It’s Coming Home, It’s Coming Home, It’s Coming, Football Coming Home.

ยามที่เสียงเพลงเชียร์ Three Lions (Football’s Coming Home) จากวงร็อกอัลเทอร์เนทีฟระดับตำนาน The Lightning Seed ดังกระหึ่มขึ้น นั่นไม่ต่างจากเสียงลั่นกลองรบของทัพ เดอะ ทรีไลออนส์  ‘ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ  กับภารกิจถกแขนเสื้อ ก้าวลงสู่สนาม วิ่งสู้ฟัดกับคู่แข่ง และพาถ้วยแชมป์กลับสู่บ้านเกิดอันเป็นที่รัก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจุดกำเนิดของกีฬาลูกกลมๆ นี้มีรากฐานความรุ่งโรจน์มาจากพวกเขา ทว่าคำยกยอปอปั้นดังกล่าวกลับสวนทางกับโลกแห่งความเป็นจริงตรงหน้าอย่างสิ้นเชิง

เป็นเวลากว่า 55 ปี ที่ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ห่างหายจากคำว่า ความสำเร็จ ไปนาน หลังศึกทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก ปี 1966 ที่เจฟฟ์ เฮิร์ต ศูนย์หน้าระดับตำนานแห่งทรีไลออนส์ ตะบันแฮตทริกใส่ทีมชาติเยอรมันตะวันตกในนัดชิงชนะเลิศไป 4-2 สุดท้ายเป็น เซอร์ บ็อบบี้ มัวร์ กัปตันทีม ชูถ้วยรางวัลจูลส์ ริเมต์ (ถ้วยฟุตบอลโลกแบบแรก) ขึ้นเหนือหัวท่ามกลางแฟนบอลหลายหมื่นชีวิตในสนามเวมบลีย์ และนับจากนั้นก็ไม่มีกัปตันทีมชาติอังกฤษรายไหนได้ชูถ้วยระดับเมเจอร์อีกเลย ไม่แม้แต่จะใกล้เคียงเสียด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะกับทัวร์นาเมนต์ ‘ฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปแห่งชาติ’ หรือ ‘ยูโร’ สำหรับทีมชาติอังกฤษแล้ว ถ้วยใบนี้ไม่ต่างจากเส้นขนานที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันขมขื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในปี 1996 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ชาวผู้ดีต่างคาดหวังว่านี่จะเป็นหนแรกที่พวกเขาจะได้เถลิงแชมป์ประจำทวีปได้เหมือนกับชาติเพื่อนบ้านรายอื่นซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจลูกหนังบ้าง แต่เมื่อแกเร็ธ เซาธ์เก็ต ยิงบอลไปติดมือของ อันเดรียส ค็อปเค่ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมันในช่วงดวลจุดโทษ ฝันแสนหวานก็มลายหายไปในพริบตา

จนกระทั่งในปี 2021 ทัวร์นาเมนต์ยูโรหวนกลับมาฟาดแข้งกันอีกครั้งหลังล่าช้าไปหนึ่งปี เพราะต้องหลีกหนีจากโควิด-19 ดูเหมือนว่าครั้งนี้ ทัพทรีไลออนส์ จะกลับมามีความหวังอีกครั้ง ด้วยหลายๆ ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อพวกเขา 

