พวกเขาคือดาราเรียลิตีคู่แรกของโลก – อาชญากรคู่ดูโอ บอนนี ปาร์เกอร์ และไคลด์ แบร์โรว์ เคยเป็นที่คลั่งไคล้ของอเมริกา ทั้งสองเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 1934 หลังจากถูกตามล่าตัวอย่างยาวนานกว่า 2 ปี ชีวิตจริงของพวกเขามีความโรแมนติกน้อยกว่าเรื่องที่มีคนเล่าเกี่ยวกับพวกเขา
พวกเขาเสียชีวิตอย่างอนาถพอๆ กับการใช้ชีวิตของพวกเขา แค่เพียงกระสุนนัดแรกก็สามารถปลิดชีวิตได้ มันพุ่งผ่านกระจกหน้าต่างรถ ก่อนไปเจาะกะโหลกศีรษะของไคลด์ แบร์โรว์ ตรงเหนือใบหูด้านซ้ายพอดี ส่วนบอนนี ปาร์เกอร์ ก็ฟุบลงคล้ายถูกกระสุนปืนด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เธอยังส่งเสียงกรีดร้อง แฟรงก์ แฮเมอร์ และชายอีก 5 คนสาดกระสุนต่อไปอย่างไม่ยั้งมือ เจ้าหน้าที่ชันสูตรนับรูกระสุนที่ศพได้ทั้งสิ้น 43 นัด
ตำนานของวายร้ายดูโอจบลงแบบเลือดสาด บนถนนไฮเวย์ 154 ระหว่างกิบส์แลนด์และเซลส์ ทางตอนเหนือของลุยเซียนา ทั้งสองถูกหลอกล่อและปิดล้อมโดยพรรคพวกของแฮเมอร์ ก่อนกระหน่ำยิงใส่รถ และหยุดยิงเมื่อรถฟอร์ดพาผู้โดยสารในรถไปติดหล่มอยู่ในหลุม “ไคลด์ แชมเปียน แบร์โรว์ กับคู่ชีวิต บอนนี ปาร์เกอร์ ถูกยิง” กัส โจนส์ ตำรวจเอฟบีไอส่งโทรเลขแจ้งไปที่ส่วนกลาง พร้อมข้อความอ้างอิง: “ผู้อพยพ หมายเลข 1121”
23 พฤษภาคม 1934 แฟ้มคดีของสองโจรถูกปิด นับจากนั้นมา ทั้งสองก็เป็นที่รู้จักแค่เพียงชื่อหน้า บอนนีและไคลด์กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำตาม เป็นหนังสือ เป็นละครเพลงบรอดเวย์ รวมถึงภาพยนตร์ที่ส่งให้วอร์เรน เบ็ตตี และเฟย์ ดันนาเวย์ กลายเป็นดาราดังระดับโลก
ความคลั่งไคล้ยังสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2012 สมบัติชิ้นเล็กชิ้นน้อย รวมทั้งปืน 2 กระบอกของพวกเขา ถูกนำไปประมูลได้มูลค่าสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ เป็นจำนวนเงินมากกว่าที่พวกเขาปล้นชิงมาทั้งหมดตลอดช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 4 เท่า อีกทั้งความเป็นจริงในชีวิตสั้นๆ ของทั้งสองก็ไม่ได้โรแมนติกอย่างที่ใครๆ ฟังจากคนถ่ายทอดต่อๆ กันมา
ชาวอเมริกันเฝ้าติดตามเรื่องราวปล้นฆ่าของพวกเขามาตั้งแต่เท็กซัส ผ่านโอคลาโฮมา อาร์แคนซอส์ มิสซูรี ไอโอวา และมินเนโซตา กระทั่งกลับไปที่ลุยเซียนา หนังสือพิมพ์พากันประโคมข่าววีรกรรมของพวกเขา พร้อมใส่สีสันลงในรายละเอียดให้ชวนติดตาม ภาพถ่ายขาว-ดำจากช่วงวัยรุ่นของพวกเขาช่วยเลือนความอำมหิตของนักฆ่าจนกลายเป็นไอดอล พูดได้ว่าพวกเขาเป็นซูเปอร์สตาร์ของรายการเรียลิตีคู่แรกของโลก
