เหตุผลที่ Touché Hombre (ตูเช่ ออมเบร) สะกดเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปคือการออกแบบภายในที่ผสมผสานวัฒนธรรมสตรีทอาร์ต ภาพคอลลาจบนกำแพง และไฟนีออนสีร้อนที่เขียนเป็นคำพูดต่างๆ ที่หลุดกรอบจากภาพร้านเม็กซิกันแบบเดิมๆ แต่ยังคงความจัดจ้านไว้ในรสชาติอาหารและเครื่องดื่มอันร้อนแรง ที่บาร์การันตีว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเตกีลา (Tequila) ตัวจริง
WHAT YOU SHOULD KNOW
Touché Hombre เปิดให้บริการครั้งแรกปี 2012 ในกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย จากการร่วมมือของแก๊งเพื่อนที่รักวัฒนธรรมสตรีทอาร์ท และหลงใหลเสียงดนตรีฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ก่อนจะเปิดสาขาบนชั้นสองของ 72 Courtyard ไนต์ไลฟ์มอลล์แห่งใหม่กลางทองหล่อ โดยมีศิลปินกราฟฟิตี้จากออสเตรเลีย Nychos มาเพนต์กราฟฟิตี้ขนาดใหญ่บนชั้นสองของร้าน จนเป็นไฮไลต์ที่ทำให้ Touché Hombre เป็นมากกว่าร้านอาหารเท่ๆ แต่เป็นจุดนัดพบของศิลปินแขนงต่างๆ
EAT THIS
อาหารที่ Touché Hombre Bangkok ได้เชฟ Patrick Martens จาก Lady Brett มายืนเป็นหลักในครัว นำเสนอเมนูทั้งจากเมลเบิร์นและเมนูใหม่ที่เชฟคิดค้น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงกลายเป็นอาหารเม็กซิกันคุ้นตา แต่แตกต่างด้วยเทคนิคการปรุง และหน้าตาอาหารที่ดูโมเดิร์นไม่แพ้สถานที่
- เริ่มมื้อด้วยสแน็กอย่าง Elotes Callejeros (120 บาท) แปลตรงตัวว่า street corn ซึ่งก็คือข้าวโพดปิ้งโรยชีส สตรีทฟู้ดยอดนิยมที่หาได้ตามท้องถนนทั่วไปในเม็กซิโก จานนี้เสิร์ฟข้าวโพดย่างกับมายองเนสผสมพริกชิโปต์เล (chipotle) ชีส cotija และมะนาว ตามด้วย Burrata Cheese Salad (325 บาท) เสิร์ฟพร้อม tomatillos หรือมะเขือเทศเม็กซิกัน กุยช่าย และ coriander oil
- สำหรับจานหลัก ‘ทาโก้’ คือสิ่งที่ห้ามพลาด ที่นี่มีชอยส์หลากหลายครอบคลุมทุกความชอบตั้งแต่ จานไก่อย่าง Pollo De Habanero (225 บาท) แป้งตอร์ติญาเสิร์ฟพร้อมไก่ย่าง อาร์ติโชก พริกฮาบาเนโร ชีสเม็กซิกัน และซัลซา จนถึงจานปลาอย่าง Baja California (225 บาท) ที่ส่วนผสมหลักเป็นปลา ซอสมายองเนสผสมพริกชิโปต์เล และสลัดแอปเปิ้ลเขียว
DRINK THIS
อาหารเม็กซิกันจะเข้ากับอะไรได้ดีไปกว่าเหล้าประจำชาติอย่างเตกีลา และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไม Touché Hombre ถึงเลือกทั้งเตกีลาและเมซคัล (mezcal) เป็นเหล้าหลักประจำร้าน แต่จะมาสั่งมาร์การิตา (Margarita) ดื้อๆ เลยเห็นทีจะเสียดายของ เราแนะนำให้ลองเมนูซิกเนเจอร์ ที่ทางร้านออกแบบส่วนผสมเองจะดีกว่า
- เริ่มต้นจากแก้วเบาๆ อย่าง Suavemente (290 บาท) ชื่อมาจากภาษาสเปนที่แปลว่า อ่อนโยน รับประกันได้ว่าสดชื่นจิบเพลินแน่นอน แก้วนี้มีส่วนผสมของเมซคัลเป็นหลัก เพิ่มความหวานด้วย Averna (เหล้าหวานชนิดหนึ่งที่ให้รสชาติขมปลายเล็กน้อย) Mancino Vermouth Rosso (เหล้าหวานกลิ่นสมุนไพร) น้ำส้ม น้ำเลมอน และตบท้ายความสดชื่นด้วยโซดา
- Trick Me (295 บาท) เป็นอีกแก้วที่อยากให้ชิม เพราะบาร์เทนเดอร์เดลาครูซบอกว่าแก้วนี้จะทำให้คนที่ไม่ชอบดื่มหรือมีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับเตกีลาเปลี่ยนใจ เนื่องจากทางบาร์ได้นำเตกีลาไปหมักไว้กับใบชาเพื่อเพิ่มความหอม ก่อนนำมาผสมกับเมซคัล เหล้าหวานกลิ่นแอปริคอต น้ำเลมอน และบิตเตอร์
