การเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2020 ของชาวเมียนมาร์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้จบลงเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางการคาดเดาของนักวิเคราะห์รวมถึงประชาชนที่มองว่าพรรครัฐบาลอย่าง ‘พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย’ (National League for Democracy: NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วัย 75 ปี จะคว้าชัยในการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้จะไม่ได้คะแนนแบบล้นหลามเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ตาม
ย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งเมียนมาร์ประจำปี 2015 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 2 หลังจากไม่ได้ถูกปกครองโดยทหาร พรรค NLD สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศด้วยการคว้าชัยชนะครั้งใหญ่ ได้เก้าอี้ในสภาล่าง (สภาประชาชน) ไป 196 ที่นั่ง และสภาสูง (สภาชนชาติ) 95 ที่นั่ง รวมแล้วมีสมาชิกพรรคได้เข้าไปในสภาทั้งหมด 291 ที่นั่ง ขณะที่พรรครัฐบาลเก่าอย่างพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development PRTY: USDP) ได้ที่นั่งรวมแล้วเพียง 33 ที่นั่งเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความนิยมอย่างล้นหลามที่ประชาชนมีต่อพรรค NLD ของนางซูจี
อย่างไรก็ตาม แม้พรรค NLD ได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่ผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ยังไม่เป็นที่น่าพอใจในสายตาชาวเมียนมาร์บางส่วน รวมถึงสายตาชาวโลก ปัญหาใหญ่ของประเทศอย่างปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ที่รุนแรงยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังคงกระจายตัวอยู่ทั่ว คนชนบทในหลายพื้นที่ยังคงไม่ได้รับสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เข้ามาซ้ำทำให้เศรษฐกิจของประเทศน่าเป็นห่วง เพราะเมียนมาร์มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 60,300 ราย และเสียชีวิตกว่า 1,400 ราย
อีกประเด็นสำคัญที่สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch (HRW) คือการที่คนของกองทัพยังคงมีสิทธิได้เข้าไปนั่งในสภา โดยในช่วงหาเสียงปี 2015 นางซูจีกล่าวว่าพรรคของเธอจะพยายามหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อลดบทบาทอำนาจของตัวแทนฝ่ายทหารที่ได้เข้ามานั่งในสภา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างยังคงเหมือนวันเก่าไม่แปรเปลี่ยน
ในการเลือกตั้งปี 2020 เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงตั้งแต่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง เมื่อกองทัพกล่าวหาว่าพรรครัฐบาลอาจกำลังพยายามโกงเลือกตั้ง ล้มเหลวในการรักษารัฐธรรมนูญเพราะละเมิดกระบวนการเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนชาวเมียนมาร์บางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าในหลายรัฐมีช่องโหว่ และบางส่วนโจมตีรัฐบาลเรื่องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยกเลิกหน่วยเลิกตั้งในรัฐยะไข่ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐชิน และรัฐกะฉิ่น โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองทัพอาระกัน (AA) ที่เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองจนเกิดสงครามกลางเมือง
การยกเลิกหน่วยเลือกตั้งในรัฐยะไข่มีความเกี่ยวข้องกับการยกเลิกสถานะพลเมืองของชาวมุสลิมโรฮิงญาเมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากรัฐบาลมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นชาวเบงกอลจากบังกลาเทศ ไม่ใช่ชาวเมียนมาร์ (แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากจะสามารถระบุถึงการตั้งถิ่นฐานในประเทศได้ก็ตาม) ทำให้ชาวโรฮิงญารวมถึงคนกลุ่มน้อยอื่น ๆ กว่า 1.1 ล้านคน ไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย
ทางรัฐบาลได้ออกมาอธิบายกรณีดังกล่าวว่า จำเป็นต้องยกเลิกหน่วยเลือกตั้งหลายแห่งเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย หากยังคงให้มีหน่วยเลือกตั้งในหลายพื้นที่อาจเกิดความรุนแรงหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อประชาชนที่เดินทางมายังคูหา อย่างไรก็ตาม เลขาธิการพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) มองว่าการยกเลิกหน่วยเลือกตั้งไม่ได้มีเหตุผลหลักเป็นเรื่องความปลอดภัยอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง แต่เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่า จึงทำให้หน่วยเลือกตั้งจากเดิมที่มีอยู่ 1,171 เขต เหลือเพียง 1,117 เขต
นอกจากปัญหาชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย การล็อกดาวน์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด – 19 ในพม่าก็สร้างความไม่ยุติธรรมในมุมมองของหลายพรรคที่กำลังหาเสียง เมื่อประชาชนหลายรัฐโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ถูกสั่งไม่ให้ออกจากบ้าน ผู้ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลจึงไม่สามารถหาเสียงได้มากนัก เนื่องจากระบบเทคโนโลยีของประเทศก็ยังไม่ทันสมัย การจะส่งเสียงไปถึงประชาชน จำเป็นต้องลงพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นพรรครัฐบาลกลับสามารถใช้สื่อที่มีอยู่หาเสียงได้มากกว่าพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่น ๆ ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก
ส่วนประเด็นเลือกตั้งล่วงหน้าที่กองทัพมองว่าน่าเป็นห่วง เกิดขึ้นจากยอดประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกตั้งล่วงหน้าสูงกว่า 3 ล้านคน ผู้คนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับบางเขตที่มีหน่วยเลือกตั้งยังคงสั่งห้ามให้ประชาชนอย่าออกจากบ้าน แต่ในเวลาเดียวกันบางพื้นที่ยอมใช้มาตรการผ่านคลายให้ผู้สูงอายุสามารถออกจากบ้าน เดินทางมายังคูหาเพื่อหย่อนบัตรคะแนนด้วยตัวเอง รวมถึงตัวของนางซูจีกับ ประธานาธิบดีเมียนมาร์ อู วิ่นมิน ก็ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนโยบายแต่ละรัฐที่ต่างกัน การนับคะแนนอาจคลาดเคลื่อนได้ และการที่ประชาชนหลายคนไม่มีชื่ออยู่ในผู้มีสิทธิเลือกตั้งสร้างความไม่สบายใจให้กับกองทัพเป็นอย่างมาก
หลายคนมองว่าประเด็นที่กองทัพออกมาแสดงความไม่พอใจยังมีเหตุผลอื่นด้วย เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทหารทุกระดับชั้นรวมถึงครอบครัวจะไม่ได้ลงคะแนนเสียงในค่ายทหารอีกต่อไป รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการตั้งหน่วยเลือกตั้งในค่ายทหารหรือฐานทัพเพื่อความโปร่งใส เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง นายพลอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ที่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอันน่ากังขาของรัฐบาล ได้ออกมายอมรับผลที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ว่าถึงแม้เขาจะรู้สึกไม่พอใจกับการทำงานของรัฐ แต่เขาก็จะเคารพและฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และพอถูกนักข่าวถามถึงเหตุผลที่ทำให้เขาลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองสักคน จะเลือกจากอะไร นายพลอาวุโสไหล่ตอบว่า เขาจะเลือกพรรคที่ทำงานร่วมกับกองทัพได้อย่างราบรื่น เพื่อร่วมกันปกครองศาสนาและความเป็นชาติของเมียนมาร์
สื่อท้องถิ่นหลายสำนักของเมียนมาร์ได้จัดทำผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่กว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ยังคงมองว่านางซูจีคือนักการเมืองที่ไว้ใจได้มากที่สุดตอนนี้ หลายคนยังคงเชื่อมั่นว่าเธอจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้ ประกอบกับการเลือกตั้งในปีนี้ยังไม่มีนักการเมืองที่โดดเด่นจากพรรคอื่น จึงทำให้คะแนนนิยมของนางซูจีอยู่ในอันดับสูงกว่าคนอื่น ๆ ยังคงมุ่งหวังว่านางซูจีจะสามารถผลักดันให้รัฐบาลสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิมได้เสียที และพากันออกมาใช้สิทธิใช้เสียงกันมากพอสมควร
ถ้าผลการนับคะแนนดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดแล้วทุกอย่างคงไปเป็นตามที่หลายคนคาดเดา หากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง นางซูจีจะได้เป็นผู้นำสูงสุดโดยพฤตินัยอีกหนึ่งสมัย คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่านโยบายการเมืองของเธอและพรรคจะสามารถแก้ปัญหามากมายในประเทศ และคงความนิยมต่อประชาชนเมียนมาร์ไปเรื่อย ๆ ได้หรือไม่
ที่มา
https://www.aljazeera.com/news/2020/11/8/polls-open-in-myanmars-general-election
https://www.irrawaddy.com/elections/myanmars-military-chief-agrees-accept-election-result.html
https://edition.cnn.com/2020/11/06/asia/myanmar-election-2020-suu-kyi-intl-hnk/index.html
Tags: เลือกตั้งเมียนมาร์, การเมือง, The Momentum, เลือกตั้ง, พม่า, โรฮิงญา, เมียนมาร์, อองซาน ซูจี, เลือกตั้งล่วงหน้า