ในวาระครบรอบ 11 ปี เหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 53’ และ 29 ปี กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 บทความนี้จึงถือโอกาสชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ในแง่มุมทางกฎหมาย และเผยให้เห็นถึง ‘วัฒนธรรมการลอยนวลผิด’ (Climate of Impunity) ที่ลงรากฝังลึกในสังคมไทย ผ่านการย้อนดูคำอภิปรายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศในปี 2551 ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ ตอนกลางเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่าง ‘อภิสิทธิ์ในปี 2535’ ที่ได้ลุกขึ้นกล่าวอภิปรายเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติผ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมที่ยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ก่อความรุนแรง และ ‘อภิสิทธิ์หลังปี 2553’ ผู้มีส่วนสำคัญในการสั่งการให้นำกองกำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีความรับผิดในทางกฎหมายแต่อย่างใด
อภิสิทธิ์ในปี 2535
เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คือเหตุการณ์ความรุนแรงอันเกิดจากการที่พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้สั่งการให้กองกำลังทหาร-ตำรวจ นับหมื่นนายเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และขับไล่พลเอกสุจินดาให้พ้นจากการเป็นนายกฯ ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 และนำไปสู่ความสูญเสียจำนวนมาก
วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 การชุมนุมยุติลงหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งให้พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี กับพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำฝั่งผู้ชุมนุมมาเข้าเฝ้า พร้อมพระราชทานพระราชดำรัสแก่บุคคลทั้งสอง จากนั้นมีการออกมาแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ ขอให้ยุติการชุมนุม พลเอกสุจินดาแถลงว่าจะปล่อยตัวพลตรีจำลอง ตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกจับกุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
แต่ปัญหาคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องความยุติธรรมให้มีดำเนินคดีนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงครั้งนั้นมาลงโทษตามกฎหมาย รัฐบาลพลเอกสุจินดากลับตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมออกมา ซึ่งถือเป็นการ ‘แหก’ มติคณะรัฐมนตรีที่ตกลงกันก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะนิรโทษกรรมโดยการตรากฎหมายผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ กรณีดังกล่าวประกอบกับบทบัญญัติในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมที่กินความไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องการกระทำความรุนแรงทุกคน สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก และเมื่อพระราชกำหนดนิรโทษกรรมถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะอนุมัติผ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อไปหรือไม่ ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมนี้เป็นอันตกไป
ระหว่างการประชุมของสภาผู้แทนฯ ปรากฏถ้อยคำคัดค้านและการเรียกร้องให้สมาชิกสภาฯ ร่วมกันตีตกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมจากผู้อภิปรายหลายคน หนึ่งในนั้นคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้นเพิ่งเข้ามาเป็น ‘ส.ส. หน้าใหม่’ และมีความยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างยิ่ง พร้อมกับกล่าวคัดค้านพระราชกำหนดนิรโทษกรรม และไม่ยอมรับเอา ‘วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด’ โดยมีเหตุผลที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก อภิสิทธิ์มองว่า “การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นการใช้กระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากว่าขณะที่ได้มีการออกพระราชกำหนดฉบับนี้นั้น มีสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในสมัยประชุมอยู่ ชอบที่รัฐบาลจะเรียกให้มีการประชุมสภาฯ เป็นการด่วน เพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ได้ แต่รัฐบาลกลับอ้างมาตรา 172 (แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534) ที่ว่าด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศ… เร่งออกพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมา… ขณะที่เหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว ไม่มีประชาชนคนไทยคนไหนเรียกร้องให้มีการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมา”