ผู้เล่นสายเลือดใหม่ที่มีความต่างไปจากเดิม

เมสัน เมาธ์, มาร์คัส แรชฟอร์ด, จาดอน ซานโช, แจ็ก กรีลิช, รีซ เจมส์, ดีแคลน ไรซ์, เบน ชิลเวลส์, คัลวิน ฟิลลิปส์, โดมินิค คัลเวิร์ต-เลวิน, บูกาโย ซาก้า และจู๊ด เบลลิงแฮม นักเตะเกือบครึ่งค่อนทีมเหล่านี้คือสายเลือดใหม่ของทีมชาติอังกฤษที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18-25 ปี ไม่นับรวมบรรดาซูเปอร์สตาร์ตัวเก๋าซึ่งเป็นแกนหลักมาก่อนหน้าอยู่แล้วอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง, จอห์น สโตนส์, แฮรี่ แมคไกวน์, ลุค ชอว์, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, จอร์แดน พิคฟอร์ดครีแรน ทริปเปียร์, ไคล์ วอล์คเกอร์ และแฮร์รี เคน ทำให้ทีมชาติอังกฤษชุดยูโร 2020 มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘ความสด’ และ ‘ประสบการณ์’ หลายคนสามารถเล่นทดแทนหรือสลับตำแหน่งกันได้อย่างลงตัว พร้อมกับความกระหายในชัยชนะที่ถูกเติมเต็มยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นทีมชาติอังกฤษเต็มไปด้วยนักเตะมีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อต้องมาอยู่ในทีมเดียวกัน รวมใจเป็นหนึ่ง กลับต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า สาเหตุหนีไม่พ้น การทับตำแหน่งและ สไตล์การเล่นที่ใกล้เคียงจนเกินไป ยกตัวอย่าง สตีเวน เจอร์ราด, แฟรงก์ แลมพาร์ด และพอล สโคลส์ สามสุดยอดมิดฟิลด์ระดับตำนาน (สองรายแรกเพิ่งถูกบรรจุรายชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศพรีเมียร์ลีก) ด้วยความที่ทั้งสามมีฝีเท้าระดับพระกาฬ แน่นอนว่าบรรดาผู้จัดการทีมที่ผ่านมาย่อมจับทั้งสามลงสนามพร้อมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทว่าด้วยความที่สไตล์การเล่นคล้ายคลึงกันจนเกินไปปัญหาที่ตามมาคือ ความบาลานซ์ นักเตะทั้งสามคนต่างเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกธรรมชาติ ทักษะการวางบอล ผ่านบอล หรือหาจังหวะยิงไกลหน้ากรอบเขตโทษ แทบจะถอดแบบมาเหมือนกันทุกประการ เราแทบจะไม่เห็นกองกลางประเภท โฮลดิง มิดฟิลด์’ (Holding midfielder) ระดับเวิลด์คลาสขึ้นมาแทรกเป็นตัวจริงได้เลย เพราะเรื่องของฝีเท้าซึ่งเป็นปัญหาหลักในทุกๆ ตำแหน่ง สังเกตได้ว่านักเตะอังกฤษหลายรายต่างฝีเท้าไม่ถึงขั้นดีพอ แต่ด้วยความที่ตัวเลือกน้อยจึงต้องจำใจส่งลงเล่นตามที่มี

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติอังกฤษยุคนี้เต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดี อายุยังน้อย และมีตัวเลือกให้ใช้งานพร้อมกันในหลายตำแหน่ง ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือเอฟเอ ที่ผลักดันกฎ โฮมโกรว’ (Homegrow) ในลีกฟุตบอลอาชีพของตัวเองให้กลับมามีระเบียบจริงจังอีกครั้ง โดยแต่ละสโมสรต้องมี ผู้เล่นท้องถิ่น จำนวน 8 จาก 25 คนตามโควตาลงทะเบียนแข่งขันจำนวนเต็ม ซึ่งผู้เล่น 4 ใน 8 จำเป็นต้องมาจากการฝึกฝนของอะคาเดมีโดยตรงตามที่กฎโฮมโกรวระบุ ทำให้หลายทีมในพรีเมียร์ลีกเริ่มหันมาผลักดันเยาวชนในมืออายุระหว่าง 15-21 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษโดยกำเนิด พอเวลาสุกงอมได้ที่ เราจึงเริ่มเห็นบรรดานักเตะเยาวชนฝีเท้าดีก้าวขึ้นมาเล่นให้กับทีมสโมสรชุดใหญ่พร้อมกันหลายราย และกลายเป็นตัวเลือกชั้นดีให้กับทีมชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ให้ทันกับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 นั่นเอง

แกเร็ธ เซาธ์เก็ต – ผู้จัดการทีมที่ไม่ได้ถูกคาดหวัง แต่กลับทำผลงานได้ดีเกินคาด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016  แกเร็ธ เซาธ์เก็ต กลับมีชื่อมาเป็นแคนดิเดตในการคุมทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ หลังจากผู้จัดการทีมคนเดิมอย่าง ปู่รอย ฮ็อดสันจ์ ทำผลงานช็อกโลกด้วยการแพ้ทีมชาติไอซ์แลนด์อย่างพลิกความคาดหมายในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโร ปี 2016 และแซม อัลลาไดซ์ ที่กระเด็นตกเก้าอี้กุนซือ จากกรณีตกเป็นข่าวอื้อฉาวเหตุรับสินบนซื้อ-ขายนักเตะ

