อะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นทั่วไป?

ความยุติธรรมมีจริงไหมในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ?

คุณสมบัติอะไรของเซเปียนส์ที่จะทำให้เราข้ามผ่านภัยคุกคามการอยู่รอดแห่งยุคสมัยได้?

สารพัดคำถามใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ที่ทั้งสื่อ นักวิชาการ ผู้คนทั่วโลกโยนถาม ‘ยูวัล โนอาห์ แฮรารี’ (Yuval Noah Harari) หรือที่รู้จักกันในนามผู้เขียนหนังสือขายดี เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์โดยย่อของมนุษยชาติ, โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้, 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่มียอดขายใกล้แตะ 30 ล้านเล่มทั่วโลก ใน 60 ภาษา รวมทั้งผลงานล่าสุด เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์โดยย่อฉบับกราฟิก ที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ของการเล่าความรู้ให้เป็นภาพได้อย่างน่าสนใจ กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการทำให้ ‘ความรู้เป็นเรื่องสาธารณะ’ ดังที่ผู้เขียนตั้งใจไว้

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เติบโตที่อิสราเอล สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม ไปพร้อมๆ กับการเขียนหนังสือ สื่อสารสาธารณะในประเด็นสำคัญ และดำเนินกิจการเพื่อสังคมร่วมกับสามีของเขาในนาม ‘Sapienship’ ที่มีวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดความรู้ให้เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้างผ่านการ ‘เล่าเรื่อง’ รูปแบบต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับสากล 

ทำไมนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ระดับโลก ถึงยังสร้างสรรค์งานไม่หยุดในวัย 44 ปี ยูวัลค้นพบอะไรในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เขามุ่งมั่นต่อพันธกิจยิ่งใหญ่ ว่าจะถ่ายทอดความรู้นั้นให้ไกลสุดเท่าที่จะทำได้, เบื้องหลังชีวิตการเติบโตท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมทั้งความเป็นชายรักชายในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างทางความหลากหลายส่งผลต่อความคิดอ่านของเขาอย่างไร, ทำไมบุคคลสาธารณะที่มีภารกิจรัดตัวอย่างเขาถึงจัดลำดับให้ ‘สมาธิภาวนา’ เป็นกิจสำคัญในชีวิตประจำวัน ถึงขั้นเปรยว่า นี่เป็นหนึ่งในหนทางบรรเทาปัญหาแห่งยุคสมัย ทั้งในระดับบุคคลไปจนถึงระดับสังคม

สารพัดคำถามเกี่ยวกับชีวิต วิธีคิด พันธกิจของยูวัล โนอาห์ แฮรารี ที่น่าสนใจ และบอกใบ้ทางออกให้ภัยคุกคามการอยู่รอดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ได้ไม่น้อยไปกว่าประเด็นที่ผู้คนเพียรถามแสวงหาคำตอบจากชายผู้นี้ ยูวัล โนอาห์ แฮลารี นักประวัติศาสตร์ นักเขียน และผู้นำทางความคิดระดับโลกคนสำคัญในช่วงเวลาคับขันที่ยูวัลเน้นย้ำว่า “เราต้องร่วมมือกันในระดับสากลมากกว่าที่เคย”  

จากนักประวัติศาสตร์สู่นักเขียน สู่บุคคลที่ทั่วโลกขนานนามว่าเป็น ‘ผู้นำทางความคิด’ แห่งศตวรรษ สื่อรุมสัมภาษณ์ ผู้คนเฝ้าหาคำตอบจากคุณต่อความท้าทายในปัจจุบัน คุณมองว่าคำถามประเภทใดได้รับความสนใจมากเกินไป และเราถามเรื่องอะไรน้อยเกินไป

ในอดีต ข้อมูลข่าวสารมีปริมาณจำกัด และมีคนอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เข้าถึงมันได้ แต่ในทุกวันนี้ เราท่วมท้นไปด้วยข้อมูลมหาศาล มีข้อมูลมากเสียจนเราไม่รู้ว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หรือเชื่อเรื่องไหน เรามักใช้เวลาไปกับเรื่องไร้แก่นสารเสียจนเพิกเฉยเรื่องสลักสำคัญ ผู้คนใช้เวลาหลายชั่วโมงดูวิดีโอแมวตลกๆ บนอินเทอร์เน็ต แต่ไม่สนใจสักนิดเรื่องวิกฤตธรรมชาติ

อีกปัจจัยในยุคนี้คือการแข่งขันช่วงชิงความสนใจ และหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะฉวยความสนใจของผู้คน สามารถทำได้ด้วยการกดปุ่มความเกลียดและความกลัว ผลลัพธ์ก็คือ เรากำลังยัดอาหารขยะที่เต็มไปด้วยความเกลียดกลัวให้ความคิดจิตใจ เราต้องปกป้องใจของเรามากกว่านี้ และฝึกให้ผู้คนเลือกข้อมูลจากแหล่งน่าเชื่อถือให้ได้ โรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แทนที่จะยัดเยียดข้อมูลเพิ่มขึ้นไปอีก คนไม่ได้ต้องการข้อมูลมากขึ้นแล้ว พวกเขาต้องการความสามารถที่จะแยกแยะข้อมูลได้ต่างหาก

มนุษย์ทุกวันนี้ เผชิญภัยคุกคามความอยู่รอดสามประการ ที่ส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ ได้แก่ สงครามโลก ความล่มสลายทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงฉับพลันทางเทคโนโลยี หากสงครามโลกครั้งที่สามระหว่างจีนและอเมริกาเกิดขึ้น หรือสมดุลธรรมชาติของโลกล่มสลาย ก็สามารถทำลายอารยธรรมมนุษยชาติ ฆ่าคนนับพันล้านได้เลย ในขณะเดียวกัน หากปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมชีวภาพไม่ถูกควบคุมอย่างระมัดระวัง ก็สามารถทำลายความหมายการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ได้เช่นกัน เราต้องหันมาใส่ใจกับสามภัยอันตรายนี้ให้มากขึ้น 

