กลายเป็นเรื่องปกติ หากคุณไปเดินห้างแล้วขอเวลาสักเล็กน้อย เลี้ยวเข้าร้านยูนิโคล่ (Uniqlo) เพื่อมองหาไอเท็มที่ถูกใจในราคาย่อมเยา หรือหากยังไม่มีสิ่งใดเป็นที่ต้องการ ก็ขอแวะอัปเดตคอลเล็กชันใหม่เสียหน่อย
หลายปีมานี้ ยูนิโคล่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับนักช็อปชาวไทย รวมทั้งอาจทั่วโลกด้วยซ้ำ การผลิตจำนวนมากในราคาที่ย่อมเยาและอิงกระแสแฟชัน เป็นคำนิยามของธุรกิจ Fast Fashion หากแต่สิ่งที่ทำให้ยูนิโคล่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อยู่ที่การไม่อิงกับกระแฟชันมากนัก พูดง่ายๆ คือยูนิโคล่พยายามสร้างที่ทางของตัวเองผ่านปรัชญา
LifeWear
LifeWear เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ในทุกโอกาส และทุกไลฟ์สไตล์ เราจึงเห็นดีไซน์ที่เรียบง่าย ใส่ใจต่อคุณภาพการตัดเย็บ เพื่อให้ทนทานใช้งานได้นาน
ยูนิโคล่มักจะสื่อสารข้อความนี้ผ่านเสื้อผ้าในทุกๆ คอลเล็กชัน ทั้งคอลเล็กชันทั่วไปรวมไปถึงคอลเล็กชันพิเศษที่ร่วมมือกับดีไซเนอร์ชื่อดังเช่น อิเนส เดอ ลา เฟรซองจ์ (Ines de la Fressange) เจ. ดับเบิลยู. แอนเดอร์สัน (J.W. Anderson) และคอวส์ (Kaws) แม้แต่คริสตอฟ เลอแมร์ (Christophe Lemaire) แห่งแบรนด์เลอแมร์ (Lemaire) ที่เคยทำงานกับแอร์เมส (Hermes) ในฐานะครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ก็รับหน้าที่เป็นหัวหอกด้านดีไซน์อยู่ที่ศูนย์ดีไซน์ของยูนิโคล่ที่ปารีส ในไลน์พิเศษที่ชื่อ ‘Uniqlo U’
มากกว่างานดีไซน์และความสวยงามที่สมบูรณ์แบบ ยูนิโคล่พยายามจะบอกเราว่า ฟังก์ชันการใช้งานถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกซื้อเสื้อผ้าสักชิ้น การใส่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปในเสื้อผ้าที่เราค่อยๆ คุ้นชื่อ อย่างแอริซึม (AIRism) ฮีทเทค (Heattech) กางเกงคันโด (Kando) และดรายเอ็กซ์ (Dry-Ex) เป็นต้น
เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยูนิโคล่จัดงานใหญ่กลางมหานครนิวยอร์ก ที่สปริง สตูดิโอส์ (Spring Studios) ในชื่องาน ‘The Art and Science of LifeWear’ ซึ่งเป็นงานครบรอบ 15 ปี จากความร่วมมือระหว่าง ยูนิโคล่ และ โทเร (Toray Industries) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีสิ่งทอ ผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมเสื้อผ้าของยูนิโคล่ และเป็นจุดเริ่มต้นของฮีทเทคในปี 2003
งานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน บุคคลในแวดวงแฟชัน และเหล่าบล็อกเกอร์เป็นอย่างมาก และนับเป็นครั้งแรกของการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเครื่องแต่งกายที่นิวยอร์กอีกด้วย งานนี้ช่วยให้เข้าใจความหมาย กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของเทคโนโลยีแต่ละชนิด
ทาดาชิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูนิโคล่กล่าวว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ยูนิโคล่ทำงานร่วมกับโทเรเพื่อมองหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการผลิตเสื้อผ้า
