 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ เขาบอกว่ายินดี และผลคืออัตราส่วนของการผิดนัดน้อยมาก และคนที่กู้แล้วเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) หมายถึงคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เชื่อไหมครับว่าต่ำมาก

ถามว่าทำไม เพราะกองทุนหมู่บ้านมอบอำนาจให้กับประชาชนในการตรวจสอบ คัดกรอง คนในหมู่บ้านเขารู้ว่าบ้านไหนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย บ้านไหนทำมาค้าขาย บ้านไหนไม่มีเงินกิน เขารู้ว่าถ้าเบี้ยวก็ทำลายอนาคตตัวเอง เขาพยายามทุกอย่างเพื่อใช้หนี้ ทำงานขยันขันแข็ง สร้างงานให้กับตัวเอง ในส่วนของ กทม. จะเป็นตัวกลางแล้วเอา demand-supply มาเจอกัน อาจจะต้องสนับสนุนบางส่วนถ้าดอกเบี้ยมันไม่ได้ ค้ำประกันในส่วนที่ผิดพลาด กำไรจากกองทุนชดเชยส่วนที่ผิดพลาดของคนที่ทำงานกองทุนในชุมชนที่อาสามา ฯลฯ 

อย่างที่คุณบอกว่านโยบายของผู้ลงสมัครเลือกตั้งส่วนใหญ่คล้ายกันหมดเลย มองว่าอะไรเป็นตัวตัดสินชี้ขาด

คนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ รู้ระบบราชการ และทำโดยไม่ขัดต่อระบบราชการ ไม่ต้องเดา ไม่ต้องไปคาดว่าทำอย่างนี้เดี๋ยวจะไม่ถูกต้อง เดี๋ยวจะผิด

แต่ในทางกฏหมาย ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจจำกัดและต้องประสานงานกับรัฐบาลส่วนกลาง จะทำอย่างไรกับเงื่อนไขเหล่านี้

ผมจะเอาพี่น้องประชาชนเป็นแบ็ก จะบอกว่าทุกอย่างประชาชนเสนอ แล้วคุณไปเลือกเอาว่าระหว่างทำให้เมืองหลวงจมปลักอยู่แบบนี้ อยู่กับปัญหาที่มีทุกวันนี้ กับการใช้งบประมาณไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศเอามาทำให้เมืองหลวงเจริญและทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยเจริญขึ้นมาทั้งหมด

ผมจะทำกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น ในการจัดงบประมาณ หรือเลื่อน-ลด-ปลด-ย้ายข้าราชการ ผ่านระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ชื่อ D.A.O. (Decentralized Autonomous Organization) แก้ไขไม่ได้ บิดเบือนไม่ได้ เอาผู้เชี่ยวชาญเรื่องบล็อกเชน ไอที ดิจิทัล มาตรวจสอบ แล้วก็บอกเลยว่ามีจุดรั่วไหม ถ้าทุกคนยอมรับ ผมจะเอาระบบนี้เข้ามาใช้ และถ้าประชาชนลงความเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. ห่วย ไม่ดี รองผู้ว่าฯ ไม่ดี ผู้อำนวยการต่างๆ ไม่ดี เราก็จะเห็นชัดเจน

 

แน่นอนว่าจะมีข้าราชการบางส่วนเสียประโยชน์จากระบบใหม่นี้ คุณคิดว่ารับมือกับเรื่องนี้ไหวไหม

ถ้ามีหัวหน้าหน่วยมาบอกว่า เขาจะทำระบบการแต่งตั้งโยกย้ายให้โปร่งใส ไม่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ทำให้ข้าราชการเป็นข้ารับใช้ประชาชนที่แท้จริง สมศักดิ์ศรี สมเงินเดือนที่ได้จากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน เชื่อไหมครับว่าข้าราชการ 90 เปอร์เซ็นต์ จะสนับสนุน

เป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าคนส่วนใหญ่จะคัดค้าน ในกระทรวงหนึ่ง ในหน่วยงานหนึ่งมีข้าราชการอย่างน้อยๆ เป็นร้อยคน บางกระทรวงมีเป็นพันคน หรือหมื่นคน เขามองว่าเมื่อไรระบบจะถูกต้อง เขาอยากทำงาน อาจจะมีบางส่วนที่เข้ามาแล้วคิดว่าได้อำนาจแล้วจะแสวงหาผลประโยชน์ ด้านนี้ผมเชื่อว่ามีน้อยมาก ไม่มีใครคิดอย่างนั้นตั้งแต่ตอนสอบเข้าหรอกครับ แต่ระบบหรือวัฒนธรรมองค์กร คือตัวที่สกัดไม่ให้องค์กรหรือประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง เราต้องเข้าไปแก้ไขตรงนี้