คุณดูให้ความสำคัญกับการสมาธิภาวนาเอามากๆ ถึงขั้นกล่าวในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “เรื่องอื่นล้วนสำคัญรองลงมา” การภาวนาและการใช้ชีวิตบนหนทาง ‘จิตวิญญาณ ไม่ใช่ศาสนา’ (Spiritual but not religious)  ส่งผลต่อคุณอย่างไร คุณคิดว่าสังคมจะเปลี่ยนไปเช่นไร หากคนรุ่นใหม่เริ่มเป็นสาย ‘จิตวิญญาณ ไม่ใช่ศาสนา’ มากขึ้น

ผมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะผมพบว่ามันช่วยฝึกจิตให้สังเกตความเป็นจริงได้ตามที่มันเป็น เรามักมองความจริงอย่างที่เราจินตนาการให้มันเป็น หรืออย่างที่เราหวังให้มันเป็น จิตใจมนุษย์เป็นเหมือนโรงงานที่คอยผลิตเรื่องเล่าตลอดเวลา และเราก็ยึดติดกับเรื่องเล่าพวกนั้น แต่มันกั้นขวางระหว่างเราและความเป็นจริง การได้ภาวนา 2 ชั่วโมงทุกวัน และร่วมภาวนาระยะยาวทุกปี ช่วยให้ผมสามารถวางเรื่องพวกนั้นลงได้ อย่างน้อยก็ในชั่วขณะ และเห็นความจริงได้ชัดขึ้น หากไร้ซึ่งความกระจ่างชัดที่ได้จากการภาวนา ผมก็คงไม่สามารถเขียนหนังสือใดๆ ของผมได้เลย

อย่างที่คุณบอก ผมมองว่านี่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณมากกว่าเรื่องศาสนา ผมมองว่ามีความต่างระหว่างจิตวิญญาณและศาสนาอยู่มาก จิตวิญญาณชวนตั้งคำถาม ในขณะที่ศาสนาบังคับให้ผู้คนยอมรับคำตอบบางประการ บนเส้นทางจิตวิญญาณ ผู้คนเดินตามคำถามใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉันคือใคร? อะไรคือความจริง? อะไรคือเหตุแห่งทุกข์? และเปิดให้ตนเองค้นพบคำตอบใดๆ ที่ปรากฏขึ้นระหว่างทาง ในทางตรงกันข้าม ศาสนาเต็มไปด้วยชุดคำตอบที่ผู้คนสร้างขึ้นมา และบังคับให้ผู้อื่นยอมรับตามนั้น นั่นไม่ใช่หนทางสำหรับผม

แน่นอนว่าการปราศจากบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ทำให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความท้าทายทางศีลธรรมบางอย่าง สังคมที่ผู้คนเป็นสาย ‘จิตวิญญาณ ไม่ใช่ศาสนา’ ต้องเจอกับความขัดแย้งอยู่ดี เพราะมันไม่มีคำตอบตายตัวให้กับปัญหาของโลกนี้ จะเกิดอะไรขึ้น หากการกระทำเดียวกันนั้นทำร้ายคนหนึ่งแต่ช่วยอีกคน มันถูกต้องหรือเปล่าที่จะเรียกเก็บภาษีคนรวยเพื่อช่วยคนจน หรือลงเงินไปกับสงครามอาบเลือดเพื่อโค่นล้มเผด็จการ หรือปล่อยให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากอพยพเข้าประเทศ เมื่อต้องตอบคำถามพวกนี้ เราไม่ควรถามว่า ‘พระเจ้าต้องการอะไร’ แต่ควรถามว่า ‘ใครต้องรับทุกข์’ และ ‘เราจะลดทุกข์นั้นได้อย่างไร’ มากกว่า

ลองนึกถึงทัศนคติเรื่องเพศเป็นตัวอย่าง เราจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าควรยินยอมเรื่องการข่มขืน หรือรักเพศเดียวกันหรือไม่ การข่มขืนนั้นชัดเจนว่าผิดศีลธรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะมันผิดต่อบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า แต่เพราะว่ามันทำร้ายผู้คน ตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักระหว่างชายสองคนไม่ได้ทำร้ายใคร ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไปคัดค้านเรื่องนี้ หรือหากแม้จะมีพระเจ้าอยู่ที่ไหนสักแห่งเหนือท้องฟ้านั่นจริง ก็ไม่มีพระเจ้าดีๆ องค์ไหนหรอก ที่จะลงโทษผู้คนในนามของความรัก ความเชื่อว่าพระเจ้าเกลียดความรักบางรูปแบบ จึงเป็นแค่เรื่องแต่งน่าชังที่คนเราสร้างขึ้นมา

ข้อเสนอที่ว่าอาจฟังไร้เดียงสาไปหน่อย แต่มันได้ผลจริงๆ ดูประเทศที่สงบและรุ่งเรืองที่สุดในโลกนี้อย่างแคนาดา นิวซีแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่รัฐแยกจากศาสนา ผู้คนไม่ปฏิบัติตามคำบัญชาของเทวดาสูงส่ง ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เป็นรัฐศาสนาชัดเจน เช่น อิรักหรือปากีสถาน กลับเต็มไปด้วยความรุนแรงและยากจน

คุณแสดงความกังวลผ่านหนังสือและการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่เทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นมารู้จักเราดีกว่าเรารู้จักตนเอง คุณมองว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดอย่างไร และคุณมีคำแนะนำอย่างไรให้ทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ป้องกันเรื่องนี้ ไม่ให้ถลำไปไกล ‘ก่อนจะสายเกินไป’

นี่คือช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถ ‘แฮ็ก’ มนุษย์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สิ่งเดียวที่คุณต้องใช้ก็คือข้อมูลที่เพียงพอ ความสามารถทางคอมพิวเตอร์ และความรู้เรื่องประสาทวิทยา ควบคู่ชีววิทยา หมายความว่าเทคโนโลยีสามารถบงการผู้คนได้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ และคนที่ง่ายที่สุดต่อการถูกบงการ ก็หนีไม่พ้นคนที่เชื่อว่าพวกเขาไม่มีวันถูกบงการได้หรอก เพราะพวกเขามี ‘เจตจำนงเสรี’