ด้วยภาพลักษณ์ของกุนซือรายนี้กับทีมชาติที่ไม่น่าจดจำเสียเท่าไรอย่างการพาทีมตกรอบยูโร 96 ตามที่ได้เคยเล่าในช่วงต้น แฟนบอลผู้ดีจึงเกิดอาการข้องใจ หากเทียบบารมีกับบรมกุนซือรายอื่นๆ ที่เคยคุมทีมชาติมาก่อนหน้า อาทิ เควิน คีแกน, สตีฟ แม็กคลาเรน, ฟาบิโอ คาเปลโล หรือสเวนโกรัน อีริกสัน โปรไฟล์อันโดดเด่นของเซาธ์เก็ตมีเพียงการพามิดเดิลสโบรซ์อยู่รอดในพรีเมียร์ลีก 2 ฤดูกาลติด ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องน่าอวดสักเท่าไร เว้นเสียแต่ว่าเวลานั้นเขาคือกุนซือทีมชาติอังกฤษชุด ยู-21 และเคยรับหน้าที่เป็นโค้ชจำเป็นให้กับทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่สั้นๆ เพียง 4 นัดในปี 2014 จึงทำให้เขายังไม่ถูกกาชื่อออกจากลิสต์แคนดิเดต

เซาธ์เก็ตอาจไม่ได้มีโปรไฟล์การเป็นโค้ชที่สวยหรู แต่สิ่งที่เอฟเอมองนั้นต่างจากแฟนบอล เพราะเซาธ์เก็ตเป็นคนที่รู้ตื้นลึกหนาบางของระบบเยาวชนทัพทรีไลออนส์เป็นอย่างดี เมื่อต้องการผลักดันนักเตะชุดเยาวชนขึ้นมาเป็นกำลังหลักในอนาคต แล้วไฉนจึงต้องมองคนอื่นไกล ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่เอฟเอคิดถูก เพราะก้าวแรกของเซาธ์เก็ตกับการคุมทรีไลออนส์ ลงเอยด้วยการพาทีมชาติอังกฤษจนอับดับ 4 ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย โดยส่วนหนึ่งของนักเตะแกนหลักในปัจจุบันเองก็มาจากทัวร์นาเมนต์นั้นทั้งสิ้น

จากอดีตที่เคยเป็นทีมเน้นเกมบุก แต่ไร้ความสมดุล ทั้งในจังหวะระหว่างเกมและวิธีรับมือกับคู่แข่ง โดยหลังการมาของเซาธ์เก็ต ทีมชาติอังกฤษอาจทำประตูคู่แข่งได้น้อยลงก็จริง แต่ในแง่ของวิธีการเล่นดูมีแบบแผนมากขึ้น แผน 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 ถูกงัดมาใช้ยามต้องเจอกับคู่แข่งที่อ่อนชั้นกว่า หรือแผน 3-4-3 เมื่อต้องการความรัดกุม รวมถึงระบบการเล่นที่ค่อยๆ ลบล้างวิธีขึ้นเกมแบบฟุตบอลไดเร็กโยนยาวไปลุ้นกันข้างหน้าทิ้ง แล้วใช้การบิวต์อัพเกมบุกจากแดนหลังและริมเส้น 2 ฝั่ง พร้อมกับไล่เพรสซิงกดดันคู่แข่งเมื่อเสียบอลทัน เห็นได้ชัดจากฟุตบอลยูโร 2020 รอบแบ่งกลุ่ม (พบโครเอเชียสกอตแลนด์ และเช็ก)  จนล่าสุดในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่พบกับเยอรมัน พวกเขาไม่เสียเลยแม้แต่ประตูเดียว

‘สถานการณ์’ และ ‘เทพีแห่งโชค’ ดูจะเข้าข้างมากกว่าที่ผ่านมา

หลายต่อหลายครั้ง เรามักเห็นทัพทรีไลออนส์ตกรอบทัวร์นาเมนต์แบบน่าเขกกะโหลก ทั้งในแง่ของ ความผิดพลาดเล็กน้อย และ ความซวย ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องคู่กันไปแล้ว ตั้งแต่ฟุตบอลโลก ปี 1986 ที่เม็กซิโก จากลูกหัตถ์พระเจ้าในตำนานของดิเอโก มาราโดน่า, ฟุตบอลโลก 2010 ที่เซาท์แอฟริกา แฟรงก์ แลมพาร์ด ยิงไกลข้ามเส้นประตูไปแล้ว แต่กรรมการดันไม่ให้เป็นประตู หรือทัวร์นาเมนต์ยูโร 2004 กับใบแดงของเวย์น รูนีย์ ที่เสียค่าโง่ให้กับเล่ห์เหลี่ยมคู่แข่ง ตลอดจนอีกหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาดันเข้ารอบมาชนกับตัวเต็งชาติอื่นๆ แม้กระทั่งการจับสลากแบ่งสายที่แทบจะไม่ได้ช่วยให้พวกเขาทำงานสบายขึ้นเลยสักนิด

