คอเบียร์ตัวยงหลายคนคงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ส่วนประกอบหลักของเบียร์ คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ น้ำ 4 อย่างนี้รวมกันถึงจะเรียกได้เต็มปากว่าเครื่องดื่มที่อยู่ตรงหน้าคือเบียร์ แต่กลายเป็นว่าเบียร์ที่คนไทยส่วนใหญ่ดื่มกันเป็นประจำ แทบไม่มีวัตถุดิบใดผลิตขึ้นในไทยเลย
‘อ๊อบ’ – ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของ Devanom Farm & Cafe และโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ เล่าให้ The Momentum ฟังถึงเรื่องราวของเบียร์ ตั้งแต่วัตถุดิบหลักอย่าง ‘ฮอปส์’ ที่เป็นส่วนสำคัญของการทำเบียร์ พืชที่เขาปลูกมานานหลายปี ในสภาพอากาศที่ใครๆ ต่างก็บอกว่ายากที่จะทำได้ ไปจนถึงกระบวนการในการผลิตเบียร์เพื่อขาย ทั้งขายแบบบรรจุขวดและขายแบบโรงเบียร์ ที่ทุกขั้นตอนล้วนเจอปัญหามากมายจากการบังคับใช้กฎหมายที่แปลกประหลาด และดูเหมือนจะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นผู้ค้ารายย่อยลืมตาอ้าปากกันได้ง่ายๆ
เส้นทางการทำเบียร์ ขายเบียร์ หรือดื่มเบียร์ในไทย ไม่ว่าเดินไปทางไหนก็ดูจะเป็นทางตันไปเสียหมด จึงทำให้เกิดจินตนาการที่ว่า หากวันพรุ่งนี้เราสามารถปลดล็อกข้อกฎหมายที่ควบคุมการผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ทันที สุดท้ายก็ยังถือเป็นเรื่องยากที่คนตัวเล็กๆ จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในตลาดการค้าที่มีขาใหญ่เป็นผู้เล่นอยู่มานานหลายชั่วอายุคน ไหนจะเรื่องการห้ามโพสต์ออนไลน์ ห้ามโปรโมต ห้ามขายออนไลน์ ห้ามไปหมดทุกอย่าง
ช่วงแรกที่ลองปลูกฮอปส์เป็นเพราะณัฐชัยได้ไปเรียนทำเบียร์ และสังเกตว่าไทยไม่สามารถทำวัตถุดิบอย่างจริงจังได้เลย จึงลองหาซื้อฮอปส์มาลองปลูกดู เนื่องจากเวลาต้มเบียร์ส่วนใหญ่ก็ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ พอของมาส่งก็จะมาในรูปแบบอัดเม็ดเหมือนอาหารกระต่าย คนทำเบียร์ไม่เคยได้สัมผัสกับวัตถุดิบหลักในการทำเบียร์อย่างเป็นจริงเป็นจัง จากสั่งดอกฮอปส์อัดเม็ด เริ่มเปลี่ยนมาเป็นสั่งต้นฮอปส์สองสามต้นมาเลี้ยงไว้ในห้องนอน และพบว่ามันก็ออกดอกได้ดี
