หนังเกี่ยวกับอะไร

ดาวคะนอง เล่าเรื่องตัวละครหลายตัวที่มีชะตาชีวิตเกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ผู้กำกับหญิงและนักเขียนอาวุโสผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ สาวเสิร์ฟในร้านกาแฟที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ นักแสดงหญิงและชายคู่หนึ่งที่อาจจะเป็นหรือไม่ได้เป็นคู่รักกันนอกจอ ชีวิตของพวกเขาเกี่ยวเนื่องกันด้วยสายใยบางๆ ที่แทบจะมองไม่เห็น แต่สะท้อนชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปดูหนัง

“ถ้าเราจะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้เพื่อที่จะปะติดปะต่อส่วนเสี้ยวต่างๆ ของเรื่องราว บางทีก็อาจจะโดน discourage หรือโดนบั่นทอนกำลังใจพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าตกลงแล้วอะไรมันต่อกับอะไร แล้วจะงงเป็นไก่ตาแตก เพราะในท้ายที่สุดแล้วผมว่าอะไรที่เรารู้สึกว่ามันปะติดปะต่อได้ก็ปะติดปะต่อ อะไรที่มันเป็นส่วนที่เกินความรู้เราก็ต้องปล่อยมันไป เพราะคนทำหนังเองก็ยังยอมรับว่าเขาเองก็ใส่บางส่วนมาโดยที่ละทิ้งบริบทของมันไประหว่างทำ เพราะฉะนั้นเราคงไม่มีทางที่จะไปเดาใจคนทำหนังได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ผมว่านี่แหละคือความท้าทายในการดูหนังเรื่องนี้ แล้วมันก็ปรับทัศนคติเราในแง่หนึ่งว่ามันไม่ใช่การดูหนังเพื่อความบันเทิง หรือรสชาติ หรือวาทศิลป์ในการเล่าเรื่อง แต่มันเป็นการทดลองเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับคนดูว่างานภาพยนตร์มันสามารถจะเป็นแบบนี้ได้

“ผมคิดว่าคนดูหนังมาจนถึงบัดนี้ ความ sophisticate ในการดูหนังของคนดูปัจจุบันก็ไม่ได้ไร้เดียงสาเหมือนกับ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าคนดูตั้งตัวสักหน่อยหนึ่ง แล้วไม่ได้ ignorant หรือไม่ได้ปิดหูปิดตาตัวเองมากเกินไป ผมว่าใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็จะรู้แล้วล่ะว่านี่เป็นหนังที่มีความพิเศษในแบบของมัน”

สิ่งที่ชอบที่สุดจากหนัง

“อย่าใช้คำว่าชอบเลยแล้วกัน เพราะคำว่าชอบมันเป็นคำที่สำเร็จรูปเกินไปในการอธิบายหนังแบบนี้ แต่ผมอยากใช้คำว่า ‘น่าสนใจ’ มากกว่า เพราะมันมีความน่าสนใจในหลายแง่มุมมาก อย่างแรกคือวิธีการเล่าเรื่อง ธรรมชาติของคนดูหนังในการติดตามการเล่าเรื่องของหนังมักจะคิดว่าหนังเรื่องหนึ่งมันควรจะมีเส้นเรื่องเดียว หรือสองเส้นเรื่อง หรือสามเส้นเรื่อง หรือจะมากกว่านั้นก็ตาม แต่มันต้องเรียงร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เส้นเรื่องของหนังเรื่องนี้มันพาเราไปทุกทิศทุกทางโดยมีลักษณะที่เกาะเกี่ยวกันแบบหลวมมากๆ ซึ่งผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยได้พบเห็นเท่าไหร่นักในวิธีการเล่าเรื่องของหนังไทย คือมันมีลักษณะของการเป็นหนังทดลองอยู่พอสมควร

“อีกสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ นอกจากการเล่าเรื่องคือการหยิบประเด็น 6 ตุลาฯ มาพูด ซึ่งผมเห็นว่าไม่ค่อยมีหนังไทยแตะต้องประเด็นนี้เท่าไหร่ ซึ่งมันน่าเวทนาตรงที่ว่า 6 ตุลาฯ ผ่านมาแล้ว 40 ปี วงการหนังไทยยังพูดถึงเรื่องนี้ด้วยท่าทีกล้าๆ กลัวๆ หรือพูดกันน้อยเกินความเป็นจริง ผมว่ามันเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าเราหลงลืมประวัติศาสตร์ ซึ่งผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ก็พยายามจะจี้จุดนี้เหมือนกัน เพราะคนรุ่นใหม่ต่อไม่ติดกับเหตุการณ์ที่มันสำคัญมากๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว และที่สำคัญคือเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้วมันไม่ได้เกิดและจบสิ้นในเวลานั้น เพราะยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ และข้อสำคัญคือเหตุการณ์มันยังอยู่ ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่โดดเด่นมากๆ ของหนังเรื่องนี้”

สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดจากหนัง

“พอพูดคำว่าชอบหรือไม่ชอบ ผมว่ามันเป็นการประเมินค่าหนังต่ำไปหน่อย คือเราคงไม่ได้ตัดสินหนังแบบนี้ด้วยความชอบหรือไม่ชอบ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความเอร็ดอร่อยในการดูหนัง และความสนุกในการเชื่อมโยง หรือความแยบยลในแง่ที่หนังนำความคิดต่างๆ มาร้อยเรียงให้มันเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น

