สำหรับเหล่านักสร้างสรรค์ ผู้บริโภค และธุรกิจ ปี 2017 ที่จะมาถึงนี้ จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้งานออกแบบ นวัตกรรม ศิลปะ ต้องหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่รองรับและสะท้อนพฤติกรรมของผู้เสพและผู้ใช้งานได้อย่างดีที่สุด โลกของการออกแบบ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ มาดูกันว่านิยามใหม่ในโลกของการออกแบบและการทำธุรกิจในปีที่จะมาถึงนั้นเป็นอย่างไร
Phygital
ในเชิงการออกแบบนวัตกรรมแห่งปี 2017 เราจะได้เจอกับสิ่งที่เรียกว่า phygital หรือการผสมกันของคำว่า digital+physical การเข้าสู่ยุคที่โลกแห่งความจริงและโลกเสมือนนั้นหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
ปีที่ผ่านมาเรายิ่งเห็นตัวอย่างที่น่าติดตามของการผสมผสานโลกทั้งสองสิ่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน วงกลมที่ทับซ้อนกันนี้เป็นพื้นที่ให้ศิลปินและนักออกแบบจนถึงธุรกิจต่างๆ ได้มีพื้นที่ในการทดลองทำงานใหม่ออกมาให้เราได้ตื่นเต้นกันอยู่เสมอ
ผลงานจากศิลปินอย่าง จูลี ไวต์ซ (Julie Weitz) เลือกใช้ประสบการณ์ ASMR: Autonomous Sensory Meridian Response หรือการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัสแบบเต็มอารมณ์ สร้างสรรค์เป็นวิดีโออินสตอลเลชันที่จะเปลี่ยนการรับรู้ต่อพื้นที่และเวลาของผู้เข้าชมชนิดที่เมื่อถอดรองเท้าเดินเข้ามาในห้องแล้ว ก็จะรู้สึกเหมือนลอยได้
TOUCH MUSEUM (Trailer) from Julie Weitz on Vimeo.
หรือผลงานของ อันเดร เฮเมอร์ (André Hemer) ศิลปินที่ค้นหาจุดเชื่อมต่อระหว่างสื่อดิจิทัลและงานจิตรกรรม ด้วยการเล่นกับสีและพิกเซล เขาเลือกใช้สื่อที่หลากหลาย ผสมภาพ สแกน วาดขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ เลียนแบบการวาดงานจิตรกรรมแบบดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยี ตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า อะไรคือศิลปะในโลกปัจจุบันที่แท้จริง หรือ โยอิชิ โอชิไอ (Yoichi Ochiai) ศิลปินที่ถูกนิยามว่าเป็น Digital-Age Alchemist หรือนักเล่นแร่แปรธาตุแห่งยุคดิจิทัล เขาเปลี่ยนรูปภาพและสิ่งของจากโลกเสมือนออนไลน์ให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ราวกับมีเวทมนตร์
Seamlessness คือคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับเทรนด์นี้ ความพร่าเลือนระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจะไม่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การก้าวข้ามกลับไปกลับมาด้วยความรวดเร็วทำให้ความไร้รอยต่อนี้เบาบางมากขึ้นทุกที
Memory lane
ขณะที่เส้นทางของนวัตกรรมล้ำสมัยพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เส้นทางของเรื่องราว เรื่องเล่า ความทรงจำเก่าๆ ก็กลับมีคุณค่ามากขึ้น อดีตได้ผันตัวเองให้เป็นต้นทุนในการสร้างสรรค์ การจดจำและระลึกถึงอดีตจะเป็นแรงบันดาลใจอันมีค่าและขับเคลื่อนโลกในอนาคต เพราะความทรงจำนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการหลบหนีความจริง และเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปใช้เวลาอยู่กับความรู้สึกดีในช่วงขณะหนึ่ง และก็เป็นความทรงจำนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญของขั้นตอนการสร้างสรรค์
อย่างที่ สเวตลานา บอย์ม (Svetlana Boym) นักเขียนหนังสือเรื่อง The Future of Nostalgia กล่าวไว้ว่า “การหวนนึกถึงอดีตเป็นการหยุดพักจากช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เพียงพาเราหลีกหนีไปเท่านั้น แต่การหวนนึกถึงอดีตยังเป็นรูปแบบหนึ่งของความฝัน และจินตนาการ”
จะไม่ให้สำคัญได้อย่างไร เพราะสมองส่วนที่ใช้จดจำอดีตกับจินตนาการถึงอนาคตนั้นคือส่วนเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าจุดประสงค์ของความทรงจำคือ การประสบและประกอบเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อคาดการณ์ภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการนำตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในความทรงจำ จึงเป็นทางเลือกใหม่ของวงการศิลปะหรือการออกแบบ แม้แต่เทคโนโลยีก็ตอบรับการใช้ความทรงจำด้วยเช่นกัน
เช่น ผลงานของ ซีย์เวอร์ ลอริตซ์เซน (Syver Lauritzsen) ที่ชื่อ ‘The Memory Machine’ ที่ใช้นวัตกรรมสามมิติ และ VR เพื่อปลุกเรื่องราวจากภาพถ่ายครอบครัวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
The Memory Machine from Syver Lauritzsen on Vimeo.
