อกไก่ต้มสีขาวซีดวางเคียงบรอกโคลีหรือแครอตต้มชิ้นน้อย, โยเกิร์ตรสธรรมชาติโรยเบอร์รีในสัดส่วนพอดีโภชนาการ, คีนัวหุงแทนข้าวกินคู่กับปลาเนื้อขาวนึ่ง ฯลฯ
เหล่านี้อาจคือภาพคุ้นตาของหลายคนยามสไลด์นิ้วผ่านโซเชียลมีเดียตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา—แน่นอนว่าเทรนด์การกินดีอยู่ดีไม่ใช่เรื่องใหม่ เก่าด้วยซ้ำถ้าวัดกันจากค่านิยม ‘อยากสุขภาพดี’ เพราะเราก็ต่างอยากมีสุขภาพสดใสแข็งแรงกันมาแต่ไหนแต่ไร
จากแค่กินอาหารครบหมู่ ออกกำลังบ้างบางวัน หรือจริงจังกว่านั้นอาจพึ่งพาวิตามินเสริมเติมให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ปัจจุบัน วิถีคนรักสุขภาพกลับหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป้าหมายของบางคนเลยเถิดกว่าแค่รักษาสุขภาพ แต่คือการบอกเล่าตัวตนผ่านรูปอาหาร แคปชัน รูปร่าง ฯลฯ ว่าฉันมีไลฟ์สไตล์อย่างนั้น ฉันมีระเบียบในการกินอย่างนี้
พอมีคนติดตามมากหน่อยก็กลายเป็นการสร้าง ‘แรงกดดัน’ ให้ตัวเอง เพราะคิดว่ามีสายตาจากคนรอบข้างจับจ้องไลฟ์สไตล์สุดเป๊ะอยู่ตลอดเวลา กดดันหนักเข้าก็กลายเป็นโรคชื่อเรียกยากอย่าง ‘ออร์โธเร็กเซีย’ หรือภาวะหมกมุ่นกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพตามคีย์เวิร์ด Pure Clean Organic ชนิดสุดโต่ง หมกมุ่นในระดับไม่แตะอาหารที่ไม่รู้ที่มา หรือหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นรู้สึกผิด จิตตก เป็นโรคซึมเศร้าพ่วงเข้ามาอีกกับแค่แหกกฎกินพิซซ่าสักชิ้นสองชิ้น จนอาจลุกลามถึงขั้นต้องเข้ารับการบำบัด
หนึ่งในวิถีการกินดังกล่าวหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘อาหารคลีน’
นิยามของมันอย่างรวบรัดก็คืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติด้วยสารเคมี ไม่ผ่านการแปรรูป สด สะอาด มีคุณภาพ (และส่วนมากราคาแพง…มาก)—เรื่องน่าคิดคือ เมื่อลองสำรวจผลวิจัยทางการแพทย์ปัจจุบันกลับไม่พบว่าการกินอาหารคลีนทำให้สุขภาพดีกว่าการกินอาหารครบหมู่แต่อย่างใด
อ้าว…
โดยเฉพาะการ ‘จัดคอร์ส’ อาหารคลีนประจำวัน ที่ถูกตั้งคำถามหนักมากว่ามันส่งผลดีต่อสุขภาพจริงหรือ ในเมื่อสภาพร่างกาย (ส่วนสูง น้ำหนัก อายุ) รวมถึงวิถีชีวิต (อาชีพที่ทำ กีฬาที่เล่น เวลาที่นอน ฯลฯ) ของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันในรายละเอียด การกินอาหารในสัดส่วนเดียวกันเลยอาจไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพขนาดนั้น นอกจากหวังผลเรื่องการควบคุมน้ำหนักหรือเน้นสะดวกรวดเร็วในวันรีบเร่ง
แถมนักการตลาดยังออกมาวิเคราะห์กระแสของการกินคลีนด้วยว่ามันเกิดจากการ ‘พูดซ้ำๆ’ ของสื่อ บล็อกเกอร์ เจ้าของโปรดักซ์อาหารคลีน ฯลฯ ถึงคุณงามความดีของการดูแลตัวเองด้วยการมีวินัยในการกิน จนเกิดการสร้างขั้วและใส่ความหมาย (Encode) ให้กับอาหารแต่ละอย่าง ทำนองว่ากินสิ่งนี้ถูก สิ่งนั้นผิด (เมื่อมีอาหาร Clean อีกฝั่งจึงกลายเป็นอาหาร Dirty) และเป็นการ ‘ลดทางเลือก’ ในการกินอย่างอ้อมๆ ลงอย่างน่าเสียดาย เพราะแน่ล่ะว่าไก่ทอด พิซซ่า หรือเค้กปอนด์ใหญ่ ย่อมถูกผลักให้ไปอยู่ ‘อีกฝั่ง’
แล้วยังไงดี?
นักโภชนาการแนะนำว่าสัดส่วนของสารอาหารที่พอดีกับวิถีชีวิตแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน การจะกินอะไรมากอะไรน้อยจึงเป็นเรื่องต้องจัดสรรกันเอาเอง แต่สำคัญคือ ‘ความหลากหลาย’ ของอาหารแต่ละมื้อนั้นสำคัญมาก การกินอะไรซ้ำๆ นอกจากจะทำให้ขาดสารอาหารบางตัว (เช่นกินคลีนจัดจนขาดไขมัน) แล้วยังลดปริมาณสารสร้างความสุขในสมองอย่างเซโรโทนินลงด้วย เรียกว่าเศร้ากว่าเดิม
ย้อนกลับมาที่โรคหมกมุ่นกับการกินคลีนอีกหน่อย คำถามคือแล้วเราจะรู้ตัวได้ยังไงว่าเราแค่รักสุขภาพเฉยๆ หรือกำลังเป็นโรค? Steven Bratman นายแพทย์ชาวแคนาดาผู้นิยามโรคนี้ขึ้นมาให้ข้อสังเกตกว้างๆ ไว้ 2 ข้อ หนึ่งคือให้ตรวจตัวเองดูว่า ย้ำคิดย้ำทำ กับการกินอาหารเพื่อสุขภาพรึเปล่า ชนิดว่าคิดเรื่องนี้ตลอดเวลา และรู้สึกละอายเมื่อนอกกรอบการกินที่วางไว้ และสอง ชีวิตพังหรือยัง!? ทำนองว่าการกินอาหารเพื่อสุขภาพทำให้เครียด จิตตก ถึงขนาดน้ำหนักลดฮวบ ทำงานไม่ได้ ฯลฯ
ถ้าเข้าข่ายทั้งสองข้อก็แสดงความยินดีด้วยว่า คุณคือผู้โชคดี!
Tags: cleanfood, orthorexia, health