ทุกวันนี้ อัลกอริทึมคอยบอกเราว่าควรดูหรือซื้ออะไร มันเลือกข่าวสาร เรื่องราวที่เรารับรู้ ไปจนถึงช่วยเลือกคู่ครองของเรา อีกไม่นานมันคงรู้จักเราดีกว่าเรารู้จักตัวเองว่าเราควรเรียนอะไร ควรทำงานอะไร หรือควรสนับสนุนพรรคการเมืองไหน ถ้าเราไม่จัดระเบียบ ควบคุมเทคโนโลยีทรงพลังพวกนี้ เราอาจได้เห็นระบอบเผด็จการที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แม้กระทั่งในสังคมที่ดูเป็นเสรีนิยม ผู้คนก็จะไม่สามารถลิขิตชีวิตพวกเขาเองได้อีกต่อไป

การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีจรรยาบรรณมากขึ้น ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางสถาบัน แต่เราสามารถเริ่มได้จากการปรับบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา แพทย์ไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้ หากไม่ได้เรียนเรื่องจรรยาบรรณแพทย์ เราต่างเห็นตรงกันว่านี่เป็นความคิดที่ดี แต่เรากลับไม่เรียกร้องให้โปรแกรมเมอร์ต้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณ ถึงแม้จะชัดเจนว่าพวกเขากำลังมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์อย่างมาก นี่คือผู้คนที่เขียนโค้ดและกำลังกำหนดสังคมเราอยู่ หลายคำถามที่นักปรัชญาถกเถียงกันมาหลายพันปี ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เราต้องแน่ใจได้ว่าโปรแกรมเมอร์ผู้ออกแบบอัลกอริทึมที่กำหนดโลกดิจิทัลของเรามีวิธีคิด ตัดสินใจได้อย่างรู้ผิดชอบชั่วดี

คุณเคยเสนอ ‘จริยศึกษา’ (Ethical education) ในการรับมือกับการเติบโตของเทคโนโลยี คำถามสำคัญคือ เราจะร่างเนื้อหาจากหลักสากลใด เพื่อจะเห็นพ้องต้องกันได้ว่าสิ่งใด ‘ถูกต้องชั่วดี’ (Ethical)

แทนที่จะหาหลักการสากลเพียงหนึ่งเดียว ผมคิดว่ามีแนวทางปฏิบัติบางอย่างที่เราสามารถทำตามได้ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีจรรยาบรรณมากขึ้น นี่คือแนวทางที่บริษัทเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ นักการเมืองสามารถทำตาม หรือพลเมืองสามารถร่วมรณรงค์ ช่วยกันสื่อสารออกไป

ประการแรก เราต้องป้องกันไม่ให้ข้อมูลกระจุกรวมตัวอยู่ในที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป หลังโควิดจบลง หลายประเทศจะมองว่ามีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ที่จะต้องรวมศูนย์ข้อมูลการระบาดไว้ที่เดียว มีเครื่องมือดีๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่มันจะได้ผลดีกว่า ถ้าเราก่อตั้งกลุ่มสาธารณสุขอิสระที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ และเก็บมันให้ไกลมือเจ้าหน้าที่รัฐหรือบริษัทขนาดใหญ่ แน่นอนว่ามันไม่อาจไม่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ แต่ความพร่องประสิทธิภาพนั้นเป็นคุณสมบัติ ไม่ใช่ข้อบกพร่อง ถ้าระบบใดมีประสิทธิภาพมากเกินไป มันจะกลายเป็นเผด็จการดิจิทัลได้

ประการที่สอง ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกใช้ได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อทำร้ายหรือบงการเจ้าของข้อมูลนั้น หลักการนี้ใช้ได้กับอาชีพอื่นๆ เช่นกัน ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่การแพทย์ หมอของผมมีข้อมูลส่วนตัวผมเยอะมาก และผมยินยอมในกรณีนี้ เพราะผมรู้ว่าหมอกำลังใช้ข้อมูลนี้เพื่อช่วยผม แต่ถ้าหมอเริ่มนำข้อมูลของผมไปขายให้กับบุคคลที่สามเพื่อหารายได้จากมันเมื่อไหร่ นั่นจะผิดทันที ในระดับที่ใหญ่กว่านี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อหาทางรักษาโควิดนั้นเป็นเรื่องดี แต่มันจะผิดทันทีถ้าข้อมูลนั้นถูกนำไปใช้เพื่อช่วยบริษัทเลี่ยงจ่ายภาษี หรือช่วยให้ระบอบเผด็จการกดขี่ผู้เห็นต่างยิ่งขึ้นไปอีก คนทำงานกับเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ ควรหมั่นคำนึงถึงการที่ข้อมูลจะไปอยู่ในมือของนักการเมืองที่เขากลัวที่สุดในโลก พวกเขาควรจินตนาการถึงสิ่งโหดร้ายที่สุดที่อาจเกิดจากการที่นักการเมืองสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ และหาทางออกแบบเครื่องมือเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลลัพธ์เช่นนั้นเกิดขึ้น

สุดท้าย เมื่อใดก็ตามที่คุณเพิ่มการติดตามตรวจตราพลเมือง คุณต้องเพิ่มการตรวจตรารัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ถ้าการตรวจตรานั้นเกิดขึ้นแค่จากบนสู่ล่าง นี่อาจนำไปสู่เผด็จการดิจิทัล การติดตามตรวจตราต้องเกิดขึ้นจากสองทาง ยกตัวอย่าง วิกฤตปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญ และต้องกระจายเงินจำนวนมหาศาลออกไป กระบวนการตัดสินใจและการกระจายทรัพยากรจำเป็นต้องโปร่งใสมากกว่านี้ ในฐานะพลเมือง ผมอยากเห็นง่ายๆ เลยว่า ใครได้รับเงิน และใครตัดสินใจว่าเงินจะกระจายไปลงทางไหน ผมอยากแน่ใจได้ว่า เงินจะถูกกระจายไปยังผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องการมันจริงๆ เช่น ร้านอาหารหรือโรงแรม แทนที่จะไปอยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่ที่เจ้าของเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรี ถ้ารัฐบาลบอกว่ามันยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่จะจัดตั้งระบบติดตามตรวจสอบเช่นนั้นขึ้นมาในช่วงเวลาวิกฤต อย่าไปเชื่อพวกเขา ถ้ามันไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่รัฐบาลจะติดตามพลเมืองได้ มันก็ไม่ควรจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน ที่เราจะสามารถติดตามว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่บ้าง