กลับกันในยูโร 2020 พวกเขาเป็นทีมวางที่ถูกจัดอยู่ให้ในกลุ่ม D ประกอบด้วยเพื่อนร่วมกลุ่มอีก 3 ทีมคือโครเอเชีย เช็ก และสกอตแลนด์ เรียกว่าง่ายเสียยิ่งกว่าง่ายถ้าไม่ผิดพลาดกันไปเอง นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังจะได้เล่นใน นิวเวมบลีย์’ สนามเหย้าของตัวเองเกือบถูกนัด จากการที่เป็นหนึ่งในเจ้าภาพร่วมกับอีก 12 ประเทศทวีปยุโรป ยกเว้นเพียงรอบ 8 ทีมเพียงเกมเดียวที่ต้องแข่งในสนามสตาดิโอ โอลิมปิโก ประเทศอิตาลี และแน่นอนเกือบทุกนัด พวกเขาจะได้บรรดาแฟนบอลเข้ามาส่งเสียงเชียร์กระหึ่มข่มขวัญคู่ต่อสู้ รวมถึงเรื่องของความฟิต เพราะระยะทางที่ต้องตระเวนแข่งขันน้อยกว่าชาวบ้าน โดยในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาเก็บไปได้ 7 คะแนน ทุลักทุเลเล็กน้อยเมื่อเกมรุกฝืด ทว่าเกมรับกลับทำได้อย่างน่าประทับใจ

ล่าสุดเมื่อค่ำคืนวันอังคารที่ 29 มิถุนายน ในรอบ 16 ทีม พวกเขาปราบ อินทรีเหล็ก เยอรมัน ไป 2-0 ขณะที่ตัวเต็งรายอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ทยอยตกรอบ ซึ่งเมื่อมองในสายประกบคู่ต่อจากนี้ หากพวกเขาผ่านทีมชาติยูเครนในรอบ 8 ทีมไปได้ จะมีโอกาสเข้าไปพบผู้ชนะระหว่างเช็กหรือเดนมาร์กที่ชื่อชั้นเป็นรองพวกเขาอยู่แล้ว สวนทางกับอีกสายที่มีสเปน อิตาลี และเบลเยียม เป็นตัวเต็งที่จะต้องห้ำหั่นกันเอง เรียกได้ว่าเทพแห่งโชคเริ่มจะเห็นใจพวกเขาบ้างแล้ว ฉะนั้นถ้าไม่ผิดพลาดกันเอง ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวย พวกเขาจะมีโอกาสกรุยทางเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ

ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในฟุตบอลยูโรปี 96 ได้ แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือเราจะไปยังกรุงโรมและสร้างประวัติศาสตร์ให้แฟนบอลได้จดจำต่อไป

 แกเร็ธ เซาธ์เก็ต กุนซือทีมชาติอังกฤษให้สัมภาษณ์กับ BBC Sport หลังพวกเขายังอยู่ในเส้นทางของการคว้าแชมป์ยูโรสมัยแรก ซึ่งหากเป็นดังบทละครอันแสนหวาน สุดท้ายพวกเขาจะได้ชูถ้วยประจำทวีปในนิวเวมบลีย์ อย่างไรก็ตามทีมชาติยูเครนจะเป็นผู้ให้คำตอบว่า พวกเขาดีพอไหมกับการเป็นแชมป์ในค่ำคืนนี้

แต่ถ้าเกิดพลิกล็อกผิดพลาดจริงๆ ล่ะก็ สุดท้ายทัพทรีไลออนส์ก็ต้องเชิดหน้าสู้ต่อไปกับภารกิจทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ ดังเช่นในตอนท้ายของเพลง Three Lions (Football’s Coming Home) ที่ร้องว่า ‘Never stopped me dreaming’ หรือแปลว่า ต่อให้พ่ายแพ้ ล้มอีกกี่ครั้ง พวกเขาก็จะไม่หยุดฝัน

 

อ้างอิง

https://www.givemesport.com/1714276-england-20-germany-gareth-southgate-gives-spinetingling-interview-after-wembley-win

https://theathletic.com/news/england-euro-2020-squad-full-26-man-team-ahead-of-2021-tournament-30-06-21/PihUH1uEYg2C

https://www.skysports.com/football/news/11661/12052427/do-premier-league-clubs-need-to-sign-homegrown-players

https://www.transfermarkt.com/england/mitarbeiterhistorie/verein/3299

https://www.independent.co.uk/extras/big-question/england-euro-2021-its-coming-home-b1874751.html

https://www.foxsports.com/soccer/fifa-world-cup/history

 

Tags: , , , , ,