ประเด็นต่อมา เพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้แก่เหยื่อความรุนแรงครั้งนั้น ‘อภิสิทธิ์ในปี 2535’ ได้แสดงทรรศนะต่อที่ประชุมสภาไว้ว่า “เราจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เจริญแล้ว เรามีกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นที่ประชาชนพึ่งได้ เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยระบบสากล โดยระบบกฎหมายของประเทศที่เจริญแล้ว จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง จะต้องมีการกล่าวหา จะต้องมีการพิพากษาว่าใครถูกใครผิด…” และเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ในการชำระสะสางเหตุการณ์ความรุนแรง “รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เราอยากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยทุกคนว่า บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยความเสมอภาค เราอยากจะให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า ไม่มีบุคคลกลุ่มไหน คณะไหน ไม่ว่าอยู่ในสถานะไหนสามารถล่วงละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในร่างกายหรือทรัพย์สิน แล้วสามารถใช้กระบวนการกฎหมาย กระบวนนิติบัญญัติออกมายกโทษให้กับตนเอง… เราจำเป็นต้องทำเพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีการปกครองที่เจริญแล้ว ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้นมีสมาชิกสภาฯ บางคนวิตกกังวลจากกรณีถ้าหากพระราชกำหนดนี้ตกไป จะกระทบต่อความสามัคคีในชาติ อภิสิทธิ์ก็ตอบต่อประเด็นนี้ได้อย่างเฉียบคมว่า “การเอาผิดการรักษาความถูกความผิดตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องสถาบัน สิ่งที่เรากำลังจะทำในวันนี้ถ้าหากเราไม่รับพระราชกำหนด ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราต้องการทำลายสถาบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราต้องการแก้แค้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราต้องการที่จะเอาชนะคะคานซึ่งกันและกัน แต่เป็นเพียงการยืนยันรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศชาติ” ขณะเดียวกัน “ความสามัคคีในชาติไม่ได้หมายความว่ามาบอกให้ทุกคนลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้ทุกคนเลิกแล้วต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการกระทำอย่างนั้นหมายความว่าบุคคลเกือบทุกฝ่ายยังมีความเจ็บปวด ยังความเจ็บแค้น ยังมีความเคลือบแคลงใจในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง” ตรงกันข้าม อภิสิทธิ์เห็นว่า “ความสามัคคีในชาติย่อมเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อข้อเท็จจริงทุกอย่างปรากฏ เมื่อทุกคนมีความมั่นใจว่า เขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครองจากระบบกฎหมายที่เจริญแล้วที่มั่นคงแล้ว”
คำอภิปรายที่กล่าวมาเป็นไปเพื่อสนับสนุนข้อเสนอให้สภาไม่รับอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรม และหวังว่าจะนำพาประเทศชาติไปสู่การปกครองที่เจริญแล้ว หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ พร้อมกับสร้างหลักนิติรัฐนิติธรรม “วางรากฐานต่อไปให้เป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรง อย่างเช่นในเดือนพฤษภาคมเกิดขึ้นอีก” อย่างไรก็ดี นอกจากควาดหวังของอภิสิทธิ์จะต้องพังทลายลงไป ภายหลังจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตีความให้ผลของพระราชกรรมนิรโทษกรรมที่ถูกตีตกยังคงอยู่ต่อไป ทรรศนะและความคิดซึ่งยึดมั่นบนหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายของเขาข้างต้น ก็ดูเหมือนจะสูญสิ้นลงไปด้วย หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคมผ่านพ้นไป 18 ปี เมื่อเขาต้องเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงเสียเอง ในเหตุการณ์การเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553
อภิสิทธิ์หลังปี 2553
เหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 2553’ ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ที่ออกมาเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นยุบสภาฯ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม ปี 2553 แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน การชุมนุมยุติลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์นี้ถูกนับว่าเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ตัวเลขผู้เสียชีวิต ลักษณะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกเหตุการณ์คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อความรุนแรงต่อประชาชนกลับไม่มีใครต้องรับผิดทางกฎหมายแม้แต่คนเดียว
ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่าง อภิสิทธิ์หลังปี 2553 กับ อภิสิทธิ์ในปี 2535 พิจารณาได้จากบทสัมภาษณ์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ในประเด็นการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากการสั่งให้นำกองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
บทสัมภาษณ์เริ่มจากอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเราก็เป็นฝ่ายตั้งกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาเพื่อมาสอบสวนการตายของผู้ชุมนุม และนั่นก็นำมาสู่การรับผิดชอบ” มิชาล ฮุสเซน (Mishal Husain) พิธีกรรายการจึงตอบกลับไปว่า “ซึ่งนั่นก็รวมถึงตัวคุณด้วย เพราะคุณคือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งขณะที่ประชาชน 90 คน เสียชีวิตจากการประท้วง” “ถูกต้องครับ เราได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงคณะตำรวจและกลไกในกระบวนการยุติธรรมซึ่งต้องดำเนินการ แต่ว่าข้อกล่าวหาผมนั้นเกินเลยไป”
ท่าทีของการปฏิเสธไม่ยอมรับผิดดังกล่าว สร้างความฉงนให้กับมิชาลอย่างมากว่า เพราะเหตุใด อภิสิทธิ์จึงกล่าวออกมาว่าข้อกล่าวหาต่อตัวเขานั้นเกินเลยไป ทั้งที่อภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ในอำนาจขณะที่มีการใช้กำลังสลายพื้นที่การชุมนุม ซึ่งอภิสิทธิ์ยังคงชี้ถึงความจำเป็น และอาจเป็นความโชคร้ายที่ทำให้เกิดความสูญเสียว่า “สถานการณ์ขณะนั้นคือมีประชาชนยึดพื้นที่ใจกลางเมือง และมีประชาชนที่ติดอาวุธ พวกเขามีการปาระเบิด และปาเข้าใส่ประชาชน เราไม่ได้แม้แต่เข้าไปสลายการชุมนุม แต่เราเพียงแค่ตั้งด่านตรวจเช็ก และมีการต่อสู้กันบนถนน และโชคร้ายที่มีประชาชนเสียชีวิต”
ส่วนเรื่องที่ว่าการเสียชีวิตของประชาชนนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ อย่างไร อภิสิทธิ์ไม่ยอมให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมา และกล่าวเพียงว่า รายงานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่ละเอียดที่สุดนั้นทำโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) “มีการไต่สวนการตายอยู่ราว 20 กรณี และเพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้น ที่มีการสรุปว่าเป็นการตายจากการถูกกระสุนปืนซึ่งใช้ในกองทัพ แต่คุณก็ควรจะต้องจำด้วยว่าผู้ชุมนุมได้ขโมยอาวุธจากกองทัพไป และในการจะกล่าวหาที่เจาะจงเช่นนี้ คุณต้องรู้เกี่ยวข้อหาที่ถูกแจ้งไว้เสียก่อน”
การไม่ยอมรับผิดปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ตอนที่มิชาลถามอภิสิทธิ์ว่า “แต่คุณก็ยอมรับใช่ไหมว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการตายในบางกรณี คุณยอมรับไหม” ซึ่งคำตอบคือ “ไม่ครับ การแจ้งข้อหาต่อผมในขณะนี้คือการเสียชีวิตของคนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีรถตู้คันหนึ่งพยายามฝ่าแนวกั้นของทหาร จากนั้นจึงมีการยิงขึ้น คนนั้นเพียงแต่ออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็โชคร้ายที่เขาโดนลูกหลงเข้า” ซึ่งกรณีนี้อภิสิทธิ์เห็นว่า “จะพูดว่ารัฐบาลเป็นผู้สั่งทหารให้ฆ่าประชาชนก็ไม่ได้ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้นทีเดียว” และเมื่อมิชาลถามถึงความรู้สึกของอภิสิทธิ์ ว่าเสียใจต่อการตัดสินใจอนุมัติให้ใช้กระสุนจริงหรือไม่ อภิสิทธิ์ยังคงยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมีความชอบธรรม เพราะ “ถ้าอย่างนั้นคุณจะสู้กับกลุ่มคนที่ติดอาวุธได้ยังไงล่ะ… ผมเสียใจที่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีคำสั่งก็ชัดเจนว่าพวกเขาควรใช้กระสุนจริงอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบไหน คำสั่งซึ่งออกโดยรองนายกรัฐมนตรี (สุเทพ เทือกสุบรรณ) นั้น ประการแรกเพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนคนอื่น และพวกเขาต้องใช้อย่างระมัดระวังสูงสุด และถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้อาวุธต่อคนเหล่านี้ ที่บางครั้งก็ปะปนอยู่กับฝูงชน… พวกเขาก็ควรหลีกเลี่ยง และถ้าการใช้คำสั่งนี้แปลว่าพวกเราสั่งให้มีการฆ่าคน ผมคิดว่าไม่แฟร์…”