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากชาติขาดความสามัคคี” แต่เราควรทำอย่างไรเมื่อ ‘ความสามัคคี’ ถูกใช้เป็นวาทกรรมในการใช้กฎหมู่เหนือเสรีภาพปัจเจกชน 

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศของผม (อิสราเอล) เหมือนกัน ส่วนตัวผมมองว่าคนส่วนใหญ่ในอิสราเอลและประเทศอื่นอีกมาก ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย พวกเขาคิดว่าประชาธิปไตยหมายถึงการที่นานทีปีหนผู้คนได้ออกมาเลือกตั้ง และรัฐบาลจะทำอะไรต่อจากนั้นก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย นั่นเป็นเพียงการครองอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยที่แท้ไปไกลกว่าการเลือกตั้งตามวาระ ประชาธิปไตยที่แท้มุ่งปกป้องสิทธิ เสรีภาพของผู้คน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม

ส่วนเรื่องความสามัคคีระดับชาตินั้น คนก็มักเข้าใจผิดเช่นกัน พวกเขาคิดว่าชาตินิยมคือการเกลียดคนส่วนน้อยและชาวต่างชาติ แต่แท้จริงแล้ว ชาตินิยมคือการรักเพื่อนร่วมชาติ การเป็นคนรักชาติไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเกลียดคนชาติอื่น หรือคนที่มีความคิดอ่านต่างจากคุณ แต่มันหมายถึงการที่คุณซื่อสัตย์ต่อการจ่ายภาษี เพื่อที่เด็กที่คุณไม่รู้จักในอีกฟากหนึ่งของประเทศ จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ เข้าถึงการศึกษาที่ดี


ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งคุณบอกว่า ถ้าเลือกได้ คุณอยากเป็นกวี เพราะคุณเชื่อในพลังของ ‘เรื่องเล่า’ และเรากำลังขาด ‘เรื่องเล่าที่ดี’ ในการสร้างความร่วมมือกันระดับสากล ความย้อนแย้งคือ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร แต่ทำไมข้อมูลเกลื่อนกลาดนั่นไม่สามารถเป็น ‘เรื่องเล่าที่ดี’ มากพอที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันได้ หรือแย่ไปกว่านั้น มันกลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างความแตกแยกให้สังคมเสียเอง 

เรื่องเล่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของมนุษย์ ในแง่หนึ่ง เรื่องเล่าอย่างชาติ พระเจ้า หรือเงิน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์ร่วมมือกันได้ในระดับมหภาพ ถ้าคนไม่เชื่อเรื่องเล่าพวกนี้อีกต่อไปแล้ว สังคมก็เตรียมล่มสลายได้เลย แต่ในทางกลับกัน บางครั้งเรื่องเล่าพวกนี้ก็เป็นสาเหตุของความรุนแรง ความเกลียดชัง และความทุกข์อีกมาก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ฟุตบอล ในการจะเล่นฟุตบอลได้ คุณต้องมีคน 22 คนที่เชื่อในกฎกติกาเดียวกัน แม้กฎพวกนี้จะเป็นแค่จินตนาการที่เราสร้างขึ้นมาก็ตาม ฟุตบอลเป็นเรื่องสนุก แต่ถ้ามีแฟนนักเลงหัวไม้ เอาเป็นเอาตายกับผลการแข่งขัน แล้วเริ่มทำร้ายกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม มันก็จะไม่สนุกเลย

เช่นเดียวกัน ในการที่ประเทศจะไปต่อได้ คุณต้องทำให้คนนับล้านเชื่อในเรื่องเดียวกัน ทั้งเรื่องชาติ อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ ราวกับว่ามันเป็นความจริง แม้ความจริงที่จริงยิ่งกว่าคือสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมา แต่อย่างไรเสีย เรื่องเล่าเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกใส่ใจคนแปลกหน้าได้ สามารถร่วมกันจัดหาระบบสุขภาพ ความปลอดภัย และการศึกษาได้ นั่นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราเผลอลืมไปว่า ชาติเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เราสมมติขึ้นมาเพื่อช่วยผู้คน เราก็อาจจะเริ่มฆ่าแกงกันในนามของชาติได้เลย

แล้วจะทำอย่างไร ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการระลึกถึงความต่างระหว่างสิ่งซึ่งมีอยู่จริงกับสิ่งซึ่งเป็นเรื่องแต่งอยู่เสมอ ถ้าคุณได้ยินเรื่องเล่าใดๆ และคุณอยากรู้ว่า ตัวเอกของเรื่องเล่านั้นเป็นสิ่งซึ่งมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงเรื่องแต่ง คุณควรถามว่า ‘มันรับรู้ความทุกข์ได้หรือไม่’ ประเทศชาติไม่สามารถรับรู้ความทุกข์ได้ แม้จะพ่ายแพ้ในสงคราม มันไม่มีจิตใจ และไม่สามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวด หมองเศร้า ความทุกข์นั้นเป็นปทัฏฐานในการประเมินว่าเรื่องแต่งนั้นก่อประโยชน์หรือให้โทษ ถ้าการเชื่อในเรื่องแต่งนั้นช่วยปลดทุกข์ นั่นนับเป็นเรื่องที่ดี แต่หากการเชื่อในเรื่องแต่งใดเป็นเหตุแห่งทุกข์หรือให้โทษ เราก็ควรจะเปลี่ยนเรื่องเสียที

เรื่องเล่าเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ทำให้เซเปียนส์สามารถร่วมมือเป็นกลุ่มใหญ่ได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เซเปียนส์ต่างไปจากสายพันธุ์อื่นๆ แต่ในยุคสมัยที่เสี่ยงต่อข่าวปลอม ทฤษฎีสมคบคิด โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นั่นน่าจะทำให้เราแตกหักมากกว่าร่วมมือกัน เราจะระวังต่อเรื่องเล่าที่ ‘ไม่บริสุทธิ์ใจ’ ได้อย่างไร เพื่อป้องกันเราเองจาก ‘โรคติดต่อ’ เช่นนี้ เราจะร่วมมือกันได้อย่างไร ในยุคที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ทำให้เราเกลียด กลัว ไม่ไว้ใจกัน 