นิทรรศการ Childhood ReCollections: Memory in Design ที่แกลเลอรี Roca ในอังกฤษ ร่วมสำรวจความทรงจำในวัยเด็กของ 6 ศิลปินที่เข้าร่วมจัดแสดง ทั้ง แดเนียล ลิบสกินด์ (Daniel Libeskind), เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) หรือ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) เพื่อหาคำตอบว่าความทรงจำของศิลปินเหล่านี้ส่งผลต่องานออกแบบของพวกเขาอย่างไร พาผู้เข้าชมค้นพบคำตอบผ่านภาพถ่าย วัตถุ วัสดุ กลิ่น ตัวหนังสือ ภาพยนตร์ จนถึงสมุดสเกตช์ และยังสะท้อนให้เห็นคอนเซปต์ของนิทรรศการได้อย่างเฉียบคม ด้วยการเลือกคำพูดเปิดตรงทางเข้าจากนักเขียน วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ที่ว่า ‘Memory is, really, in itself, a tool, one of the many tools that an artist uses.’
Remembering คือคำสำคัญ เพราะช่วยให้เราสามารถมีไอเดียใหม่ ยิ่งเรารู้ทันความทรงจำของเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสร้างอัตลักษณ์ให้กับการสร้างสรรค์ของตนเองได้เท่านั้น การจดจำและความทรงจำจึงมีผลต่อขั้นตอนการสร้างสรรค์ และเป็นอนาคตของการออกแบบในปีต่อไป
Beautiful Waste
งานออกแบบในปี 2017 จะเริ่มออกแบบวัตถุน้อยลงและหันมาให้ค่ากับต้นทุนจากของเสียมากขึ้น หมวดหมู่คำจำพวก ‘เพื่อความยั่งยืน’ หรือ ‘อีโค’ จะไม่ได้เป็นเพียงคำการตลาด แต่จะกลายเป็นคำที่อยู่ในระดับจิตสำนึกของผู้บริโภค
รายงานจาก Nielsen Global Corporate Sustainability ระบุว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองอันดับ 1 ในฐานะการเป็นทวีปที่ผู้บริโภคใส่ใจเลือกแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุดในโลก (ตามมาด้วยเอเชียและลาตินอเมริกา) การออกแบบในปี 2017 จึงเป็นการนำขยะหรือของเสียกลับมาเป็นต้นทุนในการผลิต สร้างวัสดุให้ไปไกลจากข้อจำกัดเดิม หรือเพิ่มเติมคุณสมบัติใหม่
เช่น Studio Ilio นำผงไนลอนที่ไม่ใช้แล้วมาขึ้นรูปเป็นเก้าอี้ตามสายไฟที่ดัดไว้เป็นรูปร่างต่างๆ ด้วยเทคนิคเดียวกับเครื่องพิมพ์สามมิติ การผสมผสานวัสดุที่หลากหลายทำให้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นทั้งแข็งแรง คงทน ยืดหยุ่นได้ดี หรือการที่มีของเสียจากร้านอาหารที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในการกำจัดก็เป็นโจทย์ใหม่ให้ทั้งนักออกแบบและผู้ประกอบการ
ร้านอาหาร Silo เปิดตัวขึ้นในฐานะร้านอาหารที่เป็น zero-waste แห่งแรกในอังกฤษ เปลี่ยนวิธีคิดสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ทั้งปลูกวัตถุดิบเองเพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนส่ง มีถังทิ้งของเสียอยู่ในร้านเพื่อหมักเป็นปุ๋ยทันทีทำงานแบบ 24 ชั่วโมง หรือถ้าลูกค้าต้องการใบเสร็จ ขอเพียงเขียนอีเมลมาแล้วทางร้านจะส่งไปให้
สื่อต่างๆ เองก็ให้ความสำคัญในการสนับสนุนงานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อย่างเช่นนิตยสาร Conscious นิตยสารวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นมานำเสนอเรื่องราวของนักออกแบบ ศิลปิน เทสเมกเกอร์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนโดยเฉพาะ
Design to Order คือคำสำคัญ จะออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและลดการผลิตที่ไม่จำเป็นลง งานออกแบบจะเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดี มีปลายทางคือความยั่งยืน ผู้บริโภคในปีหน้าจะซื้อสินค้าด้วยจิตสำนึก ด้วยการเห็นความสำคัญต่อโลกใบนี้ การซื้อเพราะยี่ห้อหรือความสวยงามโดยไม่มีหน้าที่อื่นจะมีจำนวนน้อยลงไป
หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงจากฐานข้อมูล World Global Style Network (WGSN)
Tags: BeautifulWaste, themomentumguide2017, Phygital, MemoryLane