วันนี้ (30 ตุลาคม 2564) ณ ห้องนวมทอง ไพรวัลย์ อาคารอนาคตใหม่ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ – ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณี ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ที่ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ควบคู่ไปด้วยนั้น ได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินตามเงื่อนไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับ ‘บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด’ (Asia Era One) บริษัทคู่สัญญา ที่กลุ่มทุนเครือซีพีถือหุ้นอยู่ 70% ในการชำระเงินค่าสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ Airport Rail Link (ARL) มูลค่า 10,671 ล้านบาท
โดยการอนุมัติขยายสัญญาครั้งนี้ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นการทำผิดสัญญา มีความไม่ชอบมาพากล และกำลังใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม 2564 คณะรัฐมนตรี ได้เผยการลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการ (MOU) ไว้ชัดเจนแล้วว่าหากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถรับโอนสิทธิร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงค์ ได้ตามกำหนด คือ วันที่ 24 ตุลาคม 2564 ทางแอร์พอร์ตลิงค์ สายพญาไท – สุวรรณภูมิ จะต้องหยุดให้บริการประชาชน เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้เตรียมคนและงบประมาณตรงส่วนนี้ไว้ เพราะเชื่อว่าบริษัทคู่สัญญาจะสามารถดำเนินการรับโอนได้ตามกำหนดอย่างแน่นอน
กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม ถัดมาเพียงหนึ่งวัน กลับปรากฏข่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้ไฟเขียวพิจารณาแก้ข้อตกลงสัญญาให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด สามารถรับโอนสิทธิการเดินรถ พร้อมจ่ายค่าสิทธิเพียง 10% หรือ ประมาณ 1,067 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท ในครั้งเดียว ด้วยเหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถชำระเงินได้ตามที่สัญญาไว้ในตอนแรก
สำหรับโครงการ ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงได้แก่
1.ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงพญาไท หรือ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ช่วงต่อขยาย ระยะทาง 22 กิโลเมตร
2.ตั้งแต่พญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแอร์พอร์ตลิงค์เดิมที่ปัจจุบันเดินรถอยู่ และกำลังเป็นปัญหา
3.ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร โดยเป็นช่วงที่ 3 และเป็นช่วงของรถไฟทำความเร็วสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับปัญหาของช่วง พญาไท – สุวรรณภูมินั้น ทั้งนี้ พิจารณ์เผยว่าส่วนที่ 2 ตั้งแต่พญาไท-สุวรรณภูมิ นั้น กำลังเป็นปัญหาเรื่องสิทธิมูลค่า 10,671 ล้านบาท และมีภาพรวมทั้งโครงการคิดเป็นจำนวนราว 2 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน นอกจากโครงการเดินรถแล้ว ยังมีในส่วนของโครงการที่พ่วงมาด้วย คือ ‘โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์’ บนพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน 140 ไร่ มูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงบริเวณสถานีศรีราชา 25 ไร่ ที่มีศักยภาพ ในการรังสรรค์ให้เป็น ICONIC หรือ Landmark แห่งใหม่ ดึงดูดให้บรรดาเจ้าสัวเข้ามาลงทุนและสร้างกำไรได้มหาศาลในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็มีข่าวลือว่า กลุ่มซีพีเองให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่มักกะสันจำนวน 1.4 แสนล้านบาท
พิจารณ์ยังกล่าวถึงประเด็นการโอนสิทธิเดินแอร์พอร์ตลิงค์ต่ออีกว่าเป็นการที่รัฐเอื้อประโยชน์ ลด แลก แจก แถม และเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนหลังประมูล เนื่องจากจำนวนเงินมูลค่า 10,671 ล้านบาท ที่ทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต้องชำระในงวดแรก หากเทียบกับสิทธิที่จะได้บริหารถึง 50 ปี รวมถึง รฟท. เองก็ลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไทถึงสุวรรณภูมิทั้งสิ้น 3.3 หมื่นล้านบาท จึงควรต้องตั้งคำถามว่าการกำหนดอัตราพิเศษแบบนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่
“หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเอกชนที่มีสื่อมวลชนได้นำเสนอไป คือ ขอผ่อนจ่าย 6 งวด เป็นเวลา 6 ปี โดยงวดแรกจะขอจ่ายเมื่อโควิดจบแล้ว คือเมื่อภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์แล้ว ถ้าขอกันถึงขนาดนี้ แบบนี้ SMEs ขอบ้างได้หรือไม่ ร้านอาหาร ผับ บาร์ ขอหยุดจ่ายหนี้จนกว่ารัฐจะยกเลิกมาตรการ แล้วให้กลับมามีลูกค้าเหมือนเดิมก่อนได้หรือ แล้วก็ยังขอจ่ายแบบ บอลลูนอีก คือ 5 งวดแรก ทยอยจ่าย 5% 7% 10% แล้วค่อยไปโปะเดือนสุดท้าย 58%”
พิจารณ์ ย้ำว่า หากจ่ายแบบนี้ แปลว่า กลุ่มทุนนี้แทบจะไม่ได้ควักเงินจากกระเป๋าตัวเองมาจ่าย ค่าสิทธิที่เหลือ 9,600 ล้านบาทเลย แต่เป็นการนำเอารายได้ที่ได้จากการเดินรถมาจ่าย โดยหากเป็นไปตามนี้ เรียกได้ว่า รัฐบาลได้เอื้อประโยชน์ให้กับ กลุ่มทุนคู่สัญญาเอกชนรายนี้อย่างมากมาย และไม่สามารถอ้างได้ว่า เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เพราะถ้าเป็นหุ้นส่วนกัน ก็คือการแบ่งทุกข์ เฉลี่ยสุข แต่หากอนุมัติให้แบบนี้ ทุกข์นั้นอยู่กับประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ แต่สุขอยู่กับเอกชนคู่สัญญา
“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ใช้การคิดง่ายๆ ว่า จากสามหมื่นล้าน แบ่งเป็นเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 2.2 หมื่นล้านบาท โอนจาก รฟท. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ส่วนนี้ ส่วนเอกชนรับผิดชอบแค่ส่วนของรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ โดยให้จ่ายแค่มูลค่าการลงทุน 1ใน 3 ของมูลค่าที่รัฐลงทุนมา แม้ว่าอาจต้องไปลงทุนปรับปรุงอีกประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท แต่ก็ได้สิทธิถือครองไปอีก 50 ปี ผู้โดยสารมีแต่จะขยายตัวมากขึ้น จากการเชื่อมต่อดอนเมืองถึงอู่ตะเภา
“เท่านั้นยังไม่พอ ได้ข้อเสนอที่ดีแบบนี้ แต่ก็ยังจะมาขอผ่อนอีก เราต้องตั้งคำถามว่าเขาพิจารณากันอย่างไร ถึงยอมให้ยืดเวลาออกไป ลองไปดูเอกสารที่ สำนักงาน EEC ชงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้นำเสนอแนวทางข้อเรียกร้องของกลุ่มทุน สรุปได้ว่า มีการขอขยายเวลาการชำระเงิน แต่ขอขยายไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ เราไม่เห็นรายละเอียด อีกทั้งยังมีการขอปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมทุนของโครงการ ซึ่งจะขอเปลี่ยนเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ รวมถึงยังมีการขอขยายระยะเวลาโครงการจาก 50 ปี เป็นนานเท่าไหร่ไม่รู้ รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีการระบุไว้ในเอกสารที่ชงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเรายังไม่รู้ว่าบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเยียวยาช่วยเหลือเคสนี้ ใช้หลักเกณฑ์อะไรเป็นเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ว่า ในกรณีนี้ต้องเยียวยา เอกชนเสียหาย เดือดร้อน ขัดสนอย่างไร จนต้องช่วยเหลือ เรื่องเหล่านี้ แทบไม่เคยมีการชี้แจง”
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ นำโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ ขณะที่พิจารณ์จะเป็นผู้ยื่นขอเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หนังสือหารือของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่ยื่นต่อภาครัฐเพื่อขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ, บันทึกการประชุม และรายงานการประชุม (ชวเลข) ของคณะกรรมการ EEC ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ว่าด้วยมติเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, บันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับดำเนินการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง ตามที่มีการลงนาม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ เอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รวมถึงรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นต้น
ภาพ: เฟซบุ๊ก Airport Rail Link
Tags: พรรคก้าวไกล, MoveForWard Party, ไฮสปีดเชื่อมสนามบิน, แอร์พอร์ตลิงค์