ข่าวปลอมเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเรามีข่าวปลอมอยู่เสมอ อันที่จริงแล้ว มันเคยแย่กว่านี้ด้วยซ้ำ ลองนึกถึงชุมชนโบราณก่อนที่จะมีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดูสิ ลำพัง ข่าวลือว่าหญิงแก่รักแมวที่อยู่คนเดียวในป่านั้นเป็นแม่มด มีคนเห็นเธอขี่ไม้กวาดคืนก่อน ประเดี๋ยวไม่นานหรอก ก็จะมีคนมารุมล้อม พยายามจุดไฟเผาเอาเธอให้ตาย

ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น ทุกศาสนาล้วนเต็มไปด้วยข่าวปลอม ยกเว้นก็แต่ศาสนาเดียวเท่านั้น ทุกศาสนาล้วนเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น พระเจ้าที่ไม่มีอยู่จริง แล้วศาสนาไหนกันเล่าที่เป็นข้อยกเว้น ก็ศาสนาของฉันเองไงละ ลองถามชาวยิวดู เขาก็จะบอกว่าศาสนายิวเป็นศาสนาที่จริงแท้ที่สุดแล้ว ในขณะที่เรื่องเล่าขานว่า พระเยซูเป็นบุตรของพระเจ้าที่เกิดใหม่จากความตายนั้นเป็นข่าวปลอม ลองถามชาวคริสเตียน เขาก็จะบอกว่าทุกศาสนาเป็นเรื่องแต่งหมด ยกเว้นศาสนาคริสต์ ส่วนข่าวที่ว่านางฟ้ากาเบรียลมาเยี่ยมเยียนมุฮัมมัด และเผยคัมภีร์อัลกุรอานต่อเขานั้นเป็นเรื่องแต่ง ลองถามชาวมุสลิมต่อ เขาก็จะบอกว่า พระเจ้าทุกองค์ ปาฏิหาริย์ทั้งหลายที่ชาวฮินดูเชื่อนั้นมั่วไปหมด

อุดมคติสมัยใหม่ก็อาศัยการกระจายของข่าวปลอมพอกัน โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของนาซีอธิบายถึงวิธีการนี้ว่า “โกหกหนหนึ่งนับเป็นคำปด โกหกหลายหนจักกลายเป็นจริง” 

ปัญหาหลักเกี่ยวกับข่าวปลอมทุกวันนี้คือโมเดลธุรกิจที่ครอบงำตลาดสื่ออยู่ โดยแก่นของมันแล้ว โมเดลนี้ ‘ทำให้คุณไม่ต้องเสียเงินสักนิดให้ข่าวน่าตื่นเต้น เพื่อแลกกับความสนใจ’ ความสนใจของคุณถูกดักจับด้วยพาดหัวชวนตื่นตาตื่นใจ เพื่อไปขายต่อให้นักโฆษณาหรือนักการเมือง ในสงครามแย่งชิงความสนใจนี้ การปกป้องความจริงนั้นมีแรงจูงใจน้อยกว่ามาก 

คุณอาจคิดว่าก็เป็นข้อต่อรองที่ดีนี่ คุณไม่ต้องเสียอะไร คุณได้รับความบันเทิงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าน่าสนใจ แต่ความจริงแล้ว คุณไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง คุณคือสินค้า คุณกำลังถูกขาย คุณกำลังทิ้งขว้างทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ นั่นก็คือเวลาและความสนใจ คุณปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่และนักการเมืองมาล้างสมองคุณ มันบ้ามากเลย

โมเดลที่ดีกว่าสำหรับตลาดสื่อควรจะเป็น ‘ข่าวน้ำดีที่คุณไม่ต้องเสียเงินสักบาท และมันก็ไม่ทำร้ายความสนใจคุณด้วย’ ถ้าคุณยินดีที่จะจ่ายเงินให้กับอาหารคุณภาพดี เสื้อผ้าดีๆ รถดีๆ แล้วทำไมคุณจะไม่ยอมเสียเงินให้กับข้อมูลข่าวสารคุณภาพดีบ้างล่ะ

แม้จะมีการเตือนล่วงหน้าถึงโรคระบาด เราต่างเพิกเฉย รอให้ภัยอันตรายเกิดขึ้นก่อนจะทำอะไรกับมันอยู่ดี คุณคิดว่าเรื่องเล่าแบบไหนจะช่วยเราเตรียมตัวจากหายนะในอนาคตได้ โดยเฉพาะการล่มสลายของธรรมชาติ สงครามนิวเคลียร์ หรือสมรรถนะสุดกู่ของ AI ที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์เรา ก่อนที่มันจะสายเกินไป

มีเรื่องเล่าบางเรื่องที่เราควรเลี่ยง เรื่องแรกคือ เราควรระวังเรื่องอดีตอันหอมหวน อดีตนั้นไม่สนุกหรอก และไม่ว่าในกรณีใด เราก็ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ และสอง เราต้องระวังกับโลกอุดมคติของเทคโนโลยี เทคโนโลยีก่อให้เกิดประโยชน์มากก็จริง แต่มันก็มีพลังทำลายล้างสูงเช่นกัน ลำพังการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาไม่อาจแก้ไขปัญหาของเราได้ คำถามสำคัญคือ เราจะใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร นอกจากนั้น เราก็ควรระวังเรื่องโชคชะตา หรือการมองโลกในแง่ร้ายด้วย ประวัติศาสตร์นั้นไม่เคยกำหนดได้ มนุษยชาติสามารถเอาชนะความท้าทายมาได้มากมาย ทั้งความอดอยากหรือการระบาดครั้งใหญ่ ถ้าเราตัดสินใจได้ดี เราก็จะสามารถก้าวข้ามความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เช่นกัน