นี่คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ ผมจะทำกรุงเทพมหานครเป็นโมเดลของประเทศไทย และถ้าเกิดพรรคไทยสร้างไทยได้เข้าไปเป็นรัฐบาล ผมจะเข้าไปทำในสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่เคยทำ 

หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คุณจะทำอะไรบ้างในวันแรก

จะคุยกับข้าราชการเรื่องแนวความคิด (Mindset) ของการเป็นข้าราชการที่เป็นข้ารับใช้ประชาชนตั้งแต่วันแรก และผมจะเป็น ‘Leadership by example’ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อะไรที่ประชาชนเดือดร้อนเราต้องเข้าไปช่วย เข้าไปดูแล ตรงไหนที่เราแก้ไขไม่ได้ ก็เข้าไปให้รู้ว่าทำไมทำไม่ได้

ลองบอกนโยบายแรกที่เป็นรูปธรรมสักหน่อยได้ไหม

หลังเลือกตั้งจะเข้าหน้าฝน ผมจะให้ทุกเขตทดสอบระบบระบายน้ำของเขตตัวเองทันที เพราะปัญหาที่กำลังจะมาคือน้ำท่วม ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมรับเลย เรามีจุดเชื่อมโยงอยู่แล้วครับ จากคลองนี้ไปคลองนี้เชื่อมโยงอย่างไร ความสูงต่ำของระดับ เราต้องทำอย่างไร

น้ำโดยธรรมชาติไหลจากสูงมาต่ำ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ กลางเมืองต่ำกว่ารอบเมือง พื้นที่กลางเมืองทรุด เพราะให้ใช้น้ำบาดาลโดยไม่มีการกำกับดูแล ปิดตาข้างหนึ่งไปรับตังค์เขา ข้างบนก็สร้างตึกจนน้ำหนักเพิ่ม ข้างล่างไม่มีน้ำหนุน พื้นดินทรุด อย่างพื้นที่รามคำแหงตอนนี้ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1 ฟุตแล้วครับ ฉะนั้นคลองที่เป็นทางผ่านจะระบายน้ำไม่ได้ 

วันแรกที่ผมเข้าทำงานเมื่อทดสอบเสร็จจะรู้เลยว่า คุณขุดลอกคลองจริงไหม งบประมาณที่ใช้ร่วมร้อยล้านที่คุณขุดลอกลำคลอง คุณโกหกหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่เคยเอาน้ำออกแล้วดูด้วยตา

ตลอดการหาเสียงครั้งนี้ ทำไมคุณประกาศว่า ‘ถ้าเลือกศิธา ได้สุดารัตน์มาทำงาน’

ถ้าเป็นการเลือกตั้งใหญ่ เลือกสุดารัตน์ก็ได้ศิธาทำงาน เพราะเราเป็นทีม ไม่ใช่เฉพาะศิธาได้สุดารัตน์ หรือสุดารัตน์ได้ศิธา ได้ทีมที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ส.ก. ทีม ส.ส. ทีมคนรุ่นใหม่ที่ศิธาเข้าไปช่วยในการปลูกฝังนโยบาย ทั้งหมดที่พูดผม represent คนที่มาร่วมอุดมการณ์ทั้งพรรคไทยสร้างไทย

จริงไหมที่ก่อนหน้านี้พรรคไทยสร้างไทยมีการทาบทามมาดามแป้ง (นวลพรรณ ล่ำซำ) เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.?

มีการพูดคุยกันหลายคนเยอะแยะไปหมด คนที่อยู่ข้างนอกเราจะไม่พูดถึง แม้กระทั่งคนที่กลับมาลงเล่นการเมืองอีกไม่ต่ำกว่า 2 คน ก็มีการพูดคุยเช่นกัน เพราะทุกคนรู้จักกันอยู่ในแวดวงการเมือง เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนิทกัน อย่างวันที่ผมไปสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. พอโผล่ไปทุกคนก็ทักทายเพราะแทบจะรู้จักกันหมดอยู่แล้ว คนรุ่นหลังๆ ก็รู้จักกันเป็นพี่เป็นน้องกัน คุยหลายคนมาก

จริงๆ แล้ว ผมเองอยากทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ได้เกี่ยงงอนอะไร ไปอยู่ข้างหลังช่วยปั้นเด็กเพราะอาสาเป็นนั่งร้าน น้องต้องทำอย่างนี้นะ แล้วเราก็ต้องเข้าไปนั่งในใจประชาชน ไม่ใช่คุณลงไปแบกอย่างเดียวแต่คุณต้องติดตามผลงานด้วย ผมลงไปกินนอนกับคนในพื้นที่เป็นระยะเวลา 2-3 ปี 