“โทเรเป็นผู้ปฎิวัติเทคโนโลยีด้านสิ่งทออย่างแท้จริง เป็นพาร์ตเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเราและตอบสนองปรัญชา LifeWear ของเราได้อย่างดียิ่ง ซึ่งแสดงถึงเสื้อผ้าที่ทำให้ชีวิตประจำวันของทุกคนสะดวกสบายมากขึ้น” ทาดาชิกล่าว
ด้านอะคิฮิโร นิคคากุ ประธานบริษัท โทเรอินดัสตรีส์ กล่าวว่า ปรัชญาของบริษัทคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สู่สังคม ผ่านความคิด เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ ทำให้โทเรมีการวิจัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเชื่อมั่นว่าวัสดุจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้
ตัวอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ลำดับต้นๆ ที่ยูนิโคล่ทำร่วมกับโทเร ก็คือ ‘เสื้อขนแกะ’
“มันทำให้เราตระหนักว่า เราจะเลือกใช้เส้นไยอะไร เส้นด้ายชนิดใด เพื่อทำให้เสื้อผ้าของเราดีขึ้น การพึ่งพาโทเรทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านวัสดุ” ทาดาชิ กล่า
“ผลิตภัณฑ์ของเราทนทานมากขึ้น สีไม่ซีดจางไปง่ายๆ ด้วยคุณภาพการตัดเย็บที่ดี คุณจะซักผ้ากี่ครั้งก็ตาม แต่คุณภาพผ้าของเราก็ยังเหมือนเดิม”
ไม่น่าเชื่อว่า นับแต่ฮีทเทคถือกำเนิดขึ้นในปี 2003 มันขายไปได้แล้วถึงหนึ่งพันล้านชิ้น ใช้เนื้อผ้า 700,000 กิโลเมตร หรือเท่ากับ 17.5 เท่าของเส้นรอบวงของโลก นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ ฮีทเทคได้รับความนิยมอย่างมาก หากแต่มันน่าสนใจอย่างไร มีกระบวนการทำงานอย่างไรที่ทำให้ร่างกายเราอบอุ่นได้ รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ เราจะไปหาคำตอบผ่านนิทรรศการนี้
ฮีทเทค ลืมเสื้อกันหนาวแบบหนาไปเลย
มันคือ: เสื้อตัวในที่มีความเบาสบาย นุ่มนวลต่อผิวสัมผัส ขณะเดียวกัน ก็ให้ความอบอุ่นแก่ผู้สวมใส่ แม้จะใส่เพียงชั้นเดียวก็ตาม ทำให้ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าหนาๆ เกินความจำเป็น
ทำไมอุ่น : เนื้อผ้าของฮีทเทค ประกอบด้วยเส้นใยทั้งหมดสี่ชนิดได้แก่
- เรยอน (Rayon) – ทำหน้าที่ดูดความชื้นเพื่อแปรเป็นความอบอุ่น
- ไมโครอะคริลิค (Micro-acrylic) – มีช่องอากาศหลายชั้น ทำหน้าที่กักเก็บความอบอุ่น
- โพลียูริเธน (Polyurethane) – มีความยืดหยุ่นสูงเป็นพิเศษ
- โพลีเอสเตอร์ (Polyester) – ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นทำให้เนื้อผ้าแห้งไว
การทำงานของฮีทเทค คือ ใช้ความชื้นจากร่างกายกลับมาสร้างความอบอุ่น โดยอาศัยหลักการที่เมื่อโมเลกุลน้ำระเหย ก็จะลอยขึ้นสู่อากาศ ดังนั้นเมื่อร่างกายผลิตเหงื่อและความชื้น โมเลกุลน้ำก็จะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจากผิวหนังสู่เนื้อผ้า ทำให้เส้นใยเรยอนดูดซึมโมเลกุลน้ำ และเมื่อเคลื่อนไหว พลังงานนั้นก็จะกลายเป็นความร้อน ทำให้ร่างกายรู้สึกอบอุ่น
อีกหัวใจสำคัญคือการรักษาความอบอุ่นไว้ไม่ให้หายไป ด้วยเส้นใยไมโครอะคริลิคขนาดบางกว่าเส้นขนมนุษย์ ซึ่งเส้นใยประเภทนี้ถูกนำมาถักทอในเนื้อผ้าเพื่อสร้างช่องอากาศในเส้นใย เป็นตัวดักความร้อนไม่ให้ระเหยออกไปในอากาศ
แอริซึม ร้อนแค่ไหนก็ไม่กลัว