“ช่วงแรกไม่ได้คิดจะทำเป็นฟาร์มขนาดนี้ ตอนไปเรียนทำเบียร์ได้ยินว่ามีคนไทยปลูกฮอปส์อยู่ทางภาคเหนือ เราก็อยากลองดูบ้างว่าจะออกดอกได้ไหม ถ้าปลูกแล้วออกดอก จะใช้ทำเบียร์ของเราเองได้ไหม ถ้าทำได้เราจะได้มีของสด เพราะเราไม่เคยได้กลิ่นฮอปส์สดๆ เลย นอกจากนี้ยังคิดว่าฮอปส์น่าจะดูแลง่ายกว่าข้าวบาร์เลย์ ที่หากจะปลูกอาจต้องใช้ที่ดินหลายแปลง ส่วนตัวผมคิดว่าฮอปส์ก็เป็นวัตถุดิบทำเบียร์ที่มีเสน่ห์ ฮอปส์คือสิ่งที่ทำให้เบียร์ขมและกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นส้ม กลิ่นซิตรัส กลิ่นสับปะรด พอเอาแต่ละสายพันธุ์มาปลูกดันออกดอก เราเลยเปลี่ยนจากปลูกในห้องแอร์มาปลูกเอาต์ดอร์บ้าง ก็ยังออกดอกอยู่ เลยเริ่มคิดว่าจะทำเป็นฟาร์มที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
“ตอนนั้นก็รู้ดีว่าทำแล้วต้องลงทุนเยอะแน่นอน เพราะฮอปส์ปลูกในที่ที่มีอากาศเย็น แม้ในไทยจะปลูกได้แต่ก็อาจไม่ดีมาก เหมือนเราเอาสตรอว์เบอร์รีมาปลูกในภาคเหนือ ก็ได้ผลดีประมาณหนึ่ง แต่อาจจะสู้ต่างประเทศหรือสตรอว์เบอร์รีของญี่ปุ่นไม่ได้ขนาดนั้น อย่างไรก็ตามถือว่าน่าจะเป็นไปได้ เมื่อลองเทียบกับการปลูกองุ่นในไทย ที่ใช้เวลาประมาณ 20-30 ปี ไทยก็สามารถมีองุ่นที่มีคุณภาพ เอามาทำเป็นไวน์ของไทยได้ ผมเลยคิดว่าถ้าองุ่นทำได้ ฮอปส์ก็น่าจะปลูกได้เหมือนกัน”
เมื่อได้ผลผลิต ณัฐชัยเอาดอกฮอปส์ที่ปลูกได้ไปผสมกับฮอปส์นำเข้า ต้มเบียร์อยู่ในโรงเบียร์ของตัวเอง บางส่วนแบ่งเพื่อนฝูงที่ต้มเบียร์ บางครั้งมีผลผลิตพอเหลือก็ขายให้คนที่จะเอาไปทำคอมบูชา (Kombucha) แต่ฮอปส์ในสวนไม่ได้ถูกนำไปขายทำเบียร์จริงจัง เพราะปัญหาเรื่องปริมาณผลผลิต รวมถึงอุปสรรคในการโปรโมตโฆษณา ทั้งกฎหมายไทยและการแบนของเฟซบุ๊ก ที่แค่โพสต์คำว่า ‘เบียร์’ หรือ ‘แอลกอฮอล์’ ก็จะโดนบล็อกการมองเห็นแล้ว
ข้อกฎหมายที่ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้ร้านเหล้าเบียร์จะค้าขายกันอย่างไร?
ย้อนกลับไปปี 2563 มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากข้อกฎหมายดังกล่าวระบุว่า หากมีการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่ม จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
“เรื่องโฆษณาเป็นคนละหน่วยงานกับเรื่องกฎหมายหลัก ส่วนนี้จะเป็นของกรมควบคุมโรค ที่ไม่ค่อยเข้าใจคนกิน หรือเข้าใจแต่ต้องการจะทำให้ยากก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการออกกฎหมายที่ทำให้พูดอะไรไม่ได้เลย อย่างเพจโรงเบียร์ของผมโพสต์อะไรไม่ได้เลย โพสต์ว่าวันนี้ร้านเรามีเบียร์อะไรบ้างก็ไม่ได้ โพสต์ได้แต่อาหาร แต่เราขายเบียร์ด้วยไม่ใช่แค่ขายอาหาร กลายเป็นว่าขายเบียร์แต่แปะรูปไม่ได้ โพสต์อธิบายคุณสมบัติของเบียร์แต่ละชนิดที่เรามีก็ไม่ได้ ลงรูปแก้วที่มีเบียร์ไม่ได้ เพราะจะเป็นการชักชวนให้คนมากิน”