ในการที่จะเอาตัวรอดและรุ่งโรจน์ในศตวรรษนี้ได้ มนุษย์จำเป็นต้องร่วมมือกันระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และจนถึงตอนนี้ แนวปฏิบัติเดียวที่พอจะใช้งานได้ก็มาจากฝั่งเสรีนิยมเท่านั้น เสรีนิยมมองว่ามนุษย์ล้วนมีประสบการณ์ คุณค่า ความสนใจขั้นพื้นฐานร่วมกัน และนั่นหมายความว่า ไม่มีมนุษย์กลุ่มใดจะเหนือไปกว่ามนุษย์อื่นได้ ความร่วมมือจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลกว่าความขัดแย้ง ในมุมมองของเสรีนิยม มนุษย์ควรทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องคุณค่าร่วม และพัฒนาความสนใจที่มีร่วมกัน

นักการเมืองทั่วโลกทำลายระเบียบโลกที่เสรีนิยมได้สร้างขึ้นมา ผู้นำพวกนี้อาจทึกทักว่าพวกเขารู้วิธีว่าจะจัดการประเทศอย่างไร แต่ไม่มีใครเสนอรูปแบบที่พอใช้การได้ในการรับมือกับภัยต่อความอยู่รอดของชีวิต เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้ยินนักการเมืองวิจารณ์อุดมการณ์เรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ลองถามเขาดูว่า ‘คุณมีแผนที่จะป้องกันการระบาดในอนาคต สงครามนิวเคลียร์ ยับยั้งโลกร้อน และจัดระเบียบ AI อย่างไร’ ดูสิ

ทุกคนควรเห็นได้แล้วว่า ไม่มีประเทศไหนสามารถจัดการภัยอันตรายเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เราควรเห็นได้แล้วว่า ปัญหาใหญ่เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน และถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้ตอนนี้ ก็ไม่มีเรื่องอื่นใดที่สำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว

เสรีนิยมควรมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระระดับโลกร่วมกันจริงๆ เสียที เน้นย้ำเรื่องความจงรักภักดีที่มนุษย์ทุกคนควรมีต่อสายพันธุ์ตัวเองและต่อโลก อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากวิกฤต และตอนนี้ มนุษยชาติก็กำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตครั้งใหญ่ นอกเสียจากมนุษย์จะเข้าใจว่าเราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกันจริงๆ และตั้งเป้าร่วมกัน มนุษย์จะไม่มีทางรอดจากภัยที่กำลังเผชิญอยู่นี่ได้เลย ไม่ต่างจากที่ในศตวรรษที่ผ่านมา สงครามอุตสาหกรรมได้ประกอบสร้าง ‘ชาติ’ จากกลุ่มก้อนต่างๆ วิกฤตระดับโลกในศตวรรษที่ 21 ก็เรียกร้องให้เกิดการหลอมรวมมนุษยชาติจากประเทศต่างๆ ที่ต่างแยกกันอยู่เช่นกัน

นอกจากภัยทางกายภาพแล้ว ก็ยังมีความท้าทายทางความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เช่น ความไม่แยแส การขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกัน ซึ่งดูว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ในโหลครอบแก้วอัลกอริทึมที่เราต่างคนต่างอยู่นี้ เราจะออกจากกะลานี้ และคืนสู่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไรในเมื่อความท้าทายตอนนี้ต้องการความร่วมมือกันมากกว่าที่เคย

ความย้อนแย้งก็คือ การตัดขาดเสียบ้าง อาจเป็นหนึ่งในหนทางที่จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผมคงไม่แนะนำการตัดขาดอย่างสมบูรณ์จากโซเชียลมีเดีย แต่ผมอยากแนะนำทุกคนให้พักจากการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีบ้างอย่างน้อยสักสองสามชั่วโมงในแต่ละอาทิตย์ และแค่กลับมาอยู่กับความจริงตรงหน้ากับใจและร่างกายของคุณ

การตัดขาดชั่วคราวจากเทคโนโลยี จะช่วยให้เรามีเวลาสำรวจความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ความรักที่เป็นสภาวะของความรู้สึกเชื่อมโยงจะช่วยให้เราออกจากขอบเขตของเราได้ ความรักหมายถึงการเป็นอิสระจากการหมกมุ่นทั้งจากความคิด อารมณ์ หรือความปรารถนาที่ปรากฏขึ้นในใจ และหันมาฟังผู้อื่น เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาแทน มันเริ่มจากเรื่องง่ายมาก คือการรับฟัง เมื่อคุณเริ่มฟังผู้อื่นแล้วมัวแต่คิดว่าตัวเองจะพูดอะไร ก็ยากที่คุณจะได้ฟังเขาจริงๆ คุณเพียงแค่รอจังหวะที่เขาหยุดพูด เพื่อที่คุณจะได้ยัดคำพูดของคุณกลับไปเท่านั้น แต่เมื่อคุณปล่อยวางความคิดของคุณ คุณก็แค่รับฟัง มันใช้ความพยายามมาก แต่มันจะช่วยให้คุณเป็นคนที่สร้างสรรค์และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นขึ้นเยอะ

การหยุดพักจากเรื่องราวข่าวสารในแต่ละวัน ก็ช่วยปกป้องคุณจากสนามความวุ่นวายและอำนาจจากสถาบันทรงพลังอื่นๆ ได้เช่นกัน ถ้าคุณมัวแต่ตามจังหวะหมุนเวียนเปลี่ยนเร็วของข่าว ก็ง่ายมากที่คุณจะเหมารวมว่าการก่อการร้ายเป็นภัยต่อความมั่นคงชีวิตมนุษย์ และเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาอันตรายที่สุด ความจริงแล้ว ยุคของเราเป็นยุคที่สงบที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และน้ำตาลก็เป็นภัยต่อชีวิตผู้คนมากกว่าดินปืนเสียอีก แทนที่จะอ่านโพสต์สั้นๆ บนโลกโซเชียล ลองหันมาอ่านหนังสือเป็นเล่มที่ให้บริบท และมุมมองที่กว้างขึ้นต่อโลกใบนี้ดู 