“อีกทีนะ ผมคงไม่ประเมินหนังเรื่องนี้ในความเด่นความด้อย แต่ความคลุมเครือของหนังเรื่องนี้ก็มีมาก บางทีความเสี่ยงของหนังเรื่องนี้ที่จะทำให้คนดูหลงทางก็คือความก้ำกึ่งระหว่างการที่มันดูเหมือนจะชัดเจนกับความที่มันคลุมเครือ หรือบางทีคนทำหนังอาจจะดูเหมือนอำเภอใจไปนิดหนึ่ง คือคนทำหนังก็มีวิธีคิดของตัวเอง คนดูหนังก็ต้องเชื่อว่าตัวเองก็มีวิธีคิดของตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันคือต่างคนต่างแชร์ คนทำหนังก็แชร์สิ่งที่เธอเชื่อว่าเธออยากจะนำเสนอแบบนี้ ส่วนการตีความก็คงเป็นเรื่องของคนดูหนัง ซึ่งก็คงต้องขึ้นอยู่กับต้นทุน และประสบการณ์ทางด้านสุนทรียศาสตร์ของคนดูหนังด้วยเหมือนกัน คือถ้าเราหวังว่าจะเข้าไปดื่มด่ำเส้นเรื่อง การแสดง หรือการถ่ายทำที่ให้บรรยากาศรื่นรมย์ มันก็มีบ้าง แต่อาจจะโดนตัดตอนด้วยความไม่ต่อเนื่องของการเล่าเรื่อง

“ฉะนั้นถ้าเกิดเราเข้าใจว่านี่คือหนังที่มีลักษณะของการทดลองอยู่ หรือมีลักษณะของการผลักดันข้อจำกัดของการเล่าเรื่องไปในทิศทางที่มันไม่เคยมีใครเดินทางไปมาก่อน ผมคิดว่ามันก็เป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีมากๆ สำหรับวงการหนังไทย”

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

“เหมาะสำหรับคนไทย ผมคิดว่าฝรั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วจะ lost หรือหลงทาง หรือไม่เข้าใจหลายอย่างมากๆ แล้วผมดูหนังเรื่องนี้แล้วผมภูมิใจ ต้องบอกว่าผมภูมิใจที่ตัวเองเป็นคนไทยและได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันสื่อสารกับคนดูโดยตรง โอเค คนดูรุ่นใหม่อาจจะไม่มีปูมหลัง แต่ผมว่าหนังมันก็สะกิดคนดูพอสมควร แปลว่าคนดูรุ่นใหม่อาจจะไม่มีพื้นภูมิความรู้ แต่ว่าสิ่งที่ถูกบอกเล่าในหนังมันย่อมที่จะสะกิด หรือกระตุ้นให้เราไปเสาะแสวงหาพื้นภูมิของสิ่งที่หนังบอกเล่า อย่างกรณี 6 ตุลาฯ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คนดูหนังควรจะมีพื้นเพอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับคนดูหนังที่เป็นคนไทยมาก เพราะมันมีหลายช่วงมากที่เราหัวเราะ หึหึ หรือรู้สึกเจ็บปวด ขณะที่ผมเชื่อว่าถ้าฝรั่งดู อย่างเช่น ฉากที่หญิงสาวในเรื่องมองผ่านโดมธรรมศาสตร์ หรือไฟ 3,000 ล้านตอนท้ายเรื่องของ กทม. ผมคิดว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ฝรั่งจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร คือบางทีในฐานะที่ดูหนังมาเยอะ บางทีเราก็รู้สึกมีอุปสรรคเรื่องวัฒนธรรมเวลาเราดูหนังต่างชาติ หรืออุปสรรคเรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราได้เห็นอะไรแบบนี้ในหนังของเราเอง ก็รู้สึกภูมิใจ และรู้สึกดีใจที่เราก็มีหนังที่มันเปิดโลกทัศน์ และเราก็ไม่ต้องก้าวอุปสรรคทางด้านภาษา หรือด้านวัฒนธรรม”

ควรชวนใครไปดู

“ใครอยากชวนใครก็ไปดูเถอะครับ แต่ถ้าจะให้ดูหนังเรื่องนี้โดยเข้าถึงได้เร็ว ก็ควรจะเป็นคนที่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่หนังแบบบันเทิงคดี เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นหนังแบบที่เราคุ้นเคย หรือหนังที่เรากินข้าวโพดคั่ว นั่งไขว้ห้าง แล้วเอนหลัง เพราะฉะนั้นจะชวนใครไปดูก็ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคุณจะเดินออกมาแล้วพูดคุยกัน

“ถ้าถามว่าชวนใครไปดูดี ผมว่าควรจะชวนคนที่เราคิดว่าเราน่าจะมีบทสนทนาต่อเนื่องได้หลังจากดูหนัง”

คำจำกัดความของหนังเรื่องนี้แบบสั้นๆ

“เป็นหนังที่เหมาะกับคนดูที่พร้อมจะผจญภัย”

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

Tags: , , , ,