ณัฐชัยแสดงความคิดเห็นว่า การจ่ายค่าปรับก็เป็นปัญหาที่ยังคงเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ในกรณีที่มีการยิงโฆษณา แม้ราคาปรับระหว่างผู้ผลิตเจ้าใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยจะมีราคาเท่ากัน เช่น การปรับ 5 หมื่นบาทแก่บุคคลหรือบล็อกเกอร์ที่โพสต์รีวิว แต่บริษัทรายใหญ่อาจจะจ่ายค่าปรับรวมกับค่ามาร์เก็ตติ้งอยู่แล้ว ถ้าในบางเคสไม่โดนปรับก็ได้ลดต้นทุนค่ามาร์เก็ตติ้งไปอีก ส่วนค่าปรับของผู้ประกอบการ เช่น บริษัทเบียร์หรือโรงเบียร์ ณัฐชัยเล่าว่าหากโพสต์เองจะถูกปรับสูงถึง 5 แสนบาท
“ลองย้อนกลับไปดูเมื่อสองสามปีที่แล้ว ยูทูเบอร์ บล็อกเกอร์ เขาจะสามารถอธิบายได้ว่าเบียร์ที่กินเป็นอย่างไร มีคอนเทนต์พาไปเที่ยวโรงเบียร์ แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูลแล้ว เพราะทำแล้วจะโดนเรียก ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดนเรียกกันทุกคน ตอนนี้เลยไม่มีใครกล้าโพสต์
“ช่วงนี้เขาไม่ควรจะเข้มงวดเพราะเราลำบากมากอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าพออยู่ในช่วงโควิด-19 เขาอาจจะมีเวลามานั่งดูนั่งตรวจเยอะขึ้น ประกอบกับตอนระบาดหนักๆ ร้านค้าก็ต้องโพสต์ต้องพูดเยอะขึ้นเพราะขายของไม่ได้ เขาก็ไล่จับทั้งหมด ไหนจะเรื่องการขายออนไลน์ที่แต่ก่อนขายได้ ตอนนี้ขายไม่ได้แล้ว ต้องมาซื้อที่ร้านเท่านั้น อยู่ดีๆ ก็มีกฎหมายแบบนี้ออกเต็มไปหมด เหมือนจะกันไม่ให้คราฟต์เบียร์ได้โตเลย”
เบียร์เจ้าใหญ่เน้นเมา เคล้าอาหาร ส่วนคราฟต์เบียร์เจ้าเล็กเน้นอรรถรส เพลิดเพลินกับความหลากหลาย
หลังจากคุยเรื่องราวเกี่ยวกับเบียร์ ทั้งการปลูกวัตถุดิบหลักของการทำเบียร์ กฎหมายต่างๆ และการห้ามโฆษณาที่ทำให้ผู้ผลิตเบียร์เจ้าเล็กต้องเผชิญปัญหา The Momentum กลับมาสู่คำถามเบสิกอย่างการถามความคิดเห็นของณัฐชัยถึงวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ของคนไทยส่วนใหญ่
คนไทยดื่มเบียร์เยอะไหม? และเบียร์เจ้าใหญ่กับเบียร์เจ้าเล็กกำลังต่อสู้อยู่ในตลาดเดียวกันหรือไม่?
