‘ซิกซ์แพ็ก’ สร้างได้ในห้องครัว
ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าหากอยากหุ่นดีต้องไปซิตอัพในห้องครัว แต่มันมีความหมายโดยนัยว่าการสร้างร่างกายที่แข็งแรงหรือรูปร่างที่ดีนั้น เริ่มต้นจากพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมและได้รับสารอาหารเพียงพอ ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนักหรือเพิ่มกล้ามเนื้อ
บวกกับปัจจุบันที่อาหารซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วนและมีแคลอรีที่เหมาะสมนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับอาหารที่หาซื้อได้ทั่วไป ตามร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ต จึงทำให้การคุมอาหารเปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้ายสำหรับคนออกกำลังกาย
แต่สำหรับนักกีฬาอาชีพ ร่างกายถือเป็นเครื่องมือหลักในการหาเลี้ยงชีพ ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อทุกมัดสามารถสร้างความแตกต่างได้ทุกเสี้ยวนาที ดังนั้นการวางแผนเรื่องอาหารการกินเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและร่างกายจึงมีความสำคัญมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป
เป็นที่น่าสนใจว่า แล้วอาหารของเหล่านักกีฬาอาชีพนั้นจะมีมูลค่าเท่าไรกันนะ?
ยิ่งฝึกหนัก ยิ่งต้องกินให้เยอะ
หลักการสร้างกล้ามเนื้อนั้นง่ายมากในเชิงทฤษฎี นั่นคือการทำกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาด ยิ่งกล้ามเนื้อของคุณมีความเสียหายมากเท่าไร ช่วงที่ร่างกายกำลังซ่อมแซม กล้ามเนื้อของคุณก็จะยิ่งเติบโตมากเท่านั้น ซึ่งคำว่าสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายก็คือสารอาหารที่ถูกนำมาซ่อมแซมกล้ามเนื้อให้มีความทนทานมากขึ้นนั่นเอง
ตอนนี้เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า การเติบโตของกล้ามเนื้อนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของการใช้กล้ามเนื้อและสารอาหารที่จะเข้ามาซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่หายไป
ตารางฝึกซ้อมของนักกีฬาอาชีพจึงต้องมีความหลากหลาย และมีความเข้มข้นในการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง เพื่อให้กล้ามเนื้อในมัดที่สำคัญต่อกีฬานั้นๆ มีการเจริญเติบโต และในเมื่อนักกีฬาใช้ร่างกายมากกว่าคนธรรมดา แน่นอนว่าอาหารของพวกเขาจะต้องแตกต่างจากพวกเราเช่นกัน
การทานอาหาร 3 มื้อจึงไม่เพียงพอ ทั้งในแง่ของสารอาหารและพลังงาน เพราะคนธรรมดานั้นต้องการพลังงานสำหรับชีวิตประจำวัน ประมาณ 1,500-2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน แต่สำหรับนักกีฬาอาชีพนั้นจำเป็นต้องได้รับพลังงานมากกว่า 3,000 กิโลแคลอรีต่อวันเลยทีเดียว
เพื่อให้มีพลังงานมากพอสำหรับการฝึกซ้อมตามตาราง ทำให้นักกีฬาอาชีพต้องกินอาหารถึง 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อให้ร่างกายไม่ตกอยู่ในสภาพขาดสารอาหารระหว่างวัน โดยแบ่งสัดส่วนของสารอาหารเป็นคาร์โบไฮเดรต 50% โปรตีน 40% และไขมัน 10% ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของนักกีฬาแต่ละคน
ทำไมค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักกีฬาถึงมีราคาแพง?
สุดยอดนักบาสเกตบอลเจ้าของรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (เอ็มวีพี) 4 สมัยอย่าง เลบรอน เจมส์ ได้เปิดเผยว่าเขาลงทุนกับอาหารการกินไปมากถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เงินในจำนวนนี้คาดว่ารวมไปถึงอาหารเสริม และการจ้างนักโภชนาการส่วนตัวที่ออกแบบตารางอาหารการกินให้กับเขาโดยเฉพาะ ซึ่งนักกีฬาในระดับซูเปอร์สตาร์ส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้ด้วยเช่นกัน
กรณีของเจมส์ เขามีความเข้มงวดในการกินอย่างมาก นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเคร่งครัดแล้ว เขายังไม่กินอาหารที่มีส่วนผสมสังเคราะห์เลยแม้แต่น้อย เลือกกินแต่อาหารออร์แกนิก แม้จะฟังดูเหมือนว่านักบาสเกตบอลผู้นี้เข้มงวดเหลือเกิน แต่นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าถึง 4 สมัยก็เป็นได้
การได้รับอาหารที่ดีสร้างความแตกต่างได้มากแค่ไหน
นอกจากเป้าหมายในการสร้างเส้นใยกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสมกับการฝึกซ้อมของนักกีฬายังช่วยให้ดึงน้ำตาลมาใช้งานได้ดีกว่าการกินอาหารในรูปแบบทั่วไป โดยสามารถวัดได้จากดัชนีค่าน้ำตาล (Glycaemic Index: GI) ของอาหารแต่ละชนิด
สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่มีค่า GI สูง จะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่นักกีฬากินก่อนที่จะใช้พลังงานเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน ทั้งนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบด้วย แต่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าทำไมนักกีฬาระดับโลกถึงลงทุนกับอาหารการกินมากขนาดนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างคุ้มค่า
ในเกมกีฬามีคำว่าพูดที่บ่งบอกถึงแก่นแท้ของการแข่งขันไว้ว่า ‘ผู้ชนะเท่านั้นที่ได้รับทั้งหมด ส่วนผู้แพ้ทำได้แค่มอง’ (Winner takes it all, Loser standing small) การแข่งขันกีฬาจึงไม่ใช่แค่เรื่องภายในสนามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเตรียมตัวนอกสนามอีกด้วย และการกินอาหารก็เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ไม่ควรมองข้าม
อ้างอิง
https://www.otsuka.co.jp/en/nutraceutical/about/nutrition/sports-nutrition/basis/meal-timings.html
https://www.businessinsider.com/how-famous-athletes-eat-and-train-2017-2
https://www.eatright.org/fitness/sports-and-performance/fueling-your-workout/protein-and-the-athlete
https://www.businessinsider.com/how-famous-athletes-eat-and-train-2017-2#usain-bolt-1
https://www.independent.co.uk/sport/olympics/how-much-money-medals-winners-paid-b1897920.html
Tags: อาหาร, นักกีฬา, Game On, วิทยาศาสตร์การกีฬา, สุขภาพ