ทว่าความเป็นจริงแล้ว ในร่างของหญิงชายคู่นี้มีวิญญาณที่สิ้นหวัง หวาดกลัว และสับสนซ่อนอยู่ พวกเขาเรียนรู้มาตั้งแต่ต้นว่าอาชญากรรมเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ทั้งสองพบกันครั้งแรกในปี 1930 ปาร์เกอร์อายุ 19 แบร์โรว์อายุ 21 มันเป็นรักแรกพบ เมื่อครั้งที่แบร์โรว์ต้องขังในคดีปล้นชิงทรัพย์ แม่สาวปาร์เกอร์ได้แอบซุกซ่อนปืนส่งให้เขาถึงในเรือนจำ แบร์โรว์พยายามแหกคุก แต่ก็ถูกจับตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในปี 1932 เขาก็ได้รับการปล่อยตัว จากนั้นทั้งคู่จึงตระเวนทัวร์ปล้นไปทั่วประเทศ
ในตอนท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับพวกเขานับร้อยคดี ทั้งฆาตกรรม เรียกค่าไถ่ ปล้นธนาคาร ขโมยรถ ฯลฯ แต่เรื่องผิดกฎหมายทั้งหมดที่พวกเขาก่อขึ้นนั้น แต่ละครั้งพวกเขาได้ทรัพย์สินเพียงน้อยนิด แทบเรียกได้ว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ
แต่ในเมื่อทางออกอย่างอื่นไม่มี สภาพเศรษฐกิจขณะนั้นกำลังตกต่ำไปทั่วโลก ผู้คนนับล้านอดอยาก โดยเฉพาะในภูมิภาคแห้งแล้งตอนกลางของอเมริกา ปาร์เกอร์-จากครอบครัวที่ผู้เป็นปู่อพยพไปจากเยอรมนี เติบโตขึ้นในความเลี้ยงดูของแม่ช่างเย็บผ้าตามลำพัง เธอชอบเขียนบทกวี รับจ้างเป็นพนักงานเสิร์ฟ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องและนักแสดง เขียนเพ้อพกในสมุดบันทึกของตน พรรณนาถึงดาราคนดัง ถึงโลกที่กว้างใหญ่ และหากเธอไปไม่ถึงจุดนั้นจริงๆ แค่เป็นเจ้าสาวของหัวหน้าแก๊งนักเลง มันก็โอเคแล้ว
แม้ว่าเธอจะต้องคดีข้อหาฆ่าคนตาย อย่างเช่นในภาพถ่ายที่โด่งดัง จะเห็นเธอโพสท่าถือปืนและซิการ์ ทว่าจริงๆ แล้วปาร์เกอร์ไม่เคยเหนี่ยวไกปืนเองแม้สักครั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 1933 ภาพถ่ายดังกล่าวรวมทั้งภาพอื่นๆ ถูกตำรวจส่งไปให้หนังสือพิมพ์ หวังเป็นช่องทางในการจับกุมตัว ทำให้อาชญากรอย่างปาร์เกอร์และแบร์โรว์กลายเป็นซูเปอร์สตาร์และเซ็กซิมโบล เจฟฟ์ กินน์ นักประวัติศาสตร์ลงความเห็น “ไคลด์ แบร์โรว์ และบอนนี ปาร์เกอร์ ยังเป็นหนุ่มสาวคึกคะนอง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะมีอะไรกัน”
ไคลด์ แบร์โรว์ เปรียบเสมือนแรงขับ ลูกชายชาวไร่ฐานะยากจน เป็นที่โจษจันว่าเคยชกตีเพื่อนร่วมห้องในเรือนจำอีสต์แฮม ที่ล่วงละเมิดทางเพศเขา จนถึงแก่ความตาย จากเด็กชอบลักเล็กขโมยน้อย ทำให้เขากลายเป็นชายหนุ่มเลือดร้อนและอำมหิต
แบร์โรว์และปาร์เกอร์ทำงานด้วยกันเป็นคู่หรือเป็นแก๊ง มีคนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เช่น บัค-น้องชายของแบร์โรว์ กับบลันช์ ภรรยาของเขา จากนั้นถ้าไม่หายหน้าไปก็ถูกจับ แต่แบร์โรว์และปาร์เกอร์ยังเคียงบ่าเคียงไหล่กันด้วยความซื่อสัตย์ พวกเขาตระเวนไปตามรัฐต่างๆ และแบร์โรว์มักยิงใครสักคนโดยไม่ลังเล หากคนนั้นเข้ามาเป็นอุปสรรค พวกเขาไม่เคยระแวดระวัง ไม่เคยปิดพรางตัว บ่อยครั้งที่พวกเขารอดพ้นจากเงื้อมมือตำรวจด้วยความบังเอิญ หรือไม่ก็ยิงปะทะกันจนหนีรอดไปได้