“ผมว่าคนไทยดื่มเบียร์มากประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะเบียร์ลาเกอร์ทั่วไป ผมมองว่าการดื่มเบียร์สองอย่างนี้เป็นคนละประเภทกัน การดื่มคราฟต์เบียร์ ดื่มเพื่ออรรถรส เพื่อรสชาติ เพื่อความหลากหลาย ขณะเดียวกันเบียร์ธรรมดาก็อร่อย ส่วนใหญ่จะดื่มคู่กับอาหาร ยิ่งกินอาหารไทยรสจัดคู่กับเบียร์ธรรมดาเย็นๆ ก็เหมาะแล้ว แต่คราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่ไม่ได้กินกับอาหารมากขนาดนั้น
“คราฟเบียร์มีลักษณะคล้ายกับการดื่มไวน์ ดื่มเพื่อรสชาติ อีกทั้งราคาที่สูงกว่าเบียร์ปกติ เขาก็ไม่ได้ดื่มกันเยอะมาก ไม่ค่อยเมา ปกติคนดื่มคราฟต์เบียร์มักไม่ดื่มจนเมา เวลาเมาจะไม่รู้รสชาติ เลยไม่ได้ดื่มเยอะเหมือนเบียร์ธรรมดา เพราะเสียแพงไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร
“คราฟต์เบียร์ถือเป็นส่วนน้อยที่ค่อยๆ โตขึ้น แต่ยังถือว่าน้อยอยู่ ด้วยราคา กฎหมาย ช่องทางการจำหน่าย การโฆษณาที่ไม่สามารถพูดหรืออธิบายตัวเบียร์แต่ละชนิดได้เลย เพราะถ้าอธิบายไปจะโดนข้อหาเชิญชวน ถามว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วงการเบียร์จะเติบโตได้อย่างไร ตอนนี้ทำการตลาดยาก พอคราฟต์เบียร์ราคาสูง ก็ไม่สามารถพูดให้คนเข้าใจได้ มันก็ขายยาก
“คนที่ชอบดื่มคราฟต์เบียร์อยู่แล้วอาจจะเข้าใจว่าทำไมคราฟต์เบียร์ถึงมีราคาสูง แต่ถ้าคนที่ไม่เข้าใจเขาจะต้องตั้งคำถามระหว่างเบียร์กระป๋องละ 60 บาท กับกระป๋องละ 150 บาท ราคาต่างกันตั้งสองสามเท่า ทั้งที่ปริมาณแอลกอฮอล์พอๆ กัน เขาจะเลือกกินอันไหน”
การแข่งขันของเบียร์ลาเกอร์เจ้าใหญ่กับคราฟต์เบียร์ไทยตัวเล็กจิ๋ว
ในโลกแห่งความเป็นจริง การทำเบียร์ในไทยยังคงเป็นเรื่องยาก ติดขัดทั้งในแง่กฎหมายการผลิต กฎหมายการจำหน่าย กฎหมายโฆษณา ไหนจะอัตราภาษีที่ชวนสับสน แม้จะมีพรรคการเมืองหรือการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชน พยายามผลักดันให้แก้กฎหมายไปทีละอย่าง แต่ดูเหมือนเส้นชัยที่จะก้าวไปให้ถึงช่างห่างไกลเสียเหลือเกิน
หากมองในโลกคู่ขนาน มองประเทศไทยที่อยู่ๆ วันรุ่งขึ้นก็สามารถปลดล็อกข้อกฎหมายที่ควบคุมการผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ทันที ณัฐชัยมองว่าเป็นเรื่องยากที่คนตัวเล็กๆ จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในตลาดการค้าที่มีขาใหญ่เป็นผู้เล่นอยู่มานานหลายชั่วอายุคน เพราะราคาอาจจะลดลงได้ แต่คงไม่รวดเร็วเท่าที่หลายคนคาดคิด
“สมมติว่าวันนี้พรุ่งนี้กฎหมายปลดล็อก เริ่มผลิตเบียร์ได้เลย เราก็ไม่สามารถจะทำโรงงานขนาดใหญ่ได้ทันที ที่เขาทำมันเป็นสเกลมหาศาล ทำ 2-3 แสนลิตรต่อการผลิตหนึ่งครั้ง เราทำเต็มที่ได้ 2-5 พันลิตร หรือ 3 แสนลิตร ที่ว่าหมัก 14 วัน ส่วนเราหมัก 14 วัน แต่ทำได้ 5 พันลิตร ใช้เวลาเท่ากันแต่เขาได้ของมหาศาลกว่าในทีเดียว คิดอย่างไรก็รู้อยู่แล้วว่าการผลิตทีละเยอะๆ จะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ดังนั้นราคาจึงเทียบกันไม่ได้