- หากใครชอบค็อกเทลคลาสสิกอย่าง Manhattan ค็อกเทลสไตล์ Spirit-Forward ที่ใช้เหล้าเพียวๆ เป็นตัวเล่าเรื่อง เราแนะนำ La Condesa (295 บาท) ที่ผสมเมซคัลเข้ากับเตกีลา Reposado, Mancino Vermouth Rosso (เหล้าหวานกลิ่นสมุนไพร) Cynar (เหล้าหวานทำจากอาร์ติโชก) และ น้ำเชื่อมเกรนาดีน เสิร์ฟพร้อมเชอร์รีเชื่อม แก้วนี้ออกหวาน แต่รสชาติทุ้มลึกติดกลิ่นหอมควันไม้ตอนปลาย
- ในฐานะที่เตกีลาและเมซคัลเป็นเหล้าที่บ้านเราไม่ค่อยคุ้นชิน และ Touché Hombre ก็มีเหล้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นตาเป็นจำนวนมาก ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร ให้เปิดเมนูแล้วเลือกไปที่ Tasting Set หรือเรียกว่า Tequila Flight และ Mezcal Flight ที่ให้ลองเหล้าหลายๆ ตัวในเวลาเดียวกัน (เริ่มต้นที่ 685 บาท ต่อ 3 ช็อต)
WORDS FROM CHEF
“ถึงหน้าตาอาหารจะดูโมเดิร์น แต่บอกเลยว่ารสชาติเป็นแบบเม็กซิกันดั้งเดิม เพราะวัตถุดิบที่เราใช้หลักๆ อย่างพริก jalapeno, habanero หรือมะเขือเทศ tomatillo ต้องนำเข้าจากเม็กซิโกทุกวันเท่านั้น” Chef Patrick Martens, Head Chef at Touché Hombre TOUCHÉ HOMBRE
Open: 18:00-1:00 น. | อังคาร-อาทิตย์ (เฉพาะวันศุกร์-เสาร์ ปิด 2:00 น.)
Address: 2/F 72 Courtyard, 72 ซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ)
Tel: 06 1550 6346
Budget: 500-1,000 บาท
Parking: จอดรถภายในอาคาร 72 Courtyard
FACT BOX:
- Tequila vs Mezcal: เหล้าชนิดหนึ่งที่ได้มาจาก Agave (อะกาเว–พืชชนิดหนึ่งที่พบมากในเม็กซิโก และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ มีหลายสายพันธุ์) โดยเมซคัลจะทำจากอะกาเวสายพันธ์ุไหนก็ได้ ขณะที่เตกีลาต้องมาจากอะกาเวชื่อ Blue Agave เท่านั้น ดังนั้นเตกีลาคือเมซคัลประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกเมซคัลจะเรียกเตกีลา
- Spirit-Forward: ค็อกเทลประเภทหนึ่งใช้เหล้าเป็นส่วนผสมหลัก และผสม เวอร์มุทหรือบิตเตอร์ แต่ไม่มีซอฟต์ดริงก์หรือน้ำผลไม้เหมือนกับค็อกเทลประเภทอื่นๆ
- Blanco, Reposado and Anejo: 3 สไตล์หลักที่มักจะเจอเมื่อซื้อเตกีลา โดย Blanco (บลังโก้) เตกีลาที่ไม่ได้ผ่านการบ่มหลังกลั่น หรือบ่มในถังสเตนเลสไม่เกินสองเดือน Reposado (เรโพซาโด) เตกีลาที่บ่มในถังไม้โอ๊กขนาดใดก็ได้ ตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งปี เตกีลาประเภทนี้จะมีสีเหลืองจากถังไม้จางๆ และมีกลิ่นโอ๊ก ให้ความรู้สึกคล้ายวิสกี้ และ Anejo (อันเยโฮ) เตกีลาที่บ่มในถังไม้โอ๊กตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ปี รสชาติจะทุ้มลึกกว่า Reposado แต่คาแรกเตอร์ความเป็นเตกีลาก็ยังคงอยู่ (Note: เตกีลา ที่วางขายอาจจะมีสไตล์เฉพาะอื่นๆ ลงไปอีก เช่น Extra Anejo ซึ่งมาจากการบ่มนานขึ้น ฯลฯ แต่ทั้งสามนี้เป็นสไตล์หลักที่น่าจะเพียงพอสำหรับนักดื่มทุกคน)
- Tasting Flight: เมนูที่บาร์ทำขึ้นเพื่อให้ลองชิมเครื่องดื่มประเภทเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่จำนวนปี ส่วนใหญ่จะพบตามวิสกี้บาร์ เช่น วิสกี้ยี่ห้อหนึ่งที่มีจำนวนปีในการหมักบ่มไม่เท่ากัน อาทิ 12, 15 และ 21 ปี อาจเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าวิสกี้ตัวใดถูกปากหรือไม่ หรือจะชอบช่วงปีไหนมากกว่ากัน จึงมีการเสิร์ฟเมนู Tasting Flight โดยเสิร์ฟเป็นแก้วช็อตตั้งแต่ 3-5 ช็อตที่แตกต่างกัน (ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ห้อเดียวกัน) เพื่อให้ลองชิม ในกรณีของเตกีลาและเมซคัลก็เช่นกัน