วันนี้ (7 เมษายน 2565) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณถนนสีลม และซอยละลายทรัพย์ โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า ปัญหาสำคัญขณะนี้หลังจากลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะย่านธุรกิจและตลาดต่างๆ อย่างที่ย่านสีลม สิ่งที่ประชาชนทุกข์มากที่สุดก็คือปัญหาเศรษฐกิจ โดยพบว่าผู้คนต่างก็บ่นเรื่องค้าขายไม่ดี หรือว่างงานเพราะติดโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันก็พบว่าหลายคนมีลูกเล็ก แต่ลูกไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะโรงเรียนปิด ทำให้เห็นเด็กเล็กๆ จำนวนมากต้องเดินไปเดินมาอยู่ข้างถนน
สำหรับนโยบายที่สุชัชวีร์ระบุว่าจะตอบโจทย์กับคนในสีลม ก็คือ ต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ไม่เฉา ให้มีพลังมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าขาย ที่นโยบายของตนจะให้มีการค้าขายได้ทุกวัน เปลี่ยนจากเดิมที่ให้หยุดทุกวันจันทร์ เพื่อทำให้เศรษฐกิจบริเวณนี้คึกคักมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สุชัชวีร์ยังกล่าวอีกว่า อีกนโยบายที่เขาอยากนำมาปรับใช้กับ กทม. คือให้มีการติดตั้งก๊อกน้ำสาธารณะทุกจุดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะบริเวณเสาต่างๆ ตลอดระยะทางริมฟุตบาท เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ล้างมือ พ่อค้าแม่ค้าสามารถใช้ชำระล้างได้ เหมือนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีสุขาสาธารณะของ กทม. ด้วย
สุชัชวีร์ยังได้ขยายความถึงปัญหาของ กทม. ที่พบเห็นจากการลงพื้นที่ว่า ขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนี้ จำเป็นต้องลงไปสู้กับโควิด-19 อย่างถึงที่สุด โดยหากจัดการกับโควิด-19 ได้ ปัญหาทุกอย่างจะจบ ไม่ว่าจะปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเศรษฐกิจ
“ถ้าสู้โควิดไม่ได้ทุกอย่างจบ แต่ถ้าสู้โควิดได้ ฟื้นทุกอย่างได้ทันที ฟื้นนักท่องเที่ยว ฟื้นหมอพยาบาลที่ควรไปดูแลคนอื่น และสำคัญที่สุดคือ กทม. ควรต้องใช้งบฯ ในการดูแลโควิดไปใช้ดูแลคนอื่นด้วย ต้องลุยแก้ปัญหาโควิด ไม่ให้ติด 2-3 หมื่นคนแบบทุกวันนี้”
ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า สำหรับคะแนนจากโพลสำนักต่างๆ ที่ยัง ‘นิ่ง’ นั้น โดยส่วนตัวมองเป็นแง่บวก ที่ทำให้ต้องขยันมากขึ้น และใช้พลังในการอธิบายให้กับประชาชนมากขึ้นถึงนโยบายในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน หรือนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วกรุงเทพฯ ให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้นในทุกช่องทาง
ขณะเดียวกัน ระหว่างเดินผ่านอาคาร ‘ยูไนเต็ดทาวเวอร์’ ถนนสีลม สุชัชวีร์ยังได้ชื่นชมฟุตบาทหน้าอาคาร พร้อมกับระบุว่าฟุตบาทเรียบ ต่างจากของ กทม. มาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากเปลี่ยน กทม. อย่างจริงจัง ก็สามารถทำได้ และเอกชนก็ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว
ภาพ: เจมส์ วิลสัน / Thai News Pix
Tags: เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม., Bangkok Upside Down, BKKUPSIDEDOWN