“ตัววัตถุดิบก็เช่นกัน เบียร์ลาเกอร์ทั่วไปใช้วัตถุดิบไม่มาก แต่เบียร์คราฟต์ส่วนใหญ่ใช้ข้าวบาร์เลย์และฮอปส์หลายชนิด สมมุติให้โรงงานผลิตเบียร์เจ้าใหญ่ทำเบียร์คราฟต์ เขาก็ไม่ได้ขายราคาเดิม แต่ต้องแพงขึ้นอย่างน้อยๆ ตามวัตถุดิบ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกัน
“ปกติโรงเบียร์ขนาดใหญ่จะเน้นเรื่องทำอย่างไรให้ได้ปริมาณเยอะๆ แล้วคุณภาพคงที่ตลอด รสชาติแบบเดิมทุกวัน เครื่องจักรก็จะทำให้ผลิตได้ไม่กี่แบบ แต่เน้นว่าทำให้คุ้มทุนที่สุด ทำให้ได้เยอะที่สุด แต่คราฟต์เบียร์ไม่ได้เน้นแบบนั้น เราเน้นเรื่องรสชาติหลากหลาย ใช้วัตถุดิบหลายอย่าง เครื่องจักรที่มีก็ไม่ใช่แบบโรงงานใหญ่ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรีดประสิทธิภาพให้ทุนที่ถูกลงเท่าโรงงานใหญ่
“ถามว่าถ้าเสรีแล้วจะถูกลงได้ไหม สมมติเราขยายได้มากขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น จากเดิมทำได้พันลิตรเพิ่มเป็นหมื่นลิตร แต่กว่าจะถึงวันนั้นคงไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน ต้องค่อยเป็นค่อยไป”
ภาษีที่ได้มาตรฐานควรเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ แต่รัฐกลับเก็บภาษีตามปริมาณการค้าปลีก
ด้วยโครงสร้างภาษีที่ใช้กันอยู่ ณัฐชัยมองว่าภาษีสรรพสามิตเมืองไทยไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจของคนตัวเล็กๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะภาษีแอลกอฮอล์ควรคิดตามปริมาณแอลกอฮอล์ เช่น หากจำหน่ายเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์ ทุกเจ้าที่มีปริมาณเท่ากันก็ควรจะเสียภาษีเท่ากัน แต่กลายเป็นว่าภาษีสรรพสามิตจะคิดตามราคาขายปลีก สมมติขายปลีกในราคา 60 บาท ก็เสียภาษีประมาณประมาณ 25-30 บาท คิดเป็นเกือบครึ่งของราคาขาย
“ต้นทุนวัตถุดิบเราแพงกว่าตั้งแต่แรก ถ้าจะขายเบียร์ 100 บาท ภาษีก็กินไปแล้ว 50 บาท เพราะภาษีในไทยขึ้นตามราคาที่เราขาย ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ ต้องแก้หลายเรื่องที่จะทำอย่างไรให้คนตัวเล็กๆ สามารถลืมตาอ้าปาก และดิ้นรนต่อสู้ในแข่งขันกันในตลาดเบียร์ได้
“อย่างตัวสุราก้าวหน้าถือเป็นแค่ก้าวแรก ยังมีกฎหมายเยอะแยะไปหมดที่ทำให้การเติบโตของผู้ผลิตรายย่อยเป็นไปได้ยาก ถึงได้บอกว่าหากเราปลดล็อกอันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าใครจะมาทำได้เลย หรือลุกขึ้นสู้อย่างสูสีได้เลย ต้องแก้กันอีกหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคมหาศาลที่ยังมีอยู่ในประเทศนี้”
Tags: คราฟต์เบียร์, กฎหมายเหล้าเบียร์, เบียร์ไทย, Devanom Farm & Cafe, โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์, สุราก้าวหน้า