ถามว่าผมสู้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นได้ไหม ผมดูผลสำรวจมามันก็เห็นอยู่แล้วว่าอันดับ 1 มานำ ขนาดที่อันดับที่ 2 และ 3 เอาคะแนนมาบวกกันยังตามไม่ทันเลย ผมเพิ่งมาเปิดตัวไม่ทันแน่นอน แต่ผมก็ต้องทำให้ดีที่สุดในเมื่อเรามีขีดจำกัดแค่นี้ และกฎหมายก็ระบุให้ทำได้แค่นี้ นับจำนวนเงินตั้งแต่วันเริ่มลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. กฎหมายหาเสียงระบุมาเป๊ะมากว่าต้องทำแค่ไหน ถ้าเกิดผมหาเสียงมาก่อน 2-3 ปี ผมอาจจะใช้เงินไปแล้ว 50-60 ล้านก็ได้

แต่ไม่ได้บอกว่าการที่ออกสตาร์ทก่อนคนอื่น ออกก่อนกติกาที่กำหนดเป็นสิ่งที่ผิดนะ แต่สิ่งที่สำคัญมันคือการบอกว่า เมื่อมีการเป่านกหวีดดัง ‘ปี๊ด’ คุณออกวิ่ง 50 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ผมออกจากจุดสตาร์ทเตรียมตัว แต่อีกคนหนึ่งปั่นจักรยานมาจากระยะทาง 100 เมตร ตอนที่ผ่านเส้นชัยพร้อมกันเขาไม่ต้องปั่นต่อแล้วนะ ปล่อยล้อฟรี เข้าเส้นชัย ทำท่าหล่อๆ ได้เลย

ผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมสั่งสมจากการลงพื้นที่มากว่า 20 ปีจะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้มันไปลึกมากกว่าการจัดโต๊ะ ตั้งกล้องถ่ายรูป เพราะผมรับฟังปัญหาชาวบ้านและนำมาเขียนนโยบายกลับสู่พื้นที่ เฮ้ย! ตรงนี้แก้ไหม มาช่วยกัน มาทำร่วมกัน ใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการแก้ปัญหาสักปัญหาหนึ่ง แต่สิ่งนี้ผมมองว่ามันยั่งยืน

ถามจริงๆ ว่าการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เป็นการทดสอบหรือประเมินพลังเสียงของพรรคไทยสร้างไทยหรือไม่ เพราะสนามเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ก็ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.

ไม่ใช่การทดสอบ แต่ถามว่าได้ประโยชน์ไหม ในทางการเมือง ถ้าชนะผู้ว่าฯ ได้ประโยชน์ทันที ได้เข้าไปบริหารงานโดยใช้กรุงเทพฯ เป็นโมเดล

ถ้าไม่ชนะก็ยังได้ประโยชน์ เพราะสิ่งที่ผมเสนอทั้งหมดก็ล้อกับนโยบายพรรค ผมจะทำอย่างนี้กับระบบราชการทั้งประเทศ คนอาจใช้เวลา 50 วันในช่วงหาเสียงฟังนโยบาย แล้วก็ยังไม่เชื่อมั่น ผมยังมีเวลาอธิบายในระดับประเทศอีก แต่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แล้ว พรรคที่เพิ่งสร้างมาใหม่ก็สามารถชูนโยบายที่คนเข้าใจง่าย ผมพูดตรงๆ เลยว่ามันได้ประโยชน์ทั้งหมด

 

จุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยที่ต้องการนำเสนอคืออะไร

การสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุดให้กับลูกหลาน ทุกอย่างเราจับมาเข้าระบบแล้วเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคิดของคนรุ่นใหม่ มารองรับประเทศไทยในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ถ้าคุณศิธาไม่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำอย่างไรต่อไป

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเกิดไม่ได้ ผมก็กลับไปทำงาน ยังช่วยพรรคไทยสร้างไทย แต่จะอยู่ตำแหน่งไหนก็แล้วแต่ทางพรรค ตอนแรกอย่างที่บอกว่าจะช่วยงานเบื้องหลัง แต่ถ้าโดดมาลงตรงนี้แล้วก็ค่อยมาว่ากัน เพราะเราต้องผลักดันนโยบาย ผลักดันสิ่งที่เราคิดจะทำให้กับประเทศนี้ให้สำเร็จ และในส่วนนโยบายที่ผมเสนอ ผมสรุปลงในกระดาษอยู่แล้ว บางนโยบายที่ต้องอธิบายลึกซึ้งอย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วม หาบเร่แผงลอย การศึกษา ผมจะสรุปในกระดาษให้เห็น เข้าใจง่ายๆ ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าใครเห็นว่ามันดี เอาไปใช้ได้เลย และถ้าใครมาขอคำปรึกษา ผมยินดีทำให้โดยไม่ต้องมีตำแหน่ง ไม่ต้องมีเงินเดือน ไม่ต้องมีผลประโยชน์อะไรเลย