มันคือ: เสื้อตัวในที่ใส่แล้วรู้สึกเย็นสบาย ใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ เนื้อผ้าถูกออกแบบมาให้ระบายอากาศและความชื้นได้เป็นอย่างดี มีเนื้อผ้าที่บางเบาทำให้ร่างกายระบายเหงื่อได้ดีขึ้น
ทำไมสบาย: แรงบันดาลใจของแอริซึมเกิดจากการที่ร่างกายสามารถระบายความร้อนด้วยตัวเอง โดยการใช้เหงื่อนำพาความร้อนออกจากร่างกาย ขณะที่แอริซึมระบายอากาศบริเวณผิวหนังใต้เสื้อผ้าเพื่อให้ความรู้สึกสบาย นอกจากสวมใส่ในฤดูร้อนแล้ว ฤดูกาลอื่นก็ใส่ได้เช่นกัน
เสื้อผ้าแอริซึมของผู้ชายมีเส้นใยไมโครโพลีเอสเตอร์ (Micro-Polyester) ที่มีคุณสมบัติแห้งไว ทำให้ระบายความชื้นจากเหงื่อและช่วยขจัดกลิ่นกายอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากแอริซึมของผู้หญิง ที่ใช้เส้นใยคูโปร (Cupro) ซึ่งทำมาจากปุยฝ้าย ช่วยเรื่องการดูดซึมความชื้น และระบายความร้อนและชื้นออกจากร่างกาย
กางเกงคันโด (Kando Pants) กางเกงที่เบาราวกับไม่ได้ใส่
ทำร่วมกับ อดัม สก็อต (Adam Scott) นักกอล์ฟระดับโลกที่นำมาปรับจนกลายเป็นกางเกงที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นสูง และให้ความรู้สึกสบายตัว สามารถใส่ไปทำงานและเล่นกอล์ฟได้
เกงคันโดทำจากโพลีเอสเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถดูดซับความชื้นได้ดีและแห้งไวเป็นพิเศษ ช่วยลดการระคายเคืองเวลาเหงื่อออก เวลาใส่จะรู้สึกสบายไปตลอดทั้งวัน ความพิเศษอีกอย่างคือ มีกระเป๋ากางเกงที่เรียกว่า แอร์ดอตส์ (Airdots) มีลักษณะเป็นรูขนาดเล็กหลายๆ รู ยิ่งทำให้ระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญ น้ำหนักก็เบายิ่งขึ้นไปอีก
กางเกงคันโดมีเนื้อผ้าให้เลือกหลากหลายขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น อัลตร้าไลท์ดาวน์ (Ultra-Light Cotton) เหมาะสำหรับสวมใส่ไปทำงานที่ดูไม่ทางการมากจนเกินไป หรือใส่ไปเล่นกีฬา และแบบอัลตร้าไลท์วูล (Ultra-Light Wool) ที่เหมาะกับงานที่มีความเป็นทางการมากขึ้น
ดรายเอ็กซ์ (Dry-Ex) แห้งไวอย่างเหลือเชื่อ
มันคือ: เนื้อผ้าชนิดพิเศษที่แห้งไวกว่าเนื้อผ้าธรรมดา ระบายความชื้นได้ดีกว่าปกติ แม้เหงื่อออกก็ยังรู้สึกสบาย โดยเนื้อผ้าชนิดนี้ถูกนำมาทำเป็นเสื้อโปโล กางเกงขาสั้น กางเกงขายาว รวมทั้งเสื้อผ้าสำหรับนักกีฬาและคนรักการออกกำลังกาย
ทำไมแห้งไว: มีเส้นใยโค้งแบบพิเศษ จึงมีส่วนช่วยให้เนื้อผ้าแห้งไวกว่าผ้าธรรมดา และยังเป็นเนื้อผ้าที่ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องตัวและเย็นสบาย จึงเหมาะกับคนที่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อมาก เมื่อนำไปซัก เนื้อผ้าชนิดนี้จะแห้งไวเป็นพิเศษ สามารถใส่ซ้ำได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ
อัลตร้าไลท์ดาวน์ (Ultra Light Down) ตัวเดียวตอบโจทย์
มันคือ: เสื้อที่ให้ความอบอุ่นและสบาย มีจุดเด่นที่ความเบาและพับเก็บในกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย เหมาะสำหรับคนที่ไปเมืองหนาว แต่ไม่อยากเอาเสื้อโค้ตที่หนัก หรือเอาเสื้อผ้าไปเยอะๆ
ทำไมอุ่น เบา และพกง่าย: วัสดุไนลอนที่บางแต่แข็งแรง และมีน้ำหนักเบาเพราะหนาเพียง 1 ใน 10 ของเส้นขนธรรมชาติของมนุษย์ ส่วนความอบอุ่นได้จากการใส่ฉนวนความร้อนเข้าไป อย่าลืมสังเกตว่าอัลตร้าไลท์ดาวน์ Ultra Light Down ของแท้จะต้องเบามากจริงๆ