แนวคิด ‘The Overview Effect’ บอกว่า ความเจ็บปวด การพังทลายทั้งหลาย จะมีความหมายเมื่อมองจากระยะไกล และช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องยากในปัจจุบันได้ดีขึ้น ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษามนุษยชาติย้อนกลับไปนับแสนปี คุณมองว่าเราควรมีท่าทีต่อวิกฤตรอบด้านในต้นศตวรรษที่ 21 นี้อย่างไร และคุณคิดว่า คนรุ่นต่อไปจะขอบคุณหรือตำหนิเราเรื่องอะไร 

มันยากที่จะบอกว่าคนในอนาคตจะมองว่าเรื่องไหนเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุคสมัยนี้ ลองนึกถึงอาณาจักรโรมันในปี ค.ศ. 250 ดูสิ ในตอนนั้น ศาสนาคริสต์ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่านิกายลึกลับของชาวตะวันออก ถ้าคุณบอกชาวโรมันว่าในอีกศตวรรษต่อมา ศาสนาคริสต์จะกลายเป็นศาสนาประจำรัฐ พวกเขาก็คงมองว่าคุณบ้าแน่ๆ คล้ายกันกับเดือนตุลาคม 1913 พรรคบอลเชวิคของเลนินก็เป็นเพียงกลุ่มหัวรุนแรงเล็กๆ ไม่มีคนสติสมบูรณ์คนไหนจะทายได้หรอก ว่าในอีกสี่ปีต่อมา พวกเขาจะครอบครองอาณาจักรรัสเซียทั้งหมด แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ประวัติศาสตร์นั้นเต็มไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อเสมอ

ผลกระทบสำคัญที่เรามีต่อคนรุ่นต่อไปขึ้นอยู่กับว่า เราจะร่วมมือกันแก้ไขภัยคุกคามการอยู่รอดที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ตอนนี้หรือไม่ ประเทศไทยไม่อาจป้องกันการล่มสลายทางธรรมชาติหรือสงครามนิวเคลียร์ ไม่สามารถจัดระเบียบปัญญาประดิษฐ์หรือวิศวกรรมชีวภาพได้เพียงลำพัง ถ้าเราปล่อยให้กองกำลังปัญญาประดิษฐ์หรือวิศวกรรมเคมีชีวภาพพัฒนาต่อไปได้ มันจะไม่สำคัญอีกต่อไปเลยว่าใครชนะสงครามนี้ ผู้แพ้คือมนุษยชาติอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไป และสิ่งเดียวที่จะป้องกันสงครามเช่นนั้นได้ ย่อมไม่ใช่การสร้างกำแพงขึ้นมาระหว่างประเทศ แต่เป็นการสร้างความไว้ใจระหว่างประเทศต่างหาก

ในกรณีที่ดีที่สุด เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยปลดปล่อยมนุษย์ออกจากโรคภัยไข้เจ็บและการทำงานหนัก และช่วยให้ผู้คนค้นพบพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเอง วิศวกรรมชีวภาพจะสนใจเรื่องการรักษาผู้คนมากกว่าเพิ่มสมรรถภาพให้ชีวิตอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ ปัญญาประดิษฐ์จะทำให้งานหลายประเภทหายไปแน่นอน แต่ต้นทุนที่ลดลงจะถูกใช้ไปในการจัดหาบริการฟรีด้านศิลปะ กีฬา ศาสนา หรือการสร้างชุมชนต่างๆ การตรวจตราโดยรัฐจะไม่ถูกใช้ไปเพื่อสอดแนมพลเมือง แต่เพื่อจับตารัฐบาลให้แน่ใจว่าจะไม่มีการฉ้อฉลเกิดขึ้น เทคโนโลยีชีวมิติจะไม่ถูกใช้เพื่อให้ตำรวจรู้จักคุณดีขึ้น แต่มันจะถูกใช้เพื่อให้คุณรู้จักตัวเองดีขึ้น นี่ไม่ใช่การทำนาย นี่เป็นเพียงความเป็นไปได้ท่ามกลางอีกหลายความเป็นไปได้ และมันควรเป็นอนาคตที่เรามุ่งหวังสร้างขึ้นด้วยกัน

ถ้าให้ลองคิดดูว่าคนในอนาคตจะมองยุคสมัยนี้อย่างไร การทบทวนว่าเรามองความพยายามของคนยุคก่อนเช่นไรอาจช่วยได้ ผู้คนทุกวันนี้ออกจะละเลยความพยายามมหาศาลของคนรุ่นที่ผ่านมามากไปหน่อย ยกตัวอย่างเช่น ความอดอยากที่หมดไป และการลดลงของความรุนแรง เราควรทบทวนความจริงอยู่เสมอว่าเรามากันไกลมาก แต่ในบางเรื่องเราก็ถอยหลังไปไกลเช่นกัน และมันควรถูกแก้ไขทันที

คำถามสุดท้ายกับผลงานล่าสุดของคุณ เซเปียนส์​ ประวัติศาสตร์โดยย่อฉบับกราฟิก ทำไมคุณถึงเลือก ‘เล่าเรื่อง’ เดิมในรูปแบบใหม่นี้ รูปแบบการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อการรับสารที่ต่างไปหรือไม่ และการที่ความรู้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ จะส่งผลต่อความคิดอ่านของผู้คนอย่างไร 

ต้องบอกก่อนว่าฉบับกราฟิกนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เด็กเล็ก แต่ผมตั้งใจเขียนให้วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มากกว่า เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งคือการทำให้วิทยาศาสตร์เข้าใกล้กลุ่มผู้อ่านในวงกว้างมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้าคุณไม่นำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไปสู่สาธารณชน คุณก็จะปล่อยให้พื้นที่ความจริงตรงนี้ว่าง ง่ายต่อการที่ข้อมูลผิดๆ และทฤษฎีสมคบคิดจะแทรกซึมเข้ามา แต่ในสงครามระหว่างวิทยาศาสตร์และทฤษฎีสมคบคิด วิทยาศาสตร์นั้นเสียเปรียบกว่ามาก เพราะว่ามันซับซ้อนเหลือเกิน หน้าที่ของนักวิชาการสาธารณะอย่างผมก็คือการนำทฤษฎีวิทยาศาสตร์ล่าสุดออกมา และหาทางถ่ายทอดมันให้เป็นเรื่องเล่าที่สนุก เข้าถึงง่ายที่สุด โดยไม่ทิ้งความมุ่งมั่นของเราในการรักษาไว้ซึ่งข้อเท็จจริง