นานวันเข้า พวกเขาเริ่มมีชื่อเสียง อาชญากรรมที่พวกเขาก่อมักปรากฏเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และสิ่งที่ทำให้การหลบหนีของพวกเขายากขึ้นคือผู้คนรู้จักหน้าค่าตาของพวกเขา ทั้งสองต้องพักค้างอ้างแรมตามป่าหรือไร่นา และเริ่มเข้าตาจนเข้าทุกที ในระหว่างนั้น เอฟบีไอเริ่มวางแผนปฏิบัติงาน รวบรวมหลักฐาน สำนวนคดี จำนวนเกือบพันหน้า
ในเดือนมิถุนายน 1933 แบร์โรว์ขับรถที่ขโมยมาได้จากสะพานร้าง ปาร์เกอร์ได้แผลจากของเหลวที่ไหลจากแบตเตอรีของรถ เธอต้องเดินกะเผลก หรือไม่ก็ถูกหิ้วปีกตลอดชีวิตที่เหลือของเธอ นั่นคือจุดเริ่มต้นของจุดจบที่ยาวนาน
มกราคม 1934 เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มปฏิบัติการล่าตัวแบร์โรว์และปาร์เกอร์อย่างจริงจัง แฟรงก์ แฮเมอร์ ตำรวจท้องถิ่นวัยเกษียณ อาสาเป็นหัวหน้าทีมนำจับ อดีตนายตำรวจโหดรู้สึกภูมิใจกับผลงานวิสามัญฆาตกรรมผู้ร้าย 53 ศพ รายชื่อในลิสต์ถัดไปของเขาคือ แบร์โรว์และปาร์เกอร์
ภายหลังการสังหารโหด 3 ศพ อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนเริ่มเปลี่ยนไป ทางการเริ่มตั้งค่าหัว ‘จับตาย’ แบร์โรว์และปาร์เกอร์ จุดจบมาถึงที่ถนนไฮเวย์ 154 ที่ซึ่งแฮเมอร์และพรรคพวกอีก 5 คนที่เป็นตำรวจดักซุ่มอยู่ โดยใช้เหยื่อล่อซึ่งเป็นพ่อของอดีตเพื่อนร่วมแก๊ง ทำทีเป็นรถเสียจอดขวางอยู่กลางถนน
เสียงกระสุนปืนนัดแรกดังก้องอยู่เพียง 16 วินาที ก่อนจะตามมาด้วยเสียงปืนดังแบบหูดับตับไหม้ ร่างที่พรุนด้วยรอยกระสุนนั้น หมอชันสูตรใช้ขี้ผึ้งอุดได้แทบไม่ทั่ว ที่นิ้วมือของปาร์เกอร์ยังมีแหวนแต่งงานวงเก่าของสามีคนแรกสวมติดอยู่
ร่างของทั้งสองถูกฝังแยก ไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาปรารถนา แต่ตำนานของพวกเขายังสืบต่อไป ภาพยนตร์เรื่อง Bonnie and Clyde ออกฉายเมื่อปี 1967 ส่งให้วายร้ายดูโอกลายเป็นวีรชนโก้หรู แบบที่ชีวิตจริงพวกเขาไม่เคยเป็น และรถฟอร์ดสภาพเต็มไปด้วยรอยกระสุนกลายเป็นสมบัติพิพิธภัณฑ์ของคาสิโน ‘Whiskey Pete’s’ ในทะเลทรายทางตอนใต้ของลาสเวกัส
บริเวณที่เกิดเหตุบนถนนไฮเวย์ 154 สายเปลี่ยว ทุกวันนี้ยังมีป้ายหินจารึกปักอยู่เป็นอนุสรณ์ ส่วนป้ายที่สองที่ทำจากโลหะถูกขโมยไปแล้ว
อ้างอิง:
www.spiegel.de
www.kossecafe.com
www.history.com
www.wikipedia.de
FACT BOX:
- บอนนี ปาร์เกอร์ แต่งงานตอนอายุ 16 กับรอย ธอร์นตัน ชีวิตคู่ไม่ราบรื่น แต่เธอไม่ยอมหย่า กระทั่งในปี 1929 ธอร์นตันต้องโทษจำคุก 5 ปี ปาร์เกอร์จึงสักชื่อ ‘Roy and Bonnie’ บริเวณเหนือเข่าข้างขวา แหวนที่ติดนิ้วมือเธอตอนเสียชีวิต เป็นแหวนแต่งงานที่เธอได้รับจากธอร์นตัน
- พาหนะที่นำพวกเขาไปสู่ความตายคือฟอร์ด V8 รุ่น 18 ผลิตในปี 1932 ซึ่งเป็นรุ่นพัฒนาล่าสุดของค่ายฟอร์ด ทำความเร็วได้ดีระหว่างการหลบหนี มีเรื่องเล่าว่าแบร์โรว์เขียนจดหมายถึงฟอร์ด มอเตอร์ คัมปานี กล่าวชื่นชมฟอร์ด V8 ด้วย ฉบับหนึ่งส่งตรงถึงเฮนรี ฟอร์ด พร้อมลายเซ็น ไคลด์ แชมเปียน แบร์โรว์ ทว่าเรื่องเล่านี้ยังไม่มีใครยืนยันว่าเป็นความจริง