นิทรรศการนี้ นอกจากการสาธิตกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแต่ละประเภทของยูนิโคล่ให้เข้าใจง่ายแล้ว ยังมีส่วนแสดงอนาคตของเสื้อผ้าที่อาจจะเป็นไปได้ เช่น การทำแจ็กเก็ตที่รับพลังงานแสงอาทิตย์เก็บไว้ แล้วให้ผู้สวมใส่สามารถชาร์ตสมาร์ตโฟนได้ การพัฒนาเนื้อผ้าที่นุ่มมากขึ้น การสร้างสีใหม่ๆ ลงบนเนื้อผ้า เป็นต้น รวมทั้งยังมีส่วนการแสดงเทคโนโลยีขั้นสูงของโทเร ที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้พัฒนาแต่เส้นใยผ้า ยังทำไปถึงชิ้นส่วนของเครื่องบิน เทคโนโลยีของรถแข่ง และการทำจรวดอีกด้วย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ยูนิโคล่และโทเรได้นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรให้แก่ผู้สวมใส่บ้าง เพราะทั้งจุดขายและจุดแข็ง ทำให้แบรนด์แฟชันจากญี่ปุ่นรายนี้ก้าวขึ้นไปเป็นแบรนด์แฟชันรีเทลอันดับหนึ่งของโลกในอนาคตได้ไม่ยาก โดยนำวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้ามาอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว เพื่อตอบโจทย์ปรัชญา LifeWear ให้แก่ผู้สวมใส่ให้มากที่สุด
FACT BOX:
ยูนิโคล่ (UNIQLO) เป็นแบรนด์ในเครือของ บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด หรือ เอ็ฟอาร์ (Fast Retailing Co. – FR) บริษัทค้าปลีกชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์สินค้าหลัก ได้แก่ แบรนด์ Comptoir des Cotonniers, GU, Helmut Lang, J Brand, Princesse tam.tam, Theory, และ UNIQLO มียอดขาย 1.8619 ล้านล้านเยนในปี 2560 นับถึงสิ้นปีงบประมาณ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560 (หรือประมาณ 16,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปัจจุบันยูนิโคล่มีสาขารวมทั้งสิ้นกว่า 1,900 สาขาใน 19 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สเปน ไต้หวัน ไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
บริษัท โทเร อินดัสตรีส์ อิงค์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1926 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีแบบครบวงจรที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศและภูมิภาคต่างๆ 26 แห่งทั่วโลก ในรอบปี 2016 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2017) บริษัทฯ มีรายได้รวม 2.0265 ล้านล้านเยน (18,100 ล้านดอลลาร์) นอกจากเส้นใยและสิ่งทอซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานตั้งแต่ครั้งที่ก่อตั้งบริษัทฯ แล้ว โทเรยังก้าวเข้าสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและมีมูลค่าสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ฟิล์ม สารเคมี (Fine Chemicals) พลาสติกเรซิน และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ ตลอดจนวัสดุคอมโพสิตคาร์บอนไฟเบอร์ ผลิตภัณฑ์ด้านเภสัชกรรมและการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สำหรับการบำบัดน้ำและงานด้านสิ่งแวดล้อม
Tags: LifeWear, Heattech, AIRism, นวัตกรรม, เทคโนโลยี, เสื้อผ้า, แฟชั่น