จากนั้น อภิสิทธิ์ก็พยายามเพิ่มเติมเหตุผลหรือน้ำหนักให้เพียงพอที่จะปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดได้ ด้วยการพยายามชี้ให้เห็นว่าตนมีประสบการณ์เข้าร่วมการประชุมหลายครั้งทั่วโลก “กรณีการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ก็มีบางคนเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตน และต้องมีการไต่สวนการตาย เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นการตายที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีที่ไหนที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมารับผิดชอบกับปฏิบัติการใดๆ ก็ตาม”
นอกจากนี้ เมื่อศาลฎีกาได้ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุม ในเดือนสิงหาคม 2560 อภิสิทธิ์ก็ได้โพสต์ข้อความแสดงความขอบคุณว่า “วันนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องคดีที่อัยการฟ้องผมและคุณสุเทพในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามที่คุณธาริตและกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวหา ผมขอขอบคุณสำหรับความเป็นธรรมที่ได้รับ เพราะการตรวจสอบการทำงานของผมในช่วงเหตุการณ์ปี 2553 เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.กับศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ได้วินิจฉัยกรณีนี้ไปแล้ว ในฐานะคนไทยคนหนึ่งและในฐานะผู้บริหารประเทศ ผมรู้สึกเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ในขณะนั้น โดยเฉพาะที่ผมไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียชีวิตได้ แต่ขอยืนยันว่าได้พยายามจนถึงที่สุดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของบ้านเมืองตามหน้าที่ โดยมีนโยบายให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ความสูญเสียตลอดเวลา รวมทั้งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ผมยอมรับและให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผมทุกขั้นตอน และสนับสนุนให้มีการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างอิสระ มีการเยียวยาที่เหมาะสม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่สูญเสีย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทยจะไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้อีก”
‘หลักการ’ หรือ ‘การลอยนวล’
จวบจนทุกวันนี้ การสลายการชุมนุมปี 2553 ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาต้องมีความรับผิดใดๆ จากกรณีที่ได้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย อีกทั้งจะเห็นว่า อภิสิทธิ์หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ดูเหมือนจะเป็นคนละคนกับ อภิสิทธิ์ที่เคยอภิปรายไม่รับอนุมัติและโต้แย้งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ในสมัยเหตุการณ์ความรุนแรงพฤษภาคม 2535 ซึ่งเขาเห็นว่า การนำตัวคนผิดมาลงโทษจะเป็นการแสดงให้เห็นต่อสังคมโลกว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เจริญแล้ว มีกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นที่ประชาชนพึ่งได้
สุดท้าย ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในเนื้อหาของคำอภิปรายและคำพูดของอภิสิทธิ์ในสองวาระข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง และความเลวร้ายของตนเองที่กระทำลงต่อมนุษย์ด้วยกัน ผู้มีอำนาจรัฐไทยจะยอมกล้ำกลืน ละทิ้งหลักการที่ตนเองยึดถือได้มากเพียงใด หากหลักการที่ตนเองยึดถือมาตลอดจะบีบบังคับให้เขาต้องยอมรับโทษ และมีสถานะเป็นอาชญากรหรือผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมือง กรณีของอภิสิทธิ์ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้เห็นได้อย่างชัดเจน
อ้างอิง
พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 18 ปีที่ 1 ครั้งที่ 4/2535 (สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่หนึ่ง)
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535
ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53, ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.)
https://prachatai.com/journal/2012/12/44161
https://www.bbc.com/thai/thailand-41109253
https://prachatai.com/journal/2015/12/63226
Tags: พฤษภาทมิฬ, สลายชุมนุมคนเสื้อแดง, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, Rule of Law