เป้าหมายของเราในการทำฉบับนี้ออกมา ก็เพื่อเข้าถึงคนที่โดยทั่วไปแล้วไม่สนใจวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ และคนที่คิดว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อเหลือหลาย เราหวังว่าหลังจากที่เขาได้อ่านฉบับกราฟิกนี้แล้ว ผู้คนจะพบว่าประวัติศาสตร์นั้นออกจะตลก บางครั้งรุนแรง และบางครั้งก็น่าตื่นเต้น หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ฉบับอัพเดทของหนังสือเซเปียนส์ด้วยรูปภาพ แต่มันเป็นการสำรวจทางปัญญาและศิลปะว่าประวัติศาสตร์หมายถึงอะไร และการเล่าขานประวัติศาสตร์นั้นทำอย่างไรได้บ้าง 

หากดูว่าฉบับกราฟิกนี้ครอบคลุมหลายล้านปีของวิวัฒนาการมนุษย์ มันก็ย่อจริงๆ นั่นแหละ เราพูดถึงเรื่องพื้นฐานเยอะมาก แต่เราก็พยายามทำให้มันเข้าใจง่ายมากที่สุดด้วย นั่นหมายถึงการทดลองเล่าเรื่องหลายรูปแบบ ในบทหนึ่ง เราแนะนำวิธีที่มนุษย์กำจัดสัตว์อื่นๆ ราวกับว่ามันเป็นนิยายฆาตกรรมระทึกขวัญ เราสร้างตัวละครอย่างนักสืบโลเปซที่เดินทางไปทั่วโลก พยายามที่จะจับกุมฆาตกรต่อเนื่องในหลายยุคสมัยให้ได้ ในบทต่อมา เราอธิบายวิวัฒนาการมนุษย์ผ่านรายการโทรทัศน์ ที่หลายสายพันธุ์พยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด ในบทที่สาม ที่ว่าด้วยจุดเริ่มของศาสนา เราก็จำลองการเล่าแบบภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ เราสร้างฮีโร่อย่าง ดร.ฟิกชัน ผู้มีพลังพิเศษในการแต่งเรื่อง และทำให้คนเชื่อในตำนานต่างๆ ได้ 

แต่ถึงจะใช้ความสร้างสรรค์เพียงนั้น เราก็ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกต้อง การทำฉบับกราฟิกนั้นต้องการมากกว่าการวิจัย เพราะในขณะที่คำพูดสามารถเป็นนามธรรมได้ ภาพนั้นต้องเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น เมื่อคุณจะนำเสนอมันในรูปแบบกราฟิกนี้ คุณไม่สามารถซ่อนนามธรรมใดไว้ได้เลย ในตำราวิชาการ คุณสามารถบอกว่า ‘เซเปียนส์ผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับนีแอนเดอธัล’ และปล่อยไว้อย่างนั้น แต่เมื่อคุณต้องวาดภาพนี้ออกมา คุณต้องชัดเจนมากๆ จึงเกิดคำถามที่ต้องตอบเพิ่มขึ้นเต็มไปหมด คุณจะวาดภาพเป็นเซเปียนส์เพศชายกำลังมีเพศสัมพันธ์กับนีแอนเดอธัลเพศหญิง หรือเซเปียนส์เพศหญิงกับนีแอนเดอธัลเพศชาย หรือจะเป็นคู่เกย์ดีล่ะ ไหนจะสีผิวอะไรอีก การที่ต้องคิดว่าจะนำเสนอเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร ต้องใช้การขุดค้นวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ลึกขึ้นมาก

ผลลัพธ์ของมันอาจทำให้ศาสตราจารย์บางคนเบิกตาอย่างฉงน แต่ผู้อ่านในฝันของเราจริงๆ คือคนที่เคยงีบหลับในห้องเรียนประวัติศาสตร์ แต่ลึกๆ ก็อยากเข้าใจว่า ทำไมชีวิตของพวกเขา ยังถูกควบคุมโดยเพื่อนมนุษย์จากอดีตที่ตายไปนานแล้วจวบจนถึงวันนี้ 

*บทสัมภาษณ์แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และสัมภาษณ์ในเดือนเมษายน 2564

Fact Box

  • เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก (Sapiens: A Graphic History: The Birth of Humankind) เขียนโดยยูวัล โนอาร์ แฮรารี​ (Yuval Noah Harari) ร่วมกับนักสร้างสรรค์การ์ตูนระดับโลกอย่าง เดวิด แวนเดอร์มิวเลน และแดเนียล คาสซาเนฟ แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ยิปซี พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนเมษายน 2564 ราคา 395 บาท
  • นอกจากผลงานการเขียนแล้ว ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ยังบรรยายตามเวทีสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เช่น ประเด็นเรื่องอนาคตของมนุษยชาติที่การประชุมประจำปีของ World Economic Forum (2018, 2020), การหารือกับผู้นำระดับโลกอย่างนายกรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ, สัมภาษณ์ร่วมกับผู้นำจากแต่ละวงการ อาทิ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในประเด็นบทบาทของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อสังคม (2019), และอีกหลายครั้งบนเวที TED ในหัวข้อเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของมนุษยชาติผ่านบทเรียนจากประวัติศาสตร์ 
  • ติดตามผลงานอื่นๆ และการบรรยายสาธารณะของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เพิ่มเติมทาง
    Facebook: Yuval Noah Harari Twitter: @harari_yuval Instagram: yuval_noah_harari และ https://www.sapienship.co กิจการเพื่อสังคมที่ยูวัลและสามีของเขาก่อตั้งขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่สาธารณะเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของมนุษยชาติ
  • Sapienship มุ่งเน้นในสามประเด็นหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงฉับพลันทางเทคโนโลยี การล่มสลายทางธรรมชาติ และสงครามนิวเคลียร์ 
Tags: , , ,