ก่อนหน้านี้มีประเด็นที่คุณทักษิณ ชินวัตร พูดถึงคุณหญิงสุดารัตน์ทางอ้อมใน Clubhouse ถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถามตรงๆ ว่าทางพรรคมีจุดยืนอย่างไรต่อประเด็นนี้

เราจะบอกว่า การที่พูดแบบนี้ ถ้าระบุไปเลยว่าเป็นพรรคไหนหรือชื่ออะไร สมมติคนบอกว่าเป็นคุณหญิงหน่อย (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ผมเชื่อว่าคุณหญิงหน่อยจะตอบ แล้วจะตอบเคลียร์ว่าที่เขาพูดหมายถึงอะไร ส่วนในเรื่องละเอียดอ่อนและไม่ได้ระบุตัวบุคคล ผมขอสงวนสิทธิ์ว่าเราจะไม่พูดถึง

ส่วนเรื่องสถาบันฯ จริงๆ แล้ว ถ้าไม่พูดถึงเลย ไม่อิง ไม่ว่าจะด้านไหนก็แล้วแต่ แล้วเราก็ทำงานในฐานะนักการเมือง ก็ทำงานในกรอบของเราไป ผมเชื่อว่าน่าจะดีที่สุด

ทั้งงานการเมืองและการตั้งพรรคใหม่ในครั้งนี้ คุณศิธาบอกว่าอยากส่งต่อประเทศที่ดีให้คนรุ่นใหม่ ส่วนตัวคุณอยากเห็นกรุงเทพฯ และสังคมไทยเป็นแบบไหน

อยากเห็นสังคมไทยที่ไม่แบ่งข้าง ทุกคนมีข้อดีข้อเสีย เราเคยได้ยินคำว่า ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ เป็นคำเชยๆ โบราณหน่อย แต่ผมคิดว่าน่านำมาใช้กับปัจจุบัน บางทีเราไม่มองสิ่งดีซึ่งอาจจะมีมากกว่าสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะไปจี้กันแต่สิ่งไม่ดี คนเราโดยธรรมชาติเวลาโดนตำหนิในสิ่งผิด เราก็จะไปแก้ ไปสู้ แทนที่จะบอกว่า เออ ทำไมไม่พูดถึงสิ่งดีๆ จะบอกว่า เออ ถ้ากูชั่ว มึงก็เลว ถ้าบอกว่ากูทำนี่ มึงก็ทำโน่น มันไม่มีประโยชน์ ผมว่าเราต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

จะเรื่องสถาบันฯ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าอะไรที่ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือไปขัดแย้งกับคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และมีความรู้สึกที่ผูกพันลึกซึ้งมานาน ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพูด เราก็ยังไม่จำเป็นต้องพูด นี่คือความรู้สึกของพรรคและจุดยืนของพรรคเรา

เราคิดว่าปัญหาปากท้องและวิกฤตโควิด 2 เรื่องนี้ต้องทำก่อน มันจะเกี่ยวพันถึงเรื่องท่องเที่ยว จะเปิดประเทศอย่างไร เรื่องทำมาหากิน จะสนับสนุนให้โอกาสกับชาวบ้านอย่างไร ช่วยคนตัวเล็กอย่างไร แค่นี้ก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว เอาเรื่องปัญหาเหล่านี้ให้ได้ก่อน 

เมื่อก่อนคนจะพูดเรื่องประชาธิปไตยเยอะ แต่ตอนนี้ความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในอันดับแรกเลยคือเรื่องปัญหาปากท้อง ส่วนที่บอกว่าจะมาสู้เพื่อประชาธิปไตยเริ่มจะลดลงแล้ว แต่ต้องมีนะครับ และต้องทำ แต่ถ้าเกิดจะอดตายอยู่แล้ว ขอทำอันนี้ก่อน ขอหาข้าวกินก่อน หานมให้ลูกก่อน 

เพราะฉะนั้นในนโยบายของเรา เราจะไปแก้ตาม Priority ความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้ก่อน

Fact Box

  • นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี อายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 (ตท.24) และวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 31
  • เขาเปิดเผยในเวทีเปิดตัวชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ว่าจุดที่ตัดสินใจเบนเข็มมาเดินบนเส้นทางการเมือง เพราะแรงบันดาลใจจากบทสนทนาส่วนตัวกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’
  • นาวาอากาศตรีศิธาเคยเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และสมาชิก ‘บ้านเลขที่ 111’ ฉายาที่ใช้เรียกคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จำนวน 111 คน  ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จากคำตัดสินยุบพรรค ตามคำร้องของ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ด้วยคะแนน 6 ต่อ 3 เสียง ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549
